ThaiPublica > คอลัมน์ > แนวโน้มตลาดแรงงานภาคการท่องเที่ยวหลังยุคโควิด-19

แนวโน้มตลาดแรงงานภาคการท่องเที่ยวหลังยุคโควิด-19

24 มกราคม 2023


ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ [email protected]/ [email protected]

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ต้องประสบกับปัญหาการขาดทุน ปิดกิจการ รวมไปถึงการเลิกจ้างพนักงานเป็นเวลานาน และถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วก็ตาม แต่การฟื้นตัวของตลาดการท่องเที่ยวหลังยุคโควิด-19 ก็ยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ จึงอาจส่งผลต่อเนื่องมาสู่ตลาดแรงงานในประเทศไทย ที่จะไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่เช่นกัน

ประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกก็คือ ตลาดแรงงานหลังยุคโควิด-19 อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งความต้องการในการจ้างงาน ทั้งจำนวนแรงงานที่อาจจะขาดหายไปในบางประเภท และการที่แรงงานอาจต้องถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี รวมถึงโอกาสในการสูญเสียศักยภาพของแรงงานและทุนมนุษย์อย่างมหาศาล ซึ่งสามารถระบุเป็น “ข้อสงสัย” ได้ดังต่อไปนี้

1. แรงงานที่ตกงานเป็นระยะเวลานาน (อาจจะ) สูญเสียทักษะและประสบการณ์จากว่างงานเป็นเวลานานเกินไป จนกระทั่งทักษะเหล่านั้น (อาจจะ) เกิดการล้าสมัย และเมื่อเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินหน้าเข้าสู่ยุคหลังโควิด-19 แล้วแรงงาน (อาจจะ) ไม่สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

2. เนื่องจากการที่เศรษฐกิจ (อาจจะ) ไม่ได้เกิดการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ หรือการที่ภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนการจ้างงาน อันส่งผลทำให้ความต้องการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะแรงงานที่ขาดทักษะเฉพาะ

3. ในการกลับกัน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจส่งผลทำให้เกิดการลาออกครั้งใหญ่ โดยมีสาเหตุมาจากผลกระทบที่พนักงานได้รับจากการทำงานในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนทำงานได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าจริงๆ ชีวิตการทำงานในรูปแบบที่ต้องการเป็นอย่างไร เช่น การทำงาน work from anywhere, การให้ความสำคัญกับความอยู่ดีมีสุขมากกว่าการทุ่มเทในการทำงาน, การหมดไฟจากการทำงานเดิมๆ, และการรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในอาชีพ เป็นต้น

4. บัณฑิตที่จบใหม่จากรั้วการศึกษาอาจไม่สามารถที่จะหางานที่ตรงตามที่จบมา โดยผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ ที่มีการประเมินผลกระทบต่อแรงงานที่จบการศึกษาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่า นอกจากผลกระทบระยะสั้นในเรื่องการหางานทำแล้ว การจบการศึกษาในช่วงวิกฤติยังส่งผลกระทบในระยะยาว ทั้งในเรื่องเส้นทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและรายได้ในอนาคตอีกด้วย โดยแรงงานกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะทำงานไม่ตรงตามระดับการศึกษา เป็นการทำงานที่ตํ่ากว่าระดับการศึกษาที่จบมา และทำงานไม่ตรงตามสาขาที่เรียนจบมา โดยเฉพาะแรงงานที่จบการศึกษาในสาขาที่ต้องทำงานในภาคเอกชน

โครงการวิจัยล่าสุดของผมเรื่อง “การวิเคราะห์สถานการณ์แรงงานในภาคการท่องเที่ยวหลังยุคโควิด-19” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ทำการเก็บข้อมูลจากทั้งฝั่งผู้ประกอบการ (250 ตัวอย่างใน 5 สาขาใน 10 จังหวัด) และแรงงงาน (750 ตัวอย่าง) พร้อมทั้งยังได้เก็บข้อมูลจากนักศึกษาในสาขาการท่องเที่ยว และสัมภาษณ์เชิงลึกกับคณาจารย์ในภาคการท่องเที่ยวพบว่า โดยได้มีการเก็บข้อมูลดังกล่าวระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน พ.ศ. 2565 โดยสามารถตอบ “ข้อสงสัย” ข้างต้นได้ดังนี้

