ThaiPublica > Sustainability > Headline > “บ้านปู เพาเวอร์” เปิดตัวคณะกรรมการ ESG ปักหมุดสร้างสมดุลธุรกิจควบคู่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“บ้านปู เพาเวอร์” เปิดตัวคณะกรรมการ ESG ปักหมุดสร้างสมดุลธุรกิจควบคู่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

12 กรกฎาคม 2023


กลุ่มบริษัท บ้านปู ได้นำหลักคิดเรื่อง ESG (environment, social, และ governance) รวมถึง Sustainable Development Goals หรือ SDGs ของสหประชาชาติ (UN) มาใช้ดำเนินการเปลี่ยนผ่าน (transform) องค์กร ไปสู่องค์กรแห่งการเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงบริษัทในกลุ่ม อย่างบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP โดยมีการพัฒนาและปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กลุ่มบริษัท บ้านปู ได้ยกระดับการเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการ ESG ขึ้นเมื่อปี 2565 เช่นเดียวกับ BPP ที่จัดตั้งคณะกรรมการ ESG ในเดือนมีนาคม 2566 คณะกรรมการประกอบด้วย ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ เป็นประธาน, นายหยกพร ตันติเศวตรัตน์ และนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ

BPP ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts” (มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ) โดยมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง “Triple E” สู่เป้าหมายในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 พร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ และสร้างคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

แนวทาง “Triple E” นั้น ประกอบด้วย 1. Ecosystem มุ่งสร้างเมกะวัตต์คุณภาพด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน และพลังงานหมุนเวียน 2. Excellence ความสามารถในการปรับตัวท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์พลังงานโลกที่มีความผันผวน 3. ESG การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (environmental, social and governance หรือ ESG) ควบคู่ไปกับการเป็นพลเมืองดีในทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและชุมชน

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP บอกว่า BPP ต้องการจะ position บริษัทผ่านคณะกรรมการ ESG ว่า พอร์ตของ BPP มีความสมดุล สามารถสร้างทั้งผลตอบแทนการลงทุนและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า ทุกประเทศยังมีความต้องการโรงไฟฟ้าพื้นฐานในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นพื้นฐานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นๆ โดยโรงไฟฟ้าพื้นฐานจำเป็นที่จะต้องมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดแรงจูงใจในการลงทุนจากภาคเอกชน

“บริษัทเชื่อว่า การดำเนินธุรกิจที่ดีต้องสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน ไม่ว่าจะเรื่องการดูผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (E) แม้จะหาความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศที่เราไปลงทุน แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้องได้รับการพิจารณา ผลกระทบต่อด้านสังคม (S) ก็จำเป็น ไม่ใช่เข้าไปลงทุนแล้วสร้างปัญหาสังคมให้กับประเทศที่เราลงทุน ขณะที่การมีธรรมาภิบาล (G) การบริหารจัดการให้บริษัทมีความโปร่งใสก็มีความสำคัญ”

โดยทิศทางของ ESG ต่อจากนี้ไปจะเป็นกระบวนการทำงานปกติของบริษัท เป็นข้อพิจารณาปกติในเรื่องของการลงทุน ที่ผ่านมา จะมีเอกสารเสนอการลงทุนจำนวนมาก หลายโครงการมีผลตอบแทนทางการเงิน (financial return) ดีมาก ถ้าไม่มีหลักการ ESG ก็จะดูแต่ financial return อย่างเดียว แต่เวลานี้ ESG ได้มาเป็นกระบวนการปกติในการพิจารณาการลงทุน เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณา นอกจากนี้ ในการต่อยอดธุรกิจ BPP ในอนาคต จะใช้หลักการ ESG เป็นพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการลงทุน ที่ต้องเอาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ climate change มาดู โดยเฉพาะเรื่องการกำกับกิจการที่ดี ที่จะต้องมีการเปิดเผยการทำธุรกิจของเรา โดยอ้างอิงความน่าเชื่อถือจากองค์กรภายนอก เพื่อให้มีความมั่นใจว่าธุรกิจของเรามีมาตรฐาน ESG ในระดับสากล

