ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดสัมมนาออนไลน์ ESG Webinar Series ครั้งที่ 3/2565 หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า” โดยมีบริษัทเอสซีจีและแสนสิริ ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด “S” (social) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแกนหลักของ ESG ตลอดจนแนวคิดความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการอยู่ร่วมกันภายในองค์กรและสังคม
เอสซีจี ชู “ESG 4 Plus”
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร Enterprise Brand Management Director SCG กล่าวว่า ในปี 2565 เอสซีจีเป็นบริษัทที่มีอายุเกือบ 110 ปี ปัจจุบันดำเนินธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง, ธุรกิจเคมิคอล และธุรกิจแพกเกจจิง ภายใต้การดำเนินงานกว่า 300 บริษัทย่อย และด้วยอายุกว่าศตวรรษขององค์กรเป็นบทพิสูจน์ว่าเอสซีจีทำธุรกิจอย่างยั่งยืนบนความไว้เนื้อเชื่อใจ และมองว่า “ความยั่งยืน” ทำให้บริษัทลดความเสี่ยงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
แนวทาง ESG (environment, social and governance) ของเอสซีจีคือ “ESG 4 Plus” ประกอบด้วยเป้าหมาย 4+1 ด้าน ดังนี้
1. มุ่งสู่ Net Zero ปี 2050 โดยมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมีการทดลองพลังงานทดแทนผ่านบริษัทในเครือ โดยเฉพาะการใช้โซลาร์เซลล์ทั้งหลังคาและทุ่นลอยน้ำ
2. Go Green จากแนวคิดว่าสินค้าและบริการต่างๆ ต้องมีส่วนช่วยลดโลกร้อน เอสซีจีจึงมีกลุ่มสินค้าชื่อ SCG Green Choices ซึ่งตอบโจทย์ทั้งการใช้งานและกระบวนการ โดยเฉพาะระบบลดพลังงานและลด waste จากการก่อสร้าง
3. Lean เหลื่อมล้ำ (Reduce Inequality) บริษัทช่วยให้พนักงานมีรายได้มากขึ้นและมีงานทำ ด้วยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาในกลุ่มที่เป็นที่ต้องการในตลาด เช่น กลุ่มพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ และดูแลชุมชนรอบโรงงาน พร้อมให้ความรู้เรื่องการแปรรูปสินค้าเพื่อสร้างรายได้
4. ความร่วมมือ (Embrace Collaboration) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
Plus คือความโปร่งใสทุกกระบวนการและความเชื่อใจ
นางวีนัสกล่าวต่อว่า เอสซีจีมีห่วงโซ่การผลิตและผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ทั้งคู่ค้า ซัพพลายเออร์ พันธมิตรทางธุรกิจ และคนนอกโรงงาน โดยธุรกิจส่วนใหญ่ของเอสซีจีเป็นรูปแบบ “อุตสาหกรรม” บริษัทจึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นลำดับต้นๆ ของการดูแลมิติผู้คนและสังคม
“เอสซีจีมีกฎพิทักษ์ความปลอดภัย คนที่เข้ามาในโรงงานต้องอยู่ภายใต้กฎนี้ เช่น ขึ้นที่สูงต้องมีสลิง หรือเข้าโรงงานต้องมีที่สะท้อนแสง และถ้ามีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นจะต้องรายงานให้ผู้บริหารรับรู้” นางวีนัสกล่าว
เอสซีจียังมีธุรกิจโลจิสติกส์ที่แต่ละวันมีรอบขับรถสูงถึง 5,000-6,000 รอบ ในประเด็นนี้บริษัทจึงก่อตั้งโรงเรียนสอนขับรถบรรทุกชื่อ “ทักษะพิพัฒน์” และบังคับให้คนขับรถขององค์กร รวมถึงคนขับรถของซัพพลายเออร์ต้องเรียนที่ “ทักษะพิพัฒน์” อีกทั้งติดตั้งระบบจีพีเอสภายในรถบรรทุก และสร้างห้องพักให้พนักงานขับรถตามหัวเมืองต่างๆ
