ภายใต้สโลแกน “Seriously Good” ของแบรนด์อาหารทะแลแปรรูปอย่าง “ปลาณีต” (PlaNeat) สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ ที่บ่งบอกถึงความละเมียดละไมในการผลิตอาหารทะเลแปรรูปทุกขั้นตอน
เบื้องหลังของปลาณีตคือวิธีคิดแบบ “ความยั่งยืน” (sustainability) ใช้ทรัพยากรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และพยายามแก้ปัญหา “waste” ส่วนเกินจากกระบวนการผลิต นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
นอกจากนั้นยังสามารถแก้ปัญหา “แรงงานในอุตสาหกรรมประมง” เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มักประสบปัญหาการบริหารแรงงานข้ามชาติ
นายสุเทพ ไชยธานี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด หรือ Southern Seafood Products (SSP) ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ “ปลาณีต” เล่าจุดเริ่มต้นของแนวคิดธุรกิจว่า หลังจากทำงานโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงลาออกมาสร้างกิจการของตนเอง แม้จะมีเงินทุนน้อย แต่มีต้นทุนความรู้ด้านการผลิตและฐานลูกค้าเดิม ทำให้ธุรกิจในช่วงเริ่มต้นค่อยๆ เดินมาได้
แต่ปัญหาที่ตามมาคือ “องค์ความรู้ไม่เพียงพอ” เมื่อต้องสวมหมวกนักบริหารที่ต้องมองภาพกว้างมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากกว่าที่คิด
“เราเป็นแค่ผู้จัดการ แต่ไม่เคยบริหารกิจการ พอเป็นผู้ประกอบการเองมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีหนี้มีสินจนไปไม่รอด จุดที่แย่ที่สุดสำหรับผมคือประมาณปี 2550 มีหนี้กว่า 20 ล้าน แต่ลูกค้าโรงงานเขายังเห็นใจ บอกคุณสู้ต่อเถอะ ผมบอกผมไม่ไหวแล้ว เขาก็บอกว่าคุณก็เหมือนนักมวย ถึงอยู่บนเวทีจะโดนชกโดนน็อก แต่คุณไม่มีสิทธิเดินลงจากเวที กรรมการที่อยู่ข้างเวทีเขาจะบอกคุณเองว่าจะแพ้หรือชนะ เราเป็นนักมวยเราต้องทำหน้าที่ต่อ”
นายสุเทพกลับมาลุกขึ้นสู้อีกครั้ง แต่ระหว่างทางก็เจอโจทย์ใหม่เรื่อยๆ
“เราเจอ red ocean (การทำตลาดแบบเน้นราคาเป็นหลัก) เริ่มแข่งขันกับตลาดไม่ได้ เพราะเอาสินค้าเดิมไปแข่งแบบเดิม แถมอุตสาหกรรมประมงเลิกกิจการเยอะมาก หลายคนเริ่มเจอปัญหา ต้นน้ำคือวัตถุดิบเริ่มไม่มี ต้นทุนการผลิตเริ่มสูงกว่าราคาตลาด กลางน้ำคือคนเริ่มปิดกิจการ สินค้าของเรามันเป็นแค่สินค้าแปรรูป ประเทศไหนก็ผลิตได้แค่คุณมีวัตถุดิบ และมีต้นทุนแรงงานที่ถูก เราเลยคิดหาช่องทางตลาดใหม่ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจาก nodody ต้องเป็น somebody เราต้องสร้างการรับรู้ว่าเราคือใคร เลยสร้างแบรนด์ปลาณีตขึ้นมาในปี 2558”
ขณะเดียวกัน ระหว่างทางก็ใช้วิธีคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” มาจับกับธุรกิจทำให้ทิศทางการดำเนินงานเริ่มดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ค่อยๆ เบาลง โดยนายสุเทพมองว่าเขาไม่ได้นิยามว่าเป็นเพียงความยั่งยืนเท่านั้น แต่เขาหมายถึงศาสตร์พระราชาที่พาตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้
