ThaiPublica > Native Ad > UN-REDD แก้ปัญหาลักลอบตัด ‘ไม้พะยูง’ โมเดลบ้านแปดอุ้ม ด้วยเทคโนโลยี และชุมชนตาสับปะรด

UN-REDD แก้ปัญหาลักลอบตัด ‘ไม้พะยูง’ โมเดลบ้านแปดอุ้ม ด้วยเทคโนโลยี และชุมชนตาสับปะรด

15 มิถุนายน 2023


ต้นพะยูงที่ถูกตัด

UN-REDD แก้ปัญหาลักลอบตัด ‘ไม้พะยูง’ โมเดลบ้านแปดอุ้ม ด้วยเทคโนโลยี และชุมชนตาสับปะรด

สถานการณ์การลักลอบตัดไม้ ‘พะยูง’ ไม้มีค่าและไม้เศรษฐกิจกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจาก ‘ทุนจีน’ และประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการไม้อย่างต่อเนื่อง จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในชุมชนบ้านแปดอุ้ม ระบุว่า ราคาซื้อขายไม่พะยูงในตลาดมืดมีราคาราวกิโลกรัมละ 300,000 บาท เมื่อคิดเป็นเม็ดเงินทั้งต้นพะยูงจะอยู่ราวหลัก 10 ล้าน และสูงสุดถึงหลัก 100 ล้านบาท

แม้ไม้พะยูงจะห้ามซื้อขายในระหว่างประเทศตามอนุสัญญาไซเตส แต่ด้วยราคาที่สูงจึงทำให้มีการลักลอบตัดไม้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การค้าผลิตภัณฑ์จากไม้พะยูง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการลักลอบตัดไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 จากที่เคยมีอยู่ ส่งผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และระบบนิเวศต่างๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันสัตว์จากการรุกราน และภาวะโลกร้อน

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2553-2561 ประเทศไทยมีป่าไม้พะยูงสมบูรณ์ที่ถูกลักลอบตัดกว่า 6,100 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนปี 2552 – 2557 มีคดีลักลอบตัด 4,450 คดี จำนวนไม้ทั้งหมด 51,100 ท่อน และมีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง 2,827 คน

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า การค้าไม้ไปยังประเทศจีนมีบทบาทสำคัญต่อการลักลอบตัดไม้ในภูมิภาคนี้ แม้สถิติดังกล่าวจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากการปราบปรามการลักลอบตัดไม้อย่างเข้มงวด แต่ความต้องการไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90 จึงเป็นกดดันต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ในภูมิภาคนี้อย่างมาก และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการค้าผลิตภัณฑ์ป่าไม้อย่างถูกกฎหมายระดับโลก

ป่าชุมชนบ้านแปดอุ้ม

แก้ปัญหา อาชญากรรม ‘พะยูง’ ที่บ้านแปดอุ้ม จ.อุบลราชธานี

องค์กรระหว่างประเทศอย่าง “UN-REDD” จึงเข้ามาอนุรักษ์ป่าในประเทศไทย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำให้ป่าเสื่อมโทรม โดย UN-REDD จะให้อำนาจแก่ชุมชนในการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนซึ่งจะอนุรักษ์ป่าไม้ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปูทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

ทั้งนี้ UN-REDD หรือโครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการหลัก ของ UN knowledge and advisory platform เกี่ยวกับการแก้ปัญหาป่าไม้เพื่อรับมือกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากความสามารถและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ UNEP ทำให้ UN-REDD เป็นผู้ให้บริการระหว่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของความช่วยเหลือ REDD+ โดยช่วยเหลือประเทศพันธมิตร 65 ประเทศ ในการปกป้องผืนป่า เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ

UN-REDD เลือกพื้นที่อนุรักษ์ป่าที่ชุมชนบ้านแปดอุ้ม ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโครงการต้นแบบที่ภาครัฐและชุมชนสามารถร่วมมือกันในการปกป้องและบริหารจัดการป่าโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการค้าไม้อย่างยั่งยืน เนื่องจากป่าไม้บริเวณดังกล่าวเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกคุกคามจาก ‘อาชญากรรมป่าไม้’ มากที่สุด เพราะมีป่าชายแดนที่เชื่อมต่อ 3 ประเทศ คือ ไทย ลาวและกัมพูชา

