กบง.ตรึงราคา “แก๊สหุงต้ม”ต่อถึงสิ้น ก.พ.นี้ – เดือนหน้าขึ้นถังละ 15 บาท (ถัง 15 กิโลกรัม) ลดภาระหนี้กองทุนน้ำมัน – พร้อมมอบส่วนลดค่าไฟช่วยกลุ่มเปราะบางใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ตั้งแต่ 67.04 – 92.04 สต./หน่วย ในงวด ม.ค.-เม.ย.66
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ของตลาดโลกว่า ราคา LPG ยังคงผันผวนตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจกดกันต่อความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซ LPG ของโลก นอกจากนี้ตลาดยังคงจับตามาตรการต่างๆ ที่หลายประเทศทั่วโลกอาจออกมาควบคุมผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายหลังจากที่จีนประกาศเปิดประเทศ เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีความไม่แน่นอน
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG อย่างใกล้ชิด พบว่า สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในปัจจุบันยังคงผันผวน โดย ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ราคา LPG นำเข้าอยู่ที่ 698 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 450 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายปลีก LPG ในประเทศอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน ฯ บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 813 ล้านบาทต่อเดือน และฐานะกองทุนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,794 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท
ดังนั้น ที่ประชุม กบง.จึงได้มีการพิจารณาทบทวนแนวทางการกำหนดราคา LPG โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ขณะเดียวกันยังคงต้องคำนึงถึงสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ที่ประชุม จึงได้มีมติดังนี้
1) เห็นชอบให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่อไปอีก 1 เดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 -28 กุมภาพันธ์ 2566 และ
2) ปรับราคาขายปลีก LPG เพิ่มอีก 15 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในเดือนมีนาคม โดยจะปรับเป็นราคาขายปลีก 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลตั้งแต่ 1 -31 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ ประชุม กบง. ได้มอบหมายให้ สนพ. ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าประจำเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 ซึ่งมีค่า Ft เรียกเก็บที่ 93.43 สตางค์ / หน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบาง ที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน มีรายละเอียดดังนี้
- จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ 1-150 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ / หน่วย
- จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ 151-300 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์ / หน่วย
โดยกระทรวงพลังงานประเมินว่ามาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้จะมีผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 19.66 ล้านราย และคาดว่าจะใช้วงเงินช่วยเหลือประมาณ 7,500 ล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดิน และงบที่ได้รับการจัดสรรโดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ระเบียบและขั้นตอน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป