ThaiPublica > เกาะกระแส > จุดประกายสังคมชาญฉลาด : ‘ความสุข’ ในสังคมไทย ถดถอยหรือก้าวหน้า ?

จุดประกายสังคมชาญฉลาด : ‘ความสุข’ ในสังคมไทย ถดถอยหรือก้าวหน้า ?

3 มิถุนายน 2023


การระดมความคิด “สังคมแห่งความสุข : สังคมไทยมีความสุขจริงหรือ” (Happiness Society : Is Thai Society Happy?)เป็นหัวข้อเสวนาภายใต้ “โครงการจุดประกายการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเพิกเฉยสู่สังคมชาญฉลาด” เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้ ก้าวข้าม ‘กับดัก’ ความเพิกเฉย ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และการเสริมการเรียนรู้ในมิติของการทำความเข้าใจกับเงื่อนไขที่ตนและประเทศของตนมีอยู่ โดยการเสวนาในครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนต่อจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งช่าติ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย(Spearhead) ด้านสังคมคนไทย 4.0 โดยมี ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ราชบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจ ราชบัณฑิตยสภา และอาจารย์ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)ในฐานะหัวหน้าโครงการและเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ความสุขแบบไทย คือ ‘ความพอดี’ และได้ทำในสิ่งที่รัก

ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา ตั้งคำถามว่า “สังคมไทย เป็นสังคมแห่งความสุขจริงหรือเปล่า” และเสริมว่า ชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่เรียบง่ายและ simple ดังนั้นคำถามคือ วันนี้ประเทศไทยทำให้คนไทยมีชีวิตที่เรียบง่ายหรือไม่

ศ. ดร.ผลิน มองว่า ความสุขในประเทศไทยและสุขของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และไม่อยากให้เอาไม้บรรทัดความสุขของสากลมาวัด แต่ต้องทำให้ไทยเป็นไม้บรรทัดที่คนอื่นอยากใช้ เพื่อให้มีความสุขแบบไทย และคนอื่นอยากมีความสุขแบบคนไทยเช่นกัน

“ผมอยากให้คนไทยมีความสุข และเราไม่ต้องมีเหมือนคนอื่น ในฐานะที่เราเป็นนักวิชาการ เราทำอะไรก็อ้างอิงฝรั่งหมด แล้วทำไมฝรั่งไม่อ้างอิงเรา แต่เขาอ้างอิงพระพุทธเจ้า นี่สิ่งที่เรามีแต่มองไม่เห็นหรือเปล่า” ศ. ดร.ผลิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศ. ดร.ผลิน กล่าวว่า ความสุขเกิดจากการได้ทำในสิ่งที่เรารัก แต่ประเด็นคือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ารัก ชอบ หรือหลงใหลคืออะไร ดังนั้นเราควรปลูกฝังการสร้างความสุขจากความชอบและหลงใหล

ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ราชบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจ ราชบัณฑิตยสภา และอาจารย์ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ศ. ดร.ผลิน ยกตัวอย่างเรื่องการศึกษาไทยที่นักเรียนเรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่มีความสุข เพราะเรียนเพื่อวัดผล สุดท้ายทำให้มีความทุกข์ ในทางกลับกันถ้าเรียนแล้วมีความสุขจะรู้สึกเหมือนแบตเตอรี่เต็ม และต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ ได้

“ความสุขคือการที่เราไม่ต้องพึ่งพาใคร เราต้องเป็นดาวฤกษ์ อย่าเป็นดาวเคราะห์ ถ้าเด็กได้ประเด็นนี้เขาจะเป็นหิ่งห้อย ไปที่ไหนก็มีแสง แต่วันนี้เรามาผิดทางหรือเปล่า”

