ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > “ภูมิธรรม เวชยชัย” ถอดเลือกตั้ง2566 โจทย์ที่ต้องคิดต่อ – ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ต้องจับมือกันให้แน่น

“ภูมิธรรม เวชยชัย” ถอดเลือกตั้ง2566 โจทย์ที่ต้องคิดต่อ – ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ต้องจับมือกันให้แน่น

28 มิถุนายน 2023


ถอดปรากฏการณ์เลือกตั้ง2566 กับ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)ชี้สังคมไทยมีคุณภาพขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลง ยอมรับพรรคเพื่อไทยต้องปรับตัวเพิ่มสัดส่วนคนรุ่นใหม่ วิเคราะห์ ‘โซเชียลมีเดีย’ จุดอ่อนเพื่อไทยไปไม่ถึงแลนด์สไลด์ ยืนยันข้างพรรคประชาธิปไตยกอคคอ 8 พรรคร่วมรัฐบาลหนุนพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

หากมองพรรคการเมืองผ่านปรากฏการณ์เลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทยถือเป็นพรรคที่น่าสนใจจากสถิติที่ไม่แพ้เลือกตั้งในรอบ 22 ปี แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ‘แพ้’ เลือกตั้ง โดยได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคก้าวไกล ‘สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า’ ได้พูดคุยกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

‘ภูมิธรรม’บอกว่า แม้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนอะไรหลายเรื่อง แต่ยังไม่มีข้อสรุป เป็นเรื่องที่ต้องไปคิดต่อ อย่างไรก็ตาม ที่ชัดเจนที่สุดคือ ประชาชนภายใต้การปกครองในระบอบรัฐประหารและการครองอำนาจมาตลอด 8-9 ปี โดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่สามารถบริหารจัดการให้ตอบสนองกับความต้องการและผลประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนควรจะได้รับ อาการที่ประชาชนแสดงออกมาคือ ความเบื่อ ความไม่สบายใจกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และต้องการความเปลี่ยนแปลง

“ความรู้สึกที่ชัดเจนที่สุดคือประชาชนเขาอยากเปลี่ยนแปลง เขาไม่อยากอยู่ภายใต้รัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้วก็ไม่เคยฟังเสียงพี่น้องประชาชน หรือผู้นำที่แสดงบทบาทท่าทีที่ไม่ได้ใส่ใจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน เอาตามอำเภอใจของตัวเอง วันนี้ได้แสดงออกโดยการที่ไม่เลือกพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมให้ได้รับชัยชนะ เลือกฝั่งที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งรวมกันแล้วมีอยู่ 7-8 พรรค ที่ทำให้ได้รับผลสำเร็จในการรวมขั้นต้นที่ 8 พรรค รวมกันก็ประมาณ 312 เสียง ก็แสดงว่าประชาชนเขาอยากเปลี่ยนแปลงบรรยากาศให้เป็นประชาธิปไตยมากเพิ่มขึ้น”

คนชนบทเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพมากขึ้น

‘ภูมิธรรม’ เห็นว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนจากปรากฏการณ์เลือกตั้งครั้งนี้คือ การเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยประชาชนหวังว่าระบอบประชาธิปไตยซึ่งเขาเคยสัมผัสมันน่าจะตอบประโยชน์และตอบปัญหาได้มากกว่า เหมือนอย่างที่ได้รับมาตั้งแต่สมัยเลือกตั้งปี 2544 จากรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา

โดยเปรียบเทียบบรรยากาศหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าประชาชนได้รับสิทธิเสรีภาพ ได้รับการกินดีอยู่ดี ได้รับการรับรองและให้ความมั่นใจในการที่จะประคองชีวิตหรือดูแลชีวิตตนเองอย่างมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น ได้มีการพัฒนามาจนทำให้เกิดการรับรองสิทธิเสรีภาพ เกิดความสามารถในการที่จะดำรงชีวิต เกิดความสามารถในการที่จะมาแข่งขันในประโยชน์ต่างๆ ได้

หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดบรรยากาศการเมืองที่มีเสรีภาพที่เห็นชัดเจน และส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ ทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพมากขึ้นในช่วงเวลานี้ในการเลือกตั้ง 2566

“ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อเหมือนกันว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในคุณภาพมากเหมือนกัน จากที่เคยมองว่าชนบทไทยล้าหลัง ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ หรือไม่สามารถรับรู้ข่าวสารอะไรต่าง ๆ ได้ ตรงนี้พิสูจน์ว่าอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว กำลังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคนชนบทโดยตรง เขาลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของเขาได้มากขึ้น อันนี้เป็นโจทย์ที่ต้องคิดและต้องคำนึงถึง แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุป ควรศึกษาประเด็นนี้ให้ลึกมากขึ้น ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่งผลต่อคุณภาพของคนเหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างไร มีปัจจัย เงื่อนไขอะไร จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา”

ประชาชนเลือกแล้ว อย่าทำให้เขา ‘ผิดหวัง’

ความเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของชนบท ‘ภูมิธรรม’ เห็นว่าเป็นจุดที่ต้องหวนกลับมาดูเพื่อประเมินพื้นที่ต่าง ๆ ของชนบท ของเมือง พื้นที่ต่างๆ ของประชาชน กลุ่มวิชาชีพต่างๆ จะใช้ความเคยชินแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว ต้องมาคิดแล้วมองให้ชัดเจนไปว่า ประชาชนในชนบท ในเมือง มีความแตกต่างในการรับรู้ข่าวสาร การตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร แล้วต้องยอมรับในการที่จะทำความเข้าใจว่า การเคลื่อนไหว การตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนในที่ต่าง ๆ ในกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ เป็นการสะท้อนอะไร

“ผมคิดว่ามันมีหลายคำตอบ การที่เขาถูกปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อเขาแสดงออกชุมนุมทางการเมืองเพื่อสะท้อนสิทธิของเขา ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจนกระทั่งมีการเสียชีวิตจำนวนมาก เขามีพัฒนามาตลอด วันนี้ผมคิดว่าประชาชนเขาเรียนรู้ว่า เขามีวิธีการหลายอย่าง ไม่ใช่วิธีการแบบเดียว/แบบเดิม ว่าการอยากจะได้สิ่งที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรืออยากจะได้สังคมที่ดีขึ้น หรืออยากได้ชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช้สูตรเดิมๆ ที่เคยเป็นอยู่”

วันนี้อย่างน้อยสุด เขาใช้ปากกาในมือเขาสะท้อนสิทธิทางการเมืองที่เขามีอยู่ ที่เขาเปลี่ยนแปลงได้ในชั้นต้น

‘ภูมิธรรม’ มองว่า ความเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพที่เกิดจากพัฒนาการต่อสู้ของประชาชนที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงไม่ค่อยห่วงเรื่องการชุมนุมหรือไปทำให้เกิดความวุ่นวายอะไร เพราะคิดว่าการชุมนุมก็เป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่ง ถ้าอยู่ในขอบเขตและไม่ทำให้บานปลาย

แต่ถึงวันนี้เห็นว่าประชาชนก็ได้เรียนรู้ว่า เขาจะใช้กระบวนการอะไร แนวทางอะไร ในการที่จะเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีได้ อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าคิด อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเกิด ‘การเปลี่ยนแปลง’

“อย่างน้อยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ประชาชนเขาบอกว่า เขาอยากให้ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งเชื่อมั่นในหนทางที่มีสังคมเป็นลักษณะเปิด ให้สิทธิเสรีภาพของคน เข้ามาหาทางแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าฝ่ายประชาธิปไตยเองต้องกอดมือกันแล้วทำให้ความหวังของประชาชน สามารถเกิดขึ้นได้ อย่าให้ประชาชนผิดหวัง”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

สังคมไทยเปลี่ยนเชิงคุณภาพมากขึ้น

‘ภูมิธรรม’ ยังคงย้ำว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในวันนี้ คือสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพมากขึ้น ชนบทไทยในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ภาพจำที่เราเคยมองชนบทว่าเป็นสังคมที่อ่อนด้อยทางปัญญา หรือว่าเป็นอย่างที่เขาใช้ โง่ จน เจ็บ อันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว ประชาชนมีดุลพินิจ มีวิจารณญาณมากขึ้น

“ดูจากผลการเลือกตั้ง ผมคิดว่าวันนี้สังคมในชนบทไทยหรือสังคมไทยโดยรวมก็เปลี่ยนแปลงขึ้น มีชนชั้นกลางใหม่เกิดขึ้นมาก แม้จะไม่ใช่ชนชั้นกลางระดับสูง หรือมีบ้างที่ไปเป็นชนชั้นกลางระดับสูง สามารถสร้างธุรกิจของตนเองเกิดขึ้นมาได้ แต่ว่าก็ยังต้องการให้เพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งอันนี้จะเป็นต้นทุนของสังคมประชาธิปไตย การที่มีชนชั้นกลางมากขึ้น ก็สะท้อนคุณภาพของสังคมที่จะรองรับระบอบประชาธิปไตยได้ดีขึ้น อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีคุณภาพมากพอหรือเปล่า ‘ภูมิธรรม’ บอกว่ายังไม่กล้ายืนยันว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับไหน แต่อยากลงไปศึกษาและทำความเข้าใจตรงนี้ให้มากขึ้น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตยและต่อสังคมไทยโดยรวม เพื่อจะกำหนดสถานะทางการเมือง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของฝ่ายประชาธิปไตยให้เดินไปอย่างถูกทิศถูกทางได้มากขึ้น

‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ต้องจับมือกันให้แน่น

อย่างไรก็ตาม ‘ภูมิธรรม’ มองว่า ในรายละเอียดของคะแนนเสียง คือการเทคะแนนให้ฝ่ายประชาธิปไตยที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคต้องจับมือให้แน่น โดยไม่ได้มองว่าเพื่อไทย 140 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคก้าวไกล 151 เสียง แต่ต้องคิดว่ามันเป็นภาพรวมของ 312 เสียง คือสิ่งที่ประชาชนเขาให้กับฝ่ายประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้นไม่ว่าเพื่อไทยก็ดี ไม่ว่าพรรคก้าวไกลก็ดี หรือใครก็ดี จะไปเคลมว่าตัวเองจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะจริงๆ ต้องยอมรับว่าใน 500 เสียง เราได้ 140 หรือ 150 เท่านั้นเอง ยังไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่ง เป็นภาพรวมสะท้อนว่าประชาชนเขามีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