“ในอุตสาหกรรมประมง มันมี waste เกิดขึ้นมหาศาล นี่แค่ผมโรงงานเล็กๆ แล้วถ้าโรงงานใหญ่ๆ จะขนาดไหน”
ปัญหาปลาข้างเหลือง มูลค่าที่ตกสำรวจ
โรงงานประมงขนาดกลาง-ใหญ่จะรับซื้อปลาจากชาวประมง แต่สิ่งที่ได้จะไม่ใช่แค่ปลาที่โรงงานต้องการทั้งหมด เพราะมีทั้งทรัพยากรในท้องทะเลที่ติดพ่วงตามมาด้วย
ตัวอย่างคือ “ปลาข้างเหลือง” ซึ่งมักจะติดมาพร้อมกับปลาท้องถิ่นอย่างปลาหลังเขียว แต่การจะเลือกซื้อเฉพาะปลาที่ต้องการก็ไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันปลาข้างเหลืองที่ติดมาก็แทบไม่ได้บริโภค รวมถึงไม่ได้ใช้ทำอย่างอื่นในอุตสาหกรรมไทย เพราะคนไทยไม่นิยม
โจทย์ของปลาณีตคือทำอย่างไรให้ปลาข้างเหลืองได้ถูกใช้ประโยชน์ ไม่อย่างนั้นปลาข้างเหลืองจะกลายเป็น waste ในกระบวนการผลิต
จนกระทั่งนายสุเทพไปเจอตลาดใหม่ คือ ตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง จีน ซึ่งมีผู้บริโภคกินปลาข้างเหลืองแบบปลาย่าง ทำให้เห็นช่องทางตลาดใหม่ แต่การบุกตลาดใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งเรื่องทุน การทำความเข้าใจตลาด รวมถึงการสร้างแบรนด์
“ปี 2558 ผมไปของบสนับสนุนสร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะก่อนทำปลาย่างต้องเอาปลาสดมาทำให้มันแห้ง จากโรงงานย่างก็ส่งไปบรรจุในประเทศญี่ปุ่น และในขั้นตอนการทำไม่สามารถตากแดดแบบชาวบ้านได้ มันไม่ถูกสุขลักษณะ ฝุ่นละออง นกบินผ่าน ความสะอาดไม่ได้ ของเราเลยอบแห้งโดยไม่ต้องใช้แก๊ส และใช้พลังงานในการทำให้มันแห้ง ต้นทุนพลังงานคือเอาแก๊สมาเผาให้เป็นความร้อน”
ปริมาณปลาข้างเหลืองที่ต้องการใช้ประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อวัน ปลาณีตจึงแก้ปัญหาทรัพยากรเหลือทิ้งจากปลาติดแหติดอวนได้สำเร็จ
แต่ตลาดส่งออกของธุรกิจปลาข้างเหลืองย่างก็เป็นเพียงรับจ้างผลิต (OEM) ให้โรงงานในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการเข้าไปชิงตลาดใหม่ก็ไม่ใช่เรื่อยง่าย ทำให้นายสุเทพต้องปั้นแบรนด์ “ปลาณีต” เพื่อเล่าเรื่องราวผ่านช่องทางของตัวเอง
สร้างมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่นจาก “หัวปลา ก้างปลา”
โรงงานนี้ใช้ปลาท้องถิ่น เช่น ปลาหลังเขียว ปลาทราย ปลาตาโต ปลาข้างเหลือง ด้วยวัฏจักรของโรงงานคือ รับซื้อปลา เข้าสู่ขั้นตอนการผลิต แล้วขายสู่ตลาด ทำให้นายสุเทพบอกว่า “รู้สึกเหนื่อยและกดดัน” เนื่องจากเห็นว่ามีของเหลือใช้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แม้ว่าจะแก้ปัญหาปลาติดแหมาได้ แต่ก็มีทรัพยากรอื่นๆ ที่ต้องทิ้งไปในทุกวัน
“ท่ามกลางทรัพยากรที่มีจำกัด จะสู้อย่างไรดี มีการนั่งระดมสมองกันเยอะมาก ผมวิ่งหานักวิชาการหลายแห่ง ถ้าเราใช้วัตถุดิบเท่าที่มันมีอยู่ได้ไหม แต่สร้างมูลค่าให้มากขึ้น ปลา 100 กก.เอาเนื้อปลาเอาไปแปรรูปแค่ 40 กก. อีก 60 กก.ไปเป็นอาหารสัตว์ เป็นปลาป่น ก็กลับมาดูว่า 60% มันมากอยู่ อย่างโรงงานนี้กำลังการผลิตแปรรูปไม่เยอะ แต่เดือนหนึ่งจะมีหัวปลา ก้างปลาอยู่ที่ 60-70 ตัน ก็มองว่า 60-70 ตันจะเอามาทำอะไรดี”
