ThaiPublica > เกาะกระแส > หนึ่งศตวรรษของตุตันคามุน การขุดพบสุสานที่เปลี่ยนโลก

หนึ่งศตวรรษของตุตันคามุน การขุดพบสุสานที่เปลี่ยนโลก

7 พฤศจิกายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : wikipedia.org

เมื่อ 100 ปีมาแล้ว วันที่ 1 พฤศจิกายน 1922 โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) เรียกหัวหน้าคนงานขุดสุสานมาพบที่บ้านพักของเขาซึ่งตั้งอยู่นอกพื้นที่ “หุบเขากษัตริย์” (Valley of the Kings) และบอกว่า ต้องการที่จะเริ่มงานขุดหาสุสานให้เร็วที่สุด ในสมัยนั้น นักโบราณคดีมีเวลาทำงานในหุบเขากษัตริย์ไม่มากอยู่แล้ว ช่วงเมษายน-ตุลาคมอากาศร้อนจัด ทำให้การทำงานขุดหาสุสานในหุบเขากษัตริย์เหมือนอยู่ในเตาอบ นอกจากนี้ ยังเกิดพายุทรายเป็นระยะๆ

โอกาสสุดท้าย

สำหรับคาร์เตอร์เอง การขุดหาสุสานในครั้งนี้ พร้อมกับคนงานจำนวน 50 คนนั้น อาจเป็นโอกาสสุดท้ายของเขาแล้วที่จะทำงานในหุบเขากษัตริย์ คาร์เตอร์เพิ่งเดินทางกลับจากอังกฤษหลังจากไปพบกับลอร์ดคาร์นาร์วอน (Carnarvon) ขุนนางอังกฤษฐานะมั่งคั่ง ที่หลงใหลในเรื่องโบราณคดีอียิปต์โบราณ และสนใจการขุดหาสมบัติ ทั้งสองคนรู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1906

ปี 1914 เมื่อทั้งสองคนได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลอียิปต์ในการขุดหาสมบัติในบริเวณหุบเขากษัตริย์ เวลานั้น นักโบราณคดีจำนวนมากคิดว่าไม่มีสุสานอะไรเหลือให้ขุดพบอีกแล้ว เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าของลอร์ดคาร์นาร์วอน แต่คาร์เตอร์มั่นใจว่า ยังมีสุสานอีกแห่งที่ยังไม่มีใครค้นพบ คือสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน ที่คาร์เตอร์รู้จักในช่วงเคยทำงานกับนักโบราณคดีคนหนึ่ง

ตุตันคาร์มุนปกครองอียิปต์โบราณเมื่อ 3 พันกว่าปีมาแล้ว ทุกวันนี้เป็นฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก แต่ในสมัยคาร์เตอร์ไม่มีใครรู้จักฟาโรห์องค์นี้เลย นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่าตุตันคามุนไม่ได้มีความสำคัญอย่างใด ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน และสิ้นพระชนม์เมื่อยังเยาว์วัย

นอกจากนี้ ตุตันคามุนมีปริศนา 2 อย่างที่นักประวัติศาสตร์ไม่มั่นใจ คือ ใครคือบิดามารดาของตุตันคามุน และพระองค์สิ้นพระชนม์อย่างไร แต่คาร์เตอร์ไม่สนใจเรื่องนี้ และมั่นใจว่าสุสานของพระองค์ยังฝังซ่อนอยู่ในบริเวณหุบเขากษัตริย์ คาร์เตอร์ยังมั่นใจด้วยว่าเป็นสุสานหลวงที่ยังไม่ถูกโจรปล้นสุสานบุกเข้าไปแม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายพันปีแล้วก็ตาม ลอร์ดคาร์นาร์วอนเองก็ตื่นเต้นกับแนวคิดของคาร์เตอร์ หากค้นพบจริง ก็จะเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ที่สุดทางโบราณคดี

แต่เมื่อทั้งสองคนเริ่มลงมือขุดหาสุสานได้ไม่นานก็ต้องยกเลิกลงชั่วคราวเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้โครงการขุดหาสุสานต้องรอไปอีก 3 ปี คาร์เตอร์กลับมาทำงานใหม่ในปี 1917 ในช่วงปี 1917-1921 ลอร์ดคาร์นาร์วอนออกเงินให้คาร์เตอร์ในการขุดหาสุสานตุตันคามุน เมื่อเข้าสู่ปี 1922 คาร์นาร์วอนบอกให้คาร์เตอร์กลับมาอังกฤษ เพื่อจะแจ้งข่าวร้ายว่า ไม่ต้องการจะเสียเงินขุดหาสุสานอีกต่อไปแล้ว