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างเรื่องคนมีรายได้น้อยว่า ถ้าเขาชื่นชมกับความจน (appreciate) และทำให้คนเมืองเห็นว่าชีวิตในต่างจังหวัดหรือชีวิตชาวเขา อยู่แล้ว มีความสุขกว่าชีวิตในเมือง คนในเมืองก็จะอิจฉา และคนจนจะมีความสุข

“น้องๆคนลาวบอกว่า ตอนเด็กๆ อยู่ลาว เวลาไม่มีอะไรกิน ก็ไปจับปู จับปลาในนากิน หาผลไม้ ได้ แต่พอระบบสังคมเจริญขึ้น แค่บอกว่าบ้านไม่มีทีวี ก็จนแล้ว ความทุกข์มันเกิดขึ้นทันที” ศ.ดร.ผลินกล่าว

ในด้านธุรกิจ ศ. ดร.ผลิน มองว่าเป้าหมายของการทำธุรกิจไม่ใช่การสร้างกำไรสูงสุด และไม่ใช่มุ่งแต่การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ธุรกิจคือการ “Create a Better Life for Others” พร้อมๆ กับการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Value) จึงมีคำที่ว่า “Creating Share Value”

ท้ายที่สุด ศ. ดร.ผลิน บอกว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ คือคำตอบของความสุข แต่พอเพียงในที่นี้คือ ‘พอดี’ ตราบใดที่เราพอเพียงทุกวัน เช่น กินอย่างพอดี กินเมื่อหิว ฯลฯ เราจะมีความสุข ทว่าเศรษฐกิจพอเพียงถูกสอนกันอย่างไม่ถูกต้อง เพราะเวลาคนนึกถึง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะนึกภาพการเลี้ยงเป็ด-ไก่ แต่ไม่เข้าใจว่าความพอเพียงคือ มีภูมิคุ้มกัน พอประมาณ มีเหตุผล และทางสายกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ปรับใช้ไม่ได้ ทำให้ไม่มีความสุข (ดูเพิ่มเติม https://youtu.be/92y_VbPxuWA)

คนไทยสุขน้อยลงตั้งแต่ปี 2559 ?

ศ. ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ (TRDI) และผู้จัดทำโครงการวิจัยนโยบายสาธารณะและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย กล่าวถึงความสุขในทางเศรษฐศาสตร์ว่า ความสุขของคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกันและคนเข้าใจไม่ตรงกัน เช่น ความสุขในโลกพุทธศาสนาเป็นแบบหนึ่ง แต่ในทางโลกเป็นเรื่องของโลกียะ ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ดังนั้นการจะศึกษาความสุขในมิติเศรษฐศาสตร์ต้องมองถึงภาพรวมความพึงพอใจในชีวิต

ศ. ดร. วรวรรณ อ้างอิงข้อมูลงานวิจัยเรื่องความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยฯ ซึ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2563 ว่า ในงานวิจัยได้ศึกษาความพอพอใจในชีวิต โดยไปสอบถามกลุ่มเป้าหมายและให้บอกคะแนนความพึงพอใจในภาพรวมตั้งแต่ 0 (น้อยที่สุด) ถึง 10 (มากที่สุด) และนำค่าเฉลี่ยของประชากรมาคำนวณเป็นภาพของสังคมไทย

“คำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้คือ Subjective Well-Being หรือความสุขเชิงอรรตวิสัย ดูใน 4 มิติ คือ หนึ่ง ความพึงพอใจในชีวิต สอง ความรู้สึกยินดี ดีใจที่เป็นบวก สาม ความรู้สึกแย่ และเป็นลบ สี่ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า” ศ. ดร. วรวรรณ กล่าว

“สิ่งที่คนไทยให้ความสำคัญมากที่สุด และมีผลต่อความสุขคือ ‘ความอบอุ่นในครอบครัว’ ยิ่งอบอุ่นมาก ความพึงพอใจก็สูงขึ้น เมื่อคนใกล้ตัวมีความสุขเราก็มักจะมีความสุข อันดับหนึ่งของคนไทยคือครอบครัว”

ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คนไทยมีความสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทุนทางสังคม ความสัมพันธ์ในครอบครัว การไว้วางใจ สิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วม การได้ช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม ความไว้วางใจทางสังคม ตลอดจนการเห็นคุณค่าในชีวิต

ดังนั้น มิติทางสังคมและครอบครัว เป็นมิติที่สำคัญที่สุดในการสร้างความสุขของคนไทย

ศ. ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ (TRDI)

อย่างไรก็ตาม ศ. ดร. วรวรรณ ให้ข้อมูลว่า เมื่อนำข้อค้นพบของงานวิจัย ไปเทียบกับรายงาน The World Happiness Report พบว่า ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2565 สังคมประเทศอื่นๆ มีความสุขมากขึ้น แต่คนไทยกลับมีความสุขน้อยลงตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จากที่เคยมีความสุขอยู่อันดับที่ 33 ลดลงมาเหลืออันดับ 60 จาก 156 ประเทศ ในปี 2565

ศ. ดร. วรวรรณ กล่าวต่อว่า ระดับความสุขที่เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งมาจากคนแต่ละรุ่นที่มีวิธีคิดและการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าคนทุกเจนจะมองว่า ครอบครัวยังเป็นความสุขอันดับ 1 แต่เรื่องบรรทัดฐานทางสังคม ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมของคนแต่ละรุ่นเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

“คนเจน X หรือ Baby Boomer พูดถึงความเรียบง่าย ความพอเพียง แต่เจน Z ให้ความสำคัญและเชื่อมั่นในรัฐบาลว่าเป็นปัจจัยเพิ่มความสุขได้ เจน Z ต้องการความเชื่อมั่นในรัฐบาล ส่วนเจน Y อยู่ในวัยทำมาหากิน ต้องดูแลทั้งคนข้างล่างและข้างบน พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เขาให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ระบบประกันสุขภาพ การมีงานทำ การไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม”

“ปัจจุบันคือช่วงเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรม และเราอยู่ในคลื่นนั้น อาจไม่พอใจที่คลื่นกำลังเปลี่ยน แต่ในอนาคต คนรุ่นก่อนจะหมดไป และเกิดวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา แม้เราจะไม่ชอบ แต่วัฒนธรรมบางอย่างจะหายไปในอนาคต” ศ. ดร. วรวรรณ กล่าว

ออกแบบนโยบายความสุข ต้องไม่มองแค่ ‘รายได้’

ศ. ดร. วรวรรณ กล่าวต่อว่า เวลาพูดถึงความสุข ต้องแยกระหว่าง ‘ความพึงพอใจในชีวิต’ กับ ‘ภาวะทางอารมณ์’ ออกจากกัน และถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์จะเน้นไปที่ความพึงพอใจในชีวิต เมื่อเห็นภาพรวมก็จะกำหนดนโยบายสาธารณะได้

“ถามว่าเรียนหนังสือมีความสุขไหม เป็นการถามภาวะทางอารมณ์ นั่นคืออารมณ์สุข-ทุกข์ตอนเรียน ไม่ใช่ภาพรวมความสุขของชีวิต เราอาจจะเป็นนักเรียนระหว่างที่เข้าเรียน ไม่สนุกเลย ไม่มีความสุขกับการเรียน แต่ถ้าถามภาพรวมในชีวิตอาจจะมีความสุขระดับ 9.5 ก็ได้ แต่ภาวะทางอารมณ์ไม่สนุก ในทางตรงกันข้ามอาจารย์คนหนึ่งสอนดีมาก แล้วเราเป็นเด็กยากจนที่ชีวิตลำบากยากแค้น แต่เมื่อไรที่ไปนั่งเรียนกับอาจารย์จะมีความสุข แต่ชีวิตลำบากทำให้ความสุขโดยรวมของชีวิตอาจอยู่แค่ระดับ 2” ศ. ดร. วรวรรณ อธิบาย