“ผมหยิบหัวปลาก้างปลามาดู ผมก็คิดได้ว่ามันเอามาเป็นสินค้า แต่ถ้าทำมันก็พื้นฐานไปหน่อย ผมเลยคิดนอกกรอบไปเลย”
นายสุเทพเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้มีช่องทางติดต่อกลุ่มนักวิชาการ-อาจารย์ และได้มาศึกษาเรื่องปุ๋ย
นายสุเทพกล่าวว่า “ใน 60% มันมีคุณค่าอยู่ หนึ่งมีสารอาหารบางตัว ซึ่งเราสามารถไปดึงมันออกมาได้ แต่ต้องใช้เทคโนโลยี อย่างที่สอง ถ้าขายหัวปลาก้างปลาได้กก.ละ 5 บาท แต่ถ้าทำออกมาในผลิตภัณฑ์อย่างอื่น จะทำอะไรบ้าง”
หากนำหัวปลาก้างปลาไปแปรรูปเป็นสินค้าทั่วไปจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทั่วไปในตลาดที่ยังหาจุดเด่นไม่ได้ นายสุเทพจึงมองหาไอเดียในการแปรรูปหัวปลาก้างปลาและพบว่ามันสามารถแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพโดยมีขั้นตอนคือใส่จุลีนทรีย์ให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยชั้นดี
“เราต้องหาวัตถุดิบทุกวัน วันละ 3,000-4,000 กก.ป้อนเข้าโรงงาน การเปลี่ยนของที่เหลือใช้ให้เป็น Circular Economy คือเปลี่ยนจากหัวปลา ก้างปลา ซึ่งเป็น waste จากกก.ละ 5 บาท ขายได้เดือนละ 3.5 แสนบาท ให้เป็นปุ๋ยมีมูลค่าสูงขึ้น”
นายสุเทพเล่าต่อว่า “พอทำปุ๋ยก็มีอาจารย์หลายๆท่านมาทักว่าทำปุ๋ยมันไม่เท่หรอก ทำไมไม่ทำขึ้นมาเป็น Amino acid ทำให้เป็นฮอร์โมน ทำให้มันมีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อเอาไปปลูกพืชต่อ ตอนนี้กำลังขึ้นแปลงสาธิตข้างๆโรงงาน”
นายสุเทพเล่าในเชิงเทคนิคว่า “ในหัวปลา ก้างปลา มีกรดอะมิโน แล้วยังมีฮอร์โมน IAA ซึ่งเป็นอาหารเสริมชั้นดีให้กับพืช ตอนนี้มีสองสูตร เหมาะสำหรับพืชยืนต้น เช่น มะพร้าว ส้มโอ สูตรที่สองคือพืชใบ พืชผัก แต่ตอนนี้ผมยังต้องลดความเค็มในหัวปลาก้างปลา”
ปริมาณวัตถุดิบหัวปลาก้างปลาที่ใช้ในการทำปุ๋ยอยู่ที่ 70 ตันต่อเดือน ในแต่ละเดือนจะได้ปุ๋ยมากกว่า 200 ตัน (น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากการใส่กากน้ำตาลและน้ำ) ดังนั้นธุรกิจปุ๋ยจึงเป็นเหมือนที่แหล่งธุรกิจหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้ง
“แค่ต้นทุนของผมเป็นศูนย์อยู่แล้ว ผมไม่จำเป็นต้องขายในราคาที่ได้กำไร ผมไม่ได้แสวงหากำไรจากปุ๋ย แต่ผมอยากหาความยั่งยืน ถ้าปุ๋ยเป็นตัววัตถุดิบที่เวียนกลับมา แล้วผมค่อยเอากำไรในตัวปลาณีตซีฟู้ด หรือไปเอากำไรส่วนเพิ่มในธุรกิจอื่นๆ”
ในด้านรายได้ หัวปลาก้างปลาที่แปรรูปเป็นปุ๋ย-น้ำหมักสามารถสร้างมูลค่าได้ 2 ล้านบาทต่อ 100 ลิตร ขณะที่การขายหัวปลา ก้างปลา อย่างเดียวจะได้เพียง 350,000 บาท
นอกจากนี้ นายสุเทพยังได้สกัดสารอาหารที่เรียกว่าไบโอแคลเซียม ซึ่งอยู่ในหัวปลาก้างปลา แล้วนำสารสกัดที่ได้ไปใส่ในเนื้อปลาย่าง และชูจุดเด่นว่ากินปลาย่าง ‘หนึ่งชิ้น’ เท่ากับกินปลาย่าง ‘หนึ่งตัว’
