ThaiPublica > เกาะกระแส > ครบรอบ 10 ปีที่อังกฤษเป็นภาษาภายในของ Rakuten ให้บทเรียนอะไรแก่โลกธุรกิจ

ครบรอบ 10 ปีที่อังกฤษเป็นภาษาภายในของ Rakuten ให้บทเรียนอะไรแก่โลกธุรกิจ

4 มกราคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

Hiroshi Mikitani คือ CEO ของ Rakuten บริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่สุดของญี่ปุ่น ที่มาภาพ : https://twitter.com/hmikitani_e/status/

Hiroshi Mikitani คือ CEO ของ Rakuten บริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่สุดของญี่ปุ่น ตั้งขึ้นมาในปี 1997 ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจ Rakuten Group ขยายกิจการไปประกอบธุรกิจการเงิน e-book Kobo และโทรศัพท์มือถือ Rakuten Mobile เมื่อมีอายุแค่ 44 ปี Mikitani กลายเป็นมหาเศรษฐีของญี่ปุ่น เป็นนักบริหารสไตล์กล้าตัดสินใจทางธุรกิจ ทำให้เกิดเรื่องราวโด่งดังตามสื่อต่างๆ ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ายกย่องธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิม

Mikitani ลาออกจาก Industrial Bank of Japan เพื่อมาตั้งบริษัท Rakuten เมื่อถึงปี 2010 ชื่อเสียงของ Rakuten เป็นที่รู้จักกันทั่วญี่ปุ่น และเป็นทางเลือกอันดับแรกของคนญี่ปุ่น ที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ จากความหยั่งรู้อนาคต ที่สามารถมองเห็นเทคโนโลยีที่จะมีผลต่ออนาคตทางการค้า เขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น Bill Gates และ Jeff Bezos ของญี่ปุ่น

การใช้ภาษาอังกฤษ (Englishnization)

หนังสือ The Language of Global Success เขียนไว้ว่า ในวันที่ 1 มีนาคม 2010 Mikitani ก้าวขึ้นเวทีของสำนักงานใหญ่ Rakuten กรุงโตเกียว เป็นการประชุมประจำสัปดาห์ ที่มีพนักงาน 7 พันคนเข้าร่วม รวมทั้งพนักงานสาขาต่างประเทศอีก 3 พันคน ที่ร่วมประชุมผ่านวิดีโอ การกล่าวปราศรัยต่อพนักงานครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิม Mikitani พูดเป็นภาษาอังกฤษ

Mikitani กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกในประวัติของ Rakuten ที่การประชุมฝ่ายบริหารในวันนี้ใช้ภาษาอังกฤษ ผู้บริหารหลายคนมีปัญหาบ้าง แต่ที่ประชุมก็สามารถผ่านวาระประชุมทั้งหมดไปได้ เป้าหมายของเราต้องการไล่ตามผู้นำตลาด เพื่อเร่งรัดการับมือการท้าทายนี้ เราต้องค่อยๆ พยายามเปลี่ยนภาษาของเราจากญี่ปุ่นเป็นอังกฤษ สิ่งนี้จะเป็นความพยายามระยะยาว เริ่มจากเดือนนี้ คำปราศรัยของผมจะเป็นภาษาอังกฤษ”

Mikitani บอกพนักงาน Rakuten ว่า ภาษาคือปัจจัยที่ทำให้องค์กรไม่สามารถเอาประโยชน์จากความรู้ทางธุรกิจ ที่เกิดขึ้นในบริษัทแม่กับบริษัทในเครือ การใช้ภาษาร่วม (common language) เป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้ธุรกิจระหว่างองค์กรต่างๆ และ Rakuten ต้องการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ให้มีรายได้ในสัดส่วน 70% ของทั้งหมด

ที่มาภาพ : amazon.com

Mikitani เอาข่าวที่ไม่มีใครคาดคิดจะเกิดขึ้น มากล่าวเป็นเรื่องสุดท้าย ในเดือนเมษายน 2012 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า นับจากมีการประชุมฝ่ายบริหารด้วยภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก พนักงาน Rakuten จะต้องสอบ TOEIC (Test of English for International Communication) ได้ 650 จาก 990 คะแนน Rakuten จะลดชั้นพนักงานที่ไม่พยายามให้มาก หัวหน้าหน่วยจะรายงานความก้าวหน้าของพนักงานทุกคนในเรื่องภาษาอังกฤษ