คาร์เตอร์ตกใจมากกับข่าวร้าย เพราะตัวเองยังมุ่งมั่นจะทำงานต่อ คาร์เตอร์ขอร้องให้คาร์นาร์วอนให้โอกาสเป็นครั้งสุดท้ายในการค้นหาสุสาน โดยเอาแผนที่มากางให้คาร์นาร์วอนดู ว่ายังมีพื้นที่เล็กๆ ที่ยังไม่ได้ขุดหา คาร์เตอร์ยังบอกว่า หากขุดไม่พบในครั้งนี้ก็จะคืนเงินให้คาร์นาร์วอน แต่ด้วยจิตใจของนักโบราณคดี คาร์นาร์วอนยอมตามที่คาร์เตอร์ขอร้อง โดยจะออกเงินให้กับการขุดหาอีกฤดูหนาวหนึ่ง

นาทีการขุดพบ

คาร์เตอร์ดีใจมากที่ได้รับโอกาสอีกครั้ง และรีบเดินทางกลับอียิปต์ทันที วันที่ 1 พฤศจิกายน 1922 คาร์เตอร์และคนงาน 50 คนได้ค่าแรงวันละ 1 ชิลลิง เข้าพื้นที่หุบเขากษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งสุดท้าย คาร์เตอร์ให้คนงานขุดบริเวณที่เคยบอกกับคาร์นาร์วอนไว้ เป็นบริเวณใกล้กับสุสานของฟาโรห์รามเสสที่ 6 ครั้งหนึ่งคาร์เตอร์เคยมองข้ามพื้นที่ตรงนี้ไป เพราะคิดว่าคงไม่มีสุสานหลวงแห่งหนึ่งที่จะตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าสุสานหลวงอีกแห่งหนึ่ง

ที่มาภาพ : Amazon.com

แต่แล้ว ในวันที่ 4 พฤศจิกายน เด็กหนุ่มอียิปต์ที่ทำงานในพื้นที่ก็โชคดีโดยบังเอิญ ขณะที่ขนน้ำดื่มไปให้กับคนงานขุด ช่วงกำลังมองหาบริเวณที่จะวางถังน้ำ ก็ไปสะดุดก้อนหินจนเกือบล้มลง เด็กหนุ่มคนนี้ก้มมองไปที่ก้อนหินที่ราบเรียบวางเป็นเหลี่ยมมุม คล้ายกับก้อนหินที่ถูกสกัดขึ้นมา เมื่อไปแจ้งแก่คนงาน พวกคนงานตื่นเต้นและพากันขุดเอาดินทรายที่ทับถมออกไป

เมื่อขุดทรายรอบก้อนหินออกไปแล้ว สิ่งที่ทุกคนมองเห็นคือขั้นบันได ที่เจาะลงไปยังฐานหินแนวราบในหุบเขากษัตริย์ ดูแล้วมีสภาพเป็นบันไดหินที่เก่ามาก บริเวณนี้อยู่ห่างมา 15 ฟุตจากทางเข้าสุสานของรามเสสที่ 6 ฟาโรห์ที่ครองราชย์ภายหลังตุตันคามุน 200 ปี

เมื่อคาร์เตอร์เดินทางมาถึง พวกคนงานยืนรออยู่รอบบริเวณ คาร์เตอร์เขียนไว้ในหนังสือ The Discovery of the Tomb of Tutankhamen ว่า เสียงเงียบจากการหยุดงานของบรรดาคนงานทำให้ตัวคาร์เตอร์คิดว่ามีบางอย่างที่ไม่ปกติเกิดขึ้น หัวหน้าคนงานเป็นคนที่ดีใจตื่นเต้นที่สุด เขาบอกคาร์เตอร์อย่างมั่นใจว่าได้ขุดพบบันไดทางลงแล้ว บริเวณนี้อยู่ใต้ที่พักคนงานในอดีต ที่สร้างของสุสานของรามเสสที่ 6

