ThaiPublica > เกาะกระแส > ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ยกระดับ ‘คลินิกกฎหมาย’ สู่ ‘สวัสดิการทางกฎหมาย’ ของคนไทยทุกคน

ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ยกระดับ ‘คลินิกกฎหมาย’ สู่ ‘สวัสดิการทางกฎหมาย’ ของคนไทยทุกคน

29 มีนาคม 2023


รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

จากข้อมูลอัยการสูงสุดระบุว่า ในปี 2564 มีคดีอาญาจำนวน 1,069,058 คดี และคดีแพ่ง 30,835 คดี ซึ่งคดีความย่อมมาพร้อมกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตกเป็น ‘ผู้ต้องหา’ แม้ว่าจะยังถือเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ อยู่ตามหลักการทางกฎหมาย แต่ที่สุดแล้วก็ต้องเสียเงินหลักร้อยไปจนถึงหลักแสนบาท เพื่อขอรับคำปรึกษาจากทนายไปจนถึงการว่าจ้างให้ว่าความในชั้นศาล

สำหรับคนที่รายได้พอประมาณอาจดำเนินตามครรลองนี้ได้ แต่ในกรณีที่คนๆ นั้นมีรายได้น้อยหรือเป็นคน ‘ยากจน’ ทางเลือกสุดท้ายที่จะช่วยได้ก็คือ ปรึกษากับสภาทนายความ หรือทนายอาสา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า คณะนิติศาสตร์ตัดสินใจทุ่มทรัพยากรเพื่อยกระดับบทบาทของ ‘ศูนย์นิติศาสตร์’ จากการเป็นคลินิกกฎหมายอายุกว่า 50 ปี ที่มีภารกิจเชื่อมโยงให้นักศึกษาเรียนรู้ในทางปฏิบัติ มาสู่การเป็น ‘สวัสดิการทางกฎหมาย’ ให้กับประชาชนที่ไม่มีที่พึ่งมากขึ้น

โดยศูนย์นิติศาสตร์พร้อมให้ความช่วยเหลือในคดีทุกประเภท ทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และอรรถคดี โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. จัดทนายความช่วยเหลือว่าความให้โดยไม่คิดค่าจ้าง ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ ผู้ขอความช่วยเหลือเป็นผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องที่เป็นข้อพิพาท ผู้ขอความช่วยเหลือไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ผู้ขอความช่วยเหลือเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน รูปคดีทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงมีทางที่จะให้ความช่วยเหลือได้ และไม่เป็นคดีเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว เว้นแต่เป็นคดีเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าอุปการะในชั้นศาลได้

2. การเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับคู่กรณี และ 3. การติดตามการบังคับคดี ตามคำพิพากษาของศาล

อีกทั้งยังมีการเผยแพร่ความรู้ทางนิติศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไปใน 3 แนวทาง ดังนี้ 1.จัดทำหนังสือกฎหมายสำหรับประชาชน 2.เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายตามโครงการสารสนเทศกฎหมายออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ www.tulawcenter.org และสุดท้ายการจัดอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมาย

“นอกจากการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเป็นกรณีๆ แล้ว เรายังมีเป้าหมายที่จะช่วยในระดับภาพรวมด้วย กล่าวคือยกระดับจากการช่วยทำคดีหนึ่งให้กับประชาชนที่อาจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย เป็นการแก้ปัญหาของโครงสร้างนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และนโยบายได้ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เราพยายามทำในส่วนนี้ผ่านการผลักดัน การจัดเสวนา รวมถึงนำเสนอความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎระเบียบในภาพใหญ่ ซึ่งก็จะเป็นการช่วยคนที่อยู่ในกรณีเดียวกันนี้ได้ทั่วประเทศ” คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าว

ตัวอย่างการช่วยเหลือที่ศูนย์นิติศาสตร์กำลังดำเนินการในขณะนี้ เช่น การร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการแก้ไขระเบียบการนำข้อมูลของบุคคลเข้าทะเบียนประวัติอาชญากร สำหรับการคัดแยกและลบประวัติบุคคลออกจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหาและอาชญากร

เนื่องจากระเบียบเดิมกำหนดไว้ว่าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการให้พิมพ์ลายนิ้วมือและกรอกประวัติตอนตั้งข้อกล่าวหา ข้อมูลทุกอย่างของคนๆ นั้นจะอยู่ในทะเบียนอาชญากร หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘อาชญากร’ ทันที ทั้งที่ยังไม่ผ่านคำตัดสินของศาล ซึ่งเขาอาจเป็นเพียงผู้ที่ถูกตั้งข้อหา ศาลยกฟ้อง หรือเสียค่าปรับโดยไม่ต้องรอลงอาญา ไม่มีการติดคุก แต่ชื่อ ลายนิ้วมือ และข้อมูลต่างๆ จะไม่ถูกลบออก รวมไปถึงการจะเอาชื่อออกได้ก็ต้องทำเรื่องด้วยตนเอง และลบได้รายบุคคลเท่านั้น

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่าปัจจุบันทะเบียนประวัติอาชญากรมีข้อมูลของอยู่ประมาณ 10 ล้านคน แต่ที่เป็นอาชญากรซึ่งถูกศาลตัดสินว่าผิดจริงมีอยู่เพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ ผลที่เกิดขึ้นทำให้คนที่พ้นจากข้อกล่าวจำนวนมาก ตอนไปสมัครงานและได้ยินยอมให้บริษัทตรวจประวัติอาชญากร ชื่อของพวกเขาจะปรากฎว่าเป็นอาชญากรอยู่ในระบบ ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจจ้างงาน

“สิ่งที่เกิดขึ้นยังได้ช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในการนำเอาความรู้มาบูรณาการเพื่อช่วยประชาชนให้ได้รับความยุติธรรมด้วย เพราะการเรียนการสอนในห้องเรียนจะมีในด้านวิชาการ และตำราเรียน ซึ่งมักสอนแยกเป็นรายวิชา เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา นิติกรรมสัญญา ฯลฯ”

ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้แยกเป็นวิชา ในเรื่องหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับกฎหมาย หรือระเบียบหลากหลายกว่านั้นมาก ดังนั้นศูนย์นิติศาสตร์จึงพยายามสร้างกลไกให้ตนเองเป็นเสมือน ‘แล็บทางกฎหมาย’ ที่สามารถทำให้กับนักศึกษาได้นำสิ่งที่เรียนมาปรับใช้ในชีวิตจริง รวมถึงนำมาพัฒนาเป็นองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาในอนาคตด้วย

สำหรับโครงการที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ และกำลังต่อยอดไปในอนาคตมี 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย 1. โครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเรื่องหนี้สิน 2. จัดตั้งศูนย์นิติศาสตร์ ที่ มธ. ศูนย์ลำปาง และ 3. จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน

นอกจากนี้ในปี 2566 ทางศูนย์นิติศาสตร์ มธ. จะจัดการประชุมผ่าน Video Conference ครั้งแรก โดยเชิญชวนศูนย์นิติศาสตร์กว่า 20-30 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการจะยกระดับให้ศูนย์นิติศาสตร์ทั่วประเทศเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมกับให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ

ทางด้าน พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก สตช. กล่าวว่า สตช. ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับ มธ. ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์อย่างใกล้ชิด เป้าหมายสำคัญคือจะทำให้ประชาชนได้ใช้สิทธิความเป็นประชาชนอย่างแท้จริง กรณีตกเป็นผู้ต้องหา แต่ว่ายังไม่ได้รับการตัดสินจากกระบวนการยุติธรรมอย่างสมบูรณ์

พล.ต.ต.อาชยน กล่าวถึงความร่วมมือในการแก้ไขระเบียบนำเข้าข้อมูลอาชญากรว่า เป็นเรื่องที่ดีและจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนโดยตรง เพราะระหว่างที่รอการตัดสินจากศาล ประชาชนก็ยังสามารถไปใช้ชีวิต ไปสมัครงานได้ ทำให้ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ หรือถูกตัดสินจากสังคมไปก่อนว่าเป็นอาชญากร

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวอีกว่า การทำงานร่วมกันกับภาควิชาการ อย่างศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือว่ามีความสำคัญ และจำเป็นอย่างมากในการบูรณาการการทำงาน เพื่อสร้างความเท่าเทียม และความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมร่วมกัน เพราะภาควิชาการจะมีมุมมองที่จะช่วยให้ทางตำรวจได้อำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำให้เกิดขึ้นได้จริง เป็นการรักษาสิทธิของมนุษยชน ของคนไทยอย่างเท่าเทียมกันทุกคน