“แรกๆ บริษัทคู่ค้าบอกไม่ชอบเลย คนขับก็หายากอยู่แล้ว แต่หลังจากเรียนแล้วไปขับรถ ซัพพลายเออร์บอกว่านอนหลับสบายขึ้น เพราะตอนกลางคืนไม่ต้องตกใจว่าจะมีคนโทรมาว่าเกิดอุบัติเหตุและต้องไปตามแก้ไข” นางวีนัสกล่าว
นอกจากนี้ เอสซีจีได้พัฒนาแพลตฟอร์มรวบรวมช่างให้คนมาใช้บริการ เพื่อให้ช่างมีงานทำ เกิดการจ้างงาน ตลอดจนดูแลและให้ความรู้ช่างเพื่อสร้างความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งมีกลุ่มสินค้าสำหรับผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าราวจับในห้องนอน ระบบเซนเซอร์ในห้องน้ำ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยแม้จะอยู่ตัวคนเดียว
เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ปฏิบัติต่อกันด้วยความเชื่อมั่น
นางวีนัสกล่าวต่อว่า เอสซีจีให้ความสำคัญกับ “ผู้หญิง” ขณะที่หลายคนคิดว่าผู้หญิงมักไม่ได้รับการสนับสนุนในระบบอุตสาหกรรม แต่เอสซีจีมีวิศวกรหญิงระดับสูงหลายคนที่มีศักยภาพไม่ต่างจากเพศชาย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการให้โอกาสและเชื่อในศักยภาพของคนทำงาน
“เอสซีจีมีอุดมการณ์ข้อหนึ่งคือ ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ปฏิบัติต่อกันด้วยความเชื่อมั่น’ เพราะในความเป็นมนุษย์ไม่มีอะไรดีไปกว่าผู้เชื่อมั่นในความเป็นคนของเราและศักยภาพของเรา” นางวีนัสกล่าว
ยกตัวอย่าง ช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดช่วงเริ่มต้น ช่วงนั้นสังคมตื่นตระหนกมาก เอสซีจีจึงตั้งระบบ “ไข่ขาว-ไข่แดง” เพื่อดูแลบุคลากรที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ ซึ่งนางวีนัสมองว่าสะท้อนความเป็นมนุษย์ขององค์กรได้เป็นอย่างดี
“ตอนโควิดตั้งระบบไข่ขาว-ไข่แดง คนอยู่ไข่แดง ดูแลเหมือนไข่ในหิน มีรถรับส่ง มีห้องที่ป้องกัน ขอให้อย่าเพิ่งกลับบ้าน ห่างครอบครัว มีอาหารส่งทุกมื้อ มีที่พัก เขาอาจจะคิดถึงบ้านแต่ขอให้ไม่กลับบ้าน เราก็เห็นใจเขามากที่เขามาทำงานและเป็นไข่แดงให้เรา สรุปผลประกอบการปีนั้นดีมาก เพราะสามารถผลิตสินค้าส่งออกไปอเมริกาและจีน” นางวีนัสกล่าว
นางวีนัสยกตัวอย่างช่วงที่วัคซีนโควิด-19 เข้าประเทศช่วงแรกว่า “เอสซีจีเลือกให้แม่ค้าขายอาหารฉีดก่อนเพราะเป็นคนสำคัญ หรือตอนวัคซีนมีเยอะมากแล้ว เอสซีจีเป็นสถานีฉีด เราบอกให้ช่วยพาพ่อแม่ลูกมาด้วย บางคนบอกอยากพามา แต่เขาเดินไม่ได้ เราบอกให้มาได้ เรามีจิตอาสา รถวีลแชร์คอยช่วยเหลือ”
ในด้านชุมชน นางวีนัสอธิบายว่า บริษัทต้องการให้คนในชุมชนมาทำงานร่วมกับเอสซีจีในฐานะพนักงานที่ดูแลชุมชน บริษัทจึงสนับสนุนทุนการศึกษาให้คนในชุมชน ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการปลูกกล้วยและการเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างเป็นวิสาหกิจชุมชน
“เอสซีจีมีโครงการปันโอกาส เรามีเงินกองทุนในมูลนิธิให้พนักงานรวมตัวกันดูแลชุมชนรอบโรงงาน พอประกาศพนักงานก็ทำไป ใช้เวลาว่างของตัวเอง เช่น สอนคอมพิวเตอร์ให้เด็กข้างโรงงาน ทำถนน ซึ่งเป็นสิ่งที่มาจากความเชื่อมั่นของคน” นางวีนัสกล่าว
ด้านกิจกรรมเพื่อสังคมของเอสซีจีคือเรื่อง “น้ำ” บริษัทมองว่าเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม จึงมีการสร้างระบบการจัดการโดยร่วมกับชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำทำให้เกิดน้ำในพื้นที่ ช่วยกักเก็บน้ำและไม่ให้น้ำท่วม จากนั้นทำให้น้ำไหลในชุมชนให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร
ท้ายที่สุด นางวีนัสกล่าวว่า ผู้บริหารองค์กรคือคนสำคัญที่จะผลักดัน ESG ให้เกิดขึ้น แต่ถ้าผู้บริหารไม่รับฟังก็ต้องพยายามพูดให้คล้อยตาม ตลอดจนลงมือทำและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ให้เกิดเป็นวาระแห่งชาติ ตัวอย่างเช่น ประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือประเด็นแยกขยะ และปัจจุบัน ESG ไม่ทำ ไม่ได้ เพราะจะตกขบวนรถไฟ
“ปัญหาและอุปสรรคมีเป็นธรรมดา หลายคนพูดว่าความเป็นบริษัทขนาดใหญ่ทำให้ทำอะไรง่าย แต่จริงๆ ไม่ง่ายเพราะบริษัทขนาดใหญ่มีคนจำนวนมากและกฎกติกาที่เข้มแข็งมานาน เวลาจะเปลี่ยนก็ไม่ง่าย ต้องสร้างความเข้าใจให้ทุกคน” นางวีนัสกล่าว
……
แสนสิริ กับบทบาท “ผู้สนับสนุน” สิทธิมนุษยชน
นายสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff ฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อสารองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมุมมองของแสนสิริต่อ ESG ว่า บริษัทเริ่มจากการจัดระบบความคิดว่าประเด็นใดหรือกิจกรรมใดที่เข้าข่าย ESG บ้าง และมองว่าถ้าองค์กรไหนไม่ให้ความสำคัญก็จะแข่งขันไม่ได้ มีความเสี่ยง ตลอดจนการตอบรับของผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
“เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้น้ำหนักกับ financial game แต่เขาจะมองว่าโลก-สังคมที่เขาอยู่มีความเหลื่อมล้ำน้อยลงยังไง มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมยังไง ลูกหลานจะอยู่ยังไง” นายสมัชชากล่าว
นายสมัชชาเล่าว่า ก่อนที่แสนสิริจะทำ ESG ก็เริ่มจากผู้บริหารเห็นความสำคัญของประเด็นต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ต่อมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับความยั่งยืนในประเด็นต่างๆ จนเกิดเป็นคลื่นลูกเล็กในองค์กร ก่อนมาจัดหมวดหมู่เป็นแนวทาง ESG ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า “มวยวัด”
การทำ ESG ของแสนสิริในฐานะบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีประเด็นที่สำคัญคือ “สิทธิของแรงงาน” ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะ “แม่และเด็กในไซต์ก่อสร้าง” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนฐานะยากจน เมื่อย้ายมาอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือบริบทกฎหมายที่ไม่คุ้นชิน ทำให้ขาดโอกาสด้านการศึกษา ดังนั้น แสนสิริจึงจับมือกับ Unicef เพื่อสนับสนุนสิทธิของเด็ก
นอกจากนี้ แสนสิริยังช่วยเหลือเด็กที่ย้ายถิ่นฐานมาในประเทศไทยทำให้ขาดโอกาสในการศึกษา แสนสิริจึงจับมือกับองค์กรที่มีความรู้คือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน
บทบาทของแสนสิริในเรื่องสิทธิคือการเป็นผู้สนับสนุน เพราะบริษัทไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่สามารถช่วยเหลือในรูปแบบทดลองกับบางกลุ่มเพื่อเป็นโครงการนำร่อง จากนั้นจึงประเมินว่ามีคนอื่นอยากจะทำในลักษณะเดียวกันหรือไม่
