ThaiPublica > คอลัมน์ > เสถียรภาพทางการเงินภาคประชาชน

เสถียรภาพทางการเงินภาคประชาชน

16 พฤษภาคม 2023


ผศ.ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า [email protected]

เสถียรภาพทางการเงินภาคประชาชนหรือภาคครัวเรือน (Household/Personal Financial Stability)เกี่ยวข้องโดยตรงต่อสถานะหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลและนำเสนอเป็นประจำทั้งรายไตรมาสและรายปีโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่สำคัญได้แก่ เครดิตบูโร และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น ข้อมูลที่แสดงระดับหนี้ภาคครัวเรือน ข้อมูลระดับหนี้ภาคครัวเรือนในระดับมหภาคพิจารณาจากปริมาณหนี้(ในระบบสถาบันการเงิน) เทียบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)อยู่ในระดับสูงถึงกว่าร้อยละ 86 แม้ว่าจะเป็นระดับที่ปรับลดลงมาจากระดับที่สูงกว่าในช่วงที่เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางของโควิด-19 จนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการสร้างรายได้ของครัวเรือนจนทำให้ครัวเรือนต้องตกอยู่ในสภาวะที่เป็นหนี้มากขึ้น ครัวเรือนหลายครัวเรือนที่ไม่มีหนี้ ก็มีเหตุจำเป็นต้องก่อหนี้ ส่งผลให้ระดับหนี้ของภาคครัวเรือนเมื่อเปรียบเทียบกับระดับรายได้ (GDP) เพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มากพอสมควร

เมื่อผนวกรวมเอาผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอีกในภายหลัง ได้แก่ 1)การเกิดขึ้นและยังคงอยู่ของการสู้รบในยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ราคาพลังงาน ราคาปุ๋ยและราคาอาหารปรับสูงขึ้น ตลอดไปจนถึงการปรับเพิ่มของระดับค่าครองชีพในหลายประเทศ และ 2)การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอน (ความผันผวนทางเศรษฐกิจ)อีกหลายประการ เช่น เกิดความเสี่ยงต่อการถดถอย (หรือชะลอการฟื้นตัว) ทางเศรษฐกิจของหลายประเทศและของโลก การเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในภาคการเงินจากการขาดเสถียรภาพทางการเงินของสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป

ความเสี่ยงจากการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระดับหนี้สาธารณะและความสามารถในการกู้ยืมของภาครัฐ (ปัญหา Debt Ceiling ในสหรัฐฯ)รวมทั้งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโครงสร้างสังคม(โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย) ฯลฯ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้มีการประเมินกันว่าไม่ใช่ปัจจัยที่จะมีผลเพียงชั่วคราวในระยะสั้นเท่านั้นแต่จะส่งผลต่อเนื่องต่อไปได้อีกในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ดี และแน่นอนที่เสถียรภาพทางการเงินของภาคประชาชนเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและมีความสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าภาคครัวเรือนหรือภาคประชาชน มีศักยภาพหรือมีขีดความสามารถทางการเงินเข้มแข็งเพียงใด ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคใหญ่ที่ท้าทายอยู่ข้างหน้านี้ไปได้ และภาครัฐเองจะมีส่วนในการสนับสนุนส่งเสริมภาคครัวเรือนในการสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้เข้มแข็งได้อย่างไร ความล้มเหลวในการสร้างเสถียรภาพทางการเงินของภาคครัวเรือนจะบั่นทอนให้การพัฒนาเกิดความล่าช้าไม่มีความยั่งยืนและประชาชนจำนวนมากอาจจะต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรูปแบบของการมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี(แย่ลง) อย่างมาก 

นอกจากนี้ การสร้างเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือน ยังมีอีก 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องคือ 1)ความสามารถในการชำระหนี้ (เมื่อมีหนี้แล้ว) และการบริหารจัดการหนี้ (Household Debt Management)และ 2) การป้องกันการขยายวงของหนี้ครัวเรือนไปสู่หนี้นอกระบบ (Informal Debt) ในส่วนของการสร้างขีดความสามารถในการชำระหนี้นั้น ในทางการเงินเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพิจารณาของเจ้าหนี้

สำหรับการก่อหนี้แท้จริงแล้วการมีหนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ได้เป็นบาปหรือมีความผิดอะไร ในทางตรงกันข้ามความสามารถในการก่อหนี้ได้เป็นเครดิตของลูกหนี้ (ซึ่งในที่นี้หมายถึงครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ได้มีการวางแผนทางการเงินมาก่อน เรียนกว่าเป็น “ส่วนเพิ่มของศักยภาพทางการเงิน (Financial Leverage)”