นายบุญทัน พรมโคตร์ ผู้ใหญ่บ้านทุ่งสมเด็จ หมู่ 17 ตำบลโดนประดิษฐ์ กรรมการร่วมชุมชนบ้านแปดอุ้ม หมู่ 2 จังหวัดอุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า คนไทย คนกัมพูชาและคนลาว ต่างแย่งกันตัดไม้พะยูง โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548-2549 และรุนแรงอย่างต่อเนื่องช่วงปี 2558-2559 ทำให้ในปัจจุบันต้นพะยูงขนาดใหญ่แทบจะไม่มีในชุมชนอีกแล้ว เหลือเพียงต้นเล็กที่กำลังปลูกและต้องรอกว่า 20 ปีถึงจะกลายเป็นต้นใหญ่

“ตั้งแต่ผมรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านโดนไป 2 เที่ยว แต่คนก่อนหน้าโดนไป 7 เที่ยว ชาวบ้านและอาสาสมัคร 5 ถึง 8 คนต้องนอนเฝ้าทุกคืน พวกที่ตัดมันใส่ไอ้โม่งมาอย่างน้อย 10 คน มาตี 1 ตี 2 ขับรถประมาณ 3 คัน กระบะ บรรทุก รถสอดแนม แล้วตีสนิทกับคนในชุมชน พอมาถึงทำงานไม่เกิน 10 นาที อาวุธครบมือ เลื่อยยนต์เอามา 2 ตัว ชาวบ้านเตรียมตัวก็ไม่ทัน” นายบุญทันเล่าวิธีการของกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้

อย่างไรก็ตาม นายบุญทัน บอกว่า ปัจจุบันชุมชนบ้านแปดอุ้มกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง จากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการค้าไม้ผิดกฎหมาย

กล้อง NCAPS

ชุมชนเข้มแข็ง สอดส่องผู้ต้องสงสัย

แม้ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการลักลอบตัดไม้และการค้าไม้ผิดกฎหมายสู่ยุคของการค้าป่าไม้อย่างยั่งยืน แต่ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงยังคงไม่จบสิ้น เพราะมีเงื่อนงำบางอย่าง และรากปัญหาที่สลับซับซ้อน ทั้งการพัวพันกับกลุ่มทุนต่างชาติ ศักยภาพและกำลังพลของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เพียงพอ ความเข้มแข็งของชาวบ้าน เงิน ยาเสพติด รวมถึงการที่ชาวบ้านไม่รับรู้และไม่ปกป้องความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น

“ความไม่รู้เหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนไม่ใส่ใจที่จะมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ป่าไม้ และขัดขวางการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า”

แคทรีนา บอร์โรมิโอ เจ้าหน้าที่โครงการและการสื่อสาร โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวและขยายความว่า ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับป่าไม้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90 ทำให้เกิดการกดดันต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ในภูมิภาคนี้ โดยใช้ ‘ความร่วมมือ’ ระหว่างชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ

ความร่วมมือที่ 1 คือ ความเข้มแข็งของคนในชุมชน เพราะถ้าคนในชุมชนเข้มแข็ง ก็จะช่วยกันเป็นหูเป็นตา จึงกลายมาเป็น ‘โมเดลบ้านแปดอุ้ม’ ที่จะให้สมาชิกในชุมชนท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในป่าอย่างใกล้ชิด โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกรมป่าไม้และหน่วยลาดตระเวน

อาสาสมัครชุมชนจะทำหน้าที่เป็นจิตอาสาในการสอดส่องดูแลป่าไม้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ของชุมชน โดยดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบเห็นพฤติกรรมต้องสงสัย หรือผู้ลักลอบตัดไม้ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที

สิ่งสำคัญคือการเสริมสร้างความเข้าใจของสมาชิกในชุมชนเกี่ยวกับความสำคัญของป่าไม้เป็นสิ่งสำคัญ การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแข็งขันในการตรวจสอบพื้นที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

ความร่วมมือระหว่างประเทศ

ความร่วมมือที่ 2 คือ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามตรวจสอบ แก้ไขปัญหา และจับกุมผู้กระทำผิด เนื่องจากการลักลอบตัดไม้มักเกิดขึ้นตามแนวตะเข็บชายแดน

ตัวอย่างของการร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย และความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาและสปป.ลาว สามารถส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ได้เป็นอย่างดี

