ThaiPublica > Sustainability > Headline > เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ รุกธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร ตั้งเป้าโต 4 เท่า ตอบทุกโจทย์ลูกค้า-เทรนด์โลก

เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ รุกธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร ตั้งเป้าโต 4 เท่า ตอบทุกโจทย์ลูกค้า-เทรนด์โลก

8 กุมภาพันธ์ 2023


เอสซีจี รุกธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร ลดต้นทุน แก้ปัญหาพลังงานพุ่งสูง พร้อมรองรับเมกกะเทรนด์รักษ์โลก ตั้งเป้าโต 4 เท่าในปีนี้ ปักธงเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มลูกค้ากลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โรงงาน บริษัทขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล ด้วยนวัตกรรมระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ smart grid เทคโนโลยีโดรน-หุ่นยนต์เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สะดวกด้วยบริการครบวงจร

นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด (กลาง)

นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจรเริ่มมาจากประสบการณ์และองค์ความรู้ที่เราได้เริ่มทำมานานกว่า 5 ปีแล้ว โดยผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงานและอุตสาหกรรมในเครือ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จริง และมีปริมาณความต้องการพลังงานด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ จากสถานการณ์พลังงานที่มีต้นทุนสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากสงครามรัสเซีย ยูเครน และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เพิ่มมากขึ้น การดูแลโลกกลายเป็นเมกะเทรนด์โลก ที่ทุกคนต้องร่วมกันลดผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงเห็นว่าควรนำประสบการณ์ที่มีอยู่ พร้อมทั้งองค์ความรู้ มาทำธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า

นายอรรถพงศ์กล่าวต่อว่า แม้ว่าเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จะเริ่มได้ 2 ปี แต่มีเครือข่ายของบริษัทและธุรกิจในเครือทั้ง 1. ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 2. ธุรกิจเคมิคอลส์ 3. ธุรกิจแพกเกจจิง เข้ามาสนับสนุนในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ธุรกิจพลังงานสะอาดสามารถอำนวยความสะดวกได้ครบวงจร

“เอสซีจีได้ลดต้นทุนด้วยการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต และมีความเชี่ยวชาญ สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจให้บริการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจร ช่วยแก้วิกฤติต้นทุนพลังงานและไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น”

นายอรรถพงศ์กล่าวว่า มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมากและต่อเนื่อง ที่ต้องการลดต้นทุนค่าไฟ เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โดยมีบริการครบวงจร เช่น การขออนุญาตติดตั้ง ขออนุญาตซื้อขายไฟฟ้า การคำนวณงบฯ ลงทุนและการคืนทุน การซ่อมบำรุง ดูแลรักษา ทางเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พร้อมส่งมอบการให้บริการที่สร้างความมั่นใจให้ลูกค้าด้วย

สำหรับ การบริการครบวงจร ที่มี 3 จุดเด่น คือ 1. “ซื้อ-ขายไฟ smart grid” คุ้มค่า ลดต้นทุนพลังงานจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยแผงโซลาร์ซึ่งติดตั้งทั้งบนพื้นดิน หลังคา ผืนน้ำ และที่ดินว่างเปล่า โดยสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ เมื่อผลิตเกินความต้องการใช้ ด้วยนวัตกรรมระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid)

“เนื่องจากความต้องการในการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน เช่น บางคนอาจจะใช้ไฟเฉพาะวันจันทร์ถึงวันศุกร์ แต่เสาร์อาทิตย์ไม่ได้ใช้ ขณะที่บางคนอาจจะต้องการใช้ไฟฟ้าในวันเสาร์ อาทิตย์ smart grid จะเข้าไปช่วยบริการจัดการความต้องการใช้ที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในอนาคตระบบจะช่วยลงทะเบียนการลดคาร์บอนเครดิตเพื่อให้สามารถซื้อขายได้ หากระบบการรับรอง ภาครัฐมีความพร้อม”

2. การทำงานด้านการปรึกษา เป็น “คู่คิดครบวงจร” อำนวยความสะดวก ด้วยทีมวิศวกรมืออาชีพที่ให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังติดตั้งแผงโซลาร์ตลอดอายุสัญญา เช่น การขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์ การคำนวณต้นทุนและกำลังการผลิตที่เหมาะสม การซ่อมบำรุง

