บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลมากขึ้น และให้ความสนใจเข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนเพิ่มขึ้นทุกปี จำนวนบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
บริษัทจดทะเบียนไทยต่างตระหนักถึงการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้กรอบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม Environment สังคม Social และบรรษัทภิบาล Governance หรือ ESG รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลที่ดีขึ้น เป็นโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจและให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ
ESG เข้ามาอยู่ในความสนใจเป็นครั้งแรก จากรายงาน United Nations Global Compact ที่ออกในปี 2548 มีการระบุถึงความจำเป็นในการผนวก ESG เข้ากับตลาดทุนเพื่อสร้างผลกำไรให้กับบริษัทและสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่นั้นมา เกณฑ์ ESG ก็ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแยกแยะหุ้นของบริษัทที่ต้องการมีส่วนทำให้สิ่งแวดล้อมและสังคมดีขึ้น
หุ้น ESG คือ หุ้นของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม จากการดำเนินธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ยึดมั่นกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี มากกว่าการคำนึงผลกำไรเพียงด้านเดียว
โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนจะพิจารณาที่ผลตอบแทน งบดุล ผลกำไรของบริษัทก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้น แต่ตอนนี้กระแสโลกกำลังมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในประเด็นต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น จึงมีนักลงทุนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความยั่งยืน
ในประเทศไทยได้มีการจัดทำหุ้น ESG หรือหุ้นยั่งยืนมากว่า 10 ปี โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืนครั้งแรกในปี 2558 คัดเลือกจากบริษัทจดทะเบียนที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน ของ SET โดยการตอบคำถามใน 3 มิติ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม ทั้งนี้ SET มีการทบทวนคำถามในแบบประเมินทุกปีให้สอดคล้องกับบริบทความยั่งยืนที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล
ในกระบวนการคัดเลือกหุ้นยั่งยืน THSI มีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือในตลาดทุนเป็นผู้กลั่นกรองให้กระบวนการคัดเลือกมีความโปร่งใสและเชื่อถือได้
บจ.เข้าร่วมประเมินมากขึ้นเรื่อยๆ
บริษัทจดทะเบียนให้ความสนใจเข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนเพิ่มขึ้นทุกปี และได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกที่จัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI มีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมตอบแบบประเมินจำนวน 100 บริษัท และได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI จำนวน 51 บริษัท
ล่าสุดปี 2565 มีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมตอบแบบประเมินถึง 221 บริษัท ซึ่งมีทุกขนาด ตั้งแต่บริษัทจดทะเบียนใน mai ที่มีมูลค่าตลาดไม่ถึง 1,500 ล้านบาท ไปจนถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ที่มีมูลค่าตลาดเกินกว่า 100,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI จำนวน 170 บริษัท
หุ้นยั่งยืนปี’65 มีหลายขนาด
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน 170 รายนั้น แยกเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดเกินกว่า 100,000 ล้านบาท 38 บริษัท มูลค่าตลาด 30,000 – 100,000 ล้านบาท 36 บริษัท มูลค่าตลาด 10,000 – 30,000 ล้านบาท 35 บริษัท มูลค่าตลาด 3,000 – 10,000 ล้านบาท 38 บริษัท มูลค่าตลาดต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท 10 บริษัท และบริษัทจาก mai 13 บริษัท
เมื่อแยกเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทจดทะเบียนผ่านการคัดเลือกเป็นหุ้นยั่งยืนจากกลุ่มบริการ 33 ราย กลุ่มทรัพยากร 28 ราย กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 27 กลุ่มอุตสาหกรรม 24 ราย กลุ่มธุรกิจการเกษตร 22 ราย กลุ่มธุรกิจการเงิน 21 ราย กลุ่มเทคโนโลยี 11 ราย กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 4 ราย
การสร้าง ESG ที่เข้มแข็ง
โดยบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือกในปีนี้มีการดำเนินงาน ESG ที่โดดเด่น ได้แก่
บรรษัทภิบาล บริษัทจดทะเบียนได้จัดทำนโยบาย CG ที่กำหนดค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ เช่น ค่าตอบแทนของกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน ค่าสอบบัญชี (Audit fee)
การเปิดเผยข้อมูลและการจัดการสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดนโยบายและเปิดเผยด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงาน น้ำ ของเสีย เป็นต้น และมีโครงการที่ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร
การจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ ดำเนินโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและติดตามผลลัพธ์จากการดำเนินงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
การพัฒนาศักยภาพแก่พนักงาน ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพและฝึกอบรมที่ส่งเสริมความก้าวหน้าของพนักงาน รวมทั้งกำหนดเป้าหมายของบริษัทในการส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพพนักงาน ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลสถิติจำนวนชั่วโมงฝึกอบรมโดยเฉลี่ยของพนักงานต่อปี
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการบนหลักการ ESG ยังบางด้านที่บริษัทจดทะเบียนต้องพัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่
การบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ โดยระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) และแผนบริหารความเสี่ยง และส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงและอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทั่วทั้งองค์กร
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ควรมีการประเมินและเปิดเผยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ/หรือบรรษัทภิบาล (ESG Risk) ที่เกิดจากคู่ค้าของบริษัท
การเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ควรมีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเด็นองค์กรและห่วงโซ่คุณค่า โดยมีกระบวนการระบุความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทอย่างชัดเจน และแนวทางการแก้ไขเยียวยา (Remediation) เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานของบริษัท
ปี’66 ติดป้าย THSI Rating
ในการคัดเลือกหุ้นยั่งยืนในปี 2566 เป็นต้นไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศผลการประเมิน (THSI Rating) สำหรับ บจ. ที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI
โดยบริษัทที่ได้คะแนน 90-100 จะได้รับการจัดอันดับ AAA บริษัทที่ได้คะแนน 80-89 จะได้รับการจัดอันดับ AA บริษัทที่ได้คะแนน 65-79 จะได้รับการจัดอันดับ A บริษัทที่ได้คะแนน 50-64 จะได้รับการจัดอันดับ BBB
ทั้งนี้กระบวนการประเมินหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์เริ่มขึ้นในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และประกาศผลรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ในเดือนตุลาคมของทุกปี
รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ยังนำไปใช้คัดเลือกบริษัทจดทะเบียนในดัชนี SETTHSI และ SET Awards กลุ่ม Sustainability Excellence ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาคุณสมบัติของ บจ. ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ในกรณีที่ บจ.ถูกคัดออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI จะถูกคัดออกจากดัชนี SETTHSI ด้วย
สามารถติดตามรายชื่อและข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ผ่านช่องทางของ SET ได้แก่ www.set.or.th, www.settrade.com และ www.setsmart.com
ดูเพิ่มเติม