ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > ‘โตจากภายใน – โตไปด้วยกัน’: โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่กระจายโอกาสและการมีส่วนร่วม

‘โตจากภายใน – โตไปด้วยกัน’: โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่กระจายโอกาสและการมีส่วนร่วม

3 มิถุนายน 2022


ในปี 1962 Alexander Gerschenkron นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Economic Backwardness in Historical Perspective ซึ่งเล่าเรื่องราวของระบบเศรษฐกิจที่สามารถวิ่งไล่ทันประเทศพัฒนาแล้วอย่างปาฏิหาริย์ เช่น ประเทศเยอรมันและฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่สิบเก้า โดย Gerschenkron ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เศรษฐกิจเหล่านี้มีคล้ายคลึงกันคือโครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนให้ธุรกิจใหญ่เป็น ‘หัวหอก’ นำการเติบโตของประเทศ

เศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากโมเดลการเติบโตนี้ เช่นเดียวกับประเทศในลาตินอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1970 อย่างไรก็ดี หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 1997 หรือวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยนของลาตินอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1990 จะสังเกตว่าไทยและประเทศที่ใช้โมเดลนี้อีกหลายประเทศ ‘โตได้ไม่ดีเหมือนเดิม’

อีกหนึ่งระบบเศรษฐกิจที่เลือกใช้โมเดลการเติบโตนี้ คือ เกาหลีใต้ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960-80 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขับเคลื่อนโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘แชโบล’ โดยแชโบลเป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งการเติบโตภายในกลุ่มแชโบลผลักดันให้เศรษฐกิจเกาหลีเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้สามารถเลื่อนขั้นจากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศรายได้สูงในปี 1995 จนกระทั่งเศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินเอเชียในปี 1997

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้เกาหลีใต้จะเติบโตด้วยโมเดลเดียวกับเรา และเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจคล้ายกับเรา แต่เขาสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เร็ว และก้าวขึ้นมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมั่นคงและโดดเด่นได้ในปัจจุบัน (รูปที่ 1) ปัจจัยอะไรที่อยู่เบื้องหลัง ‘ทางแยก’ ระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเกาหลีใต้ และเกาหลีใต้ปรับกลยุทธ์การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร เรามาหาคำตอบร่วมกันในบทความฉบับนี้ครับ

ที่มา: International Monetary Fund

ทางแยกระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเกาหลีใต้ – การปฏิรูปเศรษฐกิจหลังวิกฤติปี 1997

กลุ่มธุรกิจแชโบลเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1960 ถึงช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 1990 ในช่วงทศวรรษ 1960-70 รัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินนโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยมีกลุ่มธุรกิจแชโบลเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการเติบโตของแชโบลในภาคอุตสาหกรรมหนักและเคมีภัณฑ์ รวมถึงให้เงินช่วยเหลือกับธุรกิจแชโบลเพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤติราคาน้ำมันโลกในปี 1973

ต่อมาในทศวรรษ 1980 มีการเปิดเสรีทางการเงินและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกลุ่มสถาบันการเงิน จึงเป็นโอกาสให้กลุ่มธุรกิจแชโบลเข้ามาถือครองหุ้นส่วนของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินจึงให้สินเชื่อสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจแชโบล นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังสนับสนุนให้บริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจแชโบลเข้าถึงสินเชื่อผ่านการค้ำประกันร่วมและการให้ทุนอุดหนุนภายในกลุ่มธุรกิจแชโบล ส่งผลให้สินเชื่อที่สถาบันการเงินให้แชโบลปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การเติบโตของกลุ่มธุรกิจแชโบลขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโตในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง

โมเดลการเติบโตโดยอาศัยแชโบลอาจเหมาะสมกับการไล่ตามประเทศพัฒนาแล้วถ้าตามหลังอยู่ไกล แต่อาจไม่สามารถรักษาความเร็วไว้ได้ในระยะยาว

กลุ่มธุรกิจแชโบลมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่จะสกัดกั้นไม่ให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเข้าสู่ตลาด ขณะที่สถาบันการเงินและผู้ดำเนินนโยบายก็ให้การสนับสนุนเงินทุนและสิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้ดำเนินนโยบายในขณะนั้นไม่เปิดรับกระแสการลงทุนจากต่างประเทศ โดยจำกัดการถือหุ้นของชาวต่างชาติไว้เพียง 26% ของส่วนของทุน จึงมีไม่มีการแข่งขันจากบริษัทต่างประเทศ

จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997-1998 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัว 5.1% ในปี 1998 จาก 7.9% ในปี 1996 โดยเฉพาะวิกฤติส่งผลกระทบต่อธุรกิจแชโบลอย่างหนัก ส่งผลให้กลุ่มบริษัท Daewoo ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มแชโบลประกาศล้มละลายในปี 1999

