ThaiPublica > เกาะกระแส > Jake Sullivan ที่ปรึกษาความมั่นคงของไบเดน เสนอแนวคิด “เศรษฐกิจโลกแบบใหม่ของสหรัฐฯ”

Jake Sullivan ที่ปรึกษาความมั่นคงของไบเดน เสนอแนวคิด “เศรษฐกิจโลกแบบใหม่ของสหรัฐฯ”

10 พฤษภาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งจะครบรอบ 10 ปี ที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า Rana Plaza ในบังกลาเทศเกิดพังทลายลงมา ทำให้คนงาน 1,100 คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยสาเหตุเกิดจากการก่อสร้างโรงงานที่ไม่มีคุณภาพ แต่ปรากฏว่าโรงงานแห่งนี้ตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับบริษัทแบรนด์เนมชั้นนำของโลก

อุบัติเหตุในบังกลาเทศสะท้อนว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นหัวใจของแนวคิดเรื่องการค้าโลก คือ ปล่อยให้เงินทุน การผลิตสินค้า และการจ้างแรงงาน เคลื่อนย้ายไปยังประเทศที่จะทำให้ต้นทุนผู้บริโภคลดลง และทำให้ราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตสูงขึ้น

สิ่งที่ผู้บริหารธุรกิจของบริษัทจะต้องทำคือ ในสายพานการผลิตตามขั้นตอนต่างๆ หาทางทำให้ค่าใช้จ่ายที่สูงออกจากตัวเลขทางบัญชี มองแรงงานไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่เป็นต้นทุน

แนวคิดการเติบโต “แบบเก่า”

บทความชื่อ China, America and why not all growth is equal ใน Financial Times ที่เขียนถึงระบบการค้าโลกแบบเก่า ที่กำลังจะไม่ได้ผล โดยยกตัวอย่างว่าการผลิตโดยใช้ค่ายแรงงานในมณฑลซินเจียงของจีนคือตัวอย่างระบบความคิดการค้าแบบเก่า การผลิตของประเทศอื่นจะแข่งขันกับการผลิตของประเทศอื่นได้หรือไม่ หากประเทศอื่นที่ว่านั้น เป็นประเทศที่รัฐให้การอุดหนุน และมีกฎระเบียบหย่อนยานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การขุดแร่ซิลิกาของจีน ที่นำมาทำแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ

คำตอบคือ ประเทศอื่นไม่สามารถไปผลิตแข่งขันกับจีน เว้นแต่จะเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (neoliberal) ทำให้การค้าโลกเติบโตอย่างมาก ทำให้คนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน แต่ก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตกระจุกตัว ตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติไปจนถึงแร่หายาก

ผลที่เกิดขึ้นตามมาจากสงครามยูเครนและความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กำลังดำเนินการเปลี่ยนระบบความคิดในการผลิต จากเรื่อง “ประสิทธิภาพ” (efficiency) มาสู่ “การฟื้นตัวจากความเสียหายอย่างรวดเร็ว” (resilience) แนวคิดใหม่นี้ครอบคลุมถึงการอุดหนุนของรัฐต่อการกระจายการผลิตด้านเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งสหรัฐฯ และ EU ยอมรับว่า การกระจายการผลิตอย่างเซมิคอนดักเตอร์จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุนจากรัฐ เพราะกลไกตลาดไม่สามารถทำในสิ่งนี้เอง

ที่มาภาพ : The Brooking Institute

แนวคิด “การเติบโต” แบบใหม่

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของโจ ไบเดน ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญที่ Brookings Institute หัวข้อ Renewing American Economic Leadership โดยกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่จะบูรณาการระหว่างนโยบายภายในประเทศกับต่างประเทศเข้าด้วยกัน ที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐฯ กล่าวว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ เป็นผู้นำสร้างระเบียบเศรษฐกิจโลก ทำให้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกหลุดออกจากความยากจน หลายประเทศสามารถบรรลุความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

แต่ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ระเบียบดังกล่าวเกิดรอยแตกร้าว โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เห็นจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ทำให้คนงานและชุมชนในอเมริกาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวคือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลไบเดนจึงดำเนินยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแบบใหม่และในด้านนวัตกรรม ทั้งกับภายในประเทศและกับประเทศพันธมิตร ยุทธศาสตร์นี้ประกอบด้วย

1) การลงทุนในจุดที่เป็นแหล่งสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

2) การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานโลก ที่มีการกระจายตัวและฟื้นตัวรวดเร็วเมื่อเกิดวิกฤติปัญหา

3) การกำหนดมาตรฐานสูงเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล Jake Sullivan อธิบายว่า เมื่อ โจ ไบเดน ขึ้นเป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯ เผชิญปัญหาท้าทายพื้นฐานอยู่ 4 อย่าง คือ

    (1) ฐานอุตสาหกรรมถูกย้ายออกไปจากสหรัฐฯ ความคิดที่ยึดมั่นกันอยู่คือการลดภาษี การแปรรูปกิจการของรัฐ การค้าเสรีความคิดฝังลึกอีกอย่างหนึ่งคือ การเติบโตแบบไหนก็ไม่สำคัญเพราะการเติบโตทุกรูปแบบล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ดี ภาคการเงินกลายเป็นเศรษฐกิจที่ได้รับอภิสิทธิ์ ขณะที่เซมิคอมดักเตอร์และโครงสร้างพื้นฐานถูกลดความสำคัญลง

