ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ธ.ก.ส.ทุ่ม 1.5 แสนล้านหนุนหัวขบวน ‘ธุรกิจสีเขียว’ เชื่อมซัพพลายเชนสร้างเครือข่ายชุมชนโตอย่างยั่งยืน

ธ.ก.ส.ทุ่ม 1.5 แสนล้านหนุนหัวขบวน ‘ธุรกิจสีเขียว’ เชื่อมซัพพลายเชนสร้างเครือข่ายชุมชนโตอย่างยั่งยืน

4 กันยายน 2022


กลุ่มธุรกิจทักษิณ ปาล์ม โมเดล บริหารจัดการทรัพยากรแบบ Zero Waste ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้าน ธ.ก.ส. หนุนศักยภาพผู้ประกอบการหัวขบวน ทำธุรกิจ คู่กับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01 ต่อปี สินเชื่อเสริมแกร่ง SMEs เกษตร และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ร้อยละ 4 ต่อปี รวมวงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท

ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ทำให้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มทำอย่างจริงจัง และคงไม่ใช่เพียงเรื่องของซีเอสอาร์ หรือการสร้างภาพลักษณ์ทางธุรกิจ หากเป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเกิดผลกระทบที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

นายตรรก พงษ์เภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัททักษิณ ปาล์ม (2521) จำกัด

โมเดลการทำธุรกิจไปพร้อมกับการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนที่ทำได้จริง โดย “นายตริน พงษ์เภตรา กรรมการบริหาร และนายตรรก  พงษ์เภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทักษิณ ปาล์ม (2521) จำกัด ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ได้พิสูจน์แล้วว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร โดยบริหารจัดการทรัพยากรแบบ Zero Waste สามารถทำได้จริง

“ตริน” และ ตรรก” ผู้บริหาร บริษัททักษิณ ปาล์ม รุ่นที่ 3 ต่อจากรุ่นปู และพ่อ บอกว่า แนวทางบริหารของบริษัทเดินไปคู่กับเกษตรกรตั้งแต่รุ่นปู่ ซึ่งเริ่มต้นจาการทำสวนปาล์ม ก่อนที่จะมาสร้างโรงงานปาล์ม และพัฒนาไปสู่การธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจร ตั้งแต่เพาะต้นกล้าปาล์มจนถึงโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โดยเน้นบริหารจัดการลดปริมาณของเสีย (Zero Waste) และส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“วิธีคิดนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ที่ทำงานคู่ไปกับเกษตรกร  เพราะต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน  และพยายามที่จะใช้ทรัพยากรทั้งหมดของโรงงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

โรงงานปาล์มน้ำมันแบบ Zero Waste

น้ำเสียจากโรงงานน้ำมันปาล์มผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล
โรงไฟฟ้าชีวภาพ

บริษัททักษิณ ปาล์ม แม้จะเริ่มก่อตั้งในปี 2521 แต่ในรุ่นปู่ได้เริ่มทำธุรกิจสวนปาล์มมาก่อนจะมีโรงงานปาล์มน้ำมัน  และได้เริ่มแนวคิดหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในปี 2550 ได้นำน้ำเสียจากโรงงานน้ำมันปาล์มมาสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ขนาด 2.4 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้กลับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

“น้ำเสียจากโรงงานน้ำมันปาล์มไม่มีเหลือทิ้งเลยเพราะเราต่อท่อเพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำ เปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า”

นอกจากโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพแล้ว มีสร้างโรงไฟฟ้าจากทลายปาล์มแห่งแรกของโลก โดยพัฒนาร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งลงทุ่นซื้อคาร์บอนเครดิตจากโรงไฟฟ้าล่วงหน้า 25 ปี ด้วยงบประมาณ 700 ล้านบาท โดยขายคาร์บอนได้ปีละ 4.8หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์

“เดิมทลายปาล์มไม่มีประโยชน์ ต้องทิ้งหรือนำไปถมที่ดิน แต่ตอนนี้สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ ต้องแย่งกันซื้อตันละ 300-400 บาท แต่เรานำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงานทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในกระบวนการผลิต”

ไม่เพียงการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อนำของเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เท่านั้นหากในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มยังสามารถใช้ทุกส่วนของปาล์มมาเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้ ตั้งแต่เส้นใยปาล์ม และ กะลาปาล์มาใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า

ทลายปาล์ม

เม็ดในปาล์ม

ส่วนเม็ดในปาล์ม นำมาผลิตน้ำมัน ต่อยอดอุตสาหกรรม เครื่องสำอางได้  ขณะที่ขี้เค้ก (เถ้าจากการผลิต ) ขายเพื่อนำไปเป็นปุ๋ย โดยปัจจุบันมีเกษตรกรมารับซื้อหน้าโรงงานทุกวัน

