
“กลุ่มระกา” มุ่งเป้าธุรกิจผ้าไหมครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เน้นการฟอกย้อมสีธรรมชาติ เพิ่มมูลค่าด้วยเทคนิคการทอผสมผสานหวัง สร้างความยั่งยืนระยะยาว
ผ้าไหมไทย มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับสากล เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยที่โดดเด่นมายาวนาน
ครอบครัวเล็กๆในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีจุดเริ่มต้นจากพี่ชายคนโตต้องการเห็นผ้าไหมทอสีธรรมชาติ นำมาสู่การเป็นครอบครัวผ้าไหมไทยที่พี่น้องชายล้วนทั้ง 4 คนมาร่วมกันทำตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจนทอเป็นผืนผ้าไหมที่สวยงาม
นายศรันยู ศรีใส ผู้นำ “กลุ่มระกา” กลุ่มธุรกิจผ้าไหมไทย จังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า ตอนเรียนหนังสือมีความสนใจผ้าไหม และได้ทำงานวิจัยร่วมกับช่างทอผ้า อำเภอวารินชำราบ จนเกิดความสนิทสนมกับช่างทอ ได้เห็นการทอผ้าและให้สีแบบดั้งเดิมจึงขอร้องให้เลิกทอผ้าที่ย้อมด้วยสีสารเคมี แม้ว่าจะใช้ง่าย และได้เฉดสีตรงตามความต้องการมากกว่าสีธรรมชาติ
ตอนนั้นเริ่มต้นด้วยการรับอาสาย้อมสีธรรมชาติให้กับช่างทอ โดยซื้อเส้นไหมมาฟอกให้นิ่มแล้วย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ผลไม้ และครั่ง
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือกลิ่นหอมอ่อนๆจากเนื้อผ้า และเฉดสีที่แตกต่างจากแบบดั้งเดิม จึงได้มีการทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้ได้สีที่ต้องการ
เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ดีใจมากที่ขายผ้าครั้งแรกได้เงิน 3 พันบาท และทำให้ช่างทอเชื่อมั่น เห็นด้วยกับเราว่าการย้อมสีธรรมชาติให้ความโดดเด่นและแตกต่างจากผ้าไหมทั่วไป
สีธรรมชาติทั้งหมดได้มาจากใบไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ และของเหลือทิ้ง ไม่ต้องซื้อ หาได้ทั่วไปจากบริเวณบ้านหรือไร่นา เช่น เปลือกมังคุดที่กินแล้วจะถูกนำมาตากแห้ง เมื่อนำมาย้อมจะได้สีพีช ใบยูคาลิปตัสจะให้สีเทา ใบหูกวางให้สีเงิน ใบขี้เหล็กจะได้สีเขียว ใบสมอให้สีน้ำตาล เปลือกต้นหว้าให้สีม่วง แก่นไม้ฝางให้สีส้มอมชมพู เป็นต้น
แต่จะมีสีธรรมชาติที่แพงและยังต้องซื้อคือครั่ง ซึ่งเป็นแมลง เราจะใช้รังของครั่งมาย้อมสี
ศรันยู เล่าว่า “ธุรกิจเดิมของที่บ้านเป็นร้านขายหนังสือและเครื่องเขียน เมื่อห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เข้ามา เราแข่งขันไม่ได้ต้องปิดตัวลง ผมจึงแนะนำให้คุณแม่กับน้องชายที่ขายของ ให้ไปเรียนรู้การทอผ้าไหม ด้วยวิธีการย้อมสีธรรมชาติ ที่อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นระยะเวลา 3 เดือนเพื่อเรียนรู้กระบวนการทำผ้าไหมทอมือทุกขั้นตอน”
เมื่อเรียนจบกลับมา ครอบครัวตัดสินใจตั้งโรงเรือนเพื่อที่จะปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ จ.อุบลราชธานี ตั้งโดยพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยได้รับแผงหนอนไหม ซึ่ง 1 แผง จะมีหนอนไหม 2 หมื่นตัวให้ผลผลิตผ้าไหมประมาณ 2 กิโลกรัม ในช่วงแรกเราเลี้ยงได้เพียง 1.2 กิโลกรัม เนื่องจากเป็นมือใหม่และยังมีปัจจัยเหนือการควบคุม เช่น สภาพอากาศ ความชื้น ความร้อน ส่งผลต่อการเลี้ยงไหมที่มีวงจรชีวิตแค่ 29 วัน ขณะนี้ผลผลิตเพิ่มเป็น 1.8 กิโลกรัมแล้ว แต่เรายังต้องใช้เวลาในการพัฒนาเส้นใยไหมต่อไป เพราะการเลี้ยงไหมต้องดูแลใกล้ชิด
