ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > ตามรอยเส้นทาง ESG : “บี.กริม เพาเวอร์-GPSC” สร้างความยั่งยืนด้วย “นวัตกรรม”

ตามรอยเส้นทาง ESG : “บี.กริม เพาเวอร์-GPSC” สร้างความยั่งยืนด้วย “นวัตกรรม”

6 มกราคม 2023


เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ THSI ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการในกรอบความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (good government) หรือ ESG ตามเกณฑ์มาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยโครงการนี้ได้จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 และในครั้งนี้มีบริษัทผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 170 บริษัท

การประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด อาจจะมีคำถามว่าเป็นแค่การ ‘ติ๊กถูก’ หรือเช็กลิสต์ ว่าได้ทำ/ไม่ได้ทำอะไร ตามรายการที่กำหนดหรือไม่ แต่เรื่องนี้หากไปถามผู้ที่ลงมือปฏิบัติจนได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในหุ้นยั่งยืน ได้คำตอบว่า การเช็กลิสต์ตามรายการของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นเกณฑ์การประเมินว่าบริษัทได้ทำ ไม่ได้ทำอะไร และอยู่ในระดับไหนในเรื่อง ESG ทำให้บริษัทมีข้อมูลในการนำมาปรับปรุงพัฒนา ยิ่งสอบตกข้อไหน ยิ่งต้องทบทวนมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับรางวัลที่ได้ เป็นแค่จุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่มีวันสิ้นสุด

จากการได้พุดคุยกับ B.Grimm Power และ GPSC ซึ่งอยู่ในกลุ่มทรัพยากรหรือ กลุ่ม resource หุ้นในกลุ่มนี้ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในหุ้นยั่งยืนถึง 28% เป็นอันดับสองเมื่อเทียบจากกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ได้มาบอกเล่าถึงเส้นทาง ESG ท่ามกลางแรงกดดันต่อเรื่องภาวะโลกร้อน เนื่องจากอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดภาวะโลกรวน จำเป็นต้องเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นๆ ทำอย่างไรที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการซัพพลายพลังงานสีเขียวให้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ net zero carbon ตามเป้าหมายโลกและประเทศไทยที่ตั้งไว้ โดยมองตรงกันว่าการจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ‘นวัตกรรม’ คือหัวใจสำคัญที่สุด

ที่มาภาพ : https://www.gpscgroup.com/storage/download/sd-report/gpsc-sd2021-th.pdf

สำหรับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices – DJSI) ในกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (emerging markets index) ประเภทอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคไฟฟ้า (electric utilities) ประจำปี 2565 เป็นปีแรก รวมทั้งได้รับรางวัล Sustainability Excellence ประเภท Rising Star Sustainability Awards จากเวที SET Awards 2021 จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2564 ถือเป็นดาวเด่นในวงการอุตสาหกรรมพลังงานที่กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่ก้าวไปพร้อมๆ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกด้าน

จารุวัฒน์ สิงห์สมดี ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสบริหารการเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนองค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า การนำเกณฑ์ความยั่งยืนระดับสากลมาใช้ (DJSI) เพื่อหวังว่ายกระดับเรื่องต่างๆ หากทำได้ดี ก็ทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ดี เติบโตได้อย่างยั่งยืนจริงๆ

“การทำ ESG เป็น lisense to operate ไม่ใช่แค่การได้ใบอนุญาตให้มีการผลิตไฟฟ้า ต้องทำทั้ง 3 ขา คือ E, S, G ต้องไปพร้อมๆ กัน ถ้าทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดี ไม่มีผลกระทบต่อสังคม เช่น ไม่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เขาแย่ลง และได้เรื่องการเติบโตด้วย จึงต้องไปด้วยกันอย่างมีสมดุล ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง เรื่อง ESG จึงเป็นคำถามจากนักลงทุนเข้ามาตลอดว่า ให้ความสำคัญ ESG ระดับไหน ดำเนินการอะไรบ้าง ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลงทุน แม้กระทั่งการออกหุ้นกู้ green bond ที่ผ่านมาก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการทำเรื่อง ESG จริง สามารถวัดผลได้ ดังนั้นเรื่อง ESG จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