น้ำเย็นติดแอร์ให้ดิน
หนึ่งในทรัพยากรเหลือทิ้งในโรงงานอุตสาหกรรมคือ “น้ำ” เพราะแทบทุกกระบวนการผลิตจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบ เช่นเดียวกับปลาณีตที่มีเครื่องผลิตน้ำแข็งเพื่อเอาไปใช้ในการแปรรูป และในขั้นตอนการผลิตทำให้เกิด “น้ำเย็น” ส่วนเกิน
“ผมเอาน้ำเย็นไปฝังใต้ดิน มันเป็นธนาคารน้ำใต้ดิน เหมือนเอาน้ำเย็นมาติดแอร์ให้ดิน”
นายสุเทพนิยามว่าเป็น green economy ตามทฤษฎีเศรษฐกิจสีเขียว หรือถ้าเป็นภาษาไทยก็เรียกว่า “ศาสตร์พระราชา” เพราะการนำน้ำไปใช้ประโยชน์อาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความยากคือเอาน้ำไปใช้ประโยชน์อย่างไรให้เกิดความยั่งยืน
“ลองนึกถึงภาคเหนือ เวลาฤดูหนาวถ้าดินเย็นต้นไม้จะให้ผลผลิตที่ดี งั้นเราเอาน้ำเย็นไปติดแอร์ให้ดินดีกว่า ตอนนี้ผมเลยเดินสายท่อเก็บน้ำเย็นเอาไว้ใต้ดิน แล้วเปิดน้ำเย็นให้ไหลไประบายความเย็นที่ดิน เหมือนดินติดแอร์ เราจะพิสูจน์ว่ามันให้ผลผลิตได้ดีไหม”
แรงงาน 100% จากชุมชน
อีกหนึ่งปัจจัยที่อุตสาหกรรมประมงต้องรับมือคือ “แรงงาน” เนื่องจากในโรงงานขนาดใหญ่มักจะใช้แรงงานข้ามชาติด้วยต้นทุนที่ถูก แต่แรงงานข้ามชาติก็มีปัญหาเรื่องความไม่ต่อเนื่องในการทำงาน รวมถึงข้อกฎหมายที่ทำให้โรงงานต้องลักลอบใช้งานแรงงานข้ามชาติบางประเภท
ส่วนปลาณีตเคยใช้แรงงานชาวพม่า และพบว่าแม้จะมีข้อดีเรื่องทักษะ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วกลับมี ‘ต้นทุน’ ที่สูงกว่าแรงงานจากชุมชนรอบโรงงาน
ปัญหาที่นายสุเทพต้องพบคือชาวบ้านในชุมชนรู้สึกว่าแรงงานที่อื่นกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในชุมชน เพราะต้องมาเช่าบ้านอยู่ ต่อมากลายเป็นปัญหาสังคมที่สูงขึ้น จากเสียงสะท้อนที่ชาวบ้านว่าแรงงานพม่าส่งเสียงดัง เอะอะโวยวาย สกปรก ทำให้ชาวบ้านไม่มีความสุข
จนถึงจุดที่นายสุเทพตัดสินใจว่าจะใช้แรงงานในชุมชนโดยอาศัยการบริหารแบบครอบครัว
“เรามีจุดแข็งว่าโรงงานเราไม่ใช้แรงงานต่างด้าวเลย พนักงานต้องอยู่รอบชุมชน เหตุผลที่ทำอย่างนั้นเพราะเรากำลังหาวิธีว่าทำอย่างไรให้พนักงานอยู่กับเรานานๆ ก็ควรจะอยู่แบบครอบครัว เวลาทำงานต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต เราก็ทำงานแค่ 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ทุกคนเลิกงานกลับไปอยู่กับครอบครัว ตื่นเช้าขึ้นมานำอาหารมากินที่โรงงาน ทุกคนหิ้วปิ่นโตมากิน เพราะที่โรงงานไม่มีร้านอาหาร”
การสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี
นายสุเทพเล่าอีกว่า โรงงานมีแนวคิดให้พนักงานเกษียณตอนอายุ 55 ปี และในทุกปีจะมีพนักงานเกษียณจำนวน 5-10 คน คิดเป็น 3-5% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดกว่าสองร้อยคน
นายสุเทพกล่าวอีกว่า พนักงานที่เกษียณแล้ว แต่ยังมีภาระ ลูกยังเรียนไม่จบ ทำให้หลายคนยังกลับเข้ามาทำงานต่อ และด้วยองค์ความรู้ด้านการเกษตรประกอบกับความอยากทำงาน ทำให้ตนสร้างอาชีพให้คนที่เกษียณแล้วไปฝึกทำแปลงเกษตรสาธิต โดยมีตลาดรองรับ