ยกระดับเกษตรกร ปลูกปาล์มคุณภาพ

แม้จะมีสวนปาล์มกว่า 1.5 หมื่นไร่ แต่ผลผลิตที่ได้เพียงแต่ร้อยละ 10 ของโรงงาน ดังนั้นต้องพึ่งพาเกษตรกรและพัฒนาไปพร้อมกัน  โดยการทำงานร่วมกับเกษตรกร เริ่มมาตั้งแต่รุ่นปู่ที่ทำธุรกิจสวนปาล์มก่อนจะสร้างโรงงานปาล์ม

“เราต้องทำงานร่วมกับเกษตรกรสวนปาล์ม เนื่องจากเรามีสวนปาล์มเพียง 1.5 หมื่นไร่ แต่โรงงานปาล์มของเราผลิต 4.5 ตันต่อชั่วโมง  ต้องซื้อปาล์มปีละ 2.4 แสนตัน หมายถึงพื้นที่ปลูก 8.5 หมื่นไร่  แต่เรามี 2 โรงงานต้องซื้อปาล์มจาก 1.7 แสนไร่  ซึ่งเราปลูกเองไม่ได้ทั้งหมดต้องพึ่งพาเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ถ้าเขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้”

นายตริน พงษ์เภตรา กรรมการบริหาร ทักษิณปาล์ม กับต้นกล้าปาล์ม

การทำงานร่วมกับเกษตรกรจะเริ่มตั้งแต่เมล็ดพันธ์ปาล์มที่มีคุณภาพ สามารถให้ผลผลิตได้ดีหลังจากที่ปลูกไปแล้ว 4 ปี เราจึงเริ่มนำเข้าเมล็ดพันธุ์ปาล์ม จาก คอสตาริกา,  ปาปัวนิวกินี , จำนวน 4 แสนเมล็ดนำมาเพาะกล้าปาล์มที่มีคุณภาพขายให้กับเกตรกรในราคาต่ำกว่า ราคาตลาด

“ต้นกล้าปาล์มมีความสำคัญมากกับเกษตรกร หากต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพ เราจึงนำเมล็ดมาเพาะเพื่อจำหน่าย โดยผ่านกระบวนการคัดต้นกล้าที่มีคุณภาพ 9 เดือนก่อนที่จะส่งให้เกษตรกรปลูก”

บริษัททักษิณ ปาล์ม ยังเป็นหัวขบวนในโครงการการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ ขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยการสนับสนุนการรวมกลุ่มในรูปแบบของเกษตรแปลงใหญ่เพื่อวางแผนการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรมีตลาดรองรับในการจำหน่ายผลผลิต ได้รายได้เพิ่มมากขึ้น

พร้อมกันนี้ยังเป็นจุดรับซื้อปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในราคาสูงกว่าตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการจัดหาและจำหน่ายปุ๋ยให้กับเกษตรกร โดยในราคาต้นทุนเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อยกระดับเกษตรกรได้ทำโครงการทำฐานข้อมูลเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรต้องการพัฒนาคุณภาพการผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น  โดยร่วมกับเกษตรกร 20 รายทำการวิจัย เก็บข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ คุณภาพต้นปาล์ม ว่าทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากขึ้น

ส่วนเรื่องปุ๋ย ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักของเกษตรกรได้ร่วมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมนำของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตมาผลิตเป็นปุ๋ย เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการส่งเสริมความรู้ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมของไทย

ธ.ก.ส.ทุ่มสินเชื่อ 1.5แสนล้าน เสริมแกร่งธุรกิจหัวขบวน

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บอกหลังจากเยี่ยมชมโรงงานของกลุ่มทักษิณ ปาล์ม ว่า บริษัททักษิณ ปาล์ม ถือเป็นผู้ประกอบการหัวขบวนที่เข้มแข็งและมีศักยภาพในการดึงเครือข่ายเกษตรกรให้เติบโตได้ โดยการนำเอาองค์ความรู้ นวัตกรรม มาสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจร ระบบบริหารที่ลดปริมาณของเสีย (Zero Waste) และส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสร้างความยั่งยืนได้

“ธ.ก.ส. สนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นหัวขบวนร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เข้าไปเติมองค์ความรู้ ทั้งในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้ได้คุณภาพให้กับเกษตรกร”

ดังนั้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการหัวขบวนให้สร้างความเข็มแข็งให้กับเครือข่ายธุรกิจได้จึง ได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลากหลายให้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ที่เน้นสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านและกลุ่มเกษตรกรในการขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการแปรรูปผลผลิต วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี

รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการ SME เกษตรหัวขบวนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Smart Farmer) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักอาชีพเกษตรกรรม นำความรู้และประสบการณ์กลับไปพัฒนาและต่อยอดธุรกิจที่บ้านเกิด ผ่านสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพและสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินรวม 90,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการดำเนินงานและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลัก BCG ด้วยการทำเกษตรแบบอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย  การใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) วงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR – (0.5 – 1) ต่อปี