ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ กรณีพลังงานให้เอกชนผลิตไฟฟ้า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ กรณีพลังงานให้เอกชนผลิตไฟฟ้า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

9 มกราคม 2023


ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ กรณีกระทรวงพลังงานให้เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้า จนทำให้กำลังการผลิตของรัฐมีสัดส่วนต่ำกว่า 51% ถูกต้องตามกฎหมาย-ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอแนะ “กพช.-กกพ.” ควรกำหนดเพดานการผลิต-ปริมาณไฟฟ้าสำรองของภาคเอกชน ซึ่งมีผลกระทบต่อการเรียกเก็บค่าไฟจากประชาชน ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าจริง ชี้หากกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงเกินไป ทำให้เกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีโดยองค์กร – ศาลอื่นได้

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 16/2565 กรณีนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล (ผู้ร้อง) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 กรณีกระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ. 2559 – 2563) พัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง หรือ ไม่?

ผลการพิจารณาในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า “การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 (สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน) และผู้ถูกร้องที่ 2 (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรค 2 ประกอบมาตรา 3 วรรค 2” และศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า “การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรค 3 และวรรค 4 ประกอบมาตรา 3 วรรค 2”

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนำว่า “รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องดำเนินการกำหนดกรอบ หรือ เพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้อง และใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ อาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่น หรือ ศาลอื่นได้

อ่าน แถลงข่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีกระทรวงพลังงานให้เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้า ที่นี่