“พนักงานอยู่กันมา 17-18 ปี นี่คือครอบครัว ผมเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องพาครอบครัวให้รอด ผมไม่ได้มองคนที่ทำงานด้วยกันว่าเป็นลูกจ้าง เราเหมือนอยู่บ้านเดียวกัน”
ก้าวต่อไปของปลาณีต
บริษัท Southern Seafood Products มีผลิตภัณฑ์ในส่วนของ “ปลาณีตซีฟู้ด” (PlaNeat Seafood) ดำเนินธุรกิจขายอาหารทะเลแปรรูป และปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ “ปลาณีตฟาร์ม” (PlaNeat Farm)
ในอนาคต นายสุเทพมีแผนจะสร้าง “ปลาณีตคิตเชน” (PlaNeat Kitchen) โดยอาศัยพนักงานที่เกษียณไปแล้วแต่มีใจอยากทำงาน
แนวคิดของปลาณีตคิตเชนคือแปลงผักของพนักงานภายใต้การดูแลของบริษัท และมีบริษัทเป็นผู้จัดหาตลาดให้ แต่บริษัทก็ไม่ได้ผูกขาดความเป็นพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรสามารถหาตลาดเองได้ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งบริษัท
ส่วนพนักงานที่ไม่ชอบการเกษตรก็ยังสามารถร่วมงานกับปลาณีตคิตเชนได้ โดยนายสุเทพยกตัวอย่างว่าบางคนมีทักษะทำอาหาร ก็ให้ไปทำอาหาร หรือบางคนชอบขายของก็ให้ไปขายของ
ปลาณีตคิตเชนเป็นเหมือนธุรกิจครัวกลาง โดยไม่ต้องมีหน้าร้าน แต่มีวัตถุดิบในการปรุงอาหาร โดยเปิดรับออเดอร์จากภายนอกแล้วทำส่ง
ภายในปลาณีตคิตเชนยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้ โดยแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ ส่วนของการนำปลาณีตซีฟู้ดและปลาณีตฟาร์มมาเป็นสินค้าและบริการอยู่ในโมเดล “ปลาณีตคาเฟ่”
“ถ้าทุกปีพนักงานเกษียณ 10 คน ผ่านไป 3 ปีผมจะมี 30 คน เป็นเครือข่ายต่างๆ ไปอยู่หน่วยแปรรูปเบื้องต้น แปลงเกษตร ไปอยู่ช่องทางการขาย ศูนย์การเรียนรู้ มันก็ตอบสนองว่าในอนาคตเราจะหาพนักงานใหม่จากไหน”
“นี่สิ่งที่ผมจะทำได้คือการต่อสู้ว่าเราจะพาพนักงานเกือบสามร้อยคนรอดไปได้อย่างไร แต่พนักงานสามร้อยคนยังต้องคูณสามเข้าไปด้วย เพราะหมายถึงคนในครอบครัวเขา เท่ากับว่ามี 1,000 คนอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของเรา”
พร้อมเล่าต่อว่า “ตอนนี้มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไปช่วยดูให้อยู่ว่า ถ้าเราสามารถนำพนักงานที่เกษียณกลับไปฝึกแปลงเกษตรและกลับไปอยู่บ้านตัวเองใกล้ๆ โรงงาน ได้ผลผลิตจากแปลงเกษตร วัตถุดิบที่ออกมา เรากำลังจะเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบใช้ในการแปรรูปอาหารต่อ ไม่ต้องพึ่งพาอาหารทะเล ตัวนี้พยายามต่อสู้อยู่ ว่าความคิดที่พยายามทำมาปีกว่ามันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และมันเป็นการคิดใหม่ ทำใหม่ และเราจะก้าวต่อ เอาตัวรอดได้ไหม เอสเอ็มอีขนาดผมในจังหวัดสงขลาตอนนี้เหลือผมคนเดียว ผมจะเป็นlast survivor อยู่ แล้วผมจะอยู่อย่างไร”
นี่เป็นตัวอย่างการต่อสู้ของธุรกิจภายใต้ข้อจำกัดรอบด้าน ที่พยายามกะเทาะเปลือกตัวเอง เพื่อสร้างพลังการขับเคลื่อนภายใต้กรอบความยั่งยืน