ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิษณุ เครืองาม” ชี้กฎหมายไทยต้อง “transform” ไม่ใช่ “reform”

“วิษณุ เครืองาม” ชี้กฎหมายไทยต้อง “transform” ไม่ใช่ “reform”

10 มิถุนายน 2023


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา The Future of Legal 2023 Transformation จัดโดย สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า เวลาพูดถึง “การเปลี่ยนแปลง” มีคำภาษาอังกฤษคือ change แต่บางครั้งจะได้ยินคำว่า reform ทั้งสองคำมีนัยแตกต่างกัน ส่วนภาษาไทยก็มีคำว่า เปลี่ยน ปรับปรุง แก้ไข นัยเวลาพูดถึงการปฏิรูปกฎหมายเป็นภาษาไทยจะไม่ใช้คำว่า “เปลี่ยนกฎหมาย” เพราะการเปลี่ยนจะไม่เกิดผล กระทบมากนัก แต่ reform คือการปฏิรูป-เปลี่ยนรูปใหม่

“กฎหมายไม่ต้องการ change แต่ต้องการ reform การแก้กฎหมายแบบปรับลดโทษไปมา ไม่ใช่การปฏิรูป ทำเล็กน้อย จิ๊บจ๊อย มัน change แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงใหญ่ ทำมากโดยผ่านกระบวนการองค์ความรู้และมีคณะบุคคลวิจัยเป็น reform”

นายวิษณุ กล่าวว่า การปฏิรูปมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ PPP โดย P แรกคือ purpose หรือ วัตถุประสงค์ P ที่สองคือ process หรือกระบวนการ องค์ความรู้และคณะกรรมการจัดการ และ P สุดท้ายคือ public มีสาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับฟังและให้ความคิดเห็น

“บัดนี้และจากวันนี้เป็นต้นไป เราจะต้องเจอคำใหม่อีกคำ ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญคือ transform วันนี้เราขยับสู่ transform ซึ่งมันคือการปฏิรูปชนิดหนึ่ง แต่มันทำหนักหนาสาหัสสากรรจ์ เอาจริงเอาจังเอาเป็นเอาตายมากกว่า reform”

วันนี้ประเทศไทยและโลก อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบ transform เพราะ reform ดูจืดชืด เราต้องการกฎหมายที่เอาจริงเอาจัง โดยแตะและรื้อไปที่โครงสร้างของกฎหมาย และแตะผลกระทบอย่างมหาศาล

“อะไรที่เป็นการปฏิรูปกฎหมาย ที่รื้อโครงสร้างและก่อให้เกิดผลกระทบอย่างดีและมหาศาลแก่สังคมและประเทศชาติ เราเรียกกระบวนการนั้นว่า transformation”

นายวิษณุกล่าวต่อว่า สหประชาชาติบอกว่าปัญหาของโลกจากนี้ไปกำลังเผชิญกับภัยสำคัญ 5 ประการ คือ หนึ่ง สังคมผู้สูงอายุ สอง การเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศ สาม โรคระบาด สี่ อาหารและน้ำจืด และสุดท้าย สงคราม

ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาหลัก 3 ด้าน คือ หนึ่ง ทุจริตคอร์รัปชัน สอง ต้องทำให้ประชาชนได้รับบริการจากรัฐอย่างสะดวก สบาย ไม่มีส่วย สาม ความสงบเรียบร้อย ดังนั้น เราจำเป็นต้องปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อรับมือกับปัญหาของโลกและประเทศ แต่การจะทำได้ต้อง transform ต้องอาศัยความร่วมมือและองค์ความรู้

นายวิษณุกล่าวต่อว่า วันนี้การปฏิรูปกฎหมายมีหลายหน่วยงานช่วยกันทำ ในคณะกรรมการกฤษฎีกามีกรรมการพัฒนากฎหมาย และในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน และมีคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายด้านเศรษฐกิจและสังคม

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ. 2565 มีกฎหมายลักษณะ transform ออกมาจำนวนมาก เช่น พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้บริการภาครัฐให้สามารถทำผ่านออนไลน์ได้ เช่น การเสียภาษี ขอคืนภาษี ค่าธรรมเนียม ยกเว้นการสมรส การทำบัตรประชาชน พาสฟอร์ต หากเจ้าหน้าที่ยังเรียกให้ประชาชนเดินทางมาที่ราชการถือว่ามีความผิด หรือกฎหมายเปลี่ยนโทษปรับเป็นพินัย ปรับตามสภาพ หรือส่งไปทำงานสาธารณะและบริการประชาชน

