ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > อว. จัดตั้ง วิทยสถาน “ธัชภูมิ” หนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่-ต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัย

อว. จัดตั้ง วิทยสถาน “ธัชภูมิ” หนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่-ต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัย

21 มกราคม 2023


กระทรวงอุดมศึกษาฯ จัดตั้ง วิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่สร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมระดับพื้นที่ พัฒนาเป็นชุดความรู้เพื่อการพัฒนา ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันประเทศบนฐานภูมิปัญญาภายใต้บริบทไทย และเชื่อมโยงกับสถาบันความรู้นานาชาติ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงการจัดตั้ง วิทยสถาน “ธัชภูมิ” ว่า กระทรวงอว. ได้รับโจทย์จากรัฐบาลให้ผลักดันประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภายในปีพ.ศ. 2580 (ค.ศ.2037) ดังนั้นโจทย์ของอว.คือ การยกระดับรายได้ โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวต่อว่า การจะขับเคลื่อน ‘คน’ ต้องมีทั้งองค์ความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ และศิลปะ หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งจะไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีส่วนกลางในการพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมา อว.ได้พัฒนาวิทยสถาน 2 แห่ง เพื่อเป็นเรือธงในการผลักดันองค์ความรู้ และนำงานวิจัยมาส่งเสริมการพัฒนาประเทศไทย คือ

  1. วิทยสถานธัชชา หรือวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ
  2. วิทยาสถานธัชวิทย์ หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (TAS Thailand Academy of Sciences) เพื่อเป็นกลไกผลิตและสร้างบุคคากรชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ ปลดล็อคข้อจำกัดของอุดมศึกษาและสถาบันวิทยาศาสตร์ ให้ร่วมกับภาคเอกชน และชี้แนะ ให้ทิศทาง ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศ

และในวันที่ 20 มกราคม 2566 กระทรวงอว. ได้จัดตั้งวิทยสถาน ‘ธัชภูมิ’ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องนำความรู้จากพื้นที่ (Area Base Knowledge) โดยองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมในระดับพื้นที่

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เสริมว่า ธัชภูมิ จะทำงานร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ และนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาสังเคราะห์ จัดระเบียบ เพื่อพัฒนาเป็นชุดความรู้ใหม่ สำหรับนำไปสร้างโอกาสใหม่ และขยายผลต่อยอดให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า วิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ บพท. มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในการประมวลและสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม และภูมิปัญญาจากพื้นที่ ครอบคลุมทุกมิติของงานพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ ด้านขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ด้านเศรษฐกิจฐานราก จากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น ด้านการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม ด้านการพัฒนาเมืองเพื่อกระจายศูนย์กลางความเจริญ และด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน

ดร.กิตติ กล่าวต่อว่า บพท.ดำเนินกระบวนการพัฒนาให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ระดับพื้นที่ (Knowledge Infrastructure) รวมทั้งทำให้เกิดชุดความรู้ที่สามารถส่งออกสู่ระดับสากล และผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิ กล่าวว่า วิทยสถานธัชภูมิเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ และสอดคล้องกับกรอบการทำงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

บทบาทวิทยสถานธัชภูมิ มีดังนี้

  1. พัฒนานักวิจัยเชิงพื้นที่
  2. พัฒนาระบบจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ
  3. ยกระดับความรู้เชิงแนวคิด ทฤษฎี
  4. สังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อนำสู่นโยบาย
  5. จัดทำฐานข้อมูลสำคัญเพื่อการพัฒนาพื้นที่
  6. ขับเคลื่อนการขยายผลองค์ความรู้
  7. สร้างเครือข่ายวิชาการระหว่างศาสตร์สาขา ระหว่างสถาบัน และระหว่างประเทศ
  8. สังเคราะห์โจทย์วิจัยใหม่

ทั้งนี้ พันธกิจของวิทยสถานธัชภูมิ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ จะครอบคลุม 5 มิติที่มีผลกระทบสูงต่อการพัฒนาประเทศ ผ่านสถาบันความรู้ 5 สถาบันได้แก่ สถาบันความรู้เพื่อจัดการทุนทางวัฒนธรรม สถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สถาบันความรู้เพื่อสร้างโอกาสทางสังคม สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมือง และสถาบันความรู้เพื่อเสริมพลังท้องถิ่น