ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมี(2)… เสน่ห์ของบทกวี

เรื่องเล่าจากลุงหมี(2)… เสน่ห์ของบทกวี

24 พฤษภาคม 2023


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เป็นนักเขียนบทกวีระดับครูคนหนึ่ง ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ มีบทกวีประจำวันของ อาจารย์ชมัยภร ที่ลุงหมีถูกใจมากสองบท จึงขอถ่ายทอดให้ฟังเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นความงดงามและคุณค่าของบทกวี

กาพย์บทแรกแสดงถึงความงดงามของการเขียนบทกวีโดยใช้คำง่ายๆ (มีคำเป็นภาษากวีเพียงคำเดียว คือ รางชาง) แต่เมื่อร้อยเรียงอย่างมีฝีมือแล้ว เป็นบทกวีที่ไพเราะทีเดียว ยิ่งอ่านออกเสียงก็จะไพเราะยิ่งขึ้น

กาพย์บทที่สองแสดงถึงมุมมองของกวีต่อภาพที่เห็นข้างหน้า โดยเป็นมุมมองที่เป็นบวกและสะท้อนความหมายของศิลปะ เพราะวรรคลงท้ายว่า ‘ความงามแบบเลอะ’ นี่คือหัวใจของการมองงานศิลปะ หากสามารถกระทบความรู้สึกความประทับใจของผู้ชมอย่างไร ก็ถือว่างานศิลปะทำหน้าที่แล้ว

ถ้อยคำ ‘มองไปมองมา’ ทำให้ลุงหมีนึกถึงบทกาพย์ที่เคยแต่งเล่นแบบแว๊บขึ้นมาเองเดี๋ยวนั้น เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว( แต่ยังจำได้ดี) ตอนนั้นลูกสาวอายุสัก 10 ขวบ กำลังนั่งเล่นกับพ่ออยู่ที่บ้าน มองเห็นหมาเดินผ่านหน้าบ้านมีหน้าตาคล้ายหมูทีเดียว ด้วยอารมณ์กวีจึงแต่งกาพย์ให้ลูกสาวฟังเดี๋ยวนั้น ออกมาแบบเชยๆว่า

‘ดูหมาหน้าเหมือนหมู ดูซิดูหมูเหมือนหมา
หมูหมูดูไปมา ต้องเป็นหมาไม่ใช่หมู’

(14 ปีมาแล้ว) ช่วงที่ลุงหมีทำหน้าที่เป็นประธานบริหารของธนาคารกรุงไทย ได้สนับสนุนการสร้างหอศิลป์ของธนาคารกรุงไทยขึ้นที่สาขาธนาคารถนนเยาวราช รวมทั้งได้ทำงานส่งเสริมการอ่านการเขียนกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยด้วย ลุงหมีจึงมีความคิดนำเสนองานศิลปะให้แก่ผู้สนใจในรูปแบบผสมผสานคือ เชิญคนมาเยี่ยมชมรูปภาพวาดที่หอศิลป์ แล้วพักจิบน้ำชาโดยมีดนตรีเบาๆให้ฟัง จากนั้นก็รับฟังการอ่านบทกวี (การเสนอผลงานศิลปะหลายแขนงผสมกันแบบนี้ มีบรมครูท่านหนึ่งบัญญัติคำว่า ‘ศิลปะส่องทางให้แก่กัน’ ขึ้นไว้)

งานอ่านบทกวีที่หอศิลป์กรุงไทยครั้งนั้น ได้อาจารย์ชมัยภร (ซึ่งเป็นนายกสมาคมนักเขียนในขณะนั้น) เป็นผู้จัดรายการและเชิญกวีฝีมือขั้นเทพมาร่วมงาน เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้อ่านบทกวีทั้งหมด คือ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ 7 คน กวีซีไรต์ 4 คน และนักกลอนอาวุโสอีก 5 คน ธีมของงานคือ ความรักในสวนโลก ลุงหมีขอเสนอสารบัญหนังสือรวมบทกวีรายการนั้นให้เห็นว่ากวีแต่ละคนตั้งชื่อบทกวีว่าอย่างไร (การเลือกคำมาตั้งชื่อบทกวีจะสะท้อนถึง ‘คลังคำ’ ของกวีเหล่านั้น)

ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีงานอ่านบทกวีจัดขึ้นไม่มาก (โดยเฉพาะในช่วงโรคโควิดระบาด) ลุงหมีจึงชักชวนอาจารย์ชมัยภรมาร่วมกันรื้อฟื้นงานอ่านบทกวีอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จะจัดที่ห้องสมุดมารวยของตลาดหลักทรัพย์ (ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์เพื่อการลงทุนให้เยี่ยมชมด้วย) กำหนดงานไว้ในช่วงต้นเดือนกันยายน โดยจะจัดให้เป็นแบบ hybrid คือ มีอ่านบทกวีในห้องสมุดควบคู่ไปกับถ่ายทอดสดทางออนไลน์ไปยังผู้สนใจ

ไว้ใกล้ถึงเวลาจัดงาน ลุงหมีจะนำเสนอกำหนดการของงานให้ท่านผู้อ่านรับทราบอีกครั้งหนึ่ง (โดยมีข้อแม้ว่าตอนนั้นลุงหมี ยังเป็นคอลัมนิสต์ของไทยพับลิก้าอยู่ ยังไม่โดนบอกอบุญลาภปิดคอลัมน์ในข้อหาแอบโฆษณางานส่วนตัว 555)

งานที่เตรียมไว้จะเป็นหัวข้อ’ ความสุข’( ครั้งก่อนใช้หัวข้อ’ ความรัก’) สำหรับกวีที่จะมาร่วมงานจะมีผสมทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ครบเครื่อง

ขอเล่าเพิ่มเติมว่าสำหรับกวีรุ่นใหม่นั้น หลายคนจะไม่ได้อ่านตัวบทกวีเฉยๆ แต่จะมีลีลาแสดงประกอบด้วย ( เรียกว่าเป็นperforming art แนวหนึ่งก็ได้) ดังเช่นคลิปสองตัวอย่างข้างล่างซึ่งลุงหมีถ่ายไว้ตอนไปฟังรายการอ่านบทกวี ‘รำลึกถึง 118 ปีศรีบูรพาและ 100 ปี รพีพร’ สองนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของวงการวรรณกรรมไทยซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้