ThaiPublica > Thaipublica Sustainability > ฮ่องกงเปิดตัวระบบเตือนความร้อนป้องกันแรงงานจาก Heat Stroke

ฮ่องกงเปิดตัวระบบเตือนความร้อนป้องกันแรงงานจาก Heat Stroke

23 พฤษภาคม 2023


ฮ่องกงเริ่มใช้คำแนะนำและคำเตือนใหม่เพื่อป้องกันการเป็นลมแดด Heat Sroke ในที่ทำงาน

กรมแรงงาน (Labour Department-LD) ของฮ่องกง ได้เปิดตัวข้อแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคลมแดดในที่ทำงานและคำเตือนความเครียดจากความร้อนในที่ทำงาน Guidance Notes on Prevention of Heat Stroke at Work and Heat Stress at Work Warning ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2023 ที่เตือนให้นายจ้างและลูกจ้างดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเป็นลมแดดเมื่อทำงานในสภาพอากาศร้อนจัดหรือสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด

ข้อแนะนำซึ่งไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายนี้ใช้กับ

  • งานที่ทำในสถานที่กลางแจ้งโดยไม่มีที่หลังคาหรือที่บังแดด
  • งานที่ทำในที่ร่มหรือตัวอาคารที่ไม่ได้ติดตั้งระบบปรับอากาศ
  • งานที่ทำใกล้แหล่งความร้อนหรือเครื่องกำเนิดความร้อน

ระบบเตือนใหม่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ สีเหลือง แดง และดำ แสดงถึงความเครียดจากความร้อน 3 ระดับ ซึ่งหมายถึง ร้อน(high) ร้อนมาก(very hot) และร้อนสุดสุด(extremely hot) ตามลำดับของความเครียดจากความร้อนแต่ละระดับ และแนะนำให้มีการจัดให้พักที่แตกต่างกันสำหรับคนงานที่ทำงานกลางแจ้งหรือในสภาพแวดล้อมในร่มที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

หากดัชนีความร้อน( Hong Kong Heat Index-HKHI)ของหน่วยงานด้านพยากรณ์อากาศ(Hong Kong Observatory) แตะระดับ 32 ระบบก็จะแนะให้ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง หรือผู้ที่อยู่ในอาคารที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ที่มี “ภาระงานที่หนักมาก” หยุดการทำงาน

ที่มาภาพ: https://www.labour.gov.hk/common/public/oh/Heat_Stress_GN_en.pdf

ช่วงของระดับการเตือนเริ่มต้นที่ค่า HKHI ที่ 30 โดยแนะนำเวลาพักสำหรับการทำงานแต่ละชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าภาระงานทางกายภาพนั้น “เบา”(light) “ปานกลาง(moderate)” “หนัก”(heavy) หรือ “หนักมาก”(very heavy) ตัวอย่างเช่น เมื่อ HKHI มีค่าเพิ่มขึ้นถึงระดับ 30 คนงานที่มีภาระงาน “หนักมาก” จะได้รับการแนะนำให้พัก 45 นาทีหลังจากทำงาน 15 นาทีของทุกๆ ชั่วโมง

ระดับคำเตือนสีแดงและสีดำ ซึ่งหมายถึง HKHI ที่เกิน 32 ระบบแนะนำว่าผู้ที่รับภาระงาน “หนักมาก” ต้องหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง

ที่มาภาพ: https://hongkongfp.com/2023/05/08/hong-kong-to-enact-3-tier-warning-system-to-help-tackle-worker-heatstroke-but-not-legally-binding/

คู่มือแนะนำได้ให้ ตัวอย่างของงานที่จัดว่าเป็นงานที่ “หนักมาก” ไว้ เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับการยึดเหล็กเส้นและนั่งร้าน ในขณะที่แรงงานที่มีภาระงาน “หนัก” ได้แก่ แรงงานเทปูนและยาแนว

คำเตือนนี้จะออกโดยกรมแรงงาน โดยมีหน่วยงานพยากรณ์อากาศเผยแพร่ข้อความ ประชาชนสามารถ รับการแจ้งเตือนเรื่องความเครียดจากความร้อนในที่ทำงานผ่านแอปพลิเคชันมือถือ “GovHK Notifications” หรือ “MyObservatory” เมื่อคำเตือนมีผลบังคับใช้ การอัปเดตรายชั่วโมงจะถูกส่งออกไปโดยอัตโนมัติ

ตามกฎหมายความปลอดภัยและอาชีวอนามัย(Occupational Safety and Health Ordinance) นายจ้างต้องจัดให้มีหรือคงไว้ซึ่งระบบการทำงานที่ปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพ ตราบเท่าที่ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม โฆษกของกรมแรงงานกล่าวว่า แรงงานที่ทำงานภายใต้สภาพอากาศร้อนหรือในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากโรคลมแดด นายจ้างควรประเมินถึงปัจจัยเสี่ยงของความเครียดจากความร้อนในที่ทำงานของพนักงานไปไว้ก่อน และกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมสำหรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการจัดช่วงเวลาพักการทำงานที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของอาการลมแดดที่จะเกิดกับคนงาน ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน

นายจ้างต้องเตรียมการที่เหมาะสมสำหรับช่วงเวลาพักตามระดับของการใช้แรงทางกายภาพ ในการทำงานในทุกชั่วโมง หลังจากการประกาศคำเตือนใช้ระบบเตือนความเครียดจากความร้อนในที่ทำงาน Heat Stress at Work Warning และการปรับปรุงรายชั่วโมงที่ประกาศประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องของคำเตือน

สำหรับแนวทางปฏิบัติตามคู่มือ เพื่อป้องกันพนักงานจากอาการฮีทสโตรกขณะทำงาน นายจ้างสามารถใช้มาตรการป้องกันและควบคุมดังต่อไปนี้

  • ผู้รับผิดชอบสถานที่ทำงานต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีน้ำดื่มเย็นเพียงพอสำหรับพนักงาน และควรจัดให้พนักงานสามารถเข้าถึงน้ำดื่มได้ภายใน 10 นาทีจากการเดิน โดยทั่วไป นายจ้างควรจัดหาน้ำดื่มให้ลูกจ้างประมาณ 250 ถึง 500 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง หากพนักงานมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเครียดจากความร้อนขณะทำงาน ควรแนะนำให้ดื่มน้ำเย็นประมาณ 250 มิลลิลิจร ทุกๆ 15 ถึง 20 นาที ซึ่งก็คือน้ำดื่มเย็นประมาณ 750 ถึง 1,000 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 1,500 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง นายจ้างอาจพิจารณาจัดหาเครื่องดื่มที่มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายเช่น โซเดียมและโพแทสเซียม
  • สำหรับกระบวนการทำงานภายใต้ความร้อนสูง เช่น การหลอมและการหล่อโลหะ นายจ้างต้องติดตั้งเอุปกรณ์เชิงกลที่เหมาะสม เช่น ระบบไอเสียและฉนวน เพื่อควบคุมอุณหภูมิของพื้นที่ทำงานของพนักงาน และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความร้อนและ ฉนวนกันความร้อน
  • นายจ้าง/ผู้รับผิดชอบควรจัดให้มีที่ร่มหรือเครื่องกำบัง หรือพิจารณาใช้ม่านบังแดด/ร่มกันแดดที่เหมาะสมเพื่อบังแสงแดดให้กับลูกจ้างที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน
  • นายจ้างควรติดตั้งระบบปรับอากาศ เครื่องเป่า หรือพัดลมไอเย็น หรือจัดหาพัดลมพกพาเพื่ออำนวยความสะดวกในการบรรเทาความร้อนแก่ลูกจ้าง
  • หากนายจ้างต้องจัดหาเสื้อผ้าสำหรับทำงานให้ลูกจ้าง ควรจัดหาเสื้อผ้าสีอ่อน บาง และหลวมที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ นายจ้างควรจัดหาอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้าง เช่น หมวกปีกกว้าง หมวกนิรภัยแบบมีที่บังคอ ผ้าเย็น ปลอกแขนกันแดดที่มีคุณสมบัติซับเหงื่อได้ดีและแห้งพอดี เป็นต้น
  • นายจ้าง/ผู้รับผิดชอบควรจัดหาเครื่องช่วยเชิงกลที่เหมาะสมให้พนักงานใช้ หรือแนะนำให้พนักงานใช้มาตรการอื่นที่เหมาะสมเพื่อลดการออกแรงทางกายภาพให้เหลือน้อยที่สุด หากพนักงานจำเป็นต้องทำงานหนักเป็นเวลานานหรืออย่างรวดเร็ว ควรจัดพนักงานให้หมุนเวียนงานหรือมีพนักงานหลายคนผลัดกันทำงาน
  • นายจ้างควรจัดช่วงเวลาปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกจ้างสามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ร้อนได้อย่างเต็มที่
  • ในวันฤดูร้อน นายจ้างควรจัดตารางการทำงานกลางแจ้งและใช้แรงกายเป็นช่วงเวลากลางวันที่เย็นกว่า (เช่น ก่อน 10.00 น. หรือหลัง 16.00 น.) เท่าที่ทำได้อย่างสมเหตุสมผล อีกทางหนึ่งคือสามารถจัดให้พนักงานทำงานสลับกันในสภาพแวดล้อมที่ร้อนขึ้นและเย็นลง
  • นายจ้างควรให้ลูกจ้างที่ทำงานในระดับเบาถึงปานกลางได้พักอย่างน้อย 10 นาทีหลังจากทำงานทุกๆ 2 ชั่วโมง ในขณะที่ลูกจ้างที่ทำงานในระดับหนักถึงหนักมากควรได้พักอย่างน้อย 15 นาที หลังทำงานทุกสองชั่วโมง หากคำเตือนความเครียดจากความร้อนในที่ทำงานมีผลบังคับใช้ นายจ้างควรให้เวลาพักผมากขึ้นตามคำแนะนำ นายจ้างสามารถแบ่งช่วงพักที่จำเป็นเป็นช่วงสั้นๆ แต่ถี่ขึ้น ขึ้นอยู่กับสภาพการทำงาน