ThaiPublica > เกาะกระแส > 1 เดือนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ความสำเร็จที่ไม่ได้วัดที่ตัวเลข แต่ “เป็นความเชื่อมั่น ความปลอดภัย” จากโควิด

1 เดือนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ความสำเร็จที่ไม่ได้วัดที่ตัวเลข แต่ “เป็นความเชื่อมั่น ความปลอดภัย” จากโควิด

31 กรกฎาคม 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายภูเก็ตแซนบ็อกซ์ ที่มาภาพ : เว็บไซต์ thaigov.go.th

โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ดำเนินการมาครบ 1 เดือนแล้ว แม้ในระหว่างนั้นจะมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการโรงแรม ท่องเที่ยว ต่างเห็นว่า รัฐบาลควรเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป เพราะสามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดภูเก็ตในระยะเวลา 1 เดือน จากโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท ทำให้คนในภูเก็ตมีงานทำ มีรายได้

โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ จัดขึ้นเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เน้นเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2โดสแล้ว มีการตรวจหาเชื้อผลเป็นลบ และต้องมาจากประเทศต้นทางที่มีความปลอดภัยด้วย เริ่มเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม จากคนในประเทศที่เดินทางเข้าภูเก็ต และคนงานในแคมป์ก่อสร้าง เป็นหลัก ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 29 กรกฎาคม มียอด 1,073 ราย จังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งปิดเกาะตั้งแต่วันที่ 3-16 สิงหาคม เพื่อควบคุมการระบาด โดยคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าภูเก็ตอย่างเข้มงวด ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงบินเข้าภูเก็ตได้ผ่านสนามบินนานาชาติภูเก็ต

มุ่ง “ความเชื่อมั่น ความปลอดภัย” ของนักท่องเที่ยว

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า การเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจคัดกรองคนในประเทศที่จะเดินทางมาภูเก็ตครั้งนี้ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาภูเก็ตได้ และหากรัฐสามารถฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้คนภูเก็ต เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย จะยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นว่าการเดินทางมาภูเก็ตมีความปลอดภัยจริง ๆ

“ผมไม่ได้คาดหวัง หรือตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาภูเก็ต โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เป็นโลว์ซีซั่น ผมอยากให้ยอดเพิ่มขึ้นตามความต้องการจริง ตามความยอมรับ ความเชื่อมั่น ของนักท่องเที่ยวมากกว่า ถ้ามีการตั้งเป้ามันจะทำให้การแข่งขันรุนแรง ต้องมีการลงทุน ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการไม่สามารถหาเงินกู้ได้ กลายเป็นความกดดันของผู้ประกอบการแทน”

ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามียอดจองห้องพักในภูเก็ตรวม 192,875 ห้อง และยังมีการจองห้องพักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนสิงหาคม มียอดจองเข้ามาแล้ว 92,476 ห้อง กันยายน 72,111 ห้อง รวม 292,832 ห้อง เฉลี่ยแล้วมียอดจองวันละ 400 ห้อง

ถ้าคำนวณจากนักท่องเที่ยวมาเข้าพักเฉลี่ย 11 คืน จากที่ต้องกักตัว 14 วัน คูณด้วยยอดใชจ่ายเฉลี่ยวันละ 5,000 บาท เดือนกรกฎาคมที่มียอดจองห้องพักเกือบ 2 แสนห้อง เท่ากับจะมีรายได้เข้าภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 680 ล้านบาท

“ดูจากยอดจองห้องพักที่เข้ามาเรื่อย ๆ แสดงว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ได้รับความยอมรับเกินคาด ทั้งที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่สีแดง โครงการนึ้จึงควรได้รับการสนับสนุนต่อไป”

ที่มาภาพ : เว็บไซต์ thaigov.go.th

แนะรัฐดึงงบลงทุนเข้าภูเก็ตกันแรงงานหาย

นายวิทยา ไชยวุฒิ กรรมการบริษัท วีพีทวินปาล์ม ทำธุรกิจโรงงาน การท่องเที่ยว กล่าวว่า โครงการนี้ภาคเอกชนในภูเก็ตเป็นผู้ผลักดันมาตลอด ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าดี มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 12,300 คน แม้จะเป็นโรงแรมใหญ่ ๆ ที่ได้ประโยชน์ ก็เพราะโรงแรมเหล่านี้มีความพร้อม และสามารถทำการตลาดได้ ช่วยให้พนักงานมีงานทำ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ 3 โซน คือ หาดป่าตอง เชิงทะเล ลากูน่า ที่เป็นย่านที่พักของชาวต่างประเทศ

