รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เว็บไซต์ japantimes.co.jp รายงานว่า บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ญี่ปุ่นเลือก Koji Sato ประธานรถยนต์เล็กซัส ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหาร (CEO) ของโตโยต้า แทน Akio Toyoda ที่จะขึ้นมาเป็นประธานบริษัทโตโยต้า Toyoda เป็น CEO มาตั้งแต่ปี 2009 มีฐานะเป็นหลานของผู้ก่อตั้งบริษัทโตโยต้า
Toyoda กล่าวว่า ตัวเขาเองมีข้อจำกัด เนื่องจากมีพื้นเพมาจาก “โรงเรียนแบบเก่า” ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ และยานยนต์ที่เชื่อมโยงกัน เขาจึงไม่ใช่บุคคลดีที่สุด ที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงของโตโยต้า ในการเปลี่ยนผ่านจากบริษัทผู้ผลิตรถยนค์ มาเป็น “บริษัทการเคลื่อนไหว” (mobility company)
จากธุรกิจสิ่งทอสู่ยานยนต์
ในหนังสือ Dynasties ของ David Landes นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ที่มีชื่อของ Harvard เขียนถึงตระกูลผู้บุกเบิกรถยนต์โตโยต้าไว้ว่า ตำนานตระกูลที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับรถยนต์โตโยต้า คล้ายกับตำนานรถยนต์ “เปอโยต์” ของฝรั่งเศส ทั้งสองครอบครัวเริ่มต้นจาก การทำธุรกิจสิ่งทอมาก่อน แต่โตโยต้าสามารถขยายความสำนึกของการเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน มาสู่บรรดาแรงงานในโรงงานรถยนต์ด้วย สิ่งนี้คือหนึ่งในความสำเร็จของโตโยต้า
ผู้ก่อตั้งโตโยต้าคือ Sakichi Toyoda ที่เริ่มทำธุรกิจแรกคือ สิ่งทอที่บ้านเกิดของตัวเองอยู่ห่างจากโตเกียวไปทางใต้ 110 ไมล์ ปี 1890 เขาเดินทางไปดูงานเครื่องจักรที่โตเกียว หนึ่งปีต่อมา เขาจดทะเบียนสิทธิบัตรเครื่องจักรทอผ้า ที่มีประสิทธิภาพเพิ่ม 40-50% เนื่องจากมีราคาถูกกว่าเครื่องจักรเยอรมันและอังกฤษ บริษัท Mitsui จึงเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก ในปี 1929 เขาขายสิทธิบัตรเครื่องจักรทอผ้าให้บริษัทอังกฤษชื่อ Platt Brother and Company เงินก้อนนี้ต่อมากลายเป็นเงินทุนเริ่มต้นของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์
การเดินทางไปเยือนอเมริกา ทำให้ Sakichi มองเห็นว่ารถยนต์คือสินค้าในอนาคต เนื่องจากมีอายุมาก การลงมือดำเนินการเรื่องการประกอบรถยนต์ จึงเป็นเรื่องยาก แต่ Sakichi บอกกับ Kiichiro บุตรชายของเขาว่า
“ฉันทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อคิดค้นเครื่องทอผ้า เธอต้องพยายามทำบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่สังคม โดยการสร้างรถยนต์ญี่ปุ่นจากมือของคนญี่ปุ่นเอง”
ภารกิจดังกล่าวเหมาะกับ Kiichiro เพราะบิดาเขาเป็นนักประดิษฐ์ ที่เป็นคนบ้านนอก แต่ Kiichiro เรียนด้านวิศวกรรมช่างกลจาก Tokyo Imperial University ในปี 1933 ธุรกิจตระกูล Toyoda ก็ตั้งฝ่ายรถยนต์ขึ้นมา ในเวลานั้น อุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปและสหรัฐฯ เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 30 ปี แต่ญี่ปุ่นยังไม่มีอุตสาหกรรมนี้เลย รถยนต์ที่วิ่งในญี่ปุ่น มาจากการประกอบการผลิต จากชิ้นส่วนนำเข้า ของรถยนต์จาก Ford และ General Motors