แม้จะเป็นโทนประชาธิปไตยด้วยกัน ก็ยังมีหลายเฉด เพราะฉะนั้นฝ่ายประชาธิปไตยจริง ๆ ต้องเป็นภาพที่มองให้กว้างขวางขึ้น รวบรวมคนที่แม้จะเห็นต่างในวิธีการ แต่ว่าจุดยืนเป็นเรื่องของประชาธิปไตย ก็ควรต้องจับมือกันให้ได้และร่วมมือกันให้ได้มากที่สุด

ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะเรียกว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ‘ภูมิธรรม’ ไม่อยากให้นิยามว่าเปลี่ยนไปแล้ว เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงที่เป็นนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาต่อสู้และถูกปราบปราม ขณะที่พวกเขาก็มุ่งไปสู่หนทางที่จะเปลี่ยนแปลง และคิดว่า 5 ปีต้องเปลี่ยนได้ แต่มาถึงเวลานี้ 50 ปีแล้ว ทุกอย่างดีขึ้น ไม่เหมือนเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีระยะเวลา มีจุดที่ต้องสะสมความเข้าใจของประชาชน แม้ว่าในวันนี้อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ และเห็นสัญญาณเริ่มต้นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งพอถึงจุดก็เปลี่ยนทั้งคุณภาพ และมันค่อย ๆ เปลี่ยนไปอีกและต้องใช้เวลา

“ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือยัง ผมคิดว่า ถ้าบอกว่าใช่แล้ว ผมไม่รู้ว่าเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่แต่ละคนเท่ากันหรือไม่ สำหรับผม ผมถือการเรียนรู้ประสบการณ์ของพี่น้องประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง แล้วเขาควรยังมีสิทธิเสรีภาพในกรอบที่จะสามารถดูแล ตัดสินใจ เลือกในสิ่งที่เขาอยากมี อยากได้ และตรงนั้น ผมคิดว่ามันต้องใช้เวลา”

‘ภูมิธรรม’ มองว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดหนึ่งหลังจากที่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากสังคมไทยมีความสลับซับซ้อน ทำให้การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่ายินดีว่า สังคมไทยได้ก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว

“ผมมองการเปลี่ยนแปลงมีความสลับซับซ้อนมากในสังคมไทย แล้วต้องใช้เวลา แต่ผมก็ไม่ได้ดูเมินเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าดีใจ น่ายินดี เป็นอีกขั้นหนึ่งของสังคมไทย อีกขั้นหนึ่งของความรับรู้ของพี่น้องประชาชนที่จะพัฒนาไป แต่ผมเตรียมใจไว้ว่ายังต้องเปลี่ยนแปลงเยอะ และต้องใช้เวลาอีกเยอะพอสมควร

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ใช่ ‘ชัยชนะ’

‘ภูมิธรรม’ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต้องใช้เวลา และการยึดอุดมการณ์ณ์อย่างเดียวโดยไม่ได้ดูความเป็นจริง ก็อาจไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

แม้วันนี้จะบอกว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะแล้ว ประชาชนตัดสินใจแล้ว แค่นี้คือชัยชนะ มันไม่พอ เนื่องจากเห็นได้ชัดเลยการจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียงที่จะตั้งขึ้น ไม่ง่ายเลย

“วันนี้มีความซับซ้อนมาก แล้วยังมีอะไร… เพราะว่ามีกลไกของฝ่ายถือครองอำนาจ ได้วางเอาไว้ ซึ่งถ้าเป็นสังคมแบบเดิมๆ พรรคร่วมรัฐบาลได้ 312 เสียง ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อยไปแล้ว ตั้งรัฐบาลเสร็จตั้งแต่วันแรกแล้ว แต่ถึงวันนี้เรายังไม่รู้เลย ถึงแม้เราจะบอกว่าเราสนับสนุนพรรคก้าวไกลโดยคุณพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์)เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะได้เสียง 151 เสียง แต่วันนี้ ดูจากคำถามสื่อ ดูจากสังคมที่กำลังเฝ้าดู เฝ้ามองและเฝ้าห่วงใย ก็ชัดเจน ยังไม่แน่เลยว่าคุณพิธาจะประสบความสำเร็จอย่างที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตย คาดหวังหรือเปล่า”

ความยากลำบากของการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ คือความเป็นจริงของอำนาจที่ได้สร้างกับดักของการสืบต่ออำนาจตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 และดำรงอยู่อย่างเต็มที่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะฉะนั้น จึงอยากเตือนหรืออยากดึงสังคมไทยกลับมาช่วยกันคิดแล้วใช้สติอย่างรอบครอบ ในการที่จะมุ่งหมายอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นพลังขับเคลื่อนให้มีแรง ในการทำให้สังคมมันเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ก็ละเลยไม่ได้ ทำให้การต่อสู้ถึงต้องค่อย ๆ ยกระดับและประสบความสำเร็จ โดยที่เราไม่สูญเสียหรือรู้สึกเสียใจมากเกินไป

