นายชาร์ลส์ บรูเออร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ เปิดเผยว่าทิศทางของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ถูกกำหนดจากปัจจัยหลัก 3 ข้อ ได้แก่ การพัฒนาความเป็นเมือง (urbanization) พฤติกรรมผู้บริโภค (consumer behavior) และเทคโนโลยีที่พัฒนารวดเร็ว
DHL eCommerce เป็น 1 ใน 4 กลุ่มธุรกิจในเครือ Deutsche Post DHL Group ซึ่งได้เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2516 โดยให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจรให้กับลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการออนไลน์
ในปี 2025 คาดว่า จะมีเมืองใหญ่ (megacity) ราว 19 เมืองทั่วโลกในประเทศกำลังพัฒนา โดยประชากรในเมืองใหญ่จะมีจำนวน 640 ล้านคน คิดเป็น 14% ของจำนวนประชากรเมืองทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีโลกในปี 2025 มาจากเมืองใหญ่เป็นหลัก และประชากรในเขตเมืองขยายตัวเร็วกว่าพื้นที่นอกเมืองหรือชนบทถึง 20 เท่า
ความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใน 8 ด้านหลัก ได้แก่ หนึ่ง การเพิ่มขึ้นของระดับชั้นของผู้บริโภคที่หมายถึงการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สอง ตลาดผู้บริโภคกระจุกตัวมากขึ้น สาม ความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในประเทศกำลังพัฒนา สี่ ความต้องการใช้สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น พลังงาน น้ำ ห้า การขยายตัวของเมืองในพื้นที่เพาะปลูกพื้นที่ทำกิน หก ต้องมีกระบวนการในการบนิหารจัดกับเมืองแบบใหม่ เจ็ด ความสัมพันธ์รัฐ-เอกชนมีความสำคัญมากขึ้น แปด ราคาอสังหาริมทรัพย์ในไพรม์แอเรียของเมืองสูงขึ้น
ประชากรเมืองยังมีผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตรวดเร็วและขยายตัวสูงมาก โดยคาดว่าประชากรเมืองของโลกที่ช้อปปิ้งออนไลน์จะมีจำนวน 1.6 พันล้านคนในปี 2018 และยอดซื้อของออนไลน์เฉลี่ยต่อประชากรมีจำนวน 1,582 ดอลลาร์ในปี 2018
นายเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า กรุงเทพเติบโตถึง 16% ในช่วงปี 1958-2014 ส่งให้เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงเป็นอันดับ 38 ของโลกด้วยอัตรา 5,285 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ขณะที่อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 57 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร
นอกจากนี้ยังคาดว่า ภายในปี 2030 จะมีประชากรอาศัยในกรุงเทพฯ ราว 11 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 18.2% จากปี 2017 และมีรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคันในปี 2029
มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย
นายชาร์ลส์กล่าวว่า ข้อมูลย้อนหลังยังแสดงให้เห็นการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยปี 2016 สัดส่วนของอีคอมเมิร์ซจีนและสหรัฐฯ รวมกันสูงถึง 60% ของตลาดอีคอมเมิร์ซโลก และคาดว่าสัดส่วนของการซื้อของออนไลน์ในธุรกิจค้าปลีกอยู่ที่ 12.8% ของยอดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกรวมในปี 2019 รวมทั้งคาดว่าสัดส่วนของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ที่คาดหวังว่าจะมีการจัดส่งสินค้าให้ฟรีมีถึง 47%
ปี 2016 ยอดธุรกรรมโลจิสติกส์ด้านอีคอมเมิร์ซมีมูลค่า 192 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศและอีคอมเมิร์ซข้ามชาติมีมูลค่าถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020
การซื้อของออนไลน์เพียงวันเดียวผ่านแพลตฟอร์มอาลีบาบาในวันคนโสด (Single Day) มียอดสูงถึง 25.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016
นายชาร์ลส์ยังให้ข้อมูลว่า นับจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมาก เช่นเดียวกับในภูมิภาคอื่นของโลก และมีที่มาจาก 2 ด้าน คือ การซื้อออนไลน์ในประเทศ กับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ทั้งนี้ จากมูลค่าอีคอมเมิร์ซราว 3.6 ล้านล้านดอลลาร์นั้น สัดส่วน 2 ใน 3 เป็นการซื้อออนไลน์ในประเทศ และอีก 1 ใน 3 เป็นอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และแม้การซื้อออนไลน์ในประเทศมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่า แต่กลับเติบโตเพียง 9% แต่การซื้อของออนไลน์ข้ามประเทศเติบโตถึง 27%
สำหรับประเทศไทยนั้น นายเกียรติชัยกล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิรซ์ใหญ่เป็นอันดับต้นของประเทศ และมีการซื้อของออนไลน์ทั้ง 2 ด้านเช่นกัน คือ ความต้องการซื้อจากประเทศ และจากการขายสินค้าไปต่างประเทศของเอสเอ็มอีไทย
มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยปี 2559 สูงถึง 2.56 ล้านล้านบาท มูลค่าการชำระเงินผ่านอีเพย์เมนต์มีมูลค่า 923 ล้านล้านบาท และคาดว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยปี 2564 จะเพิ่มสูง 2 เท่า เป็น 5 ล้านล้านบาท โดยที่คาดการณ์ว่ารายได้ที่มาจากเอสเอ็มอีจะสูงถึง 50% ของ GDP ในปีนั้น
เอสเอ็มอีจำนวนประมาณ 900,000 รายในไทย สร้างรายได้ 10 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 43% ของรายได้รวมทั้งหมดของธุรกิจทั่วประเทศ ในปี 2560
ตลาดอีคอมเมิร์ซ B2C ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 6.19 แสนล้านบาทในปี 2559 และสูงเป็นอันดับที่ 1 ในภูมิภาคอาเซียนโดยมีอัตราการเติบโตที่ 37.91%