โดยเฉลี่ยแล้วมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตวันละ 300 คนทั้งที่เข้ามาและบินกลับ ส่วนใหญ่มาจาก สหรัฐอเมริกา อียู โดยประกาศที่อียูถอดไทยออกจากประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด ไม่มีผลต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มากนัก แต่จะมีผลต่อนักท่องเที่ยวจากจีน ฮ่องกง เพราะจีนไม่มีนโยบายออกวีซ่าให้คนจีนออกนอกประเทศ หรือถ้าต้องออก เวลาเข้าประเทศต้องกักตัว 21 วัน ไม่ใช่แค่ 14 วัน แล้วกักตัวของเขาคือกักตัวจริง ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังน้อย

ทั้งนี้ หากหลังจากคำสั่งปิดเกาะภูเก็ต จนสามารถควบคุมและลดจำนวนคนที่ติดเชื้อโควิดได้แล้ว ก็ควรเปิดให้คนไทยได้เข้ามาเที่ยวภูเก็ตได้ด้วย โดยต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก็น่าจะพอแล้ว เพราะมีคนไทยจำนวนมากที่อยากมาเที่ยวภูเก็ต อย่างเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาก่อนโควิดระบาดหนัก มีคนไทยเข้าออกภูเก็ตเดือนหนึ่งถึงหมื่นกว่าคน

“ตอนนี้ทางจังหวัดต้องบล็อกคนไทยที่จะเข้ามา เพราะคนติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาทางถนน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้เข้มงวด ส่วนชาวต่างชาติที่ติดเชื้อแล้วเข้ามาภูเก็ตมีน้อยมาก ประมาณ 10 คน แล้วพวกนี้ต้องถูกกักตัวตามข้อกำหนดอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้ เมื่อคุมสถานการณ์ได้ก็น่าจะให้คนไทยเข้ามาเที่ยวได้”

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเอางบลงทุนด้านการก่อสร้างมาลงภูเก็ตได้แล้ว อย่างงบสร้างถนน สร้างสาธารณูปโภค ที่หายไปเลย แม้จะมีการเสนอเรื่องไปถึงรัฐบาลหลายครั้งแล้วก็ตาม เพราะงบก่อสร้างเหล่านี้จะช่วยผู้รับเหมา ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ให้มีชีวิตรอดต่อไปได้ รวมทั้งเป็นการรักษาแรงงานที่มีฝีมือไว้ด้วย เพราะเมื่อไม่มีงาน แรงงานฝีมืออย่างพวกพม่า ก็กลับประเทศ คนไทยก็กลับจังหวัดบ้านเกิด ปัญหาคือ เมื่อไม่มีแรงงานฝีมือ เขาก็ต้องปิดกิจการ รวมทั้ง ถ้าเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ เราจะไม่มีแรงงานฝีมือมาทำงานก่อสร้าง เพราะกลับประเทศไปหมด ที่เหลือเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ที่กว่าจะฝึกให้มีทักษะ หรือฝีมือขึ้นมา ก็ต้องใช้เวลานาน

รวมทุกแอปพลิเคชันใช้อย่างเดียว

ด้าน กวิน นวลแข ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต เห็นว่า แม้กระบวนการช่วงแรกของภูเก็ตแซนด์บอกซ์ อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความยุ่งยาก สับสน ระบบงานยังสะเปะสะปะบ้าง แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ถือว่าใช้ได้ ไปได้ดี

“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องทำอะไรที่ทำให้ก้าวไปข้างหน้าได้อีก ภายใต้การควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดเหมือนเดิม เช่น การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และทำให้รัฐมีข้อมูลในการตรวจสอบได้ครบถ้วน ด้วยการรวมแอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็น หมอพร้อม หมอชนะ หรือแอพพลิเคชันของแต่ละจังหวัด รวมเป็นแอพพลิเคชันเดียว เพื่อให้คนไทยสามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศ โดยที่ภาครัฐสามารถตรวจสอบการฉีดวัคซีน ผลการตรวจสอบการตรวจหาเชื้อ ได้จากแอพพลิเคชั้นที่ทำขึ้นใหม่

