ThaiPublica > สู่อาเซียน > INL สหรัฐฯมอบอุปกรณ์ตำรวจภูธรภาค 4 เสริมศักยภาพปราบลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมายชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง

INL สหรัฐฯมอบอุปกรณ์ตำรวจภูธรภาค 4 เสริมศักยภาพปราบลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมายชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง

21 พฤษภาคม 2022


วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่จังหวัดขอนแก่น ฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยโดยนายเกร็ก ชอว์ ผู้อำนวยการ ได้มอบวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนภารกิจของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 และกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบริเวณชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงรวมถึงการลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมาย เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และการค้าสัตว์ป่า โดยมีพล.ต.ท. ยรรยง เวชโอสถ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เป็นผู้รับมอบ

นายเกร็ก ชอว์ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า สำนักงาน INL หรือฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด ดำเนินงานภายใต้สำนักงานกิจการยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ (Bureau of International Narcotics and Law Enforcement Affairs: INL) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

สำนักงาน INL ก่อตั้งขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนเพื่อช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในโครงการด้านการต่อต้านยาเสพติด ในปัจจุบัน การดำเนินงานของสำนักงานยังครอบคลุมงานด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่ซับซ้อน รวมถึงการค้ามนุษย์ อาวุธ ยาเสพติด และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายด้วย

INL ทำงานกับรัฐบาล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และเจ้าหน้าที่ยุติธรรมทางอาญาอื่น ๆ รวมถึงผู้พิพากษาและอัยการทั่วโลก เพื่อสร้างเสริมศักยภาพในการต่อต้านและดำเนินคดีกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่ผิดกฎหมาย

เครือข่ายอาชญากรรมหันมาเน้นอีสาน

สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทย INL ทำงานร่วมกับหน่วยงานยุติธรรมทางอาญาหลายแห่ง รวมทั้งหน่วยงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น กองบัญชาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตำรวจน้ำ ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธร ตลอดจนสำนักงานอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

รวมทั้งได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานความร่วมมือของไทยในการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมที่ตรงกับความต้องการ โดยนำผู้ฝึกอบรมมาจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ ทั้งในระดับรัฐและรัฐบาลกลาง หรือใช้ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ เช่น สำนักงานปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม สำนักงานสอบสวนกลาง กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และหน่วยสืบราชการลับ

นอกจากนี้ INL มอบอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการปฏิบัติงานตามที่หน่วยงานภายใต้ความร่วมมือร้องขอ เช่น จักรยานยนต์ รถบรรทุก กล้องถ่ายรูป และเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมภายในและระหว่างประเทศ

นายเกร็กกล่าวว่า วัสดุอุปกรณ์ที่มอบแก่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 และสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองภาค 4 ในวันนี้มีมูลค่ารวมกว่า 370,000 เหรียญสหรัฐ

กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ดูแลพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ ซึ่งครอบคลุม 12 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวชายฝั่งลาว รวมถึงระยะทางเกือบ 670 กิโลเมตรริมฝั่งแม่น้ำโขง

เนื่องจากเครือข่ายอาชญากรรมปรับเปลี่ยนการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นมาที่ภาคอีสาน โดยลักลอบนำคน ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อาวุธ และยาเสพติดผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย ความร่วมมือของ INL กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยในภูมิภาคนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง เช่น ในปี 2564 เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของไทยยึดยาบ้าได้เกือบ 100 ล้านเม็ด ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าที่ยึดได้สองปีก่อนหน้านั้นกว่า 4 เท่า

นายเกร็กกล่าวว่า ยังมีการประเมินว่ามูลค่าการลักลอบค้าเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ในภูมิภาคนี้สูงถึงกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี อีกทั้งยังมีส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการฟอกเงินผ่านคาสิโนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในบริเวณชายแดนรอบไทย ตลอดจนยังมีการลักลอบค้าสัตว์ป่า นอแรด จากอัฟริกาที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม

  • “คิงส์โรมัน” มาเก๊าแห่งลุ่มน้ำโขง อาณาจักรมังกรน้อยสามเหลี่ยมทองคำ
  • “คิงส์โรมัน” คาสิโนชายแดน ผลประโยชน์ที่หายไปของไทย?
  • การดำเนินการดังกล่าวแสดงให้เห็นความจำเป็นในการเสริมสร้างศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมายในภาคอีสานเพื่อปกป้องไทยจากนักค้ายาเสพติดระหว่างประเทศและอาชญากรอื่น ๆ

    การมอบวัสดุอุปกรณ์ให้แก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในไทย ส่วนใหญ่มาจากการประเมินความต้องการของแต่ละหน่วยงาน ประกอบกับการได้รับข้อมูลจากการลงพื้นที่ทั่วไทยของ INL เพื่อสำรวจสถานการณ์ ประเมินการค้าสิ่งผิดกฎหมายที่อาจจะมีผลกระทบบริเวณชายแดน รวมทั้งการประเมินร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นของสหรัฐฯ