เวลานั้น คาร์เตอร์ยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นสุสานของตุตันคามุน เพราะทางลงเข้าสุสานธรรมดาเกินไปที่จะเป็นสุสานของฟาโรห์ แต่คาร์เตอร์ก็รู้ว่า ทางเข้าสุสานหลวงจะเริ่มต้นด้วยการสร้างเป็นบันไดทางลง หลังจากนั้น คนงานค่อยๆ เคลียร์ทางลงไปถึงบันไดขั้นสุดท้ายทั้งหมด 16 ขั้น จนถึงประตูปิดสุสานที่เป็นอิฐและปูนพลาสเตอร์ มุมประตูมีตรารูปสลักวงกลมเรียวยาว เป็นรูปเชลยศึก 9 คนและหมาจิ้งจอก (jackal)

คาร์เตอร์รู้ว่ารูปสัญลักษณ์นี้ใช้กับสุสานหลวงของฟาโรห์เท่านั้น หมาจิ้งจอกคือเทพที่ปกป้องสุสานและมัมมี่คนตาย รูปสัญลักษณ์ที่ยังอยู่ครบถ้วนหมายความว่าสุสานยังไม่ถูกปล้นใช่หรือไม่ คาร์เตอร์ให้คนงานปิดทางลงสุสานใหม่ จัดเวรยามดูแล แล้วรีบเดินทางไปเมืองลักซอร์ เพื่อส่งโทรเลขแจ้งข่าวลอร์ดคาร์นาร์วอนว่า “ในที่สุดก็ขุดพบที่วิเศษยิ่งในหุบเขา สุสานที่มหัศจรรย์ มีตราสัญลักษณ์ปิดผนึกอยู่แบบเดิม ขอแสดงความยินดี”

ที่มาภาพ : หนังสือ Tutankhamun’s Treasure, David Long, 2022

“มองเห็นอะไรหรือเปล่า”?

เมื่อได้รับโทรเลข คาร์นาร์วอนตื่นเต้นเหมือนกับคาร์เตอร์ และต้องการไปอียิปต์เร็วที่สุด ในเวลานั้น คาร์นาร์วอนโดยสารเรือข้ามช่องแคบอังกฤษ นั่งรถไฟในฝรั่งเศสมาถึงเมืองท่ามาร์แซย์ นั่งเรือต่อมาเมืองท่าอเล็กซานเดีย และรถไฟมาเมืองลักซอร์ คาร์นาร์วอน ที่มากับบุตรสาว คือ เลดี้ เอเวอร์ลีน ใช้เวลาเดินทาง 2 สัปดาห์ เมื่อมาถึงบ้านพักคาร์เตอร์ในวันที่ 23 พฤศจิกายน สิ่งแรกที่ทำคือแสดงความยินดีกับคาร์เตอร์

วันรุ่งขึ้น คาร์นาร์วอนและบุตรสาวนั่งลามาจุดที่พบสุสาน ซึ่งคาร์เตอร์ให้คนงานเคลียร์บันไดทางลงไว้แล้ว เมื่อก้าวลงไปถึงบันไดขั้นที่ 16 ก็เห็นตราสัญลักษณ์ของ “ตุตันคามุน” และตราสัญลักษณ์ “สุสานหลวง” ยังมีสภาพเดิม แต่สิ่งที่คาร์เนอร์ตกใจมากคือ ส่วนบนของมุมประตูถูกเจาะเป็นรู ความเสียหายตรงจุดนี้ ได้รับการปิดซ่อมแซมใหม่ โดยมีตราสุสานหลวงกำกับไว้

ก่อนรื้อประตูเข้าไป มีการถ่ายภาพตราสัญลักษณ์นี้ไว้ เพื่อให้นักประวัติศาสตร์ได้เห็นรูปตราสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์ และเพื่อพิสูจน์ทราบว่า เป็นสุสานที่มีตราสัญลักษณ์ปิดอยู่ ต่อจากประตูเป็นทางเดินยาว 25 ฟุต เจาะผ่านชั้นหิน สองข้างทางเต็มไปด้วยเศษหิน หลังจากเคลียร์เศษหินออก มาถึงประตูสุสานอีกประตูหนึ่ง ประตูนี้ถูกเจาะเช่นเดียวกัน และมีหลักฐานแสดงว่า ได้มีการการปิดซ่อมแซมแล้ว จุดนี้แสดงว่า สุสานตุตันคามุนเคยมีคนบุกเข้ามาแล้ว