เนื่องจากวิตกต่อการพึ่งพาต่างชาติ รัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้นจึงหาทางพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นขึ้นมา และเสนอให้ Nissan Isuzu และ Toyoda ออกแบบตัวถัง สำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารขึ้นมา ในจุดนี้เป็นเรื่องง่ายสำหรับทั้ง 3 บริษัท สิ่งที่ยากคือเครื่องยนต์ แต่ Kiichiro ได้เปรียบบริษัทอื่น เพราะมีพื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรม และประสบการณ์จากเครื่องทอผ้า
หนังสือ Dynasties บอกว่า การศึกษาเป็นทางการด้านวิศวกรรม มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนา และการผลิตรถยนต์ทั่วโลก จากการศึกษาในมหาวิทยาลัย ทำให้ Kiichiro ทดลองประดิษฐ์เครื่องยนต์ จากเครื่องยนต์ขนาดเล็ก จนไปสู่เครื่องที่ใหญ่ขึ้น หาทางดึงช่างที่ชำนาญการมาร่วมงาน ดึงนักศึกษาวิศวกรรมที่เก่ง มาทำงานกับโตโยต้า มาถึงจุดนี้ Kiichiro รู้ดีว่า ตัวเองไม่ได้ประดิษฐ์แค่ผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งขึ้นมาเท่านั้น แต่คือการสร้างอุตสาหกรรม และระบบการผลิตใหม่ขึ้นมา การเข้าใจถึงความสำคัญ ในการพัฒนากระบวนการผลิตที่ประสบความสำเร็จ คือสิ่งที่เป็นหัวใจความสำเร็จของโตโยต้า
จุดเริ่มต้น Lean Production
ปี 1933 ฝ่ายผลิตรถยนต์เปลี่ยนชื่อเป็นโตโยต้า (Toyota) และสร้างโรงงานรถยนต์ที่ Nagoya บริษัทใช้เวลาเป็นปีจึงผลิตเครื่องยนต์เครื่องแรกออกมา เครื่องยนต์ลอกแบบจากรถยนต์ Chevrolet ขนาด 65 แรงม้า ชิ้นส่วนหลายอย่างผลิตขึ้นมาจากวิธีการ reverse-engineer คือ ถอดรื้อจากโมเดลของต่างประเทศ ปี 1935 ก็สามารถผลิตรถยนต์นั่งคันแรกคือ Model A1 ขึ้นมาได้
รถยนต์นั่งของโยต้าสร้างความหวัง แต่ว่าคือสิ่งที่เกิดก่อนเวลาที่เหมาะสม เพราะญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ยุคการขยายอำนาจทางทหาร รัฐบาลต้องการรถบรรทุก ไม่ใช่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล โรงงานที่ Nagoya จึงหันมาผลิตรถยนต์นั่ง 500 คันและรถบรรทุก 1,500 คันต่อเดือน Kiichiro เริ่มทดลองระบบใหม่เรื่องการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ โดยการลดจำนวนชิ้นส่วนในสต๊อก เป้าหมายคือผลิตรถตามการสั่งซื้อ และนำเงินที่ได้มาชำระค่าอะไหล่ แนวคิดของ Kiichiro จึงเป็นที่มาของ Lean Production
แต่ในช่วงแรกการผลิต รถยนต์โตโยต้ามีปัญหามากเรื่องคุณภาพ ทำให้มีรถที่ขายไม่ออกสะสมจำนวนมาก จุดนี้กลายเป็นเรื่องความเป็นความตายของโตโยต้า เพราะการอยู่รอดอาศัยการผลิตแบบมีประสิทธิภาพ ไม่สูญเปล่า
แต่จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามาช่วยชีวิตโตโยต้า ทหารญี่ปุ่นต้องการซื้อรถบรรทุกทั้งหมด การผลิตของโตโยต้าเป็นไปเพื่อสนองความต้องการดังกล่าว ส่วนที่ไม่สำคัญของรถบรรทุก ถูกตัดลงไป เช่น ไฟหน้ารถมีดวงเดียว ระบบห้ามล้อจาก 4 ล้อเหลือล้อหลัง 2 ล้อ เป็นต้น
การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทำให้อนาคตของโตโยต้ายังมืดมน ปีสุดท้ายของสงคราม โตโยต้าผลิตรถได้แค่ 3,275 คัน ทั้งๆที่มีกำลังการผลิตได้อีก 10 เท่า มองดูอนาคตข้างหน้า สิ่งนี้คือจุดจบของโตโยต้า แต่ฝ่ายบริหารและพนักงานทำทุกอย่างเพื่อประคับประคองให้กิจการอยู่รอด พนักงานช่วยกันปลูกผักขาย Kiichiro ส่งลูกชายไปเรียนเรื่องธุรกิจทำปลา David Landes บอกว่า จุดนี้สะท้อนจิตวิญญาณ “ครอบครัวโตโยดะ” ที่ไม่ยอมแพ้ พยายามหารายได้ทุกทาง ที่จะช่วยกิจการให้อยู่รอด และจากธุรกิจที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
ในที่สุด หลังสงคราม การที่ญี่ปุ่นถูกอเมริกันยึดครอง เข้ามาช่วยชีวิตโตโยต้าอีกครั้งหนึ่ง เพราะเจ้าหน้าที่อเมริกาเห็นว่า จะทำงานในญี่ปุ่นให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ต้องอาศัยการขนส่ง จึงขอให้โตโยต้าเริ่มผลิตรถบรรทุก ทหารอเมริกันกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของโตโยต้า ทำให้โตโยต้ากลับมาทำการผลิตรถยนต์อีกครั้ง
แต่ฐานะบริษัทยังยากลำบาก ปี 1948 หนี้สินสูงเป็น 8 เท่าของทุนจดทะเบียน จึงไม่มีใครยอมให้เงินกู้เพิ่ม หลังจากนั้น ในต้นทศวรรษ 1950 สงครามเกาหลีเข้ามาช่วยชีวิตแก่โตโยต้าเป็นครั้งที่สาม สหรัฐฯต้องการฐานการผลิตจากมิตรประเทศ ญี่ปุ่นจึงกลายเป็นจุดที่ตั้งที่เหมาะในการผลิตสนองสหรัฐฯ กรกฎาคม 1950 ทหารสหรัฐฯสั่งซื้อรถบรรทุกโตโยต้า 1 พันคัน เพิ่มเป็น 5 พันคนในเดือนมีนาคม 1951 จากปี 1950-1954 ญี่ปุ่นได้สัญญาจ้างการผลิตมูลค่าเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ โตโยต้าได้ส่วนแบ่งในสัญญาจ้างดังกล่าว Yoshida นายกรัฐมนตรีหลังสงครามเคยพูดว่า “สัญญาจ้างผลิตจากสงครามคือของขวัญจากพระเจ้า”
ระบบ Toyota Production System (TPS)
ผู้บริหารโตโยต้ารู้ดีว่า อนาคตของโตโยต้าไม่ได้อยู่ที่ การมีรัฐบาลเป็นลูกค้า แต่จะต้องสามารถแข่งขันได้ในตลาดเสรี Kiichiro เคยเขียนบันทึกภายใน ที่เหมือนเป็นคำประกาศการต่อสู้ว่า “อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นได้รับการปกป้อง จากเศรษฐกิจที่มีการกำกับควบคุม และไม่กล้าพอที่จะผจญภัยกับคลื่นการแข่งขันเสรี มองจากทัศนะของโลก โตโยต้ายังห่างไกลจากการเป็นบริษัทชั้นนำอันดับ 1 เรามองตัวเองเป็นเหมือนกับบริษัทรถยนต์ชั้น 3”
เมื่อ Kiichiro เกษียณแล้ว ลูกพี่ลูกน้องชื่อ Eiji Toyoda คือคนสำคัญสุดในครอบครัว ที่เหลืออยู่ และมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโตโยต้า ทศวรรษ 1950 เขาเดินทางไปดูงานบริษัทรถยนต์สหรัฐฯ ช่วงนั้น โตโยต้าผลิตรถยนต์นั่งวันหนึ่งแค่ 40 คัน แต่บริษัท Ford วันละ 20,000 คันต่อวัน แต่สิ่งที่ Eiji ค้นพบก็คือว่า สิ่งที่เขาเห็นจากโรงงานรถยนต์ในสหรัฐฯไม่ได้อยู่นอกเหนือความสามารถของโตโยต้า