การสาวไหมจะทำทั้งเส้นไหมพุ่งและเส้นไหมยืน เพื่อให้ได้เส้นไหมคุณภาพ มีความละเอียด อ่อนนุ่ม ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านจะมีคุณภาพสูง ซึ่งไหม 1 กิโลกรัมจะได้มัดหมี่ 4 ปอย ทอผ้าซิ่นได้ 4 ผืนหรือประมาณ 8 หลา
จากจุดเริ่มต้นจนถึงขณะนี้กลุ่มระกามีช่างทอผ้า 19 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากช่างทอที่ให้ความสนใจอยากจะมารวมกลุ่ม รวมทั้งครอบครัวของศรันยูซึ่งมีพี่น้องผู้ชาย 4 คนได้มาช่วยกันทำให้กลุ่มระกาแข็งแรงขึ้น เมื่อน้องชายที่เป็นวิศวกรได้ลาออกมาพัฒนาธุรกิจผ้าไหมทั้งการฟอกย้อม ทำกี่ทอผ้า เตรียมเส้นไหมยืน เก็บตะกอตามเอกลักษณ์และลวดลายของผ้า จนสามารถทอผ้าด้วยตัวเอง น้องชายอีกคนลาออกจากงานธนาคาร มาต่อยอดงานออกแบบ กำลังจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแตกไลน์ไปทำผ้าคลุมไหล่ในแบรนด์ระกา
“ผมจะปรับปรุงลายผ้าและต่อยอดตามสไตล์ของตัวเองเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มระกา เช่น ออกแบบผ้า ลายกุหลาบ เรียกว่าผ้ากาบบัว ผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่น มีเทคนิคทั้งมัดหมี่ มับไม ขิด เป็นต้น และผ้าลายกุหลาบผืนนี้มีจกดาว และจกมุกที่ขอบชายผ้าทั้งสองด้าน”
ศรันยู กล่าวว่า “ได้ปรับกระบวนการทำงานทอผ้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้ามีเส้นไหมที่เหลือจากการทอจะให้ช่างทอเก็บรวบรวมไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อ จะไม่มีการทิ้งเด็ดขาด การย้อมเส้นไหมสีธรรมชาติ ตอนนี้คุณแม่จะย้อมด้วยตัวเองจดในสมุดทุกครั้ง เช่น สีชมพูอ่อนที่มาจากครั่ง จะย้อมได้กี่ครั้ง แต่ละครั้งจะให้เฉดสีแตกต่างกันอย่างไร เช่นเดียวกับใบไม้ชนิดอื่นๆก็จะถูกบันทึกไว้ทุกครั้งเพื่อให้การย้อมสีได้ตรงความต้องการ”
นอกจากนั้นการทอด้วยเทคนิคขั้นสูงที่หลากหลาย และพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เช่น มัดหมี่ ผสมจก หรือการผสมผสานเทคนิคการทอหลายแบบในผ้าผืนเดียวจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผ้า เพราะเป็นงานฝีมือละเอียดอ่อนและเป็นหัตถศิลป์ของช่างทอ เป็นงานผ้าผืนเดียวที่ไม่มีซ้ำ ประกอบกับการออกแบบให้เหมาะกับผ้า และการใช้งาน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆและสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ
“ผมได้จุดประกายให้ช่างทอในเรื่องของสีธรรมชาติ เทคนิคการทอที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าของเรา อยากให้กลุ่มระกาเติบโตอย่างยั่งยืนนำความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีต มาต่อยอดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นำของเหลือใช้ ใบไม้ มาสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผ้าของเราครับ”