ขณะเดียวกัน เรื่อง ESG เป็นยุทธศาสตร์ที่องค์กรระดับสากลและระดับชาติให้ความสนใจ และโดย BPP ได้รับการประเมินจากองค์กรระดับชาติและระดับสากล ว่า มีมาตรฐานด้าน ESG ในระดับที่น่าพอใจ ทำให้ได้รับผลตอบรับจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยที่น่าพอใจ เพราะปัจจุบันนักลงทุนให้ความสำคัญ ESG มาก และจะลงทุนเฉพาะบริษัทที่ได้รับการยอมรับเรื่อง ESG เท่านั้น นี่คือแนวโน้มระดับโลก อีกตัวอย่างหนึ่ง BPP ทำธุรกิจขายไฟฟ้าในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ มีคนยอมจ่ายค่าไฟแพงขึ้นเพื่อบอกว่า อยากได้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น คือมีความตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็กำลังไปในทิศทางนั้น

  • บ้านปู เพาเวอร์ ชี้ ESG เป็น journey ที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ‘ไม่มี magic answer’
  • ดร.พัชณิตา กล่าวว่า คณะกรรมการ ESG จะเป็นกรรมการอิสระทั้งหมด รวมทั้งคณะกรรมการบริษัท ก็จะเป็นกรรมการอิสระ 5 คนจากทั้งหมด 10 คน แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่จะให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการ โดยกรรมการ คือ นายหยกพร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการลงทุนที่ถูกต้อง และนายกิจจา เป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจพลังงาน และความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ESG จะทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นกลางในการทำงาน ขณะที่ความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถในหลากหลายด้าน จะทำให้สามารถร่วมมือกับฝ่ายบริหารเพื่อนำพาองค์กรสู่ความยั่งยืนได้

    “จากการเป็นกรรมการอิสระใน BPP ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นความตระหนักความสำคัญในการจัดพอร์ตพลังงานปัจจุบันที่เป็นแกนหลักของการใช้พลังงานในประเทศและพลังงานในอนาคตมาโดยตลอด จนถึงการวางแผนงานที่เห็นความกระตือรือล้นของฝ่ายบริหารที่แสดงถึงความรับผิดชอบในการเสาะหาทั้งเทคโนโลยี โอกาส และพยายามบริหารจัดการสัดส่วนการลงทุนทั้งพลังงานปัจจุบันและอนาคตที่เป็นพลังงานหมุนเวียนเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงจุดที่มีความพร้อมในการนำแนวคิด ESG มาพัฒนาธุรกิจของบ้านปู รวมถึง BPP อย่างจริงจัง และเป็นที่มาของ….

    “คณะกรรมการ ESG เพื่อดูนโยบาย ทิศทางและเป้าหมาย ให้เป็นไปตามทางที่ควรจะเป็น แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และมีการปรับเปลี่ยนแผนตลอดเวลา คือมีความต่อเนื่อง และ dynamic เพราะการลงทุนของ BPPครอบคลุมใน 8 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีโครงสร้างพื้นฐาน นโยบาย และความคาดหวังของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่จะต้องบริหารจัดการไปพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย การสร้างสมดุลจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

    ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ คณะกรรมการ ESG บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

    สำหรับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ESG ประกอบด้วย

      1. ร่วมกำหนดทิศทางและนโยบาย ESG ของบริษัทฯ ให้มีความเหมาะสม เพื่อนำพาองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อนอนาคตแห่งการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืนได้สำเร็จ
      2. ติดตามและตรวจสอบการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญ และเสริมสร้างกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน
      3. ติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานด้าน ESG ให้ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความร่วมมือจากนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

    “นอกเหนือจากที่คณะกรรมการจะเข้ามาดูทิศทาง นโยบายและเป้าหมาย แล้ว ยังต้องประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ติดตาม ตรวจสอบ ทวนสอบ แล้วนำไปสู่แผน นโยบาย ทิศทางไปเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาของหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ESG ชุดนี้ที่จะช่วยคณะกรรมการ BPP ให้เกิดความสมดุล เหมาะสม เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะต้องยอมรับว่า BPP เป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องสร้างรายได้ กำไร เพื่อตอบแทนความคาดหวังของนักลงทุน แต่ขณะเดียวกัน stakeholder ของเราไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เราต้องนำห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดมาดู”

    ดร.พัชณิตา กล่าวถึงความท้าทายของคณะกรรมการ ESG ชุดนี้ว่า ในฐานะกลุ่มธุรกิจ มีความคาดหวังของนักลงทุนที่ต้องเติบโตไปด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสมดุลกับกฎกติกา ไม่ใช่แค่ราคาพลังงาน แต่มีมาตรฐานต่างๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอด เช่น เกณฑ์เรื่องคาร์บอนเครดิต ที่เวลานี้ BPP อยู่ในมาตรฐาน แต่ต่อไปเกณฑ์จะโหดขึ้นเรื่อยๆ จะทำอย่างไร นี่เป็นความท้าทายแรก

    นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยต่างๆ เช่น ความผันแปรของภูมิอากาศ ภูมิประเทศ โรคระบาด เช่น โควิด ที่ต้องคอยดูตลอด ถือเป็นความเสี่ยง รวมถึง cyber security ที่ปัจจุบันเป็นประเด็นสำคัญ สุดท้าย คือความตื่นตัวเรื่อง ESG ที่จะไม่มองเป็นปัญหา แต่สามารถสร้างโอกาสได้ แนวคิดเรื่อง ESG สอนให้มองว่าอะไรที่ตรงกับเป้าการทำงาน ถ้าเอาแนวคิด ESG มาครอบ จะรู้ว่าควรจะทำอะไรก่อน และไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียว ทำให้เกิดความยั่งยืนไปด้วยกัน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำให้เกิดความไว้ใจในการทำงาน เพราะว่ามีทั้งเรื่อง สังคมกับการบริหารจัดการที่ดีเข้าไปด้วย

    “ฉะนั้น ถ้าบอกว่า เราแคร์สิ่งแวดล้อมอย่างเดียวก็น่ากลัว แต่ละกลุ่มธุรกิจก็จะตอบโจทย์ทำการบ้านให้คนอื่นว่า มาตรฐานนี้จะให้วัดนั่นนี่ให้ผ่าน 10 ข้อ แล้วบริษัทก็คงลงทุนซื้อเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์ 10 ข้อ โดยไม่ได้มองการเติบโตไปพร้อมกันเป็นอย่างไร นี่เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ต้องสกัดออกมาให้ได้ว่า แนวคิดเรื่อง ESG จะนำมาสู่การทำงานที่สร้างความยั่งยืนและสร้างโอกาสขนาดไหน”

    นางสาวศนิชา ภิญโญชีพ หัวหน้าหน่วยงานการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง เลขานุการ คณะกรรมการ ESG

    นางสาวศนิชา ภิญโญชีพ หัวหน้าหน่วยงานการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง เลขานุการ คณะกรรมการ ESG กล่าวว่า ในทุกการลงทุนของ BPP จะใช้หลักความยั่งยืนด้านพลังงาน 3 ด้าน คือ

      1. สามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่เหมาะสม (Affordable)
      2. เชื่อถือได้ สามารถส่งมอบได้อย่างต่อเนื่อง (Reliable) และ
      3. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly)

    โดยแต่ละปีจะมีการทบทวนประเด็นสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ที่จะมีทั้งเรื่อง แรงงาน คุณภาพอากาศ คุณภาพ และแต่ละปีจะมีด้วยว่าเรื่องไหนเป็นประเด็นสำคัญ โดยการทำเวิร์คช็อปในทุกหน่วยงานของ BPP ว่า ปีนี้เรื่องไหนมีความเปลี่ยนแปลงเข้ามา เช่น ปีล่าสุด BPP มีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ “Temple I” ในสหรัฐฯ เข้ามา บริบทของโรงไฟฟ้าก๊าซมีประเด็นอะไรที่ควรเน้น และให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น

    นี่คือตัวอย่างการคัดเลือกประเด็นสำคัญ หรือเดิม ไม่มีการเน้นเรื่อง customer dissatisfaction หรือความพึงพอใจของลูกค้า แต่เมื่อก้าวไปสู่ธุรกิจค้าปลีกก็ต้องเน้น ต้องมีจุดแข็งในเรื่องนี้ รวมถึง cyber security ที่พอเข้าไปอยู่ในธุรกิจค้าปลีกแล้ว ข้อมูลลูกค้าต้องได้รับการปกป้องและมีแผนงาน recovery ต่างๆ โดยจะมีการจัดทำแผนงานทุกปี เมื่อได้ประเด็นสำคัญมาก็จะกำหนดเป้าหมายและจัดทำรายงาน KPI ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการดำเนินงานตั้งแต่ระดับบนจนถึงทุก business unit ที่จะต้องทำตาม นี่คือกระบวนการการทบทวนนโยบาย หลังจากได้ผลดำเนินงานก็จะมีการเปิดเผยข้อมูล

    นอกจากนี้ BPP ได้คัดเลือกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แห่งสหประชาชาติ 6 เป้าหมายที่สอดคล้องกับแนวทางของ BPP มาใช้กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวของ BPP ประกอบด้วย

  • เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน (affordable and clean energy) โดยสร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถหาซื้อได้
  • เป้าหมายที่ 8 การสร้างงานที่มีคุณค่าและเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ (decent work and economic growth) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือดีกว่ากฎหมายกำหนดไว้
  • เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมเพื่อพลังงานสะอาด (industry, innovation and infrastructure) โดยนำนวัตกรรมมาใช้ ควบคุมมวลสารที่ปล่อยออกให้ดีกว่าที่กฎหมายกำหนด
  • เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (responsible consumption and production) เน้นการใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นน้ำ พลังงาน วัตถุดิบต่างๆ ต้องมีการตั้งเป้าและควบคุมในอัตราที่ eco friendly บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action) จะมีการตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงพัฒนาระบบความต่อเนื่องทางธุรกิจถ้าเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ หรือแม้แต่การถูกโจมตีทาง cyber ก็จะมี module ที่จะทำให้ recovery ได้อย่างรวดเร็วและทำให้ stakeholder ไม่ได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของการดำเนินงาน
  • เป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (peace, justice and strong institutions) เน้นเรื่องลดการทุจริตทุกรูปแบบ การกำกับกิจการที่ดี การวางระบบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและครอบคลุมทุกธุรกิจ
  • โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโจวผิง ที่จีนที่ลดการปลอยน้ำเสียและลดมลสาร

    ภาพรวมการดำเนินงานด้าน ESG ของ BPPประกอบด้วย

    ด้านสิ่งแวดล้อม BPP ได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ทั้งการขยายพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และการใช้เทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (high efficiency, low emissions หรือ HELE) สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน รวมไปถึงการขยายกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและโลกที่ยั่งยืนขึ้น โดยต้องมุ่งมั่นที่จะหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม แต่มีความเป็นไปได้ในการผลิตพลังงานที่มีเสถียรภาพ และสามารถสร้างผลกำไร คือต้องกล้ามองเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา แต่ก็มีความเป็นจริง นำมาพิจารณาว่าทำได้จริง ทำได้เสถียร และนำไปสู่ความยั่งยืนได้หรือไม่

    สำหรับกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี HELE ในโรงไฟฟ้าต่างๆ อาทิ

  • โรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้เทคโนโลยี Integrated Gasification Combined Cycle หรือ IGCC ที่ใช้เทคโนโลยีผสมผสานในการแปลงสถานะถ่านหินให้กลายเป็นก๊าซเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า ทำให้ลดปริมาณการใช้ถ่านหินลง
  • โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เทคโนโลยี Combined Cycled Gas Turbines หรือ CCGT ที่ผสมผสานกระบวนการทำงานของ Gas Turbine (กังหันก๊าซ) กับ Steam Turbine (กังหันไอน้ำ) เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมกับมีระบบการจัดการน้ำทิ้งจนเกือบเป็นศูนย์ นับเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะกับสภาพการแข่งขันในตลาด Electric Reliability Council of Texas (ERCOT) ที่มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี
  • โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (CHP) ทั้ง 3 แห่งที่จีน ซึ่งได้ออกแบบกระบวนการผลิตไฟฟ้าให้ไม่มีน้ำเสียไหลออกจากระบบเพื่อลดการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และการนำน้ำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพอากาศก่อนปล่อยออกจากปล่อง โดยคุณภาพอากาศที่ปล่อยออกมาดีกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ได้รับการยอมรับและได้รับเงินสนับสนุนพิเศษจากรัฐบาลจีน จากการเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถควบคุมคุณภาพอากาศได้อย่างดีเยี่ยม
  • โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ประเทศไทย มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด JERA Co., Inc.  Mitsubishi Corporation และ Mitsubishi Heavy Industries, Ltd. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในงานปฏิบัติการที่โรงไฟฟ้าฯ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • สำหรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน BPP ขยายกลุ่มธุรกิจนี้ผ่านการลงทุนของ บ้านปู เน็กซ์ (Banpu NEXT) โดยการให้บริการโซลูชันพลังงานฉลาดเพื่อความยั่งยืนแบบครบวงจร (Total Smart Energy Solutions) ที่ตอบโจทย์ความต้องการและทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และการจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีการดำเนินธุรกิจใน 5 กลุ่มคือ 1) ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ (Solar rooftop and floating) 2) ธุรกิจแบตเตอรี่ (Energy storage systems) 3) ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy trading) 4) ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-mobility) 5) ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart cities and energy management)

    นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จํากัด (Durapower) จากร้อยละ 47.68 เป็น ร้อยละ 65.10 ด้วยเงินลงทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น มีการขยายธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานในโครงการฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 58 เมกะวัตต์ ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 การลงทุนภายใต้ธุรกิจ e-Mobility ในโอยิกะ (Oyika) ผู้ให้บริการโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งมีบริการครอบคลุมหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    โรงไฟฟ้าเอชพีซีมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนชั้นม.ต้นและม.ปลาย.jpg