พร้อมกล่าวเสริมว่า ถ้าเอามิติมาตรฐานโลกอย่าง DJSI มาดูช่องว่างที่เกิดขึ้น แล้วทำตาม จะพบว่า ESG สามารถยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้จริง รวมทั้งทำให้เกิดการยอมรับทั้งจากนักลงทุนและสังคม โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาลที่ทำให้บริษัทต้องเหลียวหลังกลับมามองเรื่องการดำเนินธุรกิจที่มีเป้าหมายชัดเจนในการเติบโต เพราะถ้าไม่เติบโต ก็ไม่มีเงินมาทำเรื่องความยั่งยืน รวมทั้ง governance ยังหมายถึงการเติบโตที่ต้องมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท

“ดังนั้น รางวัลเป็นเพียงผลพลอยได้ แต่การได้รางวัลก็ดี เพราะหลังจากได้ DJSI ก็ทำให้รู้ว่า GPSC อยู่ในระดับไหน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันในประเทศและในโลก ขณะเดียวกัน การทำตามเกณฑ์ที่เข้มข้นในระดับสากล ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ถึงเป้าหมายได้ดีขึ้น”

จารุวัฒน์กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าที่เผชิญกับแรงกดดันการทำธุรกิจจากกระแสโลกร้อน ทำให้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความสำคัญ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย nert zero carbon ขององค์กรให้ได้ตามแผน ขณะเดียวกัน ก็ต้องปรึกษา พูดคุยกับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าภาคอุตสาหกรรมที่เผชิญแรงกดดันจากตลาดของเขาเหมือนกัน เช่น ลูกค้าที่ส่งสินค้าไปยุโรป ที่ปี 2566 ต้องเจอกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโป หรือ CBAM ถ้าใช้พลังงานที่ไม่กรีน ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเขาต้องเสียภาษีเพิ่ม ก็มีการคุยกันว่าจะทำอย่างไร GPSC ก็ต้องการป้อนพลังงานสีเขียวให้

“แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ตอบโจทย์การส่งพลังงานสีเขียวอย่างมีเสถียรภาพให้อุตสาหกรรม แค่ด้านปริมาณไฟฟ้าก็ไม่ตอบโจทย์แล้ว การทำพลังงานโซลาร์ที่ป้อนไฟ 30-50 MW ต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่ และสามารถผลิตไฟได้เฉพาะช่วงกลางวัน เพียง 4-5 ชั่วโมง แต่โรงงานต้องดำเนินการผลิต 24 ชั่วโมง พลังงานแดดไม่ตอบโจทย์ จะทำอย่างไรให้ผลิตไฟจ่ายให้ลูกค้าได้ 24 ชั่วโมง และมีความสม่ำเสมอ ฉะนั้น แม้จะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซ แต่ต้องมีการลงทุนการดักเก็บคาร์บอนไม่ให้ออกสู่บรรยากาศ หรือเปลี่ยนแนวไปใช้ไฮโดรเจนทดแทนก๊าซธรรมชาติ ทำให้การปล่อยคาร์บอนลดลง หรือในอนาคตอาจจะมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยที่มีแล้วในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เรื่องเหล่านี้จึงอยู่ระหว่างพูดคุยกันว่า จะช่วยกันอย่างไร จะนำเทคโนโลยีรูปแบบใดมาช่วยลูกค้าได้ในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ใช้เงินลงทุน เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

การให้บริการจัดการพลังานอัจฉริยะสู่โอกาสทางธุุรกิจ ที่มาภาพ : https://www.gpscgroup.com/storage/download/sd-report/gpsc-sd2021-th.pdf

จารุวัฒน์กล่าวว่า เป้าหมาย Net Zeroในปีพ.ศ. 2573 จึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่อย่างน้อยก็ช่วยทำให้ลูกค้าคลายความกังวลได้บ้างว่า โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงอยู่ ขณะเดียวกันมีการเติบโตของ renewable energy ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาช่วย ส่วนเรื่องปลูกป่าที่ช่วยชดเชยคาร์บอนได้บ้างในกรณีที่ใกล้จะถึงเป้าหมาย โดย GPSC พยายามคุยกับลูกค้าและสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ที่ยังต้องมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เพราะการเปลี่ยนไปเป็นพลังงานสะอาด จะใช้เงินลงทุนค่อนข้างเยอะ และใช้เวลาในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในไทย เพราะต้นทุนสูง ลูกค้าเข้าใจเรื่องการลงทุนเพิ่มด้านพลังงานสีเขียวว่ามีต้นทุน แต่ตามมาด้วยค่าไฟต้องเพิ่ม เขาจะแบกรับภาระค่าไฟที่เพิ่มได้แค่ไหน เมื่อคำนวณเทียบกับการเสียภาษีคาร์บอน เขาอาจจะต้องยอมเสียภาษีไปก่อน แต่ก็มีเป้าหมายที่จะช่วยกัน เรื่องเหล่านี้มีการเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปีแต่ละปีอยู่แล้ว และลูกค้าที่อ่านแล้วก็มาถามบริษัท หรือถามถึงแนวทางว่า บริษัทจะช่วยอะไรได้บ้าง ทำให้มีการพูดคุยกับลูกค้ามาโดยตลอด

