ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์” รัฐต้องสร้าง “โมเดลดอกเห็ด” Active Partner – เลิกติดกับดักตัวชี้วัด

ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์” รัฐต้องสร้าง “โมเดลดอกเห็ด” Active Partner – เลิกติดกับดักตัวชี้วัด

10 สิงหาคม 2022


วันที่ 8 สิงหาคม 2565 สำนักข่าวไทยพับลิก้าร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนา ThaiPublica Forum 2022 : “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวาระครบรอบก้าวสู่ปีที่ 12 ของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่มุ่งเน้นการเป็นองค์กรสื่อเพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืน

ThaiPublica Forum 2022 หรือเวทีปัญญาสาธารณะครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นต่อยอดมุมมอง เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยมี ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมวิทยากรจากวิทยากรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” โดย เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย Head, WRI UK Office; and Director, Strategy and Partnerships, World Resources Institute Ross Center for Sustainable Cities, จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงทางเดินสู่ความยั่งยืนของประเทศไทยว่า การก้าวร่วมกัน สู่ก้าวที่ยั่งยืน บทบาทภาครัฐจะทำอย่างไร ให้ก้าวร่วมกันและก้าวต่อไปอย่างยั่งยืนมั่นคง โดยทางเดินแห่งความยั่งยืนที่เราต้องเดินไปในอนาคตต่อจากนี้เราจะเดินไปอย่างไร

หลายคนอาจจะได้ยินคำว่า SDGs ซึ่งเป็นทางเดินของประเทศไทย โดยมีหมุดหมายปลายทางคือความยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ทุกภาคส่วนได้ปักธงไว้ร่วมกันแล้ว เพราะฉะนั้น การที่เราจะเดินไปให้ถึงจุดหมายปลายทางความยั่งยืนในปี 2030 หรือ 2573 เราจะก้าวร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงได้อย่างไร

ดร.ธัชไทกล่าวว่า ทางเดินสู่ความยั่งยืน ภาครัฐต้องเป็นทั้ง facilitator เติมเต็มในส่วนที่ขาด และ regulator ผู้ควบคุมสิ่งที่อาจจะเป็นผลลบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ต้องสร้าง active partner ให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนสังคม เพื่อเดินไปด้วยกันสู่ก้าวที่ยั่งยืนได้

ทางเดินสู่ความยั่งยืนไม่ใช่ทางเดินใหม่

ทางเดินสู่ความยั่งยืน ไม่ใช่ทางเดินที่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่จริงๆ แล้วสหประชาชาติได้คุยเรื่องอนาคตของความยั่งยืนมาตั้งนานแล้ว อาจจะจำได้ถึงเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ Millennium Development Goals หรือ MDGs ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2000 แต่ขณะนั้นหลายคนในประเทศไทยอาจจะห่วงเรื่องของ Y2K และกังวลว่าการก้าวข้ามทศวรรษจะทำให้คอมพิวเตอร์ดับหรือไม่

ขณะที่สหประชาชาติมองว่าเราข้ามทศวรรษใหม่ และจะเดินหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืนไปอย่างไร เพราะฉะนั้น MDGs จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 โดยในช่วง 15 ปีแรกจึงเรียกทางเดินแห่งความยั่งยืนว่า MDGs

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการตามทางเดิน MDGs ตลอด 15 ปี และเป็นเรื่องที่น่ายินดี การดำเนินการใน 8 เป้าหมายของ MDGS ประเทศไทยได้ดำเนินการประสบความสำเร็จได้ในหลายเป้าหมาย แม้จะยังมีอีกหลายเป้าหมายที่ถือว่าเป็นความท้าทาย

ดร.ธัชไทกล่าวว่า หลังจากสหประชาชาติประสบความสำเร็จจาก MDGs แล้วในปี 2015 จึงได้เริ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs โดยมีความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายหลักที่ต้องการก้าวเดินต่อไป

กรอบ SDGs ระหว่างปี ค.ศ. 2016 ถึงปี 2030 ถือเป็น 15 ปีที่สหประชาชาติได้ร่วมกันวางทางเดินไว้ และตลอดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยทำได้ดีหลายเรื่อง แต่บางเรื่องอาจจะสะดุด ชะงักจากการระบาดของโควิด-19

“ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เดินไปบนเส้นทางความยั่งยืนได้ในหลายเรื่อง แต่บางเรื่องยังเดินไปได้ไม่พอ โดยเฉพาะในเรื่องความยากจนเราทำได้ดี แต่เมื่อเกิดโควิด-19 เราเกิดภาวะชะงักรุนแรง แต่ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว หลายประเทศก็ชะงักไปพร้อมกับไทย และเรื่องของสุขภาพ เช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมดไทยสามารถรับมือได้ดีที่จะเดินไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน”

  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “วิรไท สันติประภพ” ชี้สิ่งที่ต้องทำคือ ‘sustainability in substance’ ไม่ใช่แค่ติ๊กถูก
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย” ถามดังๆ ‘ถ้าไม่ใช่เราแล้วใคร ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วเมื่อไหร่’
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “จิราพร ขาวสวัสดิ์” เขย่าวิธีคิดธุรกิจ ต้องเปลี่ยน me เป็น we แคร์สังคม สิ่งแวดล้อม
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ชู BCG ยกระดับอุตสาหกรรม
  • ประเมินสถานะ SDGs 5 ปีแรกยังมีเรื่องท้าทาย

    “ทางเดิน” หรือจุดหมายแห่งความยั่งยืนที่ได้วางไว้แล้ว แต่การที่จะเดินไปให้ถึงจุดหมายที่วางไว้โดยที่ยังไม่มีใครตกข้างทางไปก่อน หรือไม่มีใครหลุดออกนอกเส้นทางนี้ไปก่อน คงต้องเดินทางไปด้วยกันโดยมีปลายทางความยั่งยืนอยู่ที่ปี 2030

    “อย่างไรก็ตาม การเดินไปตามทางเดินสู่ความยั่งยืน ต้องรวมไปถึงการเดินตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาประเทศในระยะยาว ถือเป็นทางเดินไปเพื่อความมั่นคงร่วมด้วย ดังนั้น การเดินทางนี้ไม่สามารถเดินคนเดียวได้ ต้องเดินไปพร้อมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อเดินไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน”

    ที่ผ่านมาประเทศไทยได้กำหนดตัวประเมินผลสถานะ SDGs ที่ผ่านมา และถือเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานราชการของไทยได้ออกมาพูดถึงสถานะ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายหลัก และ 169 เป้าหมายย่อย

    โดยการประเมินสถานะของ SDGs ในช่วง 5 ปี ได้ใช้สัญลักษณ์โดยใช้ไฟจราจร เขียว เหลือง ส้ม แดง โดยสีเขียวคือดำเนินการบรรลุแล้ว สีเหลืองอยู่ระหว่างทางกำลังไปให้ถึง แต่สีส้มกับสีแดงถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

    “ช่วง 5 ปีแรกที่ผ่านมาในการประเมินสถานะ SDGs ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี แต่ยังไปไม่ถึงตัวเป้าหมาย โดยใน 17 เป้าหมายหลัก พบว่า 10 เป้าหมายหลักได้สีเหลือง ขณะที่อีก 7 เป้าหมายหลักได้สีส้ม แต่ถ้าในรายละเอียดเป้าหมายย่อย 169 เป้าหมายย่อยพบว่า 30% ประเทศไทยดำเนินเป็นสีเขียวได้บรรลุเป้าหมาย”

    ขณะที่ 20 % ยังเป็นสีส้มและอีก 5 % เป็นสีแดง ซึ่งทั้งสีส้มและสีแดง จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจ และให้เป็นเป้าหมายความสำคัญอย่างสูง เพราะนั่นอาจจะหมายถึงการเดินไปไม่ถึงยั่งยืนได้

    ทางเดินสู่ความยั่งยืนต้อง”บูรณาการร่วมกัน”

    ดร.ธัชไทย้ำว่า การขับเคลื่อนเพื่อสู่ความยั่งยืนต้องเดินไปอย่างบูรณาการโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะว่าความยั่งยืนไม่ใช่สิ่งที่ภาคส่วนเดียวจะเดินไปได้ หรือสามารถเดินไปคนเดียวได้ เช่น ภาครัฐขับเคลื่อนไปโดยการออกกฎหมายระเบียบที่เป็นแบบทอปดาวน์ลงมา หรือว่าออกมาตรการต่างๆ มาบังคับให้ทุกคนเดินไปสู่ความยั่งยืนไม่ได้

    เนื่องจาก SDGs มีทุกมิติ เช่น ความยากจน ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องของสังคมอย่างเดียว แต่เรื่องความยาจนรวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การเมือง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของ SDGs ที่หนึ่งเรื่องเราพูดถึงทุกมิติ