ทั้งนี้ นายวิษณุบอกว่า เหตุผลที่กฎหมายส่วนใหญ่ออกมาในปี พ.ศ. 2565 เพราะกฎหมายได้เข้าไปก่อนหน้านี้แล้ว และกระบวนการเสร็จในปี พ.ศ. 2565

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงประเด็น ease of doing business กล่าวคือ การทำให้ธุรกิจสะดวกและง่ายสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องปรับกฎหมายเพื่อเอื้อให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ธนาคารโลก ออกประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ธนาคารโลกจะไม่วัดและประเมิน ease of doing business กับตัวชี้วัดกว่า 200 ตัวชี้วัด และไม่ประเมินทุกปีอีกต่อไป แต่จะใช้หลักเกณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า business ready หรือ B-Ready คือประเทศมีความพร้อมที่จะทำธุรกิจขนาดไหน เช่น การตั้งโรงงาน การเสียภาษี ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการยอมให้คนต่างชาติใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีตัวชี้วัดกว่า 700 ประเภท และประเมินทุก 3 ปี

“ผมเอาตัวชี้วัด 700 กว่าตัวมานั่งดู ก็นั่งใจหาย เพราะตอน 200 ตัวชี้วัด ประเทศเรายังไปไม่ค่อยจะรอดเลย เราอยู่ในสังคมโลก เขากำลังมาทำให้เราดีๆ เราก็ต้องพยายามเร่งให้ดีขึ้น”

“ผมถามข้าราชการเรื่อง B-Ready บางคนยังไม่รู้ เขาบอก 700 ตัวชี้วัดไม่ไหว ถ้า 500 พอได้ แล้วสักวันค่อย 600, 700 เอง แต่มันมีตัวชี้วัดบางตัวที่ทำให้ทำไม่ได้ เพราะมีการคัดค้านขัดขวางกันอยู่ นั่นคือการบังคับคดีล้มละลายข้ามประเทศ ปกติการบังคับคดีต้องให้ศาลไทยตัดสินจึงจะเข้ามายึดทรัพย์ แต่ธนาคารโลกพยายามให้มีการตัดสินคดีล้มละลายในอเมริกา แล้วมายึดทรัพย์ในประเทศไทย หรือตัดสินในประเทศหนึ่งแต่คนนั้นมีทรัพย์สินในไทย เขาก็เข้ามายึดทรัพย์ ธนาคารโลกพยายามผลักดันเพื่อให้นำคำตัดสินจากประเทศหนึ่งไปใช้ในอีกประเทศหนึ่ง แต่ฝ่ายธุรกิจไทยไม่ยอม ถือว่าเป็นการล่วงล้ำอธิปไตย มิเช่นนั้นกฎหมายนี้ก็ไม่มีวันออกมาได้ ต่อให้เราทำได้ มันก็คง 699 ตัว”

“เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ผมไม่สนใจว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นใครอย่างไร แต่ผมเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะต้องมาด้วยนโยบายที่ใหม่ เมื่อเป็นนโยบายใหม่เขาก็เรียกร้องให้เราทำอะไรใหม่ หลายอย่างจะทำได้ก็ต้องไปแก้ไขกฎหมาย บางฉบับอาจแค่ change บางฉบับ reform และบางฉบับเลยเถิดถึงขั้น transform คือปรับปรุงโครงสร้างของกฎหมาย ซึ่งจะทำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อประชาชนยอมรับ”

พร้อมย้ำว่า “เรื่องกฎหมายจะสำเร็จได้ต้องอาศัย political will ของผู้มีอำนาจ และอาศัย wills กับความร่วมมือของผู้ไม่มีอำนาจคือประชาชนทั่วไป และอาศัยมันสมองของนักวิชาการมาช่วยบอก นักกฎหมายคิดเองไม่ถูก รู้ว่าเขียนกฎหมายอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าจะตอบโจทย์นั้นอย่างไร”