ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > “ปลาณีต” แบรนด์ปลาทะเลไทยแปรรูป แก้ปัญหา“ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า” ต่อยอดสู่ “BCG Company”

“ปลาณีต” แบรนด์ปลาทะเลไทยแปรรูป แก้ปัญหา“ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า” ต่อยอดสู่ “BCG Company”

24 กุมภาพันธ์ 2023


นายสุเทพ ไชยธานี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด

“ปลาณีต” สินค้าปลาทะเลไทยแปรรูป เกิดจากความตั้งใจของ บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด เอสเอ็มอี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่แจ้งเกิดจากธุรกิจส่งออกเนื้อปลาทะเลสด ก่อนจะต่อยอดนำแนวทาง BCG Model มายกระดับเพิ่มมูลค่า ใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งต่อความสำเร็จเชิงธุรกิจ ควบคู่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างสุขแก่ชุมชนบ้านเกิด นำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ทว่า เส้นทางธุรกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จำเป็นต้องปรับตัวและไม่หยุดพัฒนา โดยมี SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทยช่วยเหลือ พาถึงแหล่งทุนเสริมสภาพคล่องในวิกฤติภัยธรรมชาติ และโรคระบาดที่ผ่านมา พร้อมสนับสนุนต่อเนื่อง ให้เดินหน้าด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมส่งออกเนื้อปลาทะเลสด รู้ตลาด และอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบปลาทะเลสด โดยเฉพาะอ่าวไทย “สุเทพ ไชยธานี” ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ สร้างธุรกิจตัวเอง เปิด บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด เมื่อปี 2545 ทำธุรกิจรับซื้อปลาทะเลสด เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาข้างเหลือง ปลาทราย ฯลฯ จากเรือประมงชาวบ้าน นำมาตัดแต่ง เพื่อส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ภายใต้การผลิตมาตรฐานระดับสากล เช่น GMP HACCP และ Halal เป็นต้น

แม้จะมีประสบการณ์ในวงการยาวนานจากการทำงานประจำ แต่เมื่อมาลงมือลุยธุรกิจของตัวเอง สุเทพ ยอมรับว่า ทั้งหนักและเหนื่อย มีอุปสรรคท้าทายมากมาย จากช่วงระยะแรก ธุรกิจแจ้งเกิดและเติบโต ด้วยข้อได้เปรียบ อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ แต่นานวันไป ข้อได้เปรียบดังกล่าว ค่อยๆ ลดลง เพราะนับวันปริมาณปลาในท้องทะเลไทยจะลดจำนวนลง จากผลกระทบโลกรวน ประกอบกับเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักในการแล่เนื้อปลา ทำให้นับวันกำไรในการดำเนินธุรกิจจะลดลงเรื่อย ๆ

“จากปัญหาที่เราเจอ ทำให้ผมมองถึงแนวทางต้องหันกลับมาใช้ทรัพยากรเท่าเดิม ทั้งปริมาณปลา และพนักงาน แต่ให้ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ผ่านมา เราซื้อเนื้อปลามา 100 กิโลกรัม ขายเป็นเนื้อปลามูลค่าสูงได้แค่ 40% ส่วนที่เหลืออีก 60% เช่น หัว หาง และก้าง ขายเป็นอาหารสัตว์ได้แค่กิโลกรัมละ 5 บาท ต้องเปลี่ยนมาเป็น ซื้อปลามา 100 กิโลกรัม ต้องขายมูลค่าสูงได้ทั้ง 100 กิโลกรัม” สุเทพ ระบุ

แนวคิดดังกล่าว เป็นจุดเปลี่ยนพลิกโฉมธุรกิจของ บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สอดคล้องกับแนวทาง BCG Model โดยเฉพาะตัว “C” (Circular Economy) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

  • “ปลาณีต” แบรนด์อาหารทะเลแปรรูป กะเทาะเปลือกตัวเองเพาะแก่นความยั่งยืน แก้ “ทรัพยากรส่วนเกิน”
  • สุเทพ ขยายความการเพิ่มมูลค่าปลาทะเลไทยให้ฟังว่า บริษัทฯ พัฒนาแปรรูปเนื้อปลาสดเป็นอาหารทานเล่นจากทะเลแท้ ๆ และอาหารทะเลแช่แข็งพร้อมทาน พร้อมกับสร้างแบรนด์ “ปลาณีต” (PlaNeat) สื่อความหมายถึงความเอาใจใส่ที่จะนำคุณประโยชน์จากทะเลมาให้สัมผัสความอร่อย