ในวันรุ่งขึ้น ป้ายแจ้งข้อความตามอาคารต่างๆ เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษหมด พวกฝ่ายบริหารของ Rakuten ต่างก็ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น Mikitani ไม่ได้หารือกับผู้บริหารในเรื่องนี้มาก่อน เพราะเกรงจะถูกคัดค้าน แต่เมื่อประกาศไปแล้ว ก็กลายเป็นนโยบายที่เปลี่ยนไม่ได้ ในความเห็นของ Mikitani อนาคตของ Rakuten และญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับ “การใช้ภาษาอังกฤษ” หรือที่เขาใช้คำว่า Englishnization หลักการทำงานสำคัญของ Rakuten อย่างหนึ่งคือความเร็ว หลักการนี้ได้ถูกนำมาใช้กับการใช้ภาษาอังกฤษด้วย

อังกฤษคือภาษาของธุรกิจโลก

ไม่ว่าธุรกิจจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม อังกฤษกลายเป็นภาษาของธุรกิจบนโลกนี้ บริษัทข้ามชาติจำนวนมากขึ้นกำหนดให้อังกฤษเป็นภาษาภายในองค์กร เช่น Airbus, Daimler-Chrysler, Nokia, Renault, Samsung และสำนักงาน Microsoft ในกรุงปักกิ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้การสื่อสารและการดำเนินงาน มีความสะดวกและคล่องตัวระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่กระจายในหลายประเทศ

เมื่อ Rakuten ประกาศให้อังกฤษเป็นภาษาใช้ภายในองค์กรนั้น ธุรกิจในญี่ปุ่นประหลาดใจและแสดงความไม่เห็นด้วย Takanobu Ito CEO ของ Honda บอกว่า “เป็นเรื่องโง่เขลา ที่บริษัทญี่ปุ่นจะใช้เพียงแค่ภาษาอังกฤษในญี่ปุ่น ในเมื่อแรงงานส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น”

แต่ Rakuten คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่เริ่มให้ดอกผลปรากฏออกมา เช่น Rakuten สามารถดึงคนมีฝีมือจากทั่วโลกมาทำงาน ผู้บริหารฝ่ายวิศวกรรมบางส่วนมาจากต่างประเทศ

อังกฤษเป็นภาษาที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์เรา มีคน 1.7 พันล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของโลกที่พูดภาษาอังกฤษ 385 ล้านคนที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อีก 1 พันล้านคนที่พูดอังกฤษได้คล่อง เพราะเคยเป็นอาณานิคมมาก่อน เช่น อินเดีย ไนจีเรีย อีกหลายล้านคน ที่เรียนอังกฤษเป็นภาษาที่สอง และมีการคาดการณ์กันว่าคน 565 ล้านคนที่ใช้ภาษาอังกฤษในอินเทอร์เน็ต

ที่มาภาพ : thejapantimes.com

แนวทางการใช้ภาษาภายในองค์กร

การกำหนดให้ภาษาของโลกเป็นภาษาที่ใช้ภายในองค์กรเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายบริษัทประสบปัญหา เพราะเป็นนโยบายที่รุนแรง ที่จะเกิดการต่อต้านจากพนักงาน พนักงานหลายคนจะรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบ หากภาษาอังกฤษไม่ดีพอเหมือนพนักงานคนอื่น การทำงานของพนักงานอาจตกต่ำลง แต่การอยู่รอดและเติบโตในเศรษฐกิจโลก บริษัทธุรกิจต้องเอาชนะสิ่งขวางกั้นทางภาษา และที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันอย่างหนึ่งคือ อังกฤษเป็นภาษาธุรกิจโลก

หนังสือ The Language of Global Success ให้คำแนะนำลู่ทางการที่จะกำหนดว่า ภาษาใดเหมาะสมกับองค์กร ผู้บริหารต้องพิจารณาหลายปัจจัย

ประการแรก ภาษานั้นมีนัยความหมายต่อภารกิจสำคัญ หรือต่องานพื้นฐาน ที่องค์กรจะทำได้ดีหรือไม่

ประการที่ 2 ธุรกิจนั้นต้องสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลกหรือไม่ หากธุรกิจต้องอาศัยการเข้าถึงตลาดโลก สร้างการรับรู้ต่อตราสินค้าจากทั่วโลก การมีภาษาร่วมกัน ทำให้หน่วยการบริการของธุรกิจที่กระจายทั่วโลกประสานเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างราบรื่น

