ThaiPublica > Sustainability > NaTive AD > ท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีใหม่ ณ ลำตะคอง

ท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีใหม่ ณ ลำตะคอง

14 สิงหาคม 2022


ใครจะไปคิด!!!…ว่า โรงไฟฟ้าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จับมือกับชุมชนทำให้เป็นจริงได้ โดยเนรมิตแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอันแสนลึกลับในอดีตให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ต้อนรับประชาชนจากทั่วสารทิศให้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ใหม่กับแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ มาทำความรู้จักกับการท่องเที่ยววิถีชุมชนให้มากยิ่งขึ้น รับรองว่ายิ่งรู้จัก… ยิ่งรีบแพ็กกระเป๋ามาเที่ยวแน่นอน

“กินรี” รางวัลการันตีการท่องเที่ยววิถีใหม่

เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่โรงไฟฟ้าท่องเที่ยวนั้น กฟผ. ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) หรือ รางวัลกินรี ครั้งที่ 13 ในปี 2564 ที่จัดขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประทับใจแก่นักท่องเที่ยวในการท่องเที่ยวรูปแบบวิถีใหม่ ปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 โดยมีเกณฑ์พิจารณาถึง 5 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (responsible tourism) การท่องเที่ยวสีขาว สะดวก สะอาด ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โมเดลเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (BCG model) มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration: SHA) และข้อมูลเสียงสะท้อนจากตัวแทนผู้บริโภคผ่าน KOL (voice of customer)

“โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา” โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่อยู่ใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย และ “ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง” แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าที่บอกเล่าถึงความเป็นมาด้านพลังงานผสมผสานการผจญภัยสุดทันสมัย แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของ จ.นครราชสีมา สามารถผ่านเกณฑ์ดังกล่าวและคว้ารางวัลนี้มาได้ โดยโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (Thailand Tourism Gold Awards) และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง ได้รับรางวัลดีเด่น (Thailand Tourism Awards) ในประเภทแหล่งท่องเที่ยว สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้

จากแหล่งผลิตไฟฟ้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้

“โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา” โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ให้กับภาคอีสาน และเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตไฟฟ้า ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย จึงกลายเป็น “โรงไฟฟ้าท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้” ที่ยังได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ SHA จาก ททท. เมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย

โดยนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ unseen ไปกับโรงไฟฟ้าใต้พิภพแบบสูบกลับแห่งเดียวของไทย ดำดิ่งผ่านอุโมงค์ใต้ดินลึก 350 เมตร ด้วยรถ EV bus พลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่เมืองใต้พิภพนครบาดาล เยี่ยมชม “แหล่งเรียนรู้ใต้พิภพ” แหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่นำน้ำมาเป็นพลังขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถึง 1,000 เมกะวัตต์ รวมถึงด้านบนของโรงไฟฟ้ามีร้านอาหาร และร้านกาแฟคุณสายชลที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว

ขึ้นจากใต้พิภพเหินทะยานสู่เมืองลอยฟ้า เยี่ยมชม “แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานลม” บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนของโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาซึ่งเป็นจุด unseen อีกหนึ่งแห่งที่ไม่ควรพลาด นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสความตระการตาของทุ่งกังหันลมของ กฟผ. จำนวน 12 ต้น ในวิวพาโนรามา 360 องศา หรือจะเช่าจักรยานปั่นสำรวจความสวยงามพร้อมรับอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางทุ่งกังหันลม ระหว่างทางยังสามารถแวะชมวิวหลักล้าน ณ จุด geo view point ของโคราชจีโอพาร์ค ซึ่งเป็นสถานที่จัดแข่งขันโคราชฮาล์ฟมาราธอนลอยฟ้าที่ได้รับการบรรจุอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของ ททท. นอกจากนี้ บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนฯ ยังมีร้านค้าชุมชนภายใต้โครงการที่ กฟผ. ส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตรอบโรงไฟฟ้าให้นักท่องเที่ยวได้อุดหนุนอีกด้วย

ลำตะคองนอกจากจะมีอากาศที่ดีและวิวทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว กฟผ. ยังร่วมกับชุมชนผายายเที่ยงจัดกิจกรรมนำเที่ยวชมวิวอุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark) “แหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา” ที่มีการเชื่อมโยงมรดกทางนิเวศวิทยา มรดกทางวัฒนธรรม และโบราณคดีเข้าด้วยกัน และจะพานักท่องเที่ยวไปพบกับความมหัศจรรย์ชมวิวเขาเควสตา และผายายเที่ยง รวมถึงกิจกรรมปลูกป่าลอยฟ้า และปลูกป่าลงดินบนหลังคาโคราช พร้อมส่งพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง

  • “กนก อินทรวิจิตร” นายกสมาคมธรณีวิทยา อาสาเล่าเรื่องธรณีวิทยา จากตำนานด้วยวิทยาศาสตร์ ความจริงที่ใกล้ตัว
  • เปิดโลกธรณีวิทยากับ “สมหมาย เตชวาล” เรื่องเล่าใต้ผืนดิน และการพลิกโฉม “อุทยานธรณีสตูล” ผ่านโลกออนไลน์
  • “ไม้กลายเป็นหิน” ยาวที่สุดในโลก จ.ตาก — บันทึก “ประวัติศาสตร์” ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ท่องเที่ยวเรียนรู้พลังงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง

    มาเที่ยวลำตะคองทั้งที นอกจากการเรียนรู้ด้านพลังงานจากประสบการณ์จริง ณ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถท่องเที่ยวไปพร้อมกับเรียนรู้ด้านพลังงานที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง “แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน” สุดทันสมัยแห่งใหม่ของภาคอีสานซึ่งตั้งอยู่บนเขายายเที่ยง ที่รวบรวมเรื่องราวการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม รวมถึงการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยด้วยระบบ wind hydrogen hybrid เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจน มาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในอาคารศูนย์การเรียนรู้ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเอานวัตกรรมดังกล่าวมาใช้

    นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างประโยชน์ต่อชุมชน มีการพัฒนาโซนการเรียนรู้ด้านพลังงานทั้ง 7 โซนให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการร่วมมือกับเครือข่ายและชุมชนโดยรอบพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ จัดกิจกรรมพิเศษเสริมความรู้ เช่น กิจกรรมเสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และพลังงานไฟฟ้า สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์พลังงาน กิจกรรมม่วนซื่นลำตะคอง จำลองวิถีชุมชนพื้นที่ลำตะคอง ซึ่งมีภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น พร้อมจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมให้เพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้ด้านพลังงานที่ไม่มีวันสิ้นสุดแบบวิถีใหม่ new normal แถมการันตีด้วยมาตรฐาน SHA จาก ททท.

    2 รางวัลกินรีสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการร่วมมือกันระหว่าง กฟผ. กับชุมชนในการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวของโรงไฟฟ้าท่องเที่ยวของ กฟผ. ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวรอบโรงไฟฟ้าให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย พร้อมสอดแทรกอัตลักษณ์ของลำตะคองในทุกกิจกรรมได้อย่างลงตัวและน่าสนใจ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาจุดท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านพลังงานสะอาด ทำให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพ เกิดเป็นการพัฒนาพลังงานและความสุขของชุมชนอย่างยั่งยืน