ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > ACT ยื่น 5 ข้อนายกฯ ตั้งวอร์รูมต้านโกง ชูทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบทุจริต

ACT ยื่น 5 ข้อนายกฯ ตั้งวอร์รูมต้านโกง ชูทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบทุจริต

6 กันยายน 2023


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ยื่น 5 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ ตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาเชิงรุก ปลุกพลังคนไทยร่วมตรวจสอบโครงการเสี่ยงทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยเว็บไซต์ “ACT Ai” “แค่สงสัยก็เสิร์ชเลย”นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ประกาศยึดหลักนิติธรรม นำเทคโนโลยีแก้ปัญหาทุจริต ขยับอันดับดัชนี CPI ของไทย สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566” ตรงกับวันที่ 6 กันยายน ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) โดยรวมพลังคนไทยกว่า 3,000 คน จาก 150 องค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมนำเสนอ 5 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมชูนโยบายการปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ เร่งรัดการออกกฎหมายแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรี ประกาศยึดหลักนิติธรรม นำเทคโนโลยีต้านคอร์รัปชัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชัน โดยระบุว่า การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งในปี 2565 ดัชนีการรับรู้ทุจริต (CPI) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 101 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งขยับตัวเองให้สูงขึ้น เพื่อแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันนอกจากจะสร้างความเสียหายโดยตรงให้กับภาครัฐ ยังกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน เป็นตัวฉุดรั้งทำให้เศรษฐกิจถดถอย กระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลจะใช้หลักนิติธรรมที่เข้มแข็งในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจสอบ เพื่อให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลที่โปร่งใส และรวดเร็ว

“หลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ โดยรัฐบาลจะมุ่งปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ เปลี่ยนจากรัฐอุปสรรค ให้เป็นรัฐสนับสนุน ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย และบทลงโทษที่เฉียบขาด ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แสดงบัญชีทรัพย์สิน การบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม จะช่วยสร้างสังคมที่แข็งแกร่ง และขจัดคอร์รัปชันให้หมดไป” นายเศรษฐากล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบ การดำเนินงานอย่างโปร่งใส ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้เป็นวัน สตอป เซอร์วิส ปรับเปลี่ยนระบบบริหารงาน

ภาครัฐให้เป็นดิจิทัล เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ การซื้อขายตำแหน่งการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมต้องหมดไป ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ปัญหาคอร์รัปชันจะลดลง มีความโปร่งใส เป็นธรรมเพิ่มขึ้น สร้างความยอมรับนับถือจากทั่วโลก ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

ACT ยื่น 5 ข้อนายกฯตั้งวอร์รูมต้านโกง ชูทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบทุจริต

ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผู้เป็นตัวแทนเสียงของประชาชน ได้เสนอข้อเรียกร้องเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันถึงรัฐบาลใหม่ 5 ข้อ ดังนี้

1. กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์

2. สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพออกจากรัฐบาล

3. เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น

4. ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง

5. แก้ไขกฎระเบียบราชการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลาจนประชาชนลืม

นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า วันนี้นับเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน มารวมพลังในวันต่อต้านคอร์รัปชันอีกครั้ง ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 12 ต้องยอมรับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นวิกฤตขนาดใหญ่ของสังคมไทย ที่ต้องสร้างแนวทางความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในนามองค์กรภาคประชาชน จึงขอเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน” (War Room for Anti-Corruption) เร่งแก้วิกฤติคอร์รัปชันในเชิงรุก อาศัยการเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชน เพื่อเอาชนะปัญหาคอร์รัปชันครั้งนี้ให้ได้

สำหรับการจัดงานในปีนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด WHAT THE FACT ? “ค้นหาความจริง-ใจในการต่อต้านคอร์รัปชัน” สาธิตการใช้งานเว็บไซต์ “ACT Ai” โดยคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังด้านไอที ที่เปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโครงการที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตได้ง่าย ๆ เพียง “แค่สงสัยก็เสิร์ช ACT Ai เลย” เป็นช่องทางในการให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่มีข้อสงสัยได้ง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ “ACT Ai” ใช้ Ai ในการตรวจสอบโครงการที่มีข้อสงสัย ครอบคลุมกว่า 27 ล้านโครงการในประเทศไทย อาทิ โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จับโกงโควิด เครือข่ายความสัมพันธ์นักการเมือง จับโกงอบจ. โครงการโรงเรียนโปร่งใส เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในงานได้จัดเวทีเสวนาพลังหญิงต้านโกง “ACTIVE WOMEN” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คุณอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ คุณปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ผู้ประกาศข่าว คุณณัฏฐา มหัทธนา นักวิเคราะห์ประเด็นสังคม และคุณจงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์หมูทอดเจ๊จง เพื่อแสดงบทบาทของผู้หญิงในการต่อต้านคอร์รัปชัน