ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > ปตท. การประกวดศิลปกรรม ครั้งที่ 38 หัวข้อ “จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต”

ปตท. การประกวดศิลปกรรม ครั้งที่ 38 หัวข้อ “จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต”

15 พฤษภาคม 2023


ข่าวประชาสัมพันธ์

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดให้มีการประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 38 ประจำปี 2566 เพื่อส่งเสริมให้ศิลปินทุกระดับมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสนับสนุนการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย โดยได้วางระเบียบการประกวด ดังต่อไปนี้

ประเภทศิลปกรรม ได้แก่

ผลงานประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และผลงานสร้างสรรค์ทางด้านทัศนศิลป์อื่น ๆ

คุณสมบัติของผู้ส่งผลงานเข้าประกวด

  1. เป็นบุคคลสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
  2. เป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปกรรมที่ส่งเข้าประกวดด้วยฝีมือและความคิดของตนเองและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ในงานที่เข้าประกวด ซึ่งจะต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของบุคคล หรือบริษัทอื่นใด
  3. เป็นผลงานที่ไม่เคยเข้าร่วมประกวดที่ใดมาก่อน

ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดแบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้

  1. 1. ระดับเยาวชน มี 3 กลุ่ม

– กลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปี (แจ้งเกิดตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2557)

– กลุ่มอายุ 9 – 13 ปี (แจ้งเกิดตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2552 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2557)

– กลุ่มอายุ 14 – 18 ปี (แจ้งเกิดตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2547 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2552)

  1. 2. ระดับประชาชนทั่วไป (แจ้งเกิดก่อนวันที่ 12 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไป)

หัวข้อการประกวด “จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต”

การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนทั้งโลกไปโดยสิ้นเชิง เมื่อความท้าทายของโลกอนาคต คือ การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดในทุกมิติ ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังวิกฤติโควิด 19  คนทุกรุ่น ทุกสาขาอาชีพ และทุกภาคส่วน เริ่มกลับมามีพลังกายและพลังใจ ปรับตัว ลุกขึ้นใหม่พร้อมความหวังอีกครั้ง

แม้ว่าคำถามและข้อสงสัยเรื่อง การดำเนินชีวิต, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ, บริบทของประเทศ, รวมถึง การขับเคลื่อนอนาคตของตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศ และโลกหลังวิกฤตโควิด 19 จะไม่ได้มีคำตอบที่สมบูรณ์แบบและไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับวิกฤตอีกเมื่อไร แต่เชื่อว่าทุกคนพร้อมเผชิญกับความท้าทายและเดินหน้าต่อไปด้วยความหวัง

ในปี 2566 ปตท. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่อยู่เคียงข้างคนไทยข้ามผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ครั้งนี้ถือเป็น “ความท้าทาย” และ “โอกาส” ในการพัฒนาธุรกิจพลังงานและริเริ่มธุรกิจใหม่ ที่ไกลกว่าพลังงานเพื่อ “จุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต” พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มอบคุณค่าตอบแทนสังคม พัฒนาศักยภาพความยั่งยืนของธุรกิจ ด้วยความหวังที่จะเห็นทุกคนกลับมามีพลัง “ข้ามผ่านวิกฤตหลังโควิด 19” ครั้งนี้ไปพร้อมกัน

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้จัดการประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 38 ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต” เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปิน เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมถ่ายทอดเล่าความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ในช่วงชีวิตเดียวกันที่ผ่านมาพร้อมความหวังในการขับเคลื่อนไปสู่อนาคต ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจดหมายเหตุของประเทศ ในรูปแบบของงานศิลปะ ผ่านผลงานศิลปะทุกประเภท ทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์

การส่งงานเข้าประกวด

  1. เอกสารการรับสมัคร ประกอบด้วย
  • ใบสมัครฉบับจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์
  • สำเนาบัตรประชาชน หรือสูติบัตร ของผู้ส่งผลงานเข้าประกวดพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ชุด (ในกรณีที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมาย)
  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้ปกครอง พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด เป็นผู้เยาว์)
  1. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด มีสิทธิ์ส่งผลงานได้ไม่เกินคนละ 2 ชิ้น ต่อใบสมัคร 1 ใบ
  2. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องกรอกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ อีเมล พร้อมกรอกข้อมูลอื่น ๆ ลงในใบสมัครอย่างละเอียดและชัดเจน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