ปัจจุบันแต่ละจังหวัดจะมีการตั้งด่านเพื่อตรวจสอบผู้ที่จะเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ที่มาจากพื้นที่สีแดง แต่ด่านดังกล่าวไม่สามารถจะตรวจสอบอะไรได้ เพราะไม่รู้ว่าจะตรวจอะไร ตรวจอย่างไร แต่ถ้ามีแอพพลิเคชั่นที่ว่า เจ้าหน้าที่ประจำด่านสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด ก็จะทำให้รู้สถานะของคนที่จะข้ามจังหวัด และจัดการตามความเหมาะสมได้

นอกจากนี้ ชาวต่างชาติที่เข้ามาก็ให้ติดตั้งแอพพลิเคชันนี้ ที่นอกจากข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีน การตรวจหาเชื้อ ยังสามารถโหลดข้อมูลเอกสารต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดให้ต้องแสดงเมื่อเข้าประเทศไทยไว้ในแอพพลิเคชัน โดยเจ้าหน้าที่ไทยเพียงแสกนคิวอาร์โค้ด ก็จะรู้ข้อมูลทุกอย่าง โดยชาวต่างชาติ ไม่ต้องหอบเอกสารมาแสดงให้ยุ่งยาก

“กฎระเบียบต่าง ๆ ยังเป็นไปตามมาตรการของหน่วยงานราชการที่ประกาศออก เพียงแต่ปรับปรุงให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน จะช่วยเพิ่มคนมาภูเก็ตได้มากขึ้น เดินทางได้มากขึ้น”

ความสำเร็จ…ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข

ที่มาภาพ :https://omny.fm/shows/money-fm-893/soul-of-business-phuket-sandbox-a-possible-bluepri#description

โฮ กวน ปิง ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร บันยันทรี โฮเต็ลแอนด์ รีสอร์ท ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ในรายการ Soul of Business ของ MONEY FM 89.3 สิงคโปร์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564

โฮ กวน ปิง ให้สัมภาษณ์กับรายการ ว่า เขานั่งอยู่ในสนามบินชางงีที่ร้างผู้คนพร้อมใส่หน้ากากรอขึ้นเครื่องเพื่อเดินมายังภูเก็ตแซนด์บอกซ์ หลังจากที่แสดงเอกสารจำนวนมากแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอันที่จริงเขาเพิ่งเดินทางกลับจากภูเก็ตในสัปดาห์ที่แล้ว

“ผมค่อนข้างตื่นเต้นที่จะกลับไปเจอกับภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ลองดูว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งตัวผมและทีมงาน”

โฮ กวนปิง กล่าวว่า ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ในเชิงการท่องเที่ยวถือว่า เป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ เพราะแต่ละประเทศในเอเชีย ทั้งทางตะวันออกของมัลดีฟ ฝั่งตะวันตกของฮาวาย พากันล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นแหล่งที่ผู้คนหลายร้อยล้านคน ไม่สามารถท่องเที่ยวมาเยือนได้ ภูเก็ตเป็นแหล่งเดียวที่อยู่ระหว่างการทดลอง ให้คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เดินทางมาเที่ยวได้ จึงมีความน่าสนใจ

ความท้าทายหลักไม่ใช่อยู่ที่โรงแรมที่มีใบรับรองและสัญลักษณ์ SHA+ ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และมั่นใจได้เลยว่า ทุกโรงแรมได้ดำเนินการตามมาตรฐานนี้ ซึ่งโรงแรมในสิงคโปร์ก็มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยทุกโรงแรม สถานที่สาธารณะทุกแห่ง ร้านอาหาร สนามบิน สถานที่ทางราชการได้ใช้มาตรฐานนี้มา 18 เดือน สำหรับกลุ่มบันยันทรีเองก็ได้ดำเนินการตามนี้และทำมาอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นสำคัญที่ภูเก็ตได้ดำเนินการคือ สามารถที่จะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนได้กว่า 70% ของคนที่เข้าร่วมในโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์