ถ้าเรายึดอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว สังคมก็ไม่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้ ยึดแต่อุดมการณ์อย่างเดียว ไม่คำนึงความเป็นจริง เราไม่รู้ว่าวันนึงเราจะทำตัวเป็นหัวหอก ที่ไม่มีด้ามหอกตามเรามาหรือไม่

‘ภูมิธรรม’ เห็นว่า ถ้าเรายึดแต่ความเป็นจริงอย่างเดียว ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนที่ยอมรับความเมินเฉย และเฉยชา อยู่กับความเป็นจริงก็ไม่ได้ ฉะนั้นต้องมีแรงขับเคลื่อนทางอุดมการณ์ มีความเชื่อมั่นในความฝันที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และอย่าละเลยในความเป็นจริง ก็จะทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่จะเดินไปข้างหน้าถูกที่ถูกทาง เราก็จะไม่เสียความรู้สึกกันจนเกินไป เราก็จะอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น แล้วเราก็จะมองความเป็นจริงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างเข้าใจมากขึ้นและสบายใจขึ้น

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ประธานสภาฯต้องเป็นพรรคคะแนนอันดับหนึ่ง

ส่วนตำแหน่งประธาน สภาผู้แทนราษฎร ‘ภูมิธรรม’ บอกว่า ที่ผ่านมาเคยเสนอไปว่าคะแนนสองพรรคมันใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายควรจะได้ประมุขคนละฝ่ายดีหรือไม่ ซึ่งจากวันนั้นยังไม่มีอะไรคืบหน้าเรื่องการเจรจาตำแหน่งประธานสภา

แต่ส่วนตัวได้ออกมาพูดว่าการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ได้รับเลือกอันดับหนึ่งก็ควรจะได้เก้าอี้ไป แต่ด้วยคะแนนเสียงที่ไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นพรรคอันดับสองควรจะได้รองประธานสภา 2 คน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูหลักความเป็นจริง เพราะว่ามันไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์อย่างเดียว

อย่างเช่น พรรคเพื่อไทยได้พรรคคะแนนอันดับสอง ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ แต่เราเห็นว่าเป็นความต้องการของประชาชน เราถึงเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เราไม่ได้ยืนตามหลักเกณฑ์เดิมๆ แต่ปรับตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงตรงนี้ โดยเรายังยึดหลักการเหล่านี้อยู่ แต่ให้ทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน

ต้องทบทวน ‘ผสมผสานคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่’

ในส่วนของพรรคเพื่อไทยต้องปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีคุณภาพมากขึ้นอย่างไร ‘ภูมิธรรม’ เชื่อว่า เมื่อเรายึดมั่นในประชาธิปไตยที่ยืนอยู่ในพัฒนาการทางการเมือง แล้วเรายึดมั่นในกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธีโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโดยวิวัฒนาการ เพราะฉะนั้น ผมไม่คิดว่าจะพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงในเร็วทันที มันค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป

“เรายืนยันหลักการประชาธิปไตยและเคารพในสิทธิเสรีภาพของคน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่ผมพูดอยู่เสมอก็คือ ความเป็นจริงของสังคมไทยที่ต้องมาดูแล้วปรับกัน จึงจะไม่เกิดความสูญเสีย รุนแรง เพราะว่า ถ้าเราคิดจะเปลี่ยนแปลงโดยทันทีทันใด สำหรับส่วนตัวผม ผมว่าก็โอเค แต่ว่าก็สูญเสีย ก็จะสูญเสียเยอะ ผมไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงแบบนั้นจะเกิดประโยชน์เพียงพอกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง”

การเมืองถึงวันนี้มีจุดเริ่มต้นที่ทุกคนต้องปรับตัวหมด และถอยให้กับคนรุ่นใหม่ เช่น คนที่อายุ 70 ปีต่อสู้มาตลอด 50 ปี ก็ถึงจุดที่ไม่ต้องมายืนอยู่แถวหน้าแล้ว ก็ต้องค่อย ๆ ถอย แล้วเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาบ้าง

“ผมคิดว่าการผสมผสานและการค่อย ๆ แทนที่กัน อย่างเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ ของแต่ละพรรคเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น รวมทั้งในสังคมไทยด้วย วันนี้เราบอกว่ามันเป็นโลกคนยุคใหม่แล้ว ถ้าคุณบอกเป็นโลกคนยุคใหม่ คุณจะเอาคนชราอีกจำนวน ไปไว้ที่ไหน คนชราที่มีประสบการณ์ ยังเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และหาจุดยืนที่เหมาะสมและเชื่อมกัน ได้อย่างไร ผมไม่อยากพูดเรื่องนี้มาก เพราะว่าเป็นคนอายุ 70 พูดไปเหมือนกลัวสูญเสีย แต่จริง ๆ คือต้องจัดความพอดีของสังคมอย่างไร เอาคนรุ่นใหม่เป็นส่วนผสมที่เข้ามาเพิ่มให้มากขึ้นอย่างไรแล้วทำอย่างไรให้พลังทุกฝ่ายมันช่วยพัฒนาสังคมเดินไปข้างหน้าให้ได้”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