การมี Financial Leverage ทำให้ครัวเรือนสามารถจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นด้วยการใช้ประโยชน์จากหนี้ เช่น ทำให้ครัวเรือนสามารถซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอออมเงินจนได้จำนวนเงินเพียงพอที่จะจ่ายซื้อสินค้าเหล่านั้น เช่น การกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ ฯลฯ ดังนั้นในประเทศที่ประชากรมีความสามารถในหารสร้างรายได้สูง (มีผลิตภาพของแรงงานสูง)ก็มักจะพบว่าจะมีระดับหนี้สูงขึ้นได้ด้วย เพราะมีขีดความสามารถในการชำระหนี้มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ที่ดี ซึ่งก็ต้องย้อนกลับมาถามครัวเรือนไทยด้วยเช่นกันว่า
เราเชื่อว่าครัวเรือนไทยมีขีดความสามารถในการชำระหนี้กันอย่างไร เข้าใจและสามารถบริหารจัดการหนี้ที่เกิดขึ้นได้ดีหรือไม่เมื่อครัวเรือนเหล่านี้ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติและความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาแล้ว ยังคงมีผลกระทบอยู่และยังคงจะมีผลกระทบต่อไปอีกเป็นระยะเวลาพอสมควร

สำหรับในส่วนที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับหนี้นอกระบบผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นว่าตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่แสดงว่าลดลงจากระดับสูงสุดในช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ที่กว่าร้อยละ 90 ลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 86 ในปัจจุบัน เป็นข้อมูลที่เป็นค่าเฉลี่ย และเป็นสัดส่วนต่อ GDP การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไม่ได้เกิดจากการที่มูลหนี้ของภาคครัวเรือนลดลงแต่มีสาเหตุมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19ที่ลดความรุนแรงลงและจากมาตรการทางเศรษฐกิจ (ที่ส่วนใหญ่เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภค) ของภาครัฐ ถ้าพิจารณาควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของภาระค่าครองชีพในระบบเศรษฐกิจไทย ก็จะพบว่าครัวเรือนยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเงินที่รุนแรงครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงไม่สามารถปรับตัวกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อให้มีรายได้ในระดับเดิม(ก่อนการระบาดของโควิด-19) มีอยู่จำนวนไม่น้อย บางคนอาจจะพอหางานทำได้ แต่มีรายได้น้อยลงหรือมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ทันกับการปรับเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ และก็ต้องไม่ลืมพิจารณาอีกด้วยว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกำลังถูกผลักให้เข้าสู่วังวนของหนี้นอกระบบได้โดยง่ายจากปัจจัยโดยรอบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุมเร้า

ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนภาคการเงินและสถาบันการเงินในระบบจำเป็นต้องมีความระมัดระวังและบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินทำให้เป็นข้อจำกัดต่อครัวเรือนรายได้ปานกลางและรายได้น้อยในการเข้าถึงเงินทุนที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการใช้จ่ายและการยกระดับผลิตภาพเพื่อการสร้างรายได้ของครัวเรือน ถ้าเข้าไม่ถึงบริการการเงินในระบบก็จำเป็นต้องอาศัยการเงินนอกระบบ เราไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ณ ขณะนี้มีครัวเรือนที่จำเป็นและตกเข้าไปในวงจรของการเงินนอกระบบมากน้อยเพียงใด ทำได้เพียงแค่ประเมินจากสภาพแวดล้อม ข่าวคราวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางการเงิน การพนัน แชร์ลูกโซ่และการทำร้ายเพื่อแย่งชิงทรัพย์สิน ทั้งหมดล้วนแต่สะท้อนสภาพการขาดเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนรายได้น้อย และครัวเรือนที่ประสบปัญหาการสร้างรายได้ครัวเรือนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่แพงขึ้นมากกว่า รุนแรงมากกว่าทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้นครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีทางเลือกมากกว่าในการปรับเปลี่ยนไปสู่สินค้าที่มีราคาถูกลงแต่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยยังคงต้องใช้จ่ายซื้อสินค้าในปริมาณที่เท่าเดิมหรือไม่ก็ต้องยอมรับสภาพสินค้าที่มีปริมาณน้อยลง (อิ่มท้องน้อยลง) หรือยอมรับสินค้าที่มีคุณภาพแย่ลงและก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพราะด้วยคุณภาพของสภาพแวดล้อมที่แย่ลง (เช่น ได้รับโภชนาการไม่เพียงพอ ไม่ได้รับโอกาสที่เพียงพอฯลฯ) ก็จะมีความยากลำบากในการยกระดับผลิตภาพ มีความยากลำบากในการสร้างรายได้ให้เพียงพอคุณภาพชีวิตก็จะแย่ลงตามลำดับ