    ขณะที่ SDGs ในเรื่องการศึกษาไม่ใช่มิติสังคมอย่างเดียว แต่ปัญหาการศึกษาจะนำไปสู่เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ การเพิ่มความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของคนในสังคม เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อนอย่างบูรณาการจึงจำเป็นต้องมีการประสานงานระหว่างกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน

    โดยภาครัฐเองก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบมีผู้ประสานงานในเป้าหมายหลักของ SDGs และเป้าหมายย่อย ขณะที่สภาพัฒน์ฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานขับเคลื่อนเป้าหมายต่างๆ โดยประสานทุกภาคเพื่อให้เดินไปด้วยกัน

    เราจะก้าวต่อไปให้ยั่งยืนอย่างไร

    ในส่วนของภาครัฐเองได้มีการทบทวนบทบาทตัวเอง และมีการปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากอดีตที่เคยสั่งการแบบทอปดาวน์ ทุกคนหันมาพึ่งภาครัฐ เพราะว่าต้องออกกฎหมาย ต้องให้งบประมาณ แต่ปัจจุบันภาครัฐเล่น 2 บทบาทหลัก คือ บทบาทแรก เป็นผู้ที่ประสานให้เกิดการขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งหมายถึงการเข้าไปเติมส่วนที่ดีอยู่แล้วและสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าใครอยากมีโครงการที่ดีขึ้น ภาครัฐจะช่วยสนับสนุนและช่วยเติมเต็ม

    ขณะเดียวกัน SDGs จะสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าภาครัฐไม่เป็น regulator หรือผู้ควบคุม เพราะในหลายเรื่องภาครัฐต้องทำหน้าที่ควบคุม เช่น บางเรื่องที่อาจจะเกิดผลกระทบในเชิงลบต่อสังคม เราต้องมีกฎหมายควบคุม หรือออกกฎระเบียบปิดกั้นในสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือควบคุมสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

    “ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาท คือ facilitator ส่วนที่เติมเต็มในส่วนที่ขาด และทำหน้าที่เป็น regulator หรือผู้ควบคุมสิ่งที่อาจจะเป็นผลลบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

    แต่อีกบทบาทหนึ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องทำ คือการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ โดยการที่จะเดินต่อไปให้เกิดความยั่งยืนมั่นคงได้ ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ ประชาสังคม เด็กเยาวชน เราต้องประสานร่วมมือเพื่อให้เกิดดำเนินการให้ได้

    ต้องสร้างทำให้เกิด active partner หรือ โมเดลดอกเห็ด คือทุกคนร่วมกันกันทำในบทบาทของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอภาครัฐ หรือภาคราชการในพื้นที่ แต่เริ่มทำให้ออกมาดี ซึ่งพอเป็น active partner จะทำให้ดอกเห็ดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างผลกระทบด้านบวกที่ดีให้กับประเทศให้กับโลกได้

    เราต้องเดินต่อไปข้างหน้า คือ ต้องเลิกติดกับดักตัวชี้วัด โดยภาครัฐให้ความสำคัญกับข้อมูลมาก ทุกคนอาจจะรู้สึกว่า KPI คือเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญ ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เพราะว่าเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เนื่องจากเรานำข้อมูลเหล่านี้มากำหนดยุทธศาสตร์ และนำมาตรวจสอบสถานะของประเทศว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่เราจะไม่ยึดติดกับดักที่เรียกว่าตัวชี้วัดอย่างเดียว

    หากสถานะเป็นตัวสีแดง ไม่ได้หมายความว่าทำงานแย่ แต่ถือว่ายังมีความท้าทายในการก้าวเดินไปให้ถึง แต่เราจะไม่ใช้กับดักตัวชี้วัดเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

    นอกจากนี้ เราจะเน้นภาพรวมของการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น เราจะออกจากคำว่าตัวชี้วัด และออกจากคำว่าข้อมูล แต่ต้องไปดูเจตนาของ SDGs มากขึ้นว่าต้องการให้เกิดอะไร และการมุ่งทำงานด้วยกันอย่างไร ตรงนี้จึงถือเป็นทางเดินภาครัฐเอง ในฐานะสภาพัฒน์ที่เป็นผู้ประสานงานให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ การเราต้องเดินไปด้วยกันทุกภาคส่วน เพราะเราคิดว่าถ้าเราเดินไปด้วยกัน เราจะเดินไปได้ไกลขึ้นและทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น