ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ ชี้แผนฯ 13 จุดเปลี่ยนฟื้นประเทศไทย ชูแผนแม่บท “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค”

สภาพัฒน์ ชี้แผนฯ 13 จุดเปลี่ยนฟื้นประเทศไทย ชูแผนแม่บท “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค”

25 พฤษภาคม 2022


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

สภาพัฒน์ ชี้แผนฯ 13 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย ชูแผนแม่บท “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค” หนุนไทยฟื้นระยะยาวหลังวิกฤติโควิด-19 คาดมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่ 3 แสนล้านบาท แต่ GDP โตเฉลี่ย 5.8% เตรียมเสนอ ครม. รับรองแผนแม่บทเร็วๆ นี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยจะต้องปรับตัวในการพัฒนาเช่นกัน จากเดิมที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจจะมีศูนย์กลางการพัฒนาอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้สภาพัฒน์เห็นว่าควรรจะมีการกระจายการพัฒนาออกไปในพื้นที่ จึงได้มีโครงการศึกษาแผนแม่บทและการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัท อินฟินิตี้ แพลน เมเนจเม้นท์ จำกัด โดยให้การพัฒนาในพื้นที่ 4 ภาคเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือเรียกว่าแผนแม่บทระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค รวม 16 จังหวัด โดยนำเอาจุดเด่นของแต่ละภาคมาจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกรอบการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้ว

“หลังจากนี้คาดว่าแผนแม่บทระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ จากนั้นจะได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและการพิจารณาเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่”

ดร.ดนุชาได้กล่าวถึงจุดเด่นของ แผนแม่บทระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ว่า เป็นการกระจายการพัฒนา ไม่ทำให้เศรษฐกิจกระจุกตัว ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ทำให้แต่ละพื้นที่เกิดการจ้างงาน และลดปัญหาสังคม เนื่องจากเมื่อแต่ละภาคมีแหล่งงานในพื้นที่ก็ไม่เกิดการอพยพเข้าไปหางานทำ ทำให้สามารถดูแลผู้สูงอายุในชุมชนได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระจายความเจริญไปยังพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจเชิงพื้นให้ฟื้นตัวภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19

ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นายอนุชากล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องของการพัฒนาระยาว โดยต้องพิจารณาว่าสิทธิประโยชน์ที่จะจูงใจให้กับเอกชนเข้ามาลงทุนมีอะไรบ้าง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) จะพิจารณาเพื่อกำหนดกรอบเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่บีโอไอสนับสนุนอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนถึงมาตรการสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ว่าสามารถดึงดูดให้เข้ามาลงทุนได้หรือไม่

สำหรับโครงการทั้งหมดที่จะดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2565 – 2575 ของแต่ละภาค มีการคาดการณ์ว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนในพื้นที่รวมประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยหากดำเนินการสำเร็จคาดว่าจะส่งผลให้ GDP ของประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 5.8% ต่อปี ตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ และกระจายความเจริญสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

“ผลการศึกษาฯ จะเป็นกรอบการพัฒนาที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยในการประชุมที่ผ่านมา กพศ. ได้มีมติสำคัญในการกำหนดขอบเขตพื้นที่ของระเบียงฯ ใน 4 ภาค รวม 16 จังหวัด และได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนระเบียงฯ ทั้งในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ และการวิจัยและพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งได้กำหนดกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพให้ประสานการดำเนินงานได้ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำข้อมูลและข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ และความเห็นจากการระดมความคิดเห็นภายใต้การศึกษาฯ มาใช้ประกอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว”นายดนุชากล่าว

ดึงลงเอกชนลงทุน 3 แสนล้าน ดันจีดีพีโต 5.8 %

ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการอิสระ

ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นต่อแผ่นแม่บท “ระเบียงเศรษฐกิจ” 4 ภาค 16 จังหวัดว่า ที่ผ่านมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในลักษณะกระจุกตัว แต่แผ่นพัฒนาฉบับที่ 13 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ 4 ภาคซึ่งมีจุดเด่นแตกต่างกัน จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่จะสามารถพัฒนาให้สำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ดร.กิตติ มองว่า การเริ่มต้นของแผนฯ 13 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย เพราะมีปัจจัยสงครามยูเครน และเผชิญกับวิกฤติอาหาร ซึ่งประเทศไทยสามารถที่จะพัฒนาเรื่องเหล่านี้ได้

“ผมเชื่อว่าหลังโควิด และปัญหารัสเซีย ยูเครน เป็นโอกาสของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของวิกฤติอาหาร ที่ต่