‘บี.กริม เพาเวอร์’ สร้างความยั่งยืนด้วย ‘นวัตกรรม’

สำหรับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)หรือ B.GRIMM POWER ดำเนินธุรกิจมากว่า 140 ปี เส้นทางธุรกิจของ บี.กริม ที่ดำเนินมาได้อย่างยาวนาน ถือเป็นกรณีศึกษาอย่างดีสำหรับการดำเนินธุรกิจเพื่อให้มีความยั่งยืน และได้รับการพิสูจน์ด้วยการได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในปี 2564 และในปีเดียวกัน ยังได้รับอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A จาก MSCI ESG Rating ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก “FTSE4Good Index Series” เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG 100 จากสถาบันไทยพัฒน์ เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ล่าสุด บี.กริม ได้เตรียมความพร้อมด้าน Digital Transformation เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว รวมทั้งขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (net-zero carbon emissions) ในปี ค.ศ. 2050

นพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นรากฐานทางธุรกิจของ บี.กริม มาตลอด 144 ปี นโยบายด้านความยั่งยืนของ บี.กริม เริ่มต้นด้วยการตอบโจทย์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ด้วยหลักปรัชญาการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี หรือ (empowering the world compassionately) หรือ doing bussiness with compassion โดยดูแลสังคมและผู้มีส่วนได้เสียให้ดีขึ้นได้อย่างไร ด้วยการมองไปถึงการดำเนินธุรกิจในระยะยาว จะเป็นบริษัทท้องถิ่นในทุกที่ จะอยู่ร่วมกับสังคมในลักษณะมีส่วนร่วมให้ได้ในทุกที่ที่ บี.กริม เข้าไปลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นพเดชกล่าวว่า การเติบโตของ บี.กริม มีจุดแข็งที่มีการสนับสนุนมาตั้งแต่ 100 กว่าปีที่ผ่านมา คือการพัฒนาด้านสังคม ไม่ว่าไปที่ไหน ถือว่าเป็นหน้าที่ของเราในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม รวมทั้งแกนอื่นๆ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ โดยมีธรรมาภิบาลที่แข็งแรงเพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างผลประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดหมายเดิมที่มีมาแต่ต้น รวมทั้งต้องมีการสร้างความเข้าใจภายในองค์กรให้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้ เพื่อให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมได้หมด และที่สำคัญ คณะกรรมการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ทำให้การกำกับดูแลติดตามค่อนข้างแข็งแรง

โดยย้ำว่าการสร้างความยั่งยืนต้องมีการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับของคณะกรรมการ รวมถึงการกำหนดหน่วยงานที่ดูแลความยั่งยืนมาดูแลและรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการทำให้ผู้บริหารระดับสูงจนถึงระดับปฏิบัติงานต่างๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำให้เกิดความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริงๆ รวมถึงการวางรากฐานการทำงานให้เกิดขึ้นในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องนโยบาย การกำกับดูแล การวางกลยุทธ์ กระบวนการในการทำงานของแต่ละหน่วยงาน ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทั้งในองค์กร บี.กริม เองและพาร์ตเนอร์

“บอกได้ว่างานนี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องทำงานร่วมกัน บางเรื่องจึงใช้เวลายาวนานและเริ่มตั้งแต่พื้นฐานจนเกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน ผ่านวิถีชีวิต ผ่านกิจกรรมต่างๆ ผ่านการทำงาน การดำเนินธุรกิจของเราให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด คืออยู่ในกระบวนการทำงานทั้งหมดของการดำเนินธุรกิจของ บี.กริม และเป็นส่วนสำคัญที่จัดไว้ในลำดับแรกๆ ของการทำงาน ว่าทำอย่างไรที่ทำแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อสังคม ดูแลให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม แล้วค่อยคิดถึงรูปแบบการทำธุรกิจต่อไปว่าจะตอบโจทย์ได้อย่างไร”