    พร้อมร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เติมเต็มความรู้ ในการนำทรัพยากรส่วนเหลือจากกระบวนการผลิต มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตั้งแต่ “อะมิโนปลาทะเล” ที่อุดมไปด้วยสารเคมี 17 ชนิด สำหรับใช้ปลูกพืช ผัก และผลไม้ รวมถึง พัฒนาเป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง และเร็วๆ นี้ กำลังเปิดช้อป ขายอาหารสำเร็จรูป และของฝากมุ่งกลุ่มนักท่องเที่ยว เป็นการเปิดตลาดใหม่เน้นภายในประเทศ ควบคู่กับส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งเป็นตลาดหลักเดิม

    อีกอุปสรรคที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ คือ วิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการผลิตลดลงกว่า 30% ฉุดให้ธุรกิจประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ต้องการหาเงินทุนมาหมุนเวียนจุนเจือประคองธุรกิจ และรักษาการจ้าง ทว่า ในเวลานั้น ธนาคารพาณิชย์ต่างปฏิเสธ เพราะกังวลความเสี่ยง มีเพียงสถาบันการเงินของรัฐ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ที่เชื่อมั่นในศักยภาพ ยื่นมือมาช่วยเติมทุนเสริมสภาพคล่อง ควบคู่กับส่งเสริมด้านการพัฒนา มีส่วนสำคัญให้ธุรกิจก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ขณะนี้ บริษัทฯ พร้อมจะกลับมาเดินหน้ายกระดับตามโมเดลธุรกิจใหม่ที่วางแผนไว้เต็มกำลัง

    “ผมเป็นลูกค้าของ SME D Bank ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งตอนนั้น หาดใหญ่เกิดปัญหาน้ำท่วม ทาง SME D Bank ก็มีโครงการช่วยเหลือ มอบสินเชื่อให้ 1 ล้านบาท แม้จำนวนเงินจะไม่มาก แต่ช่วยให้เราต่อลมหายใจได้ และเมื่อเรามาเจอวิกฤติโควิดอีก สินเชื่อภาครัฐของ SME D Bank ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญให้เราดำเนินธุรกิจต่อไปได้” สุเทพ ระบุ

    ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี เซาท์เทอร์น ซีฟูด ได้ส่งมอบคุณค่าสู่ชุมชน และสังคม ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ให้พนักงานกว่า 300 ชีวิต ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงงานคนไทย 100% และกว่า 90% เป็นคนในพื้นที่ รวมถึง จัดสวัสดิการและกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น ไม่มีการทำงานกะดึก เพราะต้องการให้พนักงานได้ใกล้ชิดกับครอบครัว จัดสรรวันหยุดให้สอดคล้องกับหลักศาสนา ส่งเสริมนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสมการผลิตอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่โรงงานผลิตได้มาตรฐาน รับผิดชอบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Industry)

    สำหรับ ก้าวเดินต่อไปของบริษัทฯ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน สุเทพ บอกว่า เป้าหมายจะเปลี่ยนจากขาย “วัตถุดิบ” เนื้อปลาทะเลสดมาเป็นขาย “สินค้า” ที่ใช้ทรัพยากรเท่าเดิมมาเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้“ปลาณีตโมเดล” ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ 1.อาหารทะเลแช่แข็งสดใหม่ 2.อาหารทะเลแปรรูปสำหรับคน 3.อะมิโนปลาทะเล 4.อาหารทะเลแปรรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง และ 5.เปิดศูนย์การเรียนรู้ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

    เพราะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นบ้านเกิด การเติบโตและยืนอยู่ของบริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด ความสำเร็จจึงไม่ใช่เพียงเชิงธุรกิจเท่านั้น หากคือ การได้มีส่วนช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์ พร้อมสร้างความสุขเติมรอยยิ้มยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนบ้านเกิด เพื่อจะเดินเคียงคู่กันไปสู่ความยั่งยืน

    ซีรี่ย์ BCG in Action สนับสนุนโดย