ศ. ดร. วรวรรณ อธิบายอีกว่า รายได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้น แต่ถึงจุดหนึ่งไม่สามารถทำให้คนมีความสุขต่อไปได้เรื่อยๆ แต่สำหรับคนยากจนที่รายได้เพิ่มขึ้นก็มีความสุขมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะมีความสุขเพิ่มเป็นขั้นบันได เพราะความสุขมีหลายปัจจัยประกอบกัน

ดังนั้น การพัฒนาประเทศหรือออกแบบนโยบายไม่ควรมองแค่มิติรายได้ และมองข้ามมิติอื่นๆ โดยเฉพาะมิติครอบครัว

“ทุกวันนี้ รัฐไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การสร้างครอบครัวที่อบอุ่นเลย มุ่งไปที่เศรษฐกิจอย่างเดียว อยากให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต เน้นการลงทุนโดยที่สังคมง่อยเปลี้ยเสียขา”

ภาพรวมคนไทยอาจมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ความสุขกลับลดลง มิติครอบครัวและสังคมเสื่อมลง การส่งเเสริมสถาบันครอบครัวมีน้อยมาก รัฐควรส่งเสริมให้คนใช้ชีวิตในครอบครัว เช่น การมีวันหยุดที่ตรงกัน คนที่เป็นแรงงานเสาร์อาทิตย์ต้องทำงาน ขณะที่เด็กไปโรงเรียนแล้วหยุดเสาร์อาทิตย์ เวลาไม่ตรงกัน การใช้ชีวิตในครอบครัวก็ไม่เกิดขึ้น

ศ. ดร. วรวรรณ กล่าวต่อว่า จากงานวิจัยหนึ่งระบุว่่า คนแต่งงานมีครอบครัวส่วนใหญ่มีความสุขมากกว่าคนโสด แต่คนโสดยังมีความสุขมากกว่าคนเป็นม่ายหรือหย่าร้าง ดังนั้นการแต่งงานโดยที่สถาบันครอบครัวไม่เข้มแข็ง สุดท้ายจะจบที่การหย่าร้าง และทำให้ความสุขลดลง ส่วนคนที่เลือกเป็นโสด เพราะไม่แน่ใจว่าแต่งงานแล้วจะมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยเหตุผลหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมและสังคมปัจจุบันทำให้คนไม่มั่นใจในชีวิต (ดูเพิ่มเติม https://youtu.be/Zft5H74Oac8,https://youtu.be/pzcrQpghMUg)

3 ปัจจัยปั้น’ฟินแลนด์’ เป็นประเทศแห่งความสุข

ศ. ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา จากสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ทางสารัตถะ ประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง

ด้าน ศ. ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา จากสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ทางสารัตถะ ประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ถอดบทเรียนจากประเทศที่ขึ้นชื่อว่าคนมีความสุขเป็นอันดับ 1 คือ ฟินแลนด์ และนำมาเปรียบเทียบกับสังคมไทย ทำให้พบบทเรียน ดังนี้

คนฟินแลนด์ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น แต่ในไทย ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 บอกว่าเวลาประเมินให้ประเมินอิงตน อิงพัฒนาการ ไม่ให้เทียบกับคนอื่น แต่เรานิยมอิงกลุ่ม เพราะสังคมไทยชอบเปรียบเทียบ

คนฟินแลนด์หรือสังคมฟินแลนด์จะไม่มองข้ามคุณค่าของธรรมชาติ นับญาติกับธรรมชาติ แต่เราเอาธรรมชาติมาทำมาหากิน สังคมไทยไม่ได้มองธรรมชาติเป็นเรื่องของชีวิต แต่มองเชิงเงินทอง ฟินแลนด์ไม่ทำลายความไว้วางใจในสังคม เช่น ข่าวลบ ธุรกิจสีเทา เฟคนิวส์ ฯลฯ