    ด้านสังคม เนื่องจาก BPP มีฐานการลงทุนหลายประเทศ คือ 8 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้ BPP เข้าใจประเด็นความละเอียดอ่อนที่หลากหลาย ทั้งวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและบุคคล และความคาดหวัง ทำให้เป็นข้อได้เปรียบหนึ่งว่าจะ handle S ที่ควบคู่ไปกับ E และเทคโนโลยีที่พอจะหาได้ จนได้มาตรฐานการดำเนินงานด้านสังคมและชุมชนในระดับโลก (Global Standard) สามารถ “มองกว้าง มองรอบ และไม่มองแค่ขั้นต่ำ แต่นำประสบการณ์และองค์ความรู้นั้นมาปรับใช้เลยในขั้นเสริมสร้าง” โดย tailor-made ให้เข้ากับการดำเนินงานด้านสังคมในแต่ละประเทศและชุมชนท้องถิ่น (Local community) ทั้งการดูแลพนักงานขององค์กรและการอยู่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น BPP บูรณาการองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก เข้ากับความต้องการหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น จนเกิดเป็นแผนงานเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้นๆ ทำให้สังคมพัฒนาไปพร้อมกับธุรกิจของบริษัทฯ

    นอจากนี้ ยังเป็นการดำเนินงานด้านสังคมเพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งภายในและภายนอกองค์กร สำหรับภายในองค์กร เนื่องจากบุคลากรของ BPP มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและต่างวัฒนธรรมตาม 8 ประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ BPP จึงมีวัฒนธรรมองค์กร บ้านปู ฮาร์ท (Banpu Heart) ที่แข็งแกร่งซึ่งเชื่อมโยงและหลอมรวมพนักงานเข้าด้วยกัน และให้มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนให้โลกใบนี้ โดยมีคีย์หลักที่สำคัญ คือ passionate คือใจรัก innovative คือ สร้างสรรค์ และ committed คือ มุ่งมั่น ยืนหยัด เป็น 3 พฤติกรรมหลักที่ต้องการให้พนักงานทุกคนมีร่วมกัน เพื่อประสานความต่างกลายเป็นพลังร่วมได้ โดยในการประเมินผลงาน พฤติกรรมหลัก 3 ด้านจะเป็น 30% ของผลประเมิน ขณะที่ 70% มาจากผลงาน และจะมีองค์กรภายนอกมาตรวจสอบค่านิยมขององค์กรในรูปแบบการ survey และ focus group interview เพื่อให้ทราบปัญหา และเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีโอกาสเสนอแนะ ว่า บริษัทควรปรับปรุงเรื่องใดให้ดีขึ้น

    ในส่วนภายนอกองค์กร นอกเหนือจากการบริจาคในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ หรืออื่นๆ ให้แก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแล้ว ยังมีการสำรวจความต้องการของชุมชนที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร เพื่อออกแบบโปรแกรมให้ตรงกับความต้องการของชุมชน ความมุ่งหมายคือ การพัฒนามาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยรอบให้ดีขึ้น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ และการสนับสนุนการจ้างงานเพื่อทำงานในโรงไฟฟ้า เป็นต้น

    การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

    ด้านการกำกับดูแลกิจการ เริ่มจากคณะกรรมการ ESG ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการอิสระทั้งหมด 3 คน หรือคณะกรรมการบริษัทที่เป็นกรรมการอิสระ 5 คนจากทั้งหมด 10 คน หรือคิดเป็น 50% ของคณะกรรมการทั้งหมด ซึ่งข้อมูลจาก IOD พบว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ถึง 20% ที่สามารถมีคณะกรรมการอิสระมากเท่านี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะตัดสินใจโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ผู้ถือหุ้น ชุมชน เป็นคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น หรือคัดค้านเมื่อเกิดการตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลแบบดิจิทัล (Digitalization) เพิ่มความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ มีความครบถ้วน โปร่งใส

    นอกจากนี้ BPP ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption หรือ CAC) รวมถึงการสื่อสารนโยบายการกำกับดูแลกิจการไปยังพนักงานในองค์กรทุกระดับด้วยกิจกรรมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การจัดการอบรมหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การจัดกิจกรรม Scale up your CG การให้พนักงานวัดระดับความรู้ด้าน CG ผ่านระบบ CG E-Learning & E-Testing และการจัดกิจกรรม CG Day เป็นต้น