*** ทั้งนี้ ห้ามติดใบสมัครลงบนผลงานที่ส่งเข้าประกวดฯ โดยขอให้ผู้สมัครนำใบสมัครแนบใส่ซอง เพื่อส่งมาพร้อมผลงาน ***

ขนาดผลงาน

ระดับเยาวชน ต้องมีขนาดผลงาน ดังนี้

  • กลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปี และกลุ่มอายุ 9 – 13 ปี จะต้องส่งผลงานที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 40 x 60 เซนติเมตร หรือ ไม่ต่ำกว่าขนาด A2 และไม่เกิน 60 x 80 เซนติเมตร หรือไม่เกินขนาด A1 ไม่รวมกรอบหรือฐาน
  • กลุ่มอายุ 14 – 18 ปี จะต้องส่งผลงานที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 60 x 80 เซนติเมตร และมีความกว้าง ความยาว หรือความสูง ไม่เกิน 100 เซนติเมตร ไม่รวมกรอบหรือฐาน ระดับประชาชนทั่วไป ต้องมีขนาดผลงาน ดังนี้
  • ผลงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ หรือผลงานเทคนิคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผลงาน 3 มิติ จะต้องมีขนาดผลงาน โดยมีความกว้าง ความยาว หรือ ความสูงไม่เกิน 200 เซนติเมตร รวมกรอบ หรือฐาน
  • ผลงานประติมากรรม หรือสื่อ 3 มิติ จะต้องส่งผลงานที่มีขนาดรวมแท่น ฐาน และกรอบ (กว้าง x ยาว x สูง) ด้านละไม่เกิน 150 เซนติเมตร
  1. งานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย พร้อมที่จะติดตั้งได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินจะพิจารณาคัดเลือกเฉพาะผลงานที่มีคุณภาพและเหมาะสมเข้าร่วมแสดงผลงาน คณะกรรมการดำเนินงานจะระวังรักษาผลงานที่เข้าประกวดอย่างดีที่สุด ยกเว้นความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเหตุสุดวิสัย
  2. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตกลงให้ ปตท. มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวตลอดระยะเวลาแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือ นำผลงานของผู้ส่งผลงานเข้าประกวดไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของ ปตท. โดยไม่มีค่าตอบแทน ทั้งนี้ ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตกลงที่จะไม่ให้สิทธิแก่บุคคลอื่นในการดำเนินการข้างต้น โดยผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตกลงให้เอกสารใบสมัครนี้เป็นหนังสืออนุญาตให้สิทธิแก่ ปตท. ตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (ในกรณีที่เป็นผู้เยาว์ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายในการยื่นเอกสารการรับสมัคร)

การตัดสิน

คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิดังต่อไปนี้

ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี  ประธานกรรมการ

อาจารย์ธงชัย รักปทุม กรรมการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง กรรมการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร  กรรมการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณญาณวิทย์ กุญแจทอง กรรมการ

ศาสตราจารย์ทินกร กาษรสุวรรณ  กรรมการ

นายระยอง ยิ้มสะอาด  กรรมการ

ดร.สังคม ทองมี  กรรมการ

อาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว กรรมการ

ผู้อำนวยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการและเลขานุการ

  1. การตัดสินจะไม่แยกประเภทในการให้รางวัลแต่จะถือคุณภาพของผลงานเป็นสำคัญ ผลการตัดสิน ของคณะกรรมการถือเป็นที่ยุติ และคณะกรรมการฯ มีสิทธิ์เพิ่มหรือลดรางวัลใดรางวัลหนึ่งได้ตามความเหมาะสม
  2. คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกรางวัล และเรียกคืนรางวัลในภายหลัง หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ผลงานของผู้ส่งประกวดได้ลอกเลียนผลงานผู้อื่น หรือผู้สมัครมิได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง
  3. คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาโทษหลายระดับตั้งแต่ ตักเตือน จนถึงตัดสิทธิ์ผู้สมัคร ครู และสถาบันที่กระทำการอันไม่สุจริตทุกกรณีในการส่งผลงานประกวดครั้งต่อไป

รางวัลพร้อมใบประกาศเกียรติคุณ

    1. ระดับเยาวชนแบ่งรางวัลในแต่ละกลุ่ม ดังนี้

กลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปี

  • รางวัลยอดเยี่ยม  1 รางวัล  เงินรางวัล  10,000 บาท
  • รางวัลดีเด่น 5 รางวัล  รางวัลละ 7,000  บาท

กลุ่มอายุ  9 – 13 ปี

  • รางวัลยอดเยี่ยม  1 รางวัล  เงินรางวัล  15,000 บาท
  • รางวัลดีเด่น  5 รางวัล  รางวัลละ 10,000  บาท

กลุ่มอายุ 14 – 18 ปี

  • รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล  เงินรางวัล 20,000 บาท
  • รางวัลดีเด่น 5 รางวัล รางวัลละ 15,000 บาท

2.ระดับประชาชนทั่วไป

  • รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล เงินรางวัล 200,000  บาท
  • รางวัลดีเด่น  5 รางวัล  รางวัลละ 100,000  บาท

และได้รับสิทธิ์ในการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ภายใต้เงื่อนไขที่ ปตท. กำหนด