“สังคมไทยไม่มีความสุข และมีแนวโน้มจะไม่มีความสุขขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรายังไม่แก้ไขในสิ่งเหล่านี้”

ศ. ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า คนภูฏานมีความสุขโดยเชื่อมโยงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น ถ้าต้องการให้สังคมไทยมีความสุข ต้องใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการเดินทางสายกลางและมีคุณธรรม ซึ่งเป็นปรัชญาที่เรียบง่ายและเข้ากับวัฒนธรรมไทย แต่คนไทยไม่ค่อยสนใจ

ศ. ดร.สมหวัง ยังกล่าวถึง การสร้างความสุขตั้งแต่ในห้องเรียนว่า เราควรสร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพื้นฐานของแต่ละคน และเรียนตามศักยภาพ เพื่อให้เกิด flow ของการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดความสุข และการเรียนรู้ต้องทำให้เกิดความสุขในกระบวนการ ไม่ใช่หวังว่าให้ได้เกรดดีๆ แต่มีความทุกข์ ถ้าทำแบบนี้การศึกษาจะไม่ยั่งยืน (ดูเพิ่มเติม https://youtu.be/m_DfGvyhTGw,https://youtu.be/g0OXALmC018)

โมเดล ‘ภูฐาน’ มอบความสุขระดับสังคม

ศ. ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ. ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสุขมี 2 ระดับ คือระดับปัจเจก มีตั้งแต่ความสุขภายในตัวเอง มีความพอใจสนองความต้องการ และระดับสังคม คือความสุขจากสภาพแวดล้อม แบบแผน ยอมรับกติการ่วมกัน โดยทั้งสองระดับเชื่อมโยงกัน

ศ. ดร.ชนิตา ยกโมเดลการพัฒนาประเทศภูฏานว่า ภูฏานเสนอการทำ GNH (Gross National Happiness) ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ (1) การปกครองที่ดี (Good Governance) (2) การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) (3) วัฒนธรรม (Culture) และ (4) สิ่งแวดล้อม (Environment) ทั้งหมดทำให้เกิดความสุขจากภายนอก และทำให้ฉุกคิดว่าสังคมที่ดีไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวย แต่ขึ้นกับความสุขของปัจเจกและสังคม รวมกับมิติวัฒนธรรม

โควิด-การเมือง สร้างความทุกข์และความไม่พอใจ

ศ. ดร.ชนิตา ตั้งประเด็นว่า ทุกวันนี้ความสุขที่เป็นแก่นหลัก (Core Value) ของสังคมไทยเปลี่ยนไป นั่นคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กำลังถูกตั้งคำถาม และถ้าเปลี่ยนไปแล้วสังคมก็จะเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็นความสุขแบบใหม่

“เด็กรุ่นใหม่สมาทานคุณค่าอีกชุดที่เรียกว่า คุณค่าประเภทเป้าหมาย คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาค เขาเปลี่ยนไปแล้ว และเป็น Global Citizen เขาไปสมาทานคุณค่าที่เป็นสากลนิยม”

ศ. ดร.ชนิตา ยังกล่าวถึงปรากฏการณ์แลนสไลด์ของพรรคก้าวไกลว่า เหตุผลหนึ่งมาจากความทุกข์ที่ต้องการหาทางออกให้บ้านเมือง ตัวอย่างเช่น ช่วงโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก คนจำนวนมากเห็นว่าข้าราชการยังได้เงินเดือนปกติ แถมวันหยุดเพิ่ม หรือนโยบายเราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์ แต่รัฐบาลไม่อธิบายให้ชัดเจนว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่มาตรการเยียวยา กระทั่งเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลให้ดาราและคนมีชื่อเสียงไปฉีดก่อนชาวบ้าน รัฐบาลก็ไม่อธิบายว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ทำให้คนมองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำ(ดูเพิ่มเติม https://youtu.be/S4WB_g69_QY)