วันที่ 26 พฤศจิกายน คาร์เตอร์เขียนไว้ว่า เป็นวันที่วิเศษที่สุดในชีวิต คาร์นาร์วอน บุตรสาว และคอลเลนเดอร์ ผู้ช่วยคาร์เตอร์ ยืนอยู่ข้างหลัง ขณะที่คาร์เตอร์กำลังเจาะช่องเล็กๆ มุมซ้ายของประตูที่ 2 “ในความมืดและพื้นที่ว่าง ผมสอดเหล็กใช้ทดสอบไปจนสุด สิ่งที่อยู่ภายในคือความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย ขยายช่องที่เจาะให้ใหญ่ขึ้น ผมเอาเทียนสอดเข้าไปและเพ่งดู อากาศร้อนจากในห้องไหลหนีออกมา ทำให้เปลวเทียนสั่นไหว”

“แต่ไม่นาน เมื่อสายตาผมคุ้นเคยกับแสง รายละเอียดภายในห้องค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาจากความมืดมัว สัตว์ประหลาด รูปประติมากร และทอง ทุกแห่งมีแต่รัศมีของทอง ลอร์ดคาร์นาร์วอนทนสงสัยไม่ได้อีกต่อไป ร้องถามด้วยความอยากรู้ว่า เห็นอะไรไหม ผมพูดตอบกลับได้เพียงแค่ว่า “ครับ สิ่งมหัศจรรย์” (Yes, wonderful things)

ที่มาภาพ : journeytoegypt.com

“สิ่งมหัศจรรย์”

บรรดาทรัพย์สมบัติที่มีค่ามหาศาลที่คาร์เตอร์มองเห็นครั้งแรก ถูกเก็บในห้องที่เขาเองตั้งชื่อว่า Antechamber สมบัติต่างๆ ถูกวางเรียงรายระเกะระกะ อยู่ในสภาพคล้ายกับห้องเก็บของไม่ใช้แล้วในบ้านคนเรา สมบัติที่ว่า ได้แก่ เตียงนอนปิดทอง บัลลังก์ รถม้าศึก และเหยือกภาชนะ ถูกนำมากองไว้อย่างไร้ระเบียบ

คาร์เตอร์คิดว่า สภาพดังกล่าวสะท้อนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว สุสานถูกบุกเข้ามาปล้น ไม่ใช่ครั้งเดียว แต่สองครั้ง เหตุการณ์คงเกิดขึ้นไม่นาน หลังจากการฝังพระศพตุตันคามุนแล้ว ครั้งแรกพวกโจรคงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่สุสาน แต่ถูกจับได้เสียก่อน และสุสานถูกปิดผนึกใหม่ ทำให้สมบัติมีค่าไม่ได้ถูกขโมยไป แต่ในครั้งแรก พวกโจรขโมยทองและหินมีค่า ครั้งที่สอง ขโมยน้ำมันและครีม ของมีค่าที่มีสภาพคล่องสูงในตลาด

สุสานตุตันคามุนมีขนาดเล็กสุดในบรรดาสุสานของหุบเขากษัตริย์ มีห้องลับแค่ 4 ห้อง แต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์ สิ่งของพวกนี้สำหรับมัมมี่นำไปใช้ในชีวิตหลังความตาย สิ่งของติดตัวของตุตันคามุนมีมากจนห้องบรรจุไม่พอ การจัดวางของในห้องเหมือนกับพยายามอัดของเข้ามาให้ได้มากสุด ก่อนที่จะปิดสุสาน

คาร์เตอร์ใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการขนย้ายและจดบันทึกสมบัติแต่ละชิ้นที่นำออกจากสุสาน ในรายการจดบันทึกของคาร์เตอร์มีมากกว่า 5,000 ชิ้น พิพิธภัณฑ์ใหม่ของอียิปต์ชื่อว่า The Grand Egyptian Museum ติดกับมหาพีระมิด และจะเปิดในเร็วๆ นี้ จัดห้องเฉพาะหมายเลข 93 เพื่อแสดงสมบัติตุตันคามุนทั้งหมด 5,640 ชิ้น แต่สมบัติตุตันคามุนที่สร้างความตื่นเต้นแก่คนทั่วโลก คือ หน้ากากทองคำที่ทำขึ้นจากทองคำแท้