ดังนั้นสำหรับประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ และมีการติดเชื้อสูงในขณะนี้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือประเทศอื่นๆ สามารถนำแนวคิดแซนด์บอกซ์ของภูเก็ตไปใช้ เปิดทางให้ประเทศเหล่านี้ค่อยๆเปิดการท่องเที่ยวได้ เช่น บาหลี หรือ ปีนังอาจจะทำแซนด์บอกซ์ได้

“แซนด์บอกซ์ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล แต่เป็นแนวทางที่สามารถฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่ง และเป็นวิธีเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างไม่ลำบาก”

การที่ภูเก็ตสามารถควบคุมการติดเชื้อไว้ให้อยู่ในระดับต่ำ และอัตราการฉีดวัคซีนให้อยู่ในระดับ 70% ของประชากรในระยะเวลาสั้น ถือเป็นประเด็นความท้าทายใหญ่ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันดำเนินการ

โฮ กวนปิงกล่าวว่า ก่อนเริ่มโครงการนี้มีหลายฝ่ายมองในแง่ลบ และหลังจากที่โครงการเปิดมาได้สองสัปดาห์ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า ไม่เห็นมีนักท่องเที่ยวเข้ามานับหมื่นอย่างที่คาดกัน ซึ่งสำหรับเขาแล้ว นับว่าเป็นการเข้าใจสถานการณ์ที่ผิดพลาด เพราะไม่ว่าภาครัฐ ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน โรงแรม คนภูเก็ต หรือคนที่เข้าโครงการ ไม่ได้คาดหวังว่าธุรกิจจะขยายตัวขึ้นมาทันที

เหตุผลหนึ่งที่เราเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงหน้าฝน และไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว ก็เพื่อให้ธุรกิจดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ภูเก็ต เปรียบเหมือนคนไข้ที่อยู่ในโคม่ามา 2 ปี และฟื้นคืนสติจากโคม่า ต้องเรียนรู้ด้วยมุมมองใหม่สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างจากที่เคยเป็นเคยได้ ดังนั้นความคาดหวังของคนทั้งเกาะที่จะได้นักท่องเที่ยวจำนวนมากกลับมาอีก ต้องผ่านกระบวนการที่ใช้เวลาเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยมุมมองใหม่ และเราต้องการให้เดินหน้าไปอย่าช้าๆ

เมื่อพูดถึงความสำเร็จของภูเก็ตแซนด์บอกซ์ โฮ กวนปิงกล่าวว่า “ขึ้นอยู่กับว่าจะวัดอย่างไร การวัดความสำเร็จจากอัตราการเพิ่มของจำนวนตัวเลข ผมก็ไม่มีปัญหา”

“แต่สำหรับผม ความสำเร็จที่ชัดเจนคือ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง การเดินทางมาภูเก็ตจะเป็นตัวอย่างของการเดินทางในพื้นที่อื่นของไทยได้อย่างปลอดภัย การเดินทางในภูเก็ตและค่อยๆ กลับสู่สภาวะปกติ แม้ว่าจะใช้เวลานานก็ตาม และหากเรามีอัตราการเข้าพักถึง 50-60% ในหน้าท่องเที่ยวภายในสิ้นปีนี้ จากเดิมที่เคยสูงถึง 80% ผมคงเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ”

ปัจจุบันอัตราการเข้าพักยังเป็นเลขหลักเดียว

ประเด็นหลักที่ทุกคนวิตกในขณะนี้ คือเกรงว่า โครงการจะล่มหากมีการติดเชื้อจำนวนมากเกินขึ้นอีก ซึ่งรัฐบาลเองก็เคยระบุไว้ว่าหากการติดเชื้อมีจำนวนมากเกินกว่าระดับที่วางไว้ก็จะระงับโครงการ ดังนั้นการมีความระมัดระวังอย่างมากและแก้ไขปัญหาทันทีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แซนด์บอกซ์เดินหน้าไปได้

“การติดเชื้อก็ยังเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเรามีประชากรที่ได้รับวัคซีนสูงถึง 70% เช่นในภูเก็ต และมีนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบ 100% เดินทางเข้ามา การติดเชื้อก็เป็นเพียงตัวเลขสถิติ”

นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