ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > นัดโหวตนายกฯรอบใหม่ 27 ก.ค. เสนอชื่อ “พิธา” อีกไม่ได้ หลังรัฐสภาลงมติ

นัดโหวตนายกฯรอบใหม่ 27 ก.ค. เสนอชื่อ “พิธา” อีกไม่ได้ หลังรัฐสภาลงมติ

19 กรกฎาคม 2023


ในวันนี้(19 ก.ค.)การประชุมรัฐสภาที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งถือเป็นการพิจารณาครั้งที่ 2 ตามที่นายสุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 เพียงรายชื่อเดียว โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่นเสนอบุคคลอื่นเข้าท้าชิง หลังการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณา ว่าการเสนอชื่อนายพิธา เพื่อโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสองได้หรือไม่ หลังจากที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. จังหวัดราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ  ได้ลุกขึ้นทักท้วง เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ระบุว่า ญัตติใดที่ตกไปแล้วห้ามนำเสนอขึ้นใหม่ในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติ ซึ่งในการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา รัฐสภาเคยมีมติไม่ให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งญัตติการเสนอชื่อพิธาดังกล่าวจึงถือเป็นอันตกไป และการเสนอชื่อพิธาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ก็ไม่มีเหตุการณ์อื่นใดเปลี่ยนแปลงไป อาจจะขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาได้ พร้อมเสนอญัตติให้พิจารณาว่าการเสนอชื่อพิธา ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หรือไม่  เนื่องจากเป็นญัตติซึ่งตามข้อบังคับไม่สามารถเสนอญัตติซ้ำในสมัยประชุมเดียวกันได้ดังนั้น การเสนอรายชื่อนายพิธา อีกครั้งจึงไม่สามารถทำได้

ประเด็นนี้ ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวาง  โดย สส.พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา  อภิปรายไปในทิศทางเดียวกันโดย เห็นว่าการเสนอการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติ ซึ่งหากญัตติใดรัฐสภาตีตกไปแล้ว จะไม่สามารถพิจารณาได้ใหม่ภายในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ประธานรัฐสภา จะเห็นว่า มีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป จึงจะสามารถอนุญาตให้นำมาพิจารณาใหม่ดังนั้นการพิจารณา ให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นญัตติที่รัฐสภา เคยตีตกไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาจึงไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ในรอบสอง

ขณะที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า  สามารถเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ได้ เนื่องจากไม่มีข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญห้ามเอาไว้ โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในสภา กรณี ที่ประชุมเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ รอบ 2 ซึ่งที่ประชุมมีการหารือกันเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมที่ 41 ห้ามเสนอญัตติซ้ำ ว่า การที่สมาชิกสภาไม่ต้องการให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และจะทำลายทุกหลักการ เหมือน “เผาบ้านไล่หนู” หรือไม่

นายรังสิมันต์ โรม ชี้ว่า หากกฎหมายไม่ต้องการให้มีการเสนอชื่อบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำจริง รัฐธรรมนูญ ต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ยกตัวอย่าง การสรรหา กกต. หากกรณีเช่นนี้มาเทียบกับการเสนอชื่อนายกฯ ยืนยัน ก็ไม่มีบทบัญญัติใดมาห้ามเสนอชื่อนายพิธาซ้ำอีก ดังนั้นการอ้างถึง ข้อบังคับการประชุมสภาข้อ ที่ 41 จึงเป็นการไม่ถูกต้อง

“หลักการเป็นกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญ จะไม่มีกฎหมายใดมาขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ พวกท่านทำเป็นไม่รู้หรืออย่างไร ไม่มีตรงไหนแคนดิเดตคนอื่นถูกเสนอชื่อแล้วไม่ผ่าน ห้ามมาเสนอชื่อซ้ำอีก แต่มีความมุ่งหมาย มุ่งร้าย ตีความให้ขัด รธน. เพราะต้องการขัดขา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ใช่หรือไม่”

นายรังสิมันต์ โรม กล่าวต่ออีกว่า การตีความให้ข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 41 มีผลห้ามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับเสียงไม่เพียงพอ ไม่สามารถเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้อีก อันนี้ยืนยันตีความขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

มติ 395 : 312 เสียงโหวตนายกฯรอบ2ไม่ได้

หลังจากนั้นที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงในการอภิปราย ประเด็นดังกล่าว กระทั่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แจ้งให้ที่ประชุมลงมติตีความข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 41 ว่า การเสนอชื่อนายพิธา เพื่อให้พิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ถือเป็นการนำญัตติที่ตกไปแล้วมาพิจารณาหรือไม่ หรือเป็นการพิจารณาญัตติซ้ำ ซึ่งเป็นข้อห้ามตามข้อ 41 หรือไม่

โดยที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก 395 : 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 2 ถือเป็นญัตติต้องห้าม ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ส่งผลให้หลังจากนี้ 8 พรรคร่วมจะไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกแล้วในสมัยประชุมนี้

อย่างไรก็ตามระหว่างการประชุมรัฐสภาพิจารณาสามารถเสนอชื่อนายพิธาโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ได้หรือไม่  ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง กรณีหุ้นสื่อไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และมีมติตามเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค  จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

นัดโหวตนายกฯ ครั้งต่อไป 27 ก.ค.นี้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์สื่อหลังปิดการประชุมว่า การพิจารณาลงคะแนนนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป 2 จะนัดประชุมในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.30 น. ซึ่งตามข้อบังคับที่ 41 ที่มีการลงมติไปแล้ว การลงคะแนนจะเสนอชื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในสมัยการประชุมนี้ไม่ได้แล้ว