คาร์เตอร์มีแผนที่จะเอาสมบัติตุตันคามุนออกมาจากอียิปต์ให้มากที่สุดและนำกลับมาอังกฤษ แต่รัฐบาลอียิปต์ไม่ยอม ก่อนหน้านี้ อียิปต์ผ่านกฎหมายให้สมบัติที่ขุดพบตกเป็นของอียิปต์ทั้งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญคิดว่า คาร์เตอร์คงจะหยิบขโมยทรัพย์สินขนาดเล็กบางอย่างไปจากสุสานไป เพราะวัตถุของสุสานบางอย่างไปปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของเยอรมันและอเมริกา

คำสาปมัมมี่

หลังจากเคลียร์ห้อง Antechamber เสร็จ คาร์เตอร์หันมาสนใจอีก 2 ห้องที่พวกโจรบุกเข้ามาเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ดูแลสุสานได้ปิดส่วนของประตูที่พวกโจรเจาะเข้ามา ห้องถัดมาชื่อ Annex มีสมบัติคล้ายกับในห้อง Antechamber ส่วนอีกห้องหนึ่ง คาร์เตอร์คิดว่าเป็น “ห้องฝังพระศพ” วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1923 มีการเชิญแขกสำคัญมาร่วมพิธีเกิด 20 คน

เมื่อคาร์เตอร์รื้อก้อนหินประตูออกมา ความลับของห้องนี้ก็ถูกเปิดเผยออกมา สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าคือ กำแพงข้างหนึ่งของสถูปไม้ปิดทองขนาดใหญ่ สร้างไว้เพื่อครอบโลงศพหินเรียกว่า Sarcophagus กำแพงด้านหนึ่งของห้องฝังพระศพ มีประตูที่ไม่ไม่ได้ปิด ไปสู่ห้อง “พระคลังสมบัติ” (Treasure) มีสมบัติมีค่ามากมายเช่นกัน

สัปดาห์ต่อมา ฤดูการทำงานของคาร์เตอร์ก็หยุดลงชั่วคราว สุสานถูกปิดตายอีกครั้ง ในฤดูการทำงานถัดมาของคาร์เตอร์ ฝาครอบโลงศพหินถูกเปิดออกมา ทำให้เห็นโลงศพตุตันคามุน สิ่งที่ครอบคลุมใบหน้าและไหล่ของมัมมี่ คือหน้ากากทองคำ หนึ่งในโบราณสมบัติที่ มีคุณค่าทางศิลปะมากสุดชิ้นหนึ่งของโลก

ลอร์ดคาร์นาร์วอนไม่มีโอกาสได้เห็นหน้ากากทองคำ เดือนเมษายน 1923 คาร์นาร์วอนเสียชีวิตในโรงแรมไคโรจากการติดเชื้อเพราะยุงกัด การเสียชีวิตของคาร์นาร์วอนไปช่วยพิสูจน์ข่าวลือที่มีมาตั้งแต่การขุดพบสุสานตุตันคามุนว่า ใครก็ตามที่ไปรบกวนสุสานฟาโรห์ จะต้องมีอันเป็นไปจากคำสาปมัมมี่ หลังจากนั้น คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขุดพบสุสานตุตันคามุน หากประสบเหตุมีอันเป็นไป แม้จะเพียงน้อยนิด เรื่องคำสาปมัมมี่ก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่

แต่สิ่งที่ช่วยหักล้าง “ทฤษฎีคำสาปมัมมี่” ได้ดีที่สุด คือตัวคาร์เตอร์เอง คาร์เตอร์ควรเป็นคนที่ชีวิตอันตรายที่สุดจากคำสาปมัมมี่ แต่คาร์เตอร์กลับมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างดี มีเกียรติยศชื่อเสียง และเสียชีวิตในปี 1939 เมื่ออายุ 66 ปี หรือ 17 ปีหลังจากค้นพบสุสานแล้ว

เอกสารประกอบ

Treasures of Tutankhamun, Ballantine, 1978.
Tutankhamun’s treasure, David Long, Barrington Stoke Ltd, 2022.