นพเดชเล่าว่า การให้เรื่องความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงานได้ สิ่งสำคัญคือการวางแผนร่วมกันในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย บี.กริม มีแชมเปียนในแต่ละผู้บริหารระดับสูง มีผู้รับผิดชอบในแต่ละหน่วยงานในการร่วมกันกำหนด และมีการสร้างความมีส่วนร่วม (engage) สร้างพันธสัญญา (commitment) ให้เกิดขึ้นกับทีมงานและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจและความถนัดให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพทั้งในองค์กรและนอกองค์กร ในกิจกรรมต่างๆ ให้พนักงาน ให้คู่ค้า ลูกค้า และสังคมที่เราอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการร่วมกันทำในสิ่งที่เป็นธุรกิจของ บี.กริม เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการวางแผนทั้งในองค์กรและกับสังคมและชุมชน โดยกำหนดเป้าหมายและแผนในแต่ละช่วงเวลา

ที่มาภาพ : https://www.bgrimmpower.com/storage/content/ir/downloads/sustainability-reports/2021/20220325-bgrim-sd2021-th.pdf

สร้างความยั่งยืนด้วย Culture Innovation

นพเดชยังกล่าวว่า การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต้องอาศัยความยืดหยุ่น (resilience) ทำอย่างไรให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ มีการปรับตัวได้รวดเร็วตามบริบทของธุรกิจในแต่ละยุคแต่ละสมัย เหนือสิ่งอื่นใดคือวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้มีการสร้างความยืดหยุ่นผ่าน ‘นวัตกรรม’ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด และได้รับการพิสูจน์มาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม จนมาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ที่ถูกยึดทรัพย์ทั้งสองรอบ จนถึงวันนี้ได้ ล้วนเป็นผลจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ไม่เฉพาะในองค์กร แต่ให้กับประเทศ ให้กับสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้นวัตกรรม กลายเป็นหนึ่งในค่านิยมของ บี.กริม คือ pioneering spirit การกล้าคิดใหม่ทำใหม่ คิดอะไรที่แตกต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา

ดังนั้น หลายอย่างอาจจะต้องมีความพยายามที่จะทำให้ดีขึ้น เมื่อมี pain point ตรงที่ทำอย่างไรให้คนต้องใช้ความพยายามที่จะทำให้โลกดีขึ้น คำตอบคือ นวัตกรรม จึงมีการตั้งทีมศึกษาค้นคว้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยทีมนี้จะต้องไปพูดคุยกับทีมอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ทีมสิ่งแวดล้อม และให้ทีมนวัตกรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้แต่ละทีมมีเวทีในการนำเสนอะไรใหม่ๆ สร้างสิ่งใหม่ๆ ในองค์กร อาจจะไม่ใช่อะไรที่ก้าวหน้ามากมาย แต่ก็จะได้อย่างอื่นตามมา เช่น การพัฒนากระบวนการทำงานในองค์กรเพื่อปิดจุดอ่อนต่างๆ นี่คือการวางการทำงานของทีมนวัตกรรม เพื่อยกระดับเรื่องความยั่งยืนในทุกมิติ

“ล่าสุดคือยุคที่มีการพัฒนาพลังงานในรูปแบบต่างๆ พลังงานทดแทน พลังงานที่มีนวัตกรรมเข้ามาผสมผสาน เช่น การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในการลดการปล่อยคาร์บอนในโรงไฟฟ้า รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มีการว่าจ้างที่ปรึกษามาช่วยทำระบบและวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อช่วยฝ่ายบริหารและพนักงานสร้างระบบขึ้นในองค์กรรองรับการเติบโตในอนาคต ในรูปแบบ innovation studio concept เป็นหน่วยงานใหม่ที่มีความคล่องตัว มีการสร้างโครงการหรือธุรกิจใหม่ๆ ขึ้น ในการสร้างหรือใช้นวัตกรรมในการตอบโจทย์ธุรกิจ”
‘นวัตกรรมและเทคโนโลยี’ จึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ บี.กริม เพาเวอร์ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องพลังงาน และนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาด้านพลังงานทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เช่น ด้านอุปสงค์ คือการส่งเสริมให้มีการประหยัดพลังงานผ่านเทคโนโลยี ผ่านระบบต่างๆ เช่น การใช้ smart building หรือ smart factoring ผ่าน machine learning เพื่อทำการวิเคราะห์ ประเมินการใช้พลังงาน และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยลดการใช้พลังงาน มีต้นทุนที่แข่งขันได้ เกิดพลังงานที่มีความสะอาด โดยมีบริษัท บี.กริม อินดัสเตรียล โซลูชั่น ที่จะติดตั้งเรือนกระจกช่วยการลดพลังงาน หรือการใช้ซอฟท์แวร์ช่วยวิเคราะห์การใช้พลังงาน การใช้ไฟให้น้อยลงผ่านระบบอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ

“บี.กริม ไม่ได้มองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสนอให้ลูกค้า แต่มองว่าจะตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งหมดต้องมององค์รวมให้มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานสีเขียว จะเกิดการลดการใช้พลังงานอย่างไรให้น้อยที่สุด หรือใช้เท่าที่จำเป็นได้ ผ่านคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่ บี.กริม พัฒนาขึ้น และภายใต้ความร่วมมือภายใต้กลุ่มของ บี.กริม เอง ที่จะร่วมกันตอบโจทย์ในรูปแบบของโซลูชั่นให้กับลูกค้า มากกว่าจะมองด้านการผลิตไฟฟ้า หรือประหยัดพลังงานอย่างเดียว แต่ดูว่าลูกค้าต้องการอะไร มีเป้าหมายอะไร และจะทำอย่างไรที่จะให้ถึงเป้าหมายนั้นได้ ส่วนใหญ่จะเป็นด้าน demand side เป็นตัวขับเคลื่อน ควบคู่กับ supply side เช่นกัน”

นพเดชกล่าวอีกว่า “รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของตลาด เป้าหมายของลูกค้า เช่น เป้าหมาย net zero ของ COP26 ที่ประกาศมา และทุกคนยึดเป็นหลักในการตั้งเป้าของประเทศ ของบริษัท ของธุรกิจ รวมถึง บี.กริม จึงมีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ควบคู่กับการสร้างสังคมที่มีคาร์บอนต่ำ หรือสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งด้านธุรกิจหรืออื่นๆ เช่น นวัตกรรมด้านการเงิน ก็มีการพัฒนา green bond หรือ green loan เป็นที่แรกของประเทศไทยและอาเซียน ที่จะนำไปสู่ sustainable finance ด้วย เป็นการพัฒนาทั้งด้านธุรกิจและอื่นๆ ควบคู่กันในการสร้างนวัตกรรมในองค์กรของเราและในสังคม ในประเทศและในโลก”

ที่มาภาพ : https://www.bgrimmpower.com/storage/content/ir/downloads/sustainability-reports/2021/20220325-bgrim-sd2021-th.pdf

อย่างไรก็ตาม การจะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาพลังงานที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ในท้ายที่สุด ความตั้งใจดังกล่าวทำให้มีความจำเป็นต้องพัฒนาพลังงานในหลายรูปแบบ แน่นอนว่าในระยะสั้นอาจมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานจากฟอสซิลอยู่ แต่ต้องมีการส่งผ่านพลังงานจากฟอสซิลทั้งจากถ่านหินไปสู่แก๊ส จากแก๊สไปสู่พลังงานทดแทนให้เกิดขึ้นมาได้ ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีที่สำคัญๆ ขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีเสถียรภาพและมีความสะอาดควบคู่กันได้ต่อไป เช่น การมีพลังงานโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟทอป โซลาร์โฟลตติง ควบคู่กับการมีโรงไฟฟ้าพลังงานแก๊ส หรือการใช้แบตเตอรี่มาช่วยรักษาเสถียรภาพพลังงานให้เกิดขึ้น หรือนโยบายการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพื้นที่ที่หลายประเทศเปิดให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าแบบนี้ รวมทั้งมีการเชื่อมโยงโครงข่ายให้ทันสมัยขึ้นที่เรียกว่า smart grid ระหว่างประเทศ ระหว่างพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ต่อไป เพราะเกิดอุปสงค์ของอุปกรณ์หลายอย่าง ที่มาจากความต้องการไฟฟ้าที่มีความสะอาด เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หลายนวัตกรรมทำให้ต้นทุนถูกลง หรือนโยบายของรัฐบาลที่เปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้า และใช้ไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพ มีต้นทุนที่แข่งขันได้ต่อไป หลายปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งในระยะกลางและระยะยาว นำไปสู่ต้นทุนที่แข่งขันได้นั่นเอง