3 วิวัฒนาการประชาธิปไตยคนไทยกินดีอยู่ดี

หากย้อนกลับไปมองวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่ง ‘ภูมิธรรม’ ย้ำมาตลอดว่าต้องใช้เวลา และที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจุดเปลี่ยนของระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นแล้วมีสองสามครั้งด้วยกัน

ครั้งแรก 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ระดับสำนึกของคนในสังคมเรื่องประชาธิปไตยกว้างขวาง สูงขึ้น มีขอบเขตทั่วประเทศ นักศึกษาระดมกำลังกันออกไปชนบท ไปเผยแพร่เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนที่อยู่ในชนบทได้รับรู้ได้เข้าใจ แม้อาจจะยังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ตาม แต่ทำให้เรื่องประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องนามธรรมห่างจากวิถีชีวิตเขา กลับมาสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและความต้องการของพวกเขาได้ โดยพวกเขาสามารถแสดงออกได้ด้วยเข้าใจ สิทธิของตัวเอง อันนี้ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งหนึ่งในสังคมไทย ที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมันก้าวกระโดดข้ามจากระบอบเผด็จการที่ครองอำนาจมายาวนานได้ แต่ว่าก็น่าเสียดายที่อยู่ได้แค่ 3 ปีก็ถูกอำนาจเดิมกลับเข้ามา

ครั้งที่สองหลังจากนั้นมาเกือบอีกเกือบ 20 ปี เกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งถือเป็นการยกระดับอย่างหนึ่ง เพราะว่ามีความต้องการลึกซึ้งของรายละเอียดของประชาธิปไตยมากขึ้นในกระบวนการเลือกตั้ง ต้องได้นายกรัฐมนตรีมาจากสภาผู้แทนราษฎรหรือมาจากประชาชน

“จุดเปลี่ยนครั้งที่สองก็ไปอีกขั้นหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความรับรู้ของคนในสังคมที่ก้าวข้ามไปถึงจุดหนึ่งแล้ว จากความเข้าใจในพื้นฐานมาเป็นความเข้าใจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น”

ครั้งที่สาม ‘ภูมิธรรม’ มองว่า ขบวนการประชาชนที่เติบโตมาจากสองเหตุการณ์ โดยเฉพาะเด็กในรุ่นนั้นก็เริ่มมาเป็นคนวัยทำงาน มีประสบการณ์ผ่านชีวิต เพราะฉะนั้นการสั่งสมของสังคม ได้เกิดกระบวนการสีเขียวที่เคลื่อนไหว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีพื้นฐานเป็นระบอบประชาธิปไตย

“ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยจิตวิญญาณและโดยพื้นฐานเป็นระบอบประชาธิปไตย และมีส่วนช่วยให้กระบวนการประชาธิปไตยเติบโตค่อนข้างมาก แต่ว่าสิ่งที่รัฐธรรมนูญปี 2540 มีปัญหาก็สะท้อนให้เห็นชัดว่า บางทีการคิดเชิงอุดมการณ์อย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ได้เท่าไหร่ เพราะคิดว่าควรจะมีองค์กรอิสระเพื่อจะมาช่วยตรวจสอบ ในที่สุดก็ถูกฝ่ายอำนาจบิดเบือน และใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการขจัดฝ่ายที่เห็นต่างไป แต่ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ส่งเสริมให้เกิดขบวนการประชาธิปไตยที่กว้างขวางขึ้น ส่งเสริมให้เกิดรัฐที่แข็งแรงในการที่สนับสนุนให้ประชาชนได้สิทธิใช้สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ มากขึ้น หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เกิดพรรคไทยรักไทย และด้วยบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย และนโยบายที่ทำให้เกิดชีวิตที่ดีขึ้น จนพูดกันว่า ‘ประชาธิปไตยกินได้'”

ในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีบรรยากาศประชาธิปไตย ‘ภูมิธรรม’ เห็นว่า การทำนโยบายที่เข้าถึงประชาชน และเกิดการกระจายอำนาจที่เป็นการจัดการทรัพยากร งบประมาณที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยตลอด 6 ปี รัฐบาลไทยรักไทยทำให้เกิดโครงการใหม่ ๆ มากมาย สามารถย้ายเงินจากส่วนกลางจากรัฐบาลประมาณ 70,000 ล้านบาท ลงไปอยู่ที่หมู่บ้านละล้านบาท เป็นต้นทุนให้ประชาชนแสวงหา ใช้เป็นกองทุนของตัวเองในการปรับปรุงชีวิตได้ ทำให้ประชาชนมีเวลาที่จะใช้สิทธิที่เป็นพื้นฐาน

นอกจากนี้ยังทำให้เกิดสินค้าโอทอป และเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงในเชิงสวัสดิการ ที่จะมองให้เห็นถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนในเรื่องระบบสาธารณสุข ซึ่งคือกระบวนการกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างทางการเมือง แต่คือการย้ายทรัพยากรทั้งหมดไปอยู่ที่ประชาชน ให้พี่น้องประชาชนเป็นคนตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรนั้น นี่คือหัวใจของระบบกระจายอำนาจ