1. ปัญหา: แรงงานที่ตกงานเป็นระยะเวลานาน (อาจจะ) สูญเสียทักษะและประสบการณ์จากว่างงานเป็นเวลานานเกินไป จนกระทั่งทักษะเหล่านั้น (อาจจะ) เกิดการล้าสมัย และเมื่อเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินหน้าเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอลแล้ว แรงงาน (อาจจะ) ไม่สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ผลที่พบ: โควิด-19 ส่งผลต่อการตกลงเป็นระยะเวลานานจริง (มากกว่าร้อยละ 50 ของแรงงานมีการว่างงาน ประมาณ 3-6 เดือน) จนทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวต้องออกไปทำงานสาขาอื่นๆ นอกจากท่องเที่ยว ในขณะที่ส่วนหนึ่งได้เดินทางกลับภูมิลำเนา และอาจจะมีบางส่วนเท่านั้นที่ยังทำงานในภาคการท่องเที่ยวเหมือนเดิมแต่ยอมรับในค่าจ้างหรือชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ทว่า เนื่องด้วยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 54) ระบุว่าตนยังไม่มีแผนปรับการจ้างงาน และไม่ได้มองว่าทักษะแรงงานที่มีอยู่จะเป็นปัญหาแต่อย่างไร ดังนั้น ปัญหาของการล้าสมัยของทักษะในแรงงานจึงยังไม่สะท้อนออกมาให้เห็น แต่ทว่า ผู้ประกอบการยังคงให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยต้องการแรงงานที่มีทักษะบางประเภทให้มากขึ้น ได้แก่ ทักษะเฉพาะตามตำแหน่งงาน ทักษะด้านภาษา และทักษะด้านการทำงานที่หลากหลาย

2. ปัญหา: เนื่องจากการที่เศรษฐกิจ (อาจจะ) ไม่ได้เกิดการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ หรือการที่ภาคอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนการจ้างงาน อันส่งผลทำให้ความต้องการจ้างงานลดลง

ผลที่พบ: จากข้อมูลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวยังไม่ได้มีแผนในการปรับเปลี่ยนองค์กรมาใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานในขณะนี้ (เพียงร้อยละ 6) แต่ตรงกันข้ามสถานประกอบการมีแนวโน้มที่จะจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น (มากกว่าลดกำลังแรงงานลง) โดยร้อยละ 23.2 ระบุว่าต้องการจ้างแรงงานเพิ่ม (โดยต้องการจ้างเพิ่มประมาณร้อยละ 9.3) ในขณะที่มีผู้ประกอบการร้อยละ 6.8 ที่ต้องการปรับลดแรงงานลง (โดยต้องการปรับลดประมาณร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานเดิม) ซึ่งสาเหตุของการลดการจ้างงานจะมาจากเพราะผลประกอบการไม่ดี (ร้อยละ 65) เป็นสำคัญ แต่ทว่าผู้ประกอบการถึงร้อยละ 41 ยังคงระบุในเรื่องของต้นทุนการจ้างงานที่สูงเกินไป ดังนั้น ผู้ประกอบการระบุว่าตนมีแนวโน้มที่จะจ้างแรงงานไม่มีสัญญาจ้างเพิ่มขึ้น และลดสัดส่วนแรงงานที่มีสัญญาจ้างระยะยาวลง ซึ่งประเด็นนี้อาจจะส่งผลต่อการสร้างความไม่มั่นคงในการทำงานให้กับแรงงานในอนาคต

3. ปัญหา: การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจส่งผลทำให้เกิดการลาออกครั้งใหญ่ โดยมีสาเหตุมาจากผลกระทบที่พนักงานได้รับจากการทำงานในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนทำงานได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า จริงๆ ชีวิตการทำงานในรูปแบบที่ต้องการเป็นอย่างไร เช่น การทำงาน work from anywhere, การให้ความสำคัญกับความอยู่ดีมีสุขมากกว่าการทุ่มเทในการทำงาน, การหมดไฟจากการทำงานเดิมๆ, และการรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในอาชีพ เป็นต้น

ผลที่พบ: จากข้อมูลของการสำรวจและสัมภาษณ์เชิงลึกกับแรงงานพบว่า แรงงานบางกลุ่มมองว่างานในภาคการท่องเที่ยวไม่มีความมั่นคง (ร้อยละ 45) ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะของแรงงานและตามพื้นที่การท่องเที่ยว และเมื่อถามถึงทัศนคติในการทำงาน แรงงานส่วนใหญ่ยังคงพอใจกับงานที่ทำในระดับหนึ่ง (คะแนนอยู่ที่ประมาณ 4-5 จาก 10) อันส่งผลทำให้แรงงานส่วนน้อยเท่านั้นที่วางแผนจะลาออกในปีก 1-2 ปีข้างหน้า (ร้อยละ 22.1) โดยสาเหตุของการลาออกจะเป็นเรื่องของรายได้ที่ทำอยู่นั้นได้รับน้อยเกินไป (ร้อยละ 45) หรือมองว่าเงินเดือน/สวัสดิการที่ได้รับไม่สอดคล้องกับงานที่ทำ (ร้อยละ 31) และรู้สึกไม่มั่นคงกับการทำงาน (ร้อยละ 27) ในขณะที่แรงงานอยากที่จะลาออกเพราะ “หมดไฟ” ในการทำงานนั้นมีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ดังนั้น การลาออกครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานในต่างประเทศจึงน่าจะยังไม่ได้เกิดขึ้นในตลาดแรงงานของภาคการท่องเที่ยวของไทยในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากความไม่มั่นคงจากการทำงานดูจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการลาออกของแรงงานภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด ดังนั้น การออกแบบการจ้างงานเพื่อให้แรงงานรู้สึกมั่นคงและมีรายได้ที่พอรับได้ จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยลดการลาออกของพนักงานลงได้ (ซึ่งจากการสำรวจพบว่า แรงงานถึงร้อยละ 65 ระบุถึงความสำคัญในข้อนี้)