หมายเหตุ

  • ผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับเยาวชน จะได้รับสิทธิ์ในการประชาสัมพันธ์ผลงานของตนเอง หรือในนามสถาบันสอนศิลปะ ภายใต้เงื่อนไขที่ ปตท. กำหนด
  • ผู้ที่ได้รับรางวัลทุกระดับ เฉพาะเงินรางวัลจะต้องรับผิดชอบในการจ่ายภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตรา ที่กฎหมายกำหนด

กรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์ในผลงานที่ได้รับรางวัล

ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลตกลงว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของ ปตท. และตกลงโอนลิขสิทธิ์ในผลงานดังกล่าวให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีสิทธินำผลงานที่ได้รับรางวัลไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โดยไม่มีค่าตอบแทน

ทั้งนี้ ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดที่ได้รับรางวัลข้างต้นให้คำรับรองว่า ภายหลังจากที่ได้รับการประกาศให้เป็น ผู้ได้รับรางวัลแล้ว จะทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในงานที่ได้รับรางวัลให้กับ ปตท. ต่อไปภายในระยะเวลาที่ ปตท. กำหนด

การส่งผลงาน

  1. ส่งทางไปรษณีย์ โดยให้เริ่มส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผลงานจะต้องส่งถึงจุดรับผลงานไม่เกินวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เท่านั้น หากผลงานมาถึง เกินวันที่ที่บริษัทฯ กำหนด ขออนุญาตตัดสิทธิ์ในการลงทะเบียนสมัครการประกวดฯ ครั้งนี้
  2. การจัดส่งผลงานทางไปรษณีย์ จะต้องแนบใบสมัครฉบับจริงใส่ซองมาพร้อมกับผลงาน โดยไม่ต้องนำใบสมัครติดหลังผลงาน ซึ่งท่านสามารถใช้บริการขนส่งของบริษัทขนส่งใดก็ได้ เช่น BESTEXPRESS  KERRY NINJA J&T EXPRESS หรือ ไปรษณีย์ไทย (ไปรษณีย์ไทยต้องส่งโดย EMS เท่านั้น) โดยให้แจ้งกับทางขนส่งให้ส่งไปที่ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เลขที่ 6 ถนนราชมรรคาใน ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000 หมายเลขโทรศัพท์ 09 6782 0748
  3. ส่งผลงานด้วยตนเอง พร้อมใบสมัครฉบับจริง

–  ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบพระชนมพรรษา ชั้น 1 มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โทร. 09 7242 9333, 09 6782 0748 ระหว่างวันที่ 12 – 18 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 – 16.00 น.

– คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา โทร. 074317619 ระหว่างวันที่ 12 – 18 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 – 16.00 น.

– คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โทร. 0 38102222 ต่อ 2510 ระหว่างวันที่ 12 – 17 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 – 16.00 น.

– คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โทร. 08 50025455 ระหว่างวันที่ 12 – 18 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 – 16.00 น.

– หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 53218280, 0 53944833 ระหว่างวันที่ 12 – 18 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 – 16.00 น.

ตัดสินการประกวด

วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2566

ประกาศผลการตัดสิน

ประกาศผลเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ทาง www.pttplc.com และสื่อฯ ตามที่ ปตท. กำหนด

พิธีมอบรางวัลและการแสดงผลงาน

ระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม 2566 ณ สถานที่ตามที่ ปตท. กำหนด

การรับผลงานคืน

ผลงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือก

-ส่งผลงานที่ส่วนกลางและส่งผลงานทางไปรษณีย์(รอบแรก)

รับผลงานคืนระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 – 16.00 น. ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โทร. 0972429333 , 09678250748 (โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งผล การคัดเลือกและตัดสินทางโทรศัพท์ที่ผู้ส่งงานแจ้งเบอร์ติดต่อมาในใบสมัคร

  • ส่งผลงานที่ส่วนกลางและส่งผลงานทางไปรษณีย์ (รอบสอง)

รับผลงานคืนระหว่างวันที่ 4 – 30 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 – 18.00 น. ที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ปิดทำการทุกวันจันทร์ โทร. 025371388

  • ส่งผลงานที่ส่วนภูมิภาค

ให้รับผลงานคืนในภูมิภาคที่ส่งผลงาน ทั้งนี้โปรดติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคที่ส่งผลงาน (ตามเบอร์โทรศัพท์การส่งผลงานฯ) เพื่อนัดวันและเวลาในการเข้ารับผลงาน

ผลงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงแต่ไม่ได้รับรางวัล

– รับผลงานคืนระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 – 18.00 น. ที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ หรือตามที่ ปตท. กำหนด

**หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ปิดทำการทุกวันจันทร์ และสามารถติดต่อ

การรับผลงานคืนได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2537 1388 หรือ Facebook : หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา**

*** ทั้งนี้ หากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดไม่มารับผลงานคืนภายในวันและเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตกลงให้กรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์ในผลงานชิ้นที่ส่งเข้าประกวดนั้น เป็นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) **