“กระบวนการที่ทำมา เป็นกระบวนการที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยมาทำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน แล้วเพิ่มอำนาจประชาชนในการเลือกทางเลือกของตัวเอง ผมว่าแบบนี้สำคัญ สำคัญกว่าการไปเรียกร้องเรื่องโครงสร้างทางการเมืองอย่างเดียว ผมไม่ได้บอกว่าไม่สำคัญ แต่ว่ามันไปตอบสนองได้ และผมเชื่อว่าอันนี้เป็นต้นทุนพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนเขารู้สึกว่าเขามีสิทธินะ ชีวิตเขาดีขึ้นได้ ระบบสาธารณสุขรองรับเขาได้”

‘ภูมิธรรม’ จึงมองว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมานานแล้ว และแน่นอน วันนี้ประชาชนกำลังต่อสู้กับอำนาจเดิม ฉะนั้นพอเกิดขึ้นมาสมัยคุณทักษิณ(ชินวัตร)ปี 2548 เกิดการรัฐประหารขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้ทำมาก็ถูกล้างเป็นศูนย์เกือบหมด ไม่มีการดำรงอยู่ในข้อมูล กระทรวงศึกษาเคยบรรจุข้อมูล 14 ตุลาฯ ให้อยู่ในบทเรียนแต่วันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ถูกลดถอนไปหมด

เพราะฉะนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยต้องตระหนักและเข้าใจว่า การต่อสู้ของประชาชนไม่ใช่เพิ่งมีแค่สมัยไทยรักไทย มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ กระบวนการในการสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งกระบวนการสู้เพื่อประชาธิปไตยมีมาตลอดทุกยุคทุกสมัย แม้จะถูกลบเลือนไปเรื่อยๆ แต่รากของความคิดความเข้าใจก็เติบโตขึ้นกับพี่น้องประชาชน แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มทวีมากขึ้นจากเป็น 14 ตุลา มาเป็นพฤษภา 35 มาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 และการตัดสินเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นว่าต้องการประชาธิปไตย

“การเปลี่ยนแปลง จริง ๆ ผมตัดตอนมาพูด จริง ๆ ประชาชนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แต่เราพูดถึงในช่วงชีวิตของเราที่เห็น ผมเป็นคน 14 ตุลาคม 2516 ผมเห็นและเข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงนั้น ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พอมาถึง 6 ตุลาคม 2519 ผมเห็นกระบวนการต่อต้านอำนาจที่ไม่ให้เกิดขึ้น เรียกว่าเป็นกระบวนการที่โหดร้าย ทำร้ายแม้กระทั่งชีวิต ผมเห็นกระบวนการเกิดขึ้นของขบวนการพฤษภาทมิฬ ปี 2535 เห็นการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจสิ่งต่าง ๆ แล้วก็ในช่วงเรา ชีวิตเรา เราเห็นชัด ๆ เราเห็นความพยายามของคนเสื้อแดงที่ไปที่ชุมนุมที่ราชประสงค์ จริง ๆ คนเสื้อแดงเขาไม่ได้ขอมากเลย เขามาเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้ง แต่เขาก็ถูกอำนาจรัฐใช้อาวุธสงคราม ใช้อะไรหลาย ๆ อย่างทำลายล้างเพื่อสลายการชุมนุมของเขา เพราะฉะนั้น การต่อสู้ประชาชนมีมาต่อเนื่องมาตลอด และเขาก็สูญเสียไปตลอดเช่นกัน”

“อยากให้ระมัดระวังและหวงแหนหน่อความคิดที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน อย่าให้สูญเสียไปเร็วขึ้นหรือมากขึ้น ต้องประคับประคองให้ความคิดที่ดีๆ แบบนี้ในสังคมไทยค่อย ๆ ขยายผล เพราะเชื่อว่าประชาชนไม่ได้อยู่นิ่งเฉย”

เมื่อเขาทำความเข้าใจกัน สั่งสมได้ถึงจุดหนึ่งเขาก็จะเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่ค่อยเห็นด้วยถ้าเราขับเคลื่อนความต้องการของเราโดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงของมวลชนหรือของประชาชนโดยตรง จนผลักดันให้การเปลี่ยนแปลง ซึ่งถึงจะขยับตัวได้เร็วขึ้น แต่ก็จะสูญเสียหรือเสียหายได้มากขึ้น

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

‘พรรคเพื่อไทย’ ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงของประชาชน ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องปรับตัวอย่างไร ‘ภูมิธรรม’ บอกว่า มองเห็นสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ประมาณสองปี พรรคเพื่อไทยเริ่มรีแบรนด์ตัวเราเอง ทั้งภาพลักษณ์ ปรับปรุงระบบบริหารภายใน มีส่วนผสมของคนรุ่นใหม่มากขึ้นและเริ่มให้ผู้สมัครของเรามีคนใหม่ ๆ มากขึ้น แต่ว่าวันนี้เมื่อสังคมเปลี่ยนมากขนาดนี้ เราอาจจะไม่ทันแล้ว

“ถ้าจะพูดเรื่องโซเซียลมีเดีย ผมก็เป็นคนเล่นทวิตเตอร์ แต่ก็ยังโง่อยู่ ยังไม่เท่าเทียมกับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเขาใช้โซเซียลมีเดียเป็นชีวิตประจำวันฉะนั้นก็สะท้อนว่าโลกเปลี่ยนจริง ๆ คนรุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นแล้ว ทุกวันนี้ผู้ออกเสียงหน้าใหม่ที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเพิ่มสัดส่วนตรงนี้ให้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ‘ภูมิธรรม’ ไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนสัดส่วนตรงนี้ด้วยการเอาคนมีอายุที่มีประสบการณ์ออก คนสูงอายุที่เข้าใจโลกของการเปลี่ยนแปลงควรเพื่อมาเสริมหนุนให้คนรุ่นใหม่ ๆ หรือเยาวชนสามารถมีพลังที่แข็งแรง