ลูกค้าต้องการบริการจัดส่งในวันเดียว
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตสูง ยังส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตตามไปด้วย การจัดส่งสินค้าขยายตัวตามโดยปี 2011 ธุรกิจโลจิสติกส์ในเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนเพียง 11% ของธุรกิจโลจิสติกส์โลกที่มีมูลค่ารวม 55 พันล้านดอลลาร์ แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ในปี 2020 จากมูลค่ารวม 213 พันล้านดอลลาร์
นายชาร์ลส์กล่าวว่า ผู้บริโภคที่นิยมซื้อของออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซต้องการให้มีจัดส่งสินค้าเร็วขึ้น โดยเฉพาะการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียว ทั้งนี้คาดว่า สัดส่วนผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าเร็วขึ้น เพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 1% ในปี 2016 เป็น 22% ในปี 2025 หรือสูงขึ้น 43%
ผู้บริโภคทุกกลุ่มต้องการให้จัดส่งสินค้าเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประชากรในวัย 18-34 ปีที่ให้ความสำคัญกับความเร็วและความน่าเชื่อถือ ส่วนอีก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีรายได้สูง กลุ่มคนเมือง และกลุ่มที่ไม่มีเวลา ยอมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้รับสินค้าภายในวันเดียว
“เมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกกำลังมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความสามารถที่จะใช้จ่ายมากขึ้น และด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว มีการซื้อของออนไลน์มากขึ้น และมีความคาดหวังที่จะได้รับสินค้าและบริการที่รวดเร็ว สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนเมือง แม้การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ส่งผลให้เกิดปริมาณการจัดส่งพัสดุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ ความต้องการด้านการจัดส่งพัสดุด่วนในเขตเมืองที่รวดเร็วทันใจภายในหนึ่งวันก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้น” นายชาร์ลส์กล่าว
ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 22% ทุกปีไปจนถึงปี 2020 โดยมีมูลค่ารวมราว 4 พันล้านยูโร
นายเกียรติชัยกล่าวว่า DHL eCommerce ได้เปิดตัว DHL Parcel Metro เพิ่มทางเลือกบริการด้านการจัดส่งพัสดุสำหรับผู้ประกอบการออนไลน์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยบริการรับ-ส่งพัสดุด่วนภายในวันเดียว (same-day delivery) ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนเวลาการจัดส่ง และยังสามารถตรวจสอบสถานะการจัดส่งพัสดุได้แบบเรียลไทม์ผ่านระบบของ DHL ที่มีความทันสมัยและใช้งานง่ายในราคาที่เข้าถึงได้
ผู้ประกอบการออนไลน์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถจัดส่งพัสดุที่มีน้ำหนักสูงสุดถึง 20 กิโลกรัม และขยายเวลาการรับพัสดุจากสถานประกอบการถึงเที่ยงวัน ส่วนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์สามารถตรวจสอบสถานะการจัดส่งได้แบบเรียลไทม์ ปรับเปลี่ยนเวลาการจัดส่งและให้คะแนนบริการจัดส่งพัสดุผ่านระบบที่ทันสมัยของ DHL
DHL Parcel Metro จึงเป็นบริการรูปแบบใหม่ที่ออกแบบมารองรับการจัดส่งพัสดุในกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยเฉพาะ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในเขตเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้บริการที่ดำเนินการภายใต้ดิจิทัลแพลตฟอร์มซึ่งมีการวางแผนเส้นทางและวิธีการจัดส่งอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับรูปแบบการจัดส่งที่มีความหลากหลาย เช่น การจัดส่งโดยรถจักรยานยนต์ จักรยาน พนักงานเดินส่งพัสดุ รถบรรทุก และรถยนต์ เพื่อให้บริการจัดส่งที่รวดเร็วและคล่องตัวที่สุดในสภาพแวดล้อมชุมชนเมืองที่มีความหนาแน่นและซับซ้อน
“เราพบว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง และต้องใช้ชีวิตแข่งขันกับเวลา มีความต้องการที่จะรับสินค้าออนไลน์ผ่านบริการจัดส่งแบบเร่งด่วนภายในหนึ่งวันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการ DHL Parcel Metro จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถให้บริการที่เหนือกว่าด้วยการจัดส่งที่รวดเร็ว น่าเชื่อถือ และสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ที่น่าประทับใจให้กับลูกค้า” นายเกียรติชัยกล่าว
ก่อนหน้านี้ได้เปิดตัว DHL Parcel Metro ไปแล้วในเวียดนามและมีแผนที่จะขยายบริการให้ครอบคลุมประเทศอาเซียน
DHL eCommerce ประเทศไทย มีเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ สามารถให้บริการจัดส่งภายในวันเดียวและในวันถัดไปได้ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองหลักในจังหวัดต่างๆ และให้บริการจัดส่งภายใน 2-3 วันในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังได้เป็นพันธมิตรกับบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดจุดบริการ DHL Service Points ในร้านซีเอ็ดไปแล้ว 200 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าและผู้ประกอบการในการเป็นทั้งจุดรับและฝากส่งพัสดุทั่วประเทศ ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเปิดจุดบริการ DHL ServicePoints มากกว่า 1,000 สาขาภายในสิ้นปี 2561 และเพิ่มเป็น 2,500 แห่งในปี 2562