ในระบบเศรษฐกิจที่มีระดับปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง อย่างประเทศไทย ต้องถือว่าความเสี่ยงทางการเงินนี้เป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งจะต้องรีบแก้ไข ด้วยมาตรการ (เครื่องมือ)ที่หลากหลาย เฉพาะกลุ่ม (เพราะลักษณะปัญหาหนี้ในแต่ละกลุ่มมีความเฉพาะ แตกต่างกัน เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนในเขตเมือง และปัญหาหนี้ครัวเรือนเกษตรกรย่อมมีความแตกต่างกัน)จะใช้เครื่องมือแบบเดียวกันทั้งหมดในการจัดการกับปัญหาแบบ One Size Fit All คงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ 

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน ทั้งจากมิติของมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นเทียบกับสัดส่วนของรายได้ โครงสร้างการเป็นหนี้ของครัวเรือนที่ครัวเรือนอายุน้อยมีมูลหนี้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าครองชีพ ทำให้เกิดคำถามว่าเงื่อนไขปัจจัยของความผันผวนทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งที่เกิดในภาคเศรษฐกิจจริง(ข้อจำกัดในการสร้างรายได้ให้เพียงพอ) และในภาคการเงิน ล้วนแต่บ่งชี้ไปในทิศทางที่เป็นการบั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินของภาคประชาชนหรือภาคครัวเรือน เราไม่มีดัชนีที่ใช้ในการแสดงหรือทดสอบความทนทานต่อการรองรับแรงกดดันทางการเงินของภาคครัวเรือน(Household Financial Stress Test) ในลักษณะอย่างเดียวกันกับที่เรามีการทดสอบในภาคธุรกิจการเงิน(Financial Stress Test) ถ้าเราจะมองว่าการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนเป็นเรื่องที่แต่ละครัวเรือนต้องมีการวางแผนและรองรับกันเองก็คงจะไม่ผิด

แต่ถ้าวิเคราะห์ลงไปให้ลึกกว่านั้นก็จะพบว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนในปัจจุบัน หลายปัจจัยด้วยกันเป็นปัจจัยที่ยากมากสำหรับครัวเรือนที่จะบริหารจัดการได้ หรือถ้าจะให้มีการบริหารจัดการก็จะมีต้นทุนที่สูงมากสำหรับครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนในระดับที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ซึ่งก็จะเป็นครัวเรือนที่มีความเสี่ยงต่อการขาดเสถียรภาพทางการเงินได้ง่าย เรียกว่าเมื่อเจอวิกฤติ ก็จะถูกผลักให้ตกลงไปในหลุมหนี้ และมีความยากลำบาก (ต้องใช้ความพยายามมาก)ในการปีนไต่กลับขึ้นมาให้พ้นขอบหลุมหนี้ขึ้นมาได้

ในหลายกรณี หลายครัวเรือนตกลงไปในหลุมหนี้แล้วไม่สามารถกลับขึ้นมาได้ กลายเป็นต้องเป็นครัวเรือนที่มีหนี้ดับดาน คือ เป็นหนี้อย่างถาวรและเป็นหนี้ต่อไปถึงรุ่นต่อ ๆ ไป อย่างที่เราเห็นจนชินตาในครัวเรือนเกษตรกรยากจนในชนบท(ข้อมูลของเครดิตบูโรแสดงให้เห็นว่า เรามีหนี้เกษตรกรอยู่ราว 1 ล้านล้านบาท ร้อยละ 47 หรือประมาณ 4.7 แสนล้านบาท เป็นลูกหนี้เกษตรกรที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป)

ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดในช่วงที่ประเทศกำลังต้องเผชิญกับความผันผวนในหลายด้านเศรษฐกิจ ยังต้องมีการเปลี่ยนผ่านตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ถ้าภาครัฐจะมองว่าการสร้างเสถียรภาพทางการเงินของภาคครัวเรือนเป็น “สินค้า/บริการสาธารณะ (Public Good)” ที่รัฐพึ่งจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างให้ครัวเรือนไทยมีเสถียรภาพทางการเงินที่เข้มแข็ง แบบเดียวกับที่เราเคยให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินในช่วงหนึ่งโดยการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินขึ้น ในสภาวะที่หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงและครัวเรือนมีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางด้านการสร้างรายได้แทนที่เราจะไปเน้นให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภค แล้วตั้งความหวังว่าจะการกระตุ้นการบริโภคแล้วจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สร้างรายได้ได้จำนวนมาก คงจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนัก

ดังนั้นก่อนที่ครัวเรือนจำนวนมากจะมีปัญหากับสภาวะหนี้ของครัวเรือน (มีการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง)ก็น่าจะลองพิจารณาว่าถ้าเราจะมี “กองทุนฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือน” ขึ้นมาบ้างเพื่อเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการประคับประคองให้ครัวเรือนสามารถพัฒนาสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับครัวเรือน หรืออาจจะเป็น “กองทุนส่งเสริมสุขภาพทางการเงินของครัวเรือน” โดยรายละเอียดของการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆก็จะได้มีการศึกษาให้มีความขัดเจนมากขึ้นต่อไป