“ผมว่าพรรคเพื่อไทยคงต้องคุยกันเรื่องนี้อย่างจริงจัง และก็ผู้ใหญ่ในพรรคก็อยู่ในจุดที่อ่อนแรงลงแล้ว ถึงแม้ความมั่นใจความเชื่อมั่นยังคงมีอยู่ แต่เราก็คิดว่าเราพร้อมที่จะถอยกลับไปเป็นผู้สนับสนุนให้มากขึ้น และให้คนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบให้มากขึ้น”

ทำไมเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะพยายามปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงมาก่อนการเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งนี้ ‘เพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ตามที่ประกาศไว้’ ‘ภูมิธรรม’บอกว่า “นับจากตั้งแต่กลางปี 2565 ตอนที่เปิดหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย คุณแพทองธาร ชินวัตร และมาพร้อมกับคำขวัญเรื่องแลนด์สไลด์ เราเปิดเพลงแลนด์สไลด์ที่ขอนแก่นพร้อมกับการรีแบรนด์พรรค ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจากตรงนั้น กระแสมาในทิศทางบวก แต่เราคิดว่าเราเพิ่มแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีก 2 คน คือ คุณเศรษฐา ทวีสิน และอาจารย์ชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องบวก เพราะทั้งสามคนเสริมบทบาทซึ่งกันและกันได้ เช่น คุณแพทองธาร เป็นคนที่นั่งอยู่ในใจของแฟนคลับเก่าของคนเพื่อไทย ซึ่งมีคุณพ่อ คุณทักษิณ ชินวัตร ขณะที่คุณเศรษฐา ในกลุ่มนักธุรกิจ สาม อาจารย์ชัยเกษม เป็นข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับของอดีตข้าราชการเกษียณทั้งหลาย ว่าเป็นคนใจซื่อมือสะอาด ตรงไปตรงมา แล้วก็ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ซึ่งเราคิดว่าสามคนจะเป็นองค์ประกอบที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้คะแนนเสียงเราได้กับคนทุกกลุ่มได้

“แต่เราโชคร้ายเพราะคุณอุ๊งอิ๊งตั้งครรภ์ เพราะในช่วงที่คุณอุ๊งอิ๊งยังตระเวน หาเสียงอยู่ พรรคเพื่อไทยคะแนนขึ้นมาเป็นอันดับทิ้งทุกส่วนเลย แต่คะแนนเริ่มดรอปลงเมื่อคุณอุ๊งอิ๊งเข้าโรงพยาบาลต้องไปคลอดบุตร ประมาณสองอาทิตย์สุดท้าย ซึ่งตรงนั้นก็เป็นข้อจำกัดของฝ่ายเรา ขณะที่คุณเศรษฐาเข้ามา ก็พยายามจะลงพื้นที่ จะเห็นว่าคุณเศรษฐาลงพื้นที่เกือบทุกที่ที่ไป ก็ทำให้ไม่ได้ขึ้นเวทีดีเบตที่สื่อมวลชนจัดเยอะมาก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ‘ภูมิธรรม’ ยอมรับว่า ไม่เคยประเมินว่าพรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้งได้คะแนนอันดับหนึ่ง โดยประเมินพรรคก้าวไกลสูงสุดประมาณ 70-80 ที่นั่ง และประเมินว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะสามารถฝ่า 250 ที่นั่ง

“จุดที่ผมแพ้สุด ถ้าไปดูจริง ๆ คือกรุงเทพฯ และปริมณฑล นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ชลบุรี ซึ่งสังคมปริมณฑลไม่ต่างกับกรุงเทพฯ มีลักษณะร่วมกันเยอะมาก ทำไมจุดตรงนี้แพ้หมดเลย แสดงว่าเป็นจุดที่ไวต่อการรับรู้ข่าวสารมาก โดยประเมินจุดเปลี่ยนพรรคก้าวไกล กระแสนำน่าจะเริ่มตั้งแต่สามย่านมิตรทาวน์ และเกิดการกระจายในโซเซียลมีเดียจำนวนมาก”

ส่วนจะแพ้เพราะคำว่าเราไม่มีลุงหรือไม่นั้น ‘ภูมิธรรม’ บอกว่า ต้องให้สังคมคิด สมมติว่าถ้าการเมือง ไปไม่ได้ มีลุงไม่มีเรา แล้วได้คะแนนแค่นี้ คุณจะจัดรัฐบาลได้อย่างไร

“เรื่องของกติกามันมี แต่ผมคิดว่า การจัดรัฐบาลได้แล้ว เข้าไปออกประชามติผ่าน ครม. (คณะรัฐมนตรี) นัดแรก เพื่อไปทำ สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) เปลี่ยนแปลงกติกา อันนี้คือสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะถ้าคุณไม่ได้เป็นรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ก็อยู่ไปเรื่อย ๆ”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