    (2) สหรัฐฯ ต้องปรับตัวเพื่อเผชิญกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ผ่านมาตั้งบนความเชื่อที่ว่า การรวมตัวทางเศรษฐกิจจะทำให้ประเทศต่างๆ มีความรับผิดชอบและเปิดกว้างมากขึ้น ยอมรับระเบียบโลกที่ตั้งบนกฎกติกา แต่จีนยังคงให้การอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมดั้งเดิมและอุตสาหกรรมอนาคต เช่น พลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

    (3) ความท้าทายที่เร็วขึ้นจากวิกฤติด้านสภาพแวดล้อม และความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลไบเดนมองว่า “สิ่งแวดล้อม” คือ “งาน” การสร้างเศรษฐกิจพลังงานสะอาดคือโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญสุดในศตวรรษที่ 21 แต่จะเกิดขึ้นได้สหรัฐฯ ต้องมียุทธศาสตร์การลงทุน ที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม การลดต้นทุน และการสร้างงานที่ดี

    (4) ประการสุดท้าย สหรัฐฯ เผชิญความท้าทายเรื่องความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบของสิ่งนี้ต่อประชาธิปไตย ความเชื่อเดิมมีอยู่ว่าการเติบโตจากการค้าเป็นการเติบโตที่ทุกคนได้ประโยชน์ แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่าดอกผลการเติบโตไปไม่ถึงคนใช้แรงงานจำนวนมาก คนชั้นกลางถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สหรัฐฯ ไม่ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้เรื่องที่นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ Jake Sullivan กล่าวว่า ประธานาธิบดีไบเดนรู้ถึงหนทางที่จะแก้ปัญหาการท้าทายเหล่านี้ว่าคือ การสร้างความสามารถทางเศรษฐกิจ สร้างเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวรวดเร็วเมื่อเกิดปัญหา สร้างเศรษฐกิจที่ทุกคนมีส่วนได้ประโยชน์ และสร้างสาธารณประโยชน์ด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาดที่มีขนาดใหญ่โต

โรงงานผลิตตัวชิปของ TSMC ในสหรัฐฯ ที่มาภาพ : MIT Technology Review

นโยบายต่างประเทศเพื่อคนชั้นกลาง

Jake Sullivan เรียกสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดว่า “นโยบายต่างประเทศเพื่อคนชั้นกลาง” ที่ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 อย่าง

(1) ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ การสร้างรากฐานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในสหรัฐฯ การกำหนดภาคส่วนที่จะเป็นรากฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจภาคส่วน ที่มีความหมายทางยุทธศาสตร์ต่อความมั่นคงและภาคเอกชนไม่สามารถลงทุนได้ในระดับเป้าหมายของชาติ Financial Times รายงานว่า นับจากปี 2019 การลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์และพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20 เท่าตัว 1 ใน 3 เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าใน 10 ปีข้างหน้า การลงทุนทั้งหมดในด้านนี้จะมีมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์

(2) เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่สามารถจะผลิตทุกอย่างในประเทศ และเป้าหมายคือห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ ที่มั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการร่วมมือกับประเทศที่เป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่จะสร้างการผลิตที่สามารถรับมือกับวิกฤติ ที่ฟื้นตัวได้รวดเร็ว สหรัฐฯ ต้องการส่งข้อความถึงบรรดาพันธมิตรว่าสหรัฐฯ จะดำเนินยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมในประเทศ แต่จะไม่ทิ้งมิตรประเทศให้อยู่ข้างหลัง

(3) ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การก้าวพ้นจากข้อตกลงการค้าแบบเดิมที่เน้นการลดภาษีนำเข้า ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาท้าทายในยุคปัจจุบัน เช่น ห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็งและกระจายการระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่วางใจได้ และเปิดกว้างการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เป็นต้น การหารือของกลุ่ม Indo-Pacific Economic Framework ได้มีการหาทางออกในปัญหาเหล่านี้

(4) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การระดมเงินทุนล้านล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา โดยการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นความต้องการของประเทศเหล่านั้นเอง สหรัฐฯ จะพยายามผลักดันให้ธนาคารการพัฒนาระหว่างประเทศดำเนินงานเพื่อจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โรคระบาด การให้เงินทุนที่มีคุณภาพสำหรับประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง สิ่งที่แตกต่างจากโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน คือ จะมีความโปร่งใส มีมาตรฐานสูง เพื่อการเติบโตระยะยาวและยั่งยืน

Jake Sullivan สรุปว่า โลกเราต้องการระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สนับสนุนคนมีรายได้ ระบบที่สนับสนุนอุตสาหกรรมสหรัฐฯ สนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของสหรัฐฯ และสนับสนุนประเทศที่ยากจนสุดและมีจุดอ่อนสุดของโลก

เอกสารประกอบ
China, America and why not all growth is equal, Rana Foroohar, ft.com
Remarks by National Security Advisor Jake Sullivan on Renewing America
Economic Leadership at the Brooking Institute, whitehouse.gov