ในช่วงนี้ โตโยต้ามีคนนอกเข้ามาเป็นประธานบริษัท แต่คนที่มีอำนาจแท้จริงคือ Taiichi Ohno วิศวกรจักรกล ที่ได้ประสบการณ์ทำงานกับ Toyoda Spinning and Weaving เขาเป็นคนที่พัฒนาและนำความคิด Lean Production ของ Kiichiro ไปใช้ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ระบบการผลิตโตโยต้า” (Toyota Production System – TPS)
หนังสือ Dynasties บอกว่า ระบบ TPS คือ นวัตกรรมทางเทคนิคที่สำคัญที่สุด นับจากที่ Henry Ford ประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาระบบสายพานการผลิต TPS สามารถนำมาใช้กับทุกอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความซับซ้อน ไม่เพียงแต่การผลิตรถยนต์
หัวใจสำคัญของ TPS คือการผลิตที่ไม่ให้เกิดการสูญเปล่า ทั้งเวลาและพื้นที่ วัตถุส่งมอบเมื่อมีความต้องการ หรือ just-in-time ทำให้ลดการสูญเปล่า และหลีกลี่ยงการสะดุดของการหมุนเวียน แนวคิดนี้ไปขัดกับนิสัยเดิมของคนญี่ปุ่น ที่ชอบสะสม เพราะกลัวการขาดแคลน แต่ Ohno ได้แนวคิดมาจากการไปเห็นระบบซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ ที่วางสินค้าตามการคาดหมายการซื้อจากผู้ซื้อ ที่เปลี่ยนตามฤดูกาล โดยผู้ซื้อไม่ต้องซื้อสินค้ากักตุนไว้ เพราะร้านมีสินค้าตามที่ต้องการเสมอ
ในเวลาต่อมา โตโยต้าได้รับการช่วยเหลืออีกครั้งจากสงคราม แต่เป็น “สงครามเย็น” อเมริกาไม่ได้มีเจตนาโดยตรงที่จะช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่ชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในจีนเมื่อปี 1949 เปลี่ยนสภาพภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯหันมาดึงญี่ปุ่นให้เป็นพันธมิตรต่อต้านการแพร่ระบาดของคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ทำให้ตะวันตกเปิดตลาดเพื่อรองรับสินค้าญี่ปุ่น
ช่วงสงครามเย็นเป็นช่วงการเติบโตครั้งสำคัญของโตโยต้า ปี 1955-1961 การผลิตรถยนต์ยนต์ของโตโยต้าเพิ่ม 10 เท่า ปี 1955 รถยนต์ Crown ที่พัฒนาเองของโตโยต้า ออกสู่ตลาด ปี 1966 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อรถยนต์ Corolla ออกสู่ตลาดครั้งแรก กลายเป็นรถยนต์ขายดีนานกว่า 30 ปี ในที่สุดในปี 1967 Eiji Toyoda ก็ก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัท ปี 1972 โตโยต้าผลิตรถยนต์ 2 ล้านคัน ปี 1980 เพิ่มเป็น 3 ล้านคัน
Dynasties สรุปว่า เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จจากยอดการผลิตรถยนต์ของโตโยต้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่มีต่อคุณภาพของสินค้า และต่อการบริการลูกค้า โตโยต้ายังสะท้อนการยึดมั่นของญี่ปุ่น ที่มีต่อการดำเนินงานที่ไม่มีความผิดพลาด และการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในยุค disruption การแต่งตั้งคนที่ไม่อยู่ในตระกูลโตโยดะ นับว่ามีความหมายสำคัญต่อโตโยต้า ก่อนหน้านี้ เมื่อมีการตั้งคนในตระกูลนี้ขึ้นมารับผิดชอบ นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นคนหนึ่ง เคยบอกกับวารสาร Business Week ว่า “เป็นการฟื้นฟูเลือดสีน้ำเงินที่เข้มข้นที่สุด”
เอกสารประกอบ
Toyota taps Lexus chief as CEO, japantimes.co.jp,
Dynasties, David S. Landes, Viking, 2006.