วิกฤติเศรษฐกิจปี 1997-1998 เปรียบเสมือนจุดรีเซ็ตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ผู้ดำเนินนโยบายเกาหลีใต้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ภายใต้เงื่อนที่ว่า ผู้ดำเนินนโยบายจะต้องสนับสนุนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน

Haggard et al. (2003) อธิบายว่า ผู้ดำเนินนโยบายปรับปรุงกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้า ทั้งกฎหมายที่กำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของกลุ่มแชโบล รวมถึงปรับปรุงนโยบายสนับสนุนการแข่งขันทางการค้าในภาพรวม โดย Shin (2003) ชี้ว่า รัฐบาลออกประกาศเพื่อปรับปรุงกฎหมาย (corrective orders) ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้าในช่วงปี 1998-2000 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากช่วงก่อนวิกฤติ สำหรับภาคการเงิน Chang (2003) ชี้ว่า ผู้ดำเนินนโยบายยกเลิกการค้ำประกันกลุ่มภายในกลุ่มธุรกิจแชโบล และปรับปรุงกฎระเบียบในการเปิดเผยงบการเงินของบริษัทเอกชนและสถาบันการเงินให้มีความโปร่งใสมากขึ้น

การปฏิรูปส่งผลให้เกิดการปรับสมดุลภายในระบบเศรษฐกิจเกาหลีใต้ โดยงานของ Aghion Guriev and Jo (2021) ศึกษาข้อมูลระดับบริษัทของภาคการผลิตในเกาหลีใต้ก่อนและหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจ ผลการศึกษาพบว่า หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจ ธุรกิจนอกกลุ่มแชโบลสามารถเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้นและออกจากตลาดน้อยลง นอกจากนี้ การกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจให้สมดุลขึ้นยังเอื้อให้ธุรกิจนอกกลุ่มแชโบลมีส่วนร่วมกับการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยธุรกิจนอกกลุ่มแชโบลมีผลิตภาพรวมและผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น และจดทะเบียนสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ในปี 2015 ธุรกิจเกาหลีใต้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรกับ The US Patents and Trademarks Office มากกว่าเยอรมนีถึง 30% แม้ว่าจะมีประชากรน้อยกว่าเยอรมนีกว่าครึ่งหนึ่ง

การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกาหลีใต้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนขึ้น โดยนอกจากคนในระบบเศรษฐกิจจะมีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นแล้ว โดยเมื่อเทียบรายได้ต่อหัวประชากร (มูลค่าคงที่และคิดแบบ Purchasing Power Parity ในหน่วยสกุลดอลลาร์ สรอ.) ในปี 2016 เทียบกับปี 1996 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจะพบว่า เกาหลีใต้เติบโตได้ที่อัตรา CAGR 3.7% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่ 2.0% ขณะที่ผลิตภาพรวมของทั้งประเทศในปี 2016 เติบโตจากปี 1996 ที่อัตรา CAGR 1.4% ซึ่งใกล้เคียงกับ อัตราการเติบโตในช่วง 1977-1996 ที่ CAGR 1.6%

ปรับกลยุทธ์การเติบโตตามระยะห่างจากเส้นพรมแดนทางเทคโนโลยี

ทำไมการปรับกลยุทธ์การเติบโตของเกาหลีใต้จึงประสบความสำเร็จ? สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การวิ่งไล่ตามการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว (convergence) จะต้องแบ่งการวิ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ การเติบโตแบบ ‘outside-in’ และช่วงที่สองคือ‘inside-out’ (รูปที่ 2)

งานศึกษาของ Acemoglu Aghion and Zilibotti ในปี 2006 อธิบายว่าในระบบเศรษฐกิจโลกมี ‘เส้นพรมแดนทางเทคโนโลยี’ ที่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นผู้นำทางนวัตกรรมเป็นผู้ขีดไว้ สำหรับเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ยังอยู่ห่างไกลจากเส้นพรมแดนทางเทคโนโลยี โมเดลที่เหมาะสมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงแรก คือ การหยิบยืมนวัตกรรมจากประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งอาจเรียกว่าโมเดล ‘outside-in’ กลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับโมเดลนี้คือการให้ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นผู้นำนวัตกรรมเข้ามาลงทุนในประเทศ เพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีเงินทุนและคอนเนกชัน ซึ่งช่วยให้เข้าถึงนวัตกรรมของประเทศพัฒนาแล้วและนำเข้ามาใช้ได้ง่าย

เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาเข้าใกล้กับเส้นพรมแดนทางเทคโนโลยี จะพบว่าโลกมีนวัตกรรมให้หยิบยืมน้อยลง ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจจึงต้องปรับโมเดลการเติบโตมาสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจเรียกว่าโมเดล ‘inside-out’ ในช่วงนี้ โครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจจะต้องเปิดกว้างและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทั้งจากธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ มีตลาดที่ให้โอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และมีกลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากร และองค์ความรู้ ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดนวัตกรรม

เราเห็นตัวอย่างของระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก เช่น ประเทศในทวีปลาตินอเมริกา ที่ไม่สามารถเปลี่ยนโมเดลจาก outside-in มาเป็น inside-out ส่งผลให้การเติบโตชะลอลงจนติดกับดักการพัฒนา จึงไม่สามารถไล่ตามประเทศพัฒนาแล้วได้ทัน

นั่นเป็นเพราะ ‘ผลข้างเคียง’ ของโมเดล ‘outside-in’ มีเอื้อให้ธุรกิจใหญ่ที่เติบโตเร็วสะสมอำนาจทางเศรษฐกิจที่ปิดกั้นการแข่งขันจากธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น การจูงใจให้ผู้ดำเนินนโยบายออกแบบโครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจใหม่ การเปลี่ยนโมเดลจาก outside-in มาเป็น inside-out จึงทำได้ยาก

Acemoglu et al. (2006) พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปส่งเสริมนวัตกรรมและการแข่งขัน จะโตช้าลงเมื่อเข้าใกล้เส้นพรมแดนทางเทคโนโลยีของโลก โดยผู้วิจัยศึกษาข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจและสภาวะการแข่งขันใน 42 ประเทศทั่วโลกพบว่า ในกลุ่มประเทศที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสูง (high barrier to entry) ระยะห่างจากพรมแดนทางเทคโนโลยี (วัดจากสัดส่วนรายได้ต่อหัวในปี 1965 ของประเทศต่อรายได้ต่อหัวของสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกัน) มีความสัมพันธ์เชิงลบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในปี 1965-95 ในทางกลับกัน ผู้วิจัยไม่พบว่าระยะห่างจากพรมแดนเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์เชิงลบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดต่ำ สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันและการสร้างนวัตกรรม จะสามารถก้าวข้ามกับดักการพัฒนาได้สำเร็จ

‘การเชื่อมต่อ’ และ ‘การแข่งขันอย่างเป็นธรรม’

จะเห็นได้ว่าโมเดลการเติบโตแบบ ‘inside-out’ คือ ‘การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม’ นั่นคือคนในระบบเศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วน ‘มีส่วนร่วม’ ในการเติบโตทางเศรษฐกิจและได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตอย่างเท่าเทียมขึ้น ธุรกิจขนาดใหญ่และเล็กสามารถเติบโตไปด้วยกัน ช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม

เงื่อนไขพื้นฐานของการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมคือ ธุรกิจสามารถ ‘เข้าถึงทรัพยากร’ และ ‘เข้าถึงตลาด’ ได้อย่างทั่วถึง การเข้าถึงทรัพยากรอันหมายรวมถึงปัจจัยการผลิต วัตถุดิบและเงินทุนเป็นรากฐานของการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว

ถ้าเปรียบธุรกิจเป็นนักวิ่งมาราธอน การเข้าถึงทรัพยากรจะเปรียบเสมือนการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ส่วนการเข้าถึงตลาดคือการมอบโอกาสให้ธุรกิจได้เข้าถึงความต้องการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค และได้เชื่อมต่อกับผู้เล่นรายอื่นในโครงข่ายการผลิต เปรียบเสมือนการได้โอกาสลงแข่งขันและได้เรียนรู้จากนักวิ่งที่มีประสบการณ์สูงกว่า อาจกล่าวได้ว่าการเข้าถึงทรัพยากรและตลาดจะ ‘เพิ่มกำลังในการเติบโต’ ให้กับธุรกิจ

กลยุทธ์ที่ตอบโจทย์การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและการเพิ่มกำลังในการเติบโตให้กับธุรกิจขนาดเล็ก คือ ‘การเชื่อมต่อธุรกิจขนาดเล็กเข้ากับห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจขนาดใหญ่’ โดยธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเชื่อมต่อความต้องการสินค้าขั้นสุดท้ายของผู้บริโภค และความต้องการสินค้าขั้นกลางของธุรกิจปลายน้ำในต่างประเทศ เข้ากับผู้ผลิตต้นน้ำภายในประเทศซึ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก โดยธุรกิจขนาดเล็กจะมีบทบาทในฐานะผู้ผลิตอิสระ หรือผู้รับจ้างผลิต (subcontracting, outsourcing) เพื่อจำหน่ายวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลางหรือให้บริการรูปแบบต่างๆ แก่ธุรกิจขนาดใหญ่​