3. การดูแลความสะอาด “ดูแลทุกขั้นตอนด้วยโรบอต” สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีโดรนบินสำรวจแผงโซลาร์ที่ชำรุด (drone inspection) แจ้งเตือนให้ซ่อมบำรุง และหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์ (robot cleaning)

นายอรรถพงศ์กล่าวว่า เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ มีฐานลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ทั้งในไทยและอาเซียน เช่น โตโยต้า ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีกำลังการผลิตรวมกว่า 234 เมกกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าให้กับ โรงงานอุตสาหกรรมในเครือฯ เอสซีจี 190 เมกะวัตต์ และอีก 44 เมกะวัตต์ เป็นการบริการให้กับลูกค้าภายนอก

ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง ช่วยลดต้นทุนพลังงานร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 เท่าภายในปี 2566 จาก 44 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 160 เมกะวัตต์ได้กับกลุ่มลูกค้าภายนอกเอสซีจีฯ

“ขณะนี้ เราเจรจาเพื่อติดตั้งให้กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และอีกหลายราย จุดเด่นของเรานอกจากมีประสบการณ์ มีเทคโนโลยีแล้ว เรายังลงทุนให้กับลูกค้าทั้งหมดก่อนส่งมอบ เพื่อใช้บริการ และสามารถต้นทุนค่าพลังงานได้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำ”

นายอรรถพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินติดตั้งโซลาร์ได้ทั้ง 3 แบบ คือ โซลาร์ฟาร์ม (solar farm) ที่ติดตั้งแผงโซลาร์บนพื้นดิน 2. โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (solar floating) และการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้าน (solar rooftop)

นอกจากนี้ เพื่อพัฒนาเทคโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ กำหนดงบฯ ลงทุน วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่รักษ์โลก

นายอรรถพงศ์กล่าวต่อว่า การขยายธุรกิจพลังงานสะอาด ทั้งจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์และพลังงานชีวมวล จะมีศักยภาพสูง ตอบโจทย์ความคุ้มค่าและความสะดวกของลูกค้าตามเมกะเทรนด์รักษ์โลก และแนวทาง ESG 4 Plus ที่เอสซีจีและเครือข่ายผู้ประกอบการต่าง ๆ มีส่วนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) สุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ตามเป้าหมายประเทศและโลกด้วย

นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม (ขวา) และนายวิสุทธ จงเจริญกิจ (ซ้าย)

นายวิสุทธ จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director เอสซีจี กล่าวว่า “เพื่อลดการใช้พลังงานที่มีราคาพุ่งสูง ประกอบกับประเทศไทยมีเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย เปลือกข้าวโพด ประมาณ 21 ล้านตันต่อปี หากกำจัดด้วยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลภาวะทั้งหมอก ควัน ฝุ่นละออง PM2.5 และภาวะโลกร้อน เอสซีจีจึงนำความเชี่ยวชาญด้านพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเศษวัสดุที่ทันสมัยให้เป็น เม็ดพลังงานชีวมวล (energy pellet) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน

ปี 2565 เอสซีจีได้เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนจากร้อยละ 26 ในปีก่อน เป็นร้อยละ 34 ทั้งนี้ เอสซีจีได้รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกว่า 300,000 ตัน ทั้งใบอ้อย เปลือกข้าวโพด รากยางพารา ฟางข้าว แกลบ และอื่นๆ จากพื้นที่จังหวัดรอบโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี อยุธยา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และเร่งพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลในหลายรูปแบบ ทั้งชีวมวลประสิทธิภาพสูง (high efficiency renewable fuel) ทั้งด้านการใช้งาน และค่าพลังงานอื่นๆ เพื่อขยายเป็นธุรกิจในอนาคตด้วย

เม็ดพลังงานชีวมวล (energy pellet) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน

อย่างไรก็ตาม เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ได้พาชมพื้นที่ solar floating ขนาด 13 เมกะวัตต์ ที่บึงบ้านช้าง ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.สระบุรี โดยติดตั้งแผงโซลาร์บนพื้นที่บึงบ้านช้าง 60 ไร่ ซึ่งเป็นบึงขุดของบริษัท

solar floating บึงบ้านช้างผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานท่าหลวงวันละ 17 ล้านหน่วย เทียบกับการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 8,200 ครัวเรือน ช่วยลดค่าไฟฟ้า 80 ล้านบาทต่อปี ลดคาร์บอนได้ 8,500 ตันต่อปี เท่ากับการปลูกต้นไม้ 8.5 แสนต้น