    ก่อนหน้านี้ INL ได้จัดการฝึกอบรมและมอบวัสดุอุปกรณ์ให้แก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมแล้วกว่า 300,000 เหรียญสหรัฐ โดยเป็นการอบรมภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือสหรัฐฯ กับกองบังคับการตำรวจน้ำไทย ซึ่งทำงานตามแนวชายฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่มอบให้ประกอบไปด้วยยานพาหนะ กล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกล โดรน รวมถึงชุดปฏิบัติการยุทธวิธีและอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่

    สำหรับความช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์และการฝึกอบรมที่ INL มอบให้ไทยแล้วหรือกำลังดำเนินการอยู่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีมูลค่ารวมกว่า 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานด้านการบังคับใช้กฎหมายตามชายฝั่งแม่น้ำโขงและทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    ลักลอบค้ายาเสพติดสูงขึ้น

    พล.ต.ท. ยรรยง กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับไทยมีมายาวนานกว่า 180 ปี ในหลายมิติทั้งด้านการเมือง การค้า วัฒนธรรม สังคม ความมั่นคงและด้านทหาร และเศรษฐกิจ ส่วนด้านการบังคับใช้กฎหมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 2 หน่วยงานให้การสนับสนุนที่ชัดเจน โดยเฉพาะในด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดคือ สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ หรือ Drug Enforcement Administration(DEA) และ INL

    การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือพิเศษ จาก INL เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ได้อย่างมาก โดยเป็นวัสดุอุปกรณ์ตำรวจภูธรภาค 4 จำนวน 8 รายการและกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 อีก 20 รายการ

    สำหรับสถานการณ์อาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดนแม่น้ำโขงซึ่งมีความยาว 500-600 กิโลเมตรที่เห็นชัดเจน คือ ยาเสพติดที่มีแนวโน้มการแพร่ระบาดสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยะสำคัญ และมีการนำเข้าหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นซุกซ่อนในรถบรรทุก รถบรรทุกผลไม้หรือสิ่งของต่างๆ รวมไปถึงบรรจุหีบห่อข้ามมาทางเรือเข้าไทย

    การลักลอบค้าเสพติดในหลายปีก่อนแหล่งผลิต การขนส่ง การลำเลียงอยู่ในโซนภาคเหนือ โดยในประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มพวกว้าเป็นผู้ผลิต การเคลื่อนย้ายการขนส่งมาตามภูเขา เส้นทางลัดเลาะมาตามชายป่า ด้วยพื้นที่ประเทศจำกัดและลักษณะเป็นภูเขา ประกอบกับเส้นทางเดิมมีหลายหน่วยงานเข้ามากวดขัน กลุ่มผู้ค้ารายย่อยระยะหลังจึงเปลี่ยนเส้นทางการลำเลียงและการผลิตมาที่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านตรงข้ามภาคอีสาน ซึ่งแนวชายแดนยาวประกอบกับเส้นทางการลำเลียงไม่ใช่ภูเขา แต่เป็นพื้นราบ เชื่อมโยงเป็นใยแมงมุง จึงยากในการสกัดจับและตรวจสอบ

    “การลักลอบค้าเสพติดในภาคอีสานมากขึ้น การจับกุมหลักล้านเม็ดเมื่อก่อนนานๆครั้งจะจับได้ แต่ทุกวันนี้จับได้เยอะมาก เป็นการผ่านจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาไทย บางส่วนผ่านลงไปทางภาคใต้ไปยังประเทศที่สาม”

    สำหรับการค้ามนุษย์ เนื่องจากตำรวจภูธรภาค 4 ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม หรือแหล่งอุตสาหกรรม การค้ามนุษย์ในรูปการใช้แรงงานจึงมีน้อยมาก แต่มักจะอยู่ในรูปแบบการค้าประเวณีเด็ก การละเมิดทางเพศเด็กในทางอินเตอร์เน็ต แต่สถานการณ์โดยรวมถือว่าค่อนข้างทรงตัวไม่ได้เพิ่มขึ้น

    “ในด้านนี้เราได้รับความร่วมมือจากสหรัฐฯในการแจ้งข้อมูล การล่วงละเมิดทางเพศของเด็กทางอินเตอร์เน็ต ผ่านชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตหรือ TICAC Task Force เป็นความร่วมมือที่ใกล้ชิด โดยในแต่ละเดือน สหรัฐฯจะป้อนข้อมูลให่แก่เจ้าหน้าที่ไทย ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับฐานความผิด เราได้รับความร่วมมืออย่างดีมาตลอด”

    สำหรับความร่วมือในการปราบปรามอาชญากรรมบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน พล.ต.ท.ยรรยงกล่าวว่า แหล่งผลิตชัดเจนไม่ได้อยู่ในฝั่งไทย แต่จะมีมากแค่ไหนอยู่นอกเหนือการควบคุมของไทย แต่ในทางปฏิบัติไทยได้พยายามตั้งคณะทำงานร่วมสองฝั่ง มีการประชุมในระดับล่าง ขับเคลื่อนในระดับล่างก่อนที่ขึ้นมาสู่ระดับบน ซึ่งงจากการติดตามข่าว ทางประเทศเพื่อนบ้านมีการจับกุมถึงแหล่งผลิต ก็ถือว่าได้รับการตอบรับบ้าง แต่การขนส่งยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามได้รับความร่วมือดีในระดับหนึ่ง สปป.ลาวก็มีมาตรการที่เข้มข้น