การเชื่อมต่อธุรกิจขนาดเล็กเข้ากับห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจขนาดใหญ่จะช่วย ‘เพิ่มกำลังในการเติบโต’ ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก โดยสร้างโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็ก ‘เข้าถึงทรัพยากร’ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตหรือวัตถุดิบที่ส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพภายในห่วงโซ่การผลิต และเข้าถึงเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อการค้า (trade credit) และ supply chain financing ในขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดเล็กยังได้ ‘เข้าถึงตลาด’ ที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจ และได้พัฒนาทักษะแรงงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดใหญ่ก็จะได้รับประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ต้นทุนต่ำกว่าสินค้านำเข้าและไม่ผันผวนตามปัจจัยภายนอก และเข้าถึงนวัตกรรมภายในประเทศที่มีความยั่งยืนกว่า ในระยะยาว ธุรกิจขนาดใหญ่ได้สร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับธุรกิจที่เล็กกว่าซึ่งจ้างงานคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนเหล่านี้คือผู้บริโภคที่จะกลับมาซื้อสินค้าและบริการของธุรกิจขนาดใหญ่ คือแรงงานที่มีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม ในทางตรงข้าม หากหันหลังให้กับคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย ธุรกิจขนาดใหญ่จะสูญเสียโอกาสจากตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่และมั่นคงกว่าตลาดต่างประเทศ เสียโอกาสทำงานร่วมกับแรงงานภายในประเทศ และเสียโอกาสคิดค้นนวัตกรรม

นอกจากการเชื่อมต่อธุรกิจขนาดเล็กเข้ากับห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะต้องทำควบคู่กันไปคือการส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียม การเตรียมโครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกฎกติกาที่ส่งเสริมการแข่งขันจะสร้างเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนานวัตกรรม และการกระจายผลได้ทางเศรษฐกิจจากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ไปยังคนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

โครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเท่าเทียมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การออกแบบและบังคับใช้กฎกติกาในการแข่งขันในระบบตลาด และการออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นของรัฐให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายในการส่งเสริมการแข่งขัน (competition advocacy) เช่น การประเมินผลกระทบต่อสภาวะการแข่งขันในตลาดก่อนออกนโยบาย เป็นต้น ทั้งสองส่วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน

สำหรับโครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจของไทย เรามีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่เป็นอิสระ และพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มีขอบเขตของการบังคับใช้ค่อนข้างครอบคลุมทั้ง การป้องกันอิทธิพลเหนือตลาด และการควบรวม แต่การบังคับใช้จริงยังคงเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับระบบเศรษฐกิจไทย การบังคับใช้กฎหมายเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม ไทยอาจยังไม่มีโครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายอื่นให้สอดคล้องกับการสร้างสภาพแวดล้อมในการแข่งขัน การปรับปรุงโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อสนับสนุน competition advocacy เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่ครอบคลุมและยั่งยืน

ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม

‘การเชื่อมต่อ’ และ ‘การแข่งขันอย่างเป็นธรรม’ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ความสัมพันธ์ทั้งสองประการจะเป็นกลไกพื้นฐานของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปยัง ‘พื้นที่ที่เหมาะสม’ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรคนไปยังงานที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับทักษะ จัดสรรปัจจัยการผลิตไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพ และจัดสรรเงินทุนและโอกาสไปให้กับคนไทยอย่างทั่วถึง การเชื่อมต่อทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่และเล็กสามารถทำงานเกื้อกูลกันและเติบโตไปด้วยกันได้ ซึ่งจะเป็นดุลยภาพที่ดีกว่าในระยะยาว

วันนี้ พวกเรายืนอยู่ ณ ทางแยกสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของระบบเศรษฐกิจไทย ทางหนึ่ง เราอาจฝืนใช้โมเดลการเติบโตแบบ outside-in ต่อไป แต่การปิดกั้นโอกาสในการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม จะทำให้เศรษฐกิจไทยสูญเสียแรงขับเคลื่อนไปมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายระบบเศรษฐกิจของเราอาจล้มเหลวอย่างถาวร ซึ่งจะส่งผลต่อคนไทยทุกคนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

อีกทางหนึ่ง เราสามารถช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปใช้โมเดลการเติบโตแบบ inside-out ซึ่งอาจมีต้นทุนอยู่บ้างในระยะสั้น แต่จะคุ้มค่ากับอนาคตที่ดีกว่าของเศรษฐกิจไทยและคนไทยทุกคน

“The only true and sustainable prosperity is shared prosperity”… Joseph Eugene Stiglitz

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…