‘เพื่อไทย’ ย้ำจุดยืนตามความต้องการประชาชน

อย่างไรก็ตาม ‘ภูมิธรรม’ ยืนยันว่า การรวมตัวกันของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เป็นการตอบสนองความรู้สึกที่อยากจะเปลี่ยนแปลงของพี่น้องประชาชนได้ เพราะฉะนั้นจากนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ถ้าฝ่ายที่คิดว่าได้รับความคาดหวัง หรือเรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตย ยังคงดำรงสถานะที่เป็นพรรคเสียงข้างมากอยู่ ก็ควรจะต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันเจตจำนงที่ประชาชนต้องการ อันนี้คือเหตุผลสำคัญที่พรรคเพื่อไทยไม่ประกาศตัวเป็นพรรคที่รอการจัดตั้งรัฐบาลตามประเพณีการปกครองนิยมที่เคยทำมา

“ถ้าผมทำ ก็ไม่มีใครว่านะ เพราะส่วนใหญ่พรรคที่หนึ่งก็ไปหาจับกับพรรคที่สาม พรรคที่สี่ แต่ว่าเมื่อเป็นเจตจำนงของประชาชน เราเห็นตรงนี้ เราถึงยอมเข้ามาร่วมและเราประกาศชัดเจนว่าเราจะไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่ง และจะสนับสนุนไปจนถึงสุดทาง ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามขบวนการทางการเมือง ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ อยู่ระหว่างการตกลงกัน”

‘ภูมิธรรม’ ย้ำอีกว่า การที่ถามว่าจะจับมือกับใคร ไม่จับมือกับใคร พรรคเพื่อไทยยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้องที่สุด ในทางการเมืองไม่ต้องประกาศว่าจะจับใครไม่จับใคร โดยมารยาทเขาไม่พูดให้เกียรติทุกฝ่ายและหาเสียง เรายังยืนยันว่าเรายึดมั่นในหลักประชาธิปไตย คือจับใครไม่จับใครยังไม่พูด แม้จะรักกันกับพรรค ก. พรรค ข. ก็จะไม่บอกว่าจะจับมือกัน เพราะกฎหมายไทยก็มีเรื่องฮั้ว เพราะฉะนั้นแค่พูดชัดเจนว่าจะอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตย ยืนยันในหลักประชาธิปไตย แล้วก็พิสูจน์มาตลอดชีวิตของพรรคไทยรักไทยว่า เราสู้กับเผด็จการ ถูกล้มมาไม่รู้กี่หนแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าไม่สู้

ส่วนกระแสการเปลี่ยนขั้วการเมือง มีการเจรจากับพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ‘ภูมิธรรม’ ยืนยันว่า จุดที่ชัดเจนของเพื่อไทยคืออยากตอบสนองความต้องการประชาชน เพราะถ้าไม่ทำตรงนี้ พรรคเพื่อไทยก็หมดอนาคต

เพราะฉะนั้น วันนี้ถึงได้บอก พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเป็นอันดับสอง มีความชอบธรรมมากเลย ถ้าพรรคเพื่อไทยปล่อยให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล แล้วเรานิ่งเฉย เราไม่ต้องประกาศว่าต้องจับมือกับใคร

ไม่มีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคอันดับหนึ่งจับมือกับพรรคการเมืองอันดับสอง แต่ครั้งนี้เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคเพื่อไทยสนับสนุนพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้น วันนี้ไม่มีวอกแวก กอด 8 พรรคให้แน่นแล้วก็เดินหน้าไปให้ได้

แก้ปัญหาปากท้อง นำการเมือง

ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ‘ภูมิธรรม’ มองว่า ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย อยู่ที่การยกระดับกำลังซื้อและกำลังความสามารถในการผลิตทั้งหมด ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณต้องทำเศรษฐกิจทั้งหมดให้โต

แนวคิดเรื่อง 10,000 ดิจิทัลวอลเลต เราไม่ใช่แจกเงิน เรากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น เราใช้ครั้งเดียวหกเดือน เอา 10,000 บาทให้หลายคน ในขอบเขตทั่วประเทศ จำกัดพื้นที่ เพื่อยกเศรษฐกิจทั้งระบบให้โต พอได้อย่างนั้นก็สามารถเอามาจัดสรร เพิ่มเงินในกองกลาง แล้วสามารถทำระบบต่าง ๆ ได้มากมาย

แต่ถ้าวันนี้อาศัยเพียงแค่ภาษีก็ไม่มีทางไปได้มากกว่านี้ เพราะกำลังการผลิตกำลังซื้อมีอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจโต โดยทำให้เศรษฐกิจของคนในประเทศดีก่อน

“ผมยังเชื่อว่าปัญหาเรื่องปากท้องยังเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณยกระดับปากท้อง คุณยกระดับการทำมาหากิน คุณยกระดับการสร้างรายได้ใหม่ เศรษฐกิจโต ผู้คนไม่มีปัญหาเรื่องความอดยาก มีโอกาสในการสร้างอาชีพ ทำมาหากินได้ จึงจะไปคิดเรื่องการเมืองเรื่องที่สูงกว่านั้น ผมยังเชื่ออันนี้”