ประการที่ 3 ธุรกิจกำลังขยายตัวไปทั่วโลกหรือไม่ การมีภาษาร่วมกันทำให้ธุรกิจเกิดใหม่ขององค์กร สามารถบูรณาการกับหน่วยธุรกิจอื่นที่มีอยู่เดิม การดำเนินงานของธุรกิจ ตามแบบแผนที่มีอยู่แล้ว จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่ 4 พนักงานในองค์กรจำเป็นต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดนหรือไม่ ระหว่างบริษัทในเครือกับพนักงานกระจายอยู่ทั่วโลก อาจมีภาระหน้าที่ต้องพึงพากันและกัน ทำให้จำเป็นต้องมีภาษาร่วม เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ หรือการทำโครงการร่วมกันก็ตาม

หากธุรกิจตัดสินใจที่จะใช้ภาษาร่วม ผู้บริหารจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องที่ว่า จะดำเนินการแบบทันทีอย่างกรณี Rakuten หรือดำเนินการแบบมีกำหนดระยะเวลา การตัดสินใจขึ้นกับสภาพแวดล้อมและลำดับความสำคัญขององค์กร การดำเนินการแบบทันทีทั้งองค์กรอย่างกรณี Rakuten หรือบริษัทจีน Lenovo ต้องอาศัยความพยายามอย่างมากในการสร้างแผนงานดำเนินการ

Hiroshi Mikitani คือ CEO ของ Rakuten บริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่สุดของญี่ปุ่น ที่มาภาพ : https://twitter.com/hmikitani_e/status/1541640370714451968/photo/1

10 ปีที่ผ่านมาของ Rakuten

เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ Yomiuri Shimbun รายงานข่าวว่า ผ่านมาแล้ว 10 ปีที่กลุ่ม Rakuten Group กำหนดให้อังกฤษเป็นภาษาภายในองค์กร แม้จะขยายธุรกิจโดยการจ้างพนักงานที่ใช้ภาษาอังกฤษได้คล่อง และฝึกฝนพนักงานให้ใช้ภาษาได้ดี แต่ก็ยังมีปัญหาท้าทายหลายอย่าง

เอกสารภายใน Rakuten ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด รวมทั้งการประชุมต่างๆ พนักงานใช้ภาษาญี่ปุ่นในการพูดคุยกันเท่านั้น บริษัทเริ่มใช้ภาษาอังกฤษในปี 2010 และช่วงเปลี่ยนผ่านมาจบลงในปี 2012 เมื่ออังกฤษเป็นภาษาภายในที่เป็นทางการของ Rakuten

ภาษาอังกฤษทำให้ Rakuten ได้ประโยชน์หลายอย่าง สามารถจ้างคนต่างชาติที่มีความสามารถ การสื่อสารกับธุรกิจต่างประเทศในเครือสะดวกขึ้น รวมทั้งการสร้างความเป็นเอกภาพของพนักงาน ปัจจุบัน 20% ของพนักงานในญี่ปุ่นเป็นคนต่างชาติ พนักงานที่หลากหลายวัฒนธรรม ประสบการณ์ ความคิด และความสามารถ ช่วยองค์กรเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหา

แต่นโยบายภาษาร่วมก็สร้างปัญหา ผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์ของ Rakuten บอกว่า พนักงานที่มีความสามารถและใช้ภาษาอังกฤษได้ดี มักลาออกไปทำงานบริษัทอื่น นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นจำนวนมากคิดว่าตัวเองใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ดี จึงไม่สมัครมาทำงานกับ Rakuten ทั้งๆ ที่เป็นคนมีความสามารถ

ทุกวันนี้ บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งใช้อังกฤษเป็นภาษาภายในองค์กรแล้ว เช่น Uniqlo และ Shiseido บริษัท Sharp ได้ประกาศแล้วว่า มีแผนงานที่จะดำเนินการแบบเดียวกันนี้ นาย Yoko Okabe จาก Kyoto Sangyo University ให้ความเห็นว่า “ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริษัท IT บริษัทการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจภาคบริการ ที่จะทำให้ตัวเองเชื่อมโยงกับธุรกิจโลก บริษัทญี่ปุ่นควรคิดแบบจากบนสู่ล่าง และคิดคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่ได้จากการใช้ภาษาอังกฤษ”

เอกสารประกอบ

Making English an official language to make the company stronger, The Japan News, August 26, 2022.
The Language of Global Success, Tsedal Neeley, Princeton University Press, August 2017.