4. ปัญหา: บัณฑิตที่จบใหม่ในสาขาการท่องเที่ยวจากรั้วการศึกษาอาจไม่สามารถที่จะหางานที่ตรงตามที่จบมา โดยผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศที่มีการประเมินผลกระทบต่อแรงงานที่จบการศึกษาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจพบว่า นอกจากผลกระทบระยะสั้นในเรื่องการหางานทำแล้ว การจบการศึกษาในช่วงวิกฤติยังส่งผลกระทบในระยะยาว ทั้งในเรื่องเส้นทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและรายได้ในอนาคตอีกด้วย โดยแรงงานกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะทำงานไม่ตรงตามระดับการศึกษา เป็นการทำงานที่ตํ่ากว่าระดับการศึกษาที่จบมา และทำงานไม่ตรงตามสาขาที่เรียนจบมา

ผลที่พบ: จากการสัมภาษณ์คณาจารย์จากคณะด้านการท่องเที่ยวเห็นว่า หลักสูตรด้านการท่องเที่ยวเป็นหลักสูตรที่ยังต้องคงความเป็น “เป็ด” ที่เน้นการให้ผู้เรียนมีทักษะหลายด้านและมีการบูรณาการแบบข้ามศาสตร์ ดังนั้น จึงไม่ได้มองว่านักศึกษาจะประสบปัญหาของการทำงานไม่ตรงสาย เพราะนักศึกษาจะมีองค์ความรู้ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนไปทำงานในลักษณะอื่นๆ ได้ง่าย เช่น ปรับเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวแทนที่จะออกไปเป็นลูกจ้าง หรือปรับเป็นการทำการท่องเที่ยวชุมชน แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากช่วงโควิด-19 ส่งผลทำให้การเรียนการสอนต้องเป็นไปในลักษณะออนไลน์ จึงทำให้นักศึกษาไม่สามารถไปฝึกงานในสถานที่จริงได้ ส่งผลให้ทักษะในส่วนของการปฏิบัติจริงนี้อาจขาดหายไปบ้าง (เช่น การทำอาหาร การปูเตียง เป็นต้น) นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลบัณฑิต/นิสิต/นักศึกษาในสาขาการท่องเที่ยวในเรื่องของ “ความคาดหวังต่อโอกาสและความก้าวหน้าในสายงานด้านการท่องเที่ยวนี้ (คะแนนจาก 0 ถึง 10) พบว่า บัณฑิตส่วนใหญ่ระบุว่าตนมีระดับความคาดหวังที่สูงมาก ซึ่งระดับของคะแนนอยู่ที่ 8-10 คะแนน (ร้อยละ 24.8 อยู่ที่ 10 คะแนน และร้อยละ 19 อยู่ที่ 8 และ 9 คะแนน) จึงเห็นได้ว่า ความคาดหวังต่อโอกาสและความก้าวหน้าในอาชีพด้านการท่องเที่ยวของบัณฑิต นิสิต และนักศึกษานั้นยังมีสูงเป็นอย่างมาก

การท่องเที่ยวเป็นภาคบริการที่สำคัญของประเทศ คุณภาพของสินค้า (และบริการ) จึงถูกกำหนดมาจากคุณภาพจากทรัพยากรมนุษย์แทบทั้งสิ้น เพราะทุกกระบวนการล้วนต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ให้บริการ (คน) ตั้งแต่การจองตั๋วเครื่องบิน การเดินทาง การขนส่งภายในประเทศ การเข้าจองที่พัก กิจกรรมการท่องเที่ยว การบริโภคอาหารเครื่องดื่ม การจับจ่ายซื้อของที่ระลึก จนกระทั่งกระบวนการเดินทางกลับ ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนต้องมีการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลากรของไทยกับนักท่องเที่ยวแทบทั้งสิ้นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า การได้รับปริการที่ดีจะเป็นการสร้างความประทับใจ อันนำมาสู่การบอกต่อ และส่งผลทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งรายใหม่และรายเก่าให้กลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเรามากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุว่า เพราะเหตุใดตลาดแรงงานจึงมีความสำคัญเป็นอย่างสูงต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะหลังยุคโควิด-19 ที่จะต้องมีการพัฒนาตลาดแรงงานในหลากหลายด้าน

จากผลการศึกษาข้างต้นได้นำมาสู่ข้อค้นพบซึ่งจะนำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ด้านสำหรับการพัฒนาตลาดแรงงานภาคการท่องเที่ยวของไทยหลังยุคโควิด-19 ดังนี้

    1) ด้านการผลิตบัณฑิต/แรงงานในภาคการท่องเที่ย
    2) ด้านการจับคู่งานและพัฒนาทักษะ
    3) ด้านการจัดการทักษะในองค์กรและการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร ซึ่งผมขอนำเสนอในบทความต่อไปครับ