นายสมัชชากล่าวต่อว่า แสนสิริได้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางในช่วงโควิด-19 โดยร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเป็นตัวกลางให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วยการลดเงื่อนไขการขอสินเชื่อ
ประเด็นที่เป็นภาพจำของแสนสิริคือ การให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBTQ ไม่ว่าจะเป็นให้สิทธิวันลาแต่งงาน หรือสิทธิการกู้ร่วมได้ ฯลฯ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นประเด็นที่พนักงานรุ่นใหม่ให้ความสำคัญอย่างมาก
“ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ต้องลุกขึ้นมาสนับสนุน และสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับพนักงาน เพื่อให้อยู่แล้วสบายใจ เหมือนเป็นพื้นฐานว่าถ้าองค์กรจะยั่งยืน พนักงานต้องมองไปทางเดียวกัน เลยเห็นว่าต้องคำนึงสิทธิมนุษยชน เราเลยจับมือกับ UNDP สร้างความเข้าใจประเด็นต่างๆ เช่น ให้ลาสมรสเพศเดียวกันได้ ลาเพื่อฌาปนกิจคู่ชีวิต หรือบุตรบุญธรรม” นายสมัชชากล่าว
นายสมัชชากล่าวว่า การทำให้พนักงานมีส่วนร่วมกับ ESG เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยตัวอย่างที่แสนสิริทำนอกจากเรื่อง LGBTQ แล้ว ยังมีเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยบริษัทได้จัดให้พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 และให้ความรู้สึกว่านี่เป็นสิทธิที่เท่าเทียมกันโดยไม่สนตำแหน่งภายในองค์กร
อย่างไรก็ตาม แสนสิริก็มีอุปสรรคในการขับเคลื่อน ESG ในประเด็นแรงงานเด็กและประเด็นผู้หญิง เพราะนโยบายกับการปฏิบัติไม่สอดคล้องกัน
นายสมัชชาเล่าเรื่องการจัดการแรงงานเด็ก “เราต้องการให้เด็กที่อยู่ในไซต์ก่อสร้างเข้าโรงเรียนให้ได้มากที่สุด แต่พ่อแม่อาจมองว่าส่งเด็กแล้วจะเป็น second class ครูก็ไม่อยากปฏิบัติกับเขาเหมือนเด็กไทย พูดไม่รู้เรื่อง เพื่อนก็ไม่เล่นด้วย เรื่องอะไรจะเข้าไปเสี่ยง”
ถัดมาเป็นประเด็น “ผู้หญิง” เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการก่อสร้าง เสี่ยงในเรื่องอคติการจ้างงาน สังคมมีแนวคิดว่าผู้ชายมักจะทำงานที่ไซต์ได้ดีกว่าผู้หญิง
“ผมเคยได้ยินว่าเวลาหา project manager หรือคนคุมหน้างาน สุดท้ายตกไปอยู่กับผู้ชาย ผมถามว่าวิศวกรหญิงเก่งๆ มีเยอะ ทำไมไม่รับเขา เขาบอกอยู่หน้างาน กลัวว่าพอเป็นผู้หญิงแล้วจะโดนผู้รับเหมาหรือคนงานคุกคาม แต่ผมมองว่าการมองแบบนี้ไม่ผิด แต่มันเป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งสำคัญคือกลไกที่องค์กรจะป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคาม คุณต้องออกกฎกับทางผู้รับเหมาไหม หรือหากมีการใช้แรงงานเด็กจะยกเลิกทันที” นายสมัชชากล่าว
แต่ทั้งนี้ นายสมัชชากล่าวต่อว่า การทำ ESG ไม่มีผิดหรือถูก แต่สิ่งสำคัญคือองค์กรต้องลองไปเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ เพราะลองแล้วผิดดีกว่าไม่ลองทำอะไรเลย
สุดท้าย นายสมัชชาแนะนำถึงองค์กรที่สนใจ ESG ว่า สิ่งที่ควรทำคือมองหาพันธมิตรและภาคีในภาคส่วนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยเราได้ จากนั้นจับมือไปด้วยกัน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่สำคัญคือองค์กรต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะสนับสนุนได้ และอย่าอายที่ทำตามแบบหรือเห็นคนอื่นทำแล้วทำตามเขา
ดูเพิ่มเติม https://youtu.be/DazdqjfBRSA