อ้อมจิตร เสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ ทาง UN และประเทศเพื่อนบ้านได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการอนุรักษ์และตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ตามแนวตะเข็บชายแดน โดยแบ่งปันฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในการต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ป่า และการอาชญากรรมป่าไม้บริเวณแนวตะเข็บชายแดน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรงบประมาณในการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้และการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างกำลังศึกษาการใช้ประโยชน์จากการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการผ่านการทำข้อตกลงพหุภาคีและตลาดค้าคาร์บอนเครดิต ธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการนี้ โดยการสนับสนุนทางการเงินตามเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SDGs)

ภาพจากกล้อง NCAPS

พิทักษ์ไพร, e-TREE, NCAPS เทคโนโลยีช่วยรักษาป่า

ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงจะเกิดในเวลาสั้นๆ และอาชญากรทำงานกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเตรียมการไม่ทันท่วงที ดังนั้นจึงมีการนำ ‘เทคโนโลยี’ มาใช้เฝ้าระวัง ใช้เป็นหลักฐานในการตรวจจับผู้กระทำผิด และลดความเสียหายที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่นำมาใช้แก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันพิทักษ์ไพร ระบบการลงทะเบียนต้นไม้ สามารถส่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการบุกรุกในพื้นที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเกิดการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการแจ้งเตือนและติดตามสถานการณ์ไฟป่าได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งสามารถใช้ตรวจสอบประเภทที่ดิน และสถานภาพที่ดินของรัฐเบื้องต้นว่า พื้นที่ที่ต้องการตรวจสอบอยู่ในบริเวณป่าสงวน หรืออยู่ในป่าอนุรักษ์หรือไม่ และเป็นพื้นที่ป่าชนิดใด ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของกาารขายที่ดินในป่า

แพลตฟอร์มดิจิทัล e-TREE ที่มุ่งยกระดับการติดตามและตรวจสอบการบริหารจัดการป่าไม้ ช่วยในการขึ้นทะเบียนต้นไม้และตรวจสอบย้อนกลับต้นไม้ ซึ่งพิสูจนแล้วว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืน

ระบบกล้อง NCAPS ที่ในการตรวจจับผู้ต้องสงสัย โดยเป็นระบบการทำงานระยะไกล ที่ประกอบด้วยกล้องและเซ็นเซอร์เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่เสี่ยง ทำงานร่วมกับหน่วยลาดตระเวนภาคพื้นดินซึ่งสามารถบันทึกและแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ภายใน 3 นาทีเมื่อตรวจพบการเคลื่อนไหวที่น่าสงสัยผ่านกล้อง จึงช่วยลดความเสี่ยงของการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในพื้นที่ และผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ลักลอบตัดไม้ นอกจากนี้กล้องยังสามารถบันทึกภาพเพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีในชั้นศาลได้อีกด้วย

เทคโนโลยีโดรนในการบินตรวจสอบพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถตรวจจับและแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ได้อย่างทันท่วงที

“เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ที่บ้านแปดอุ้ม จ.อุบลราชธานี ซึ่งแสดงถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีผสานการทำงานร่วมกับชุมชนและภาครัฐ” อ้อมจิตร กล่าว

เมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นการเอาชนะอาชญากรรมป่าไม้ได้ และทำให้บ้านแปดอุ้มเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่ชุมชนทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้อย่างยั่งยืน

แอปพลิเคชั่นจาก NCAPS

เดินหน้าไทย สู่ ‘ศูนย์กลางการค้าป่าไม้อย่างยั่งยืน’

ท้ายที่สุด การอนุรักษ์ป่าไม้และการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืน ต้องการแนวทางที่ชัดเจนและครอบคลุม ในการดูแลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การบริหารจัดการป่าไม้ การขนส่ง การออกใบอนุญาตรับรอง การตลาด ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นด่านหน้าในการประยุกต์การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เพื่อปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าป่าไม้อย่างยั่งยืนในอนาคต

บ้านแปดอุ้ม จึงเป็นพื้นที่ต้นแบบการอนุรักษ์ป่า ที่ชุมชนทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการและดูแลพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้อย่างยั่งยืน

อีกทั้งทาง UN จะนำความสำเร็จในการรักษาป่าที่ชุมชนบ้านแปดอุ้มไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต

แต่ ‘เทคโนโลยี’ จะไม่ประสบความสำเร็จ หากปราศจาก ‘ความร่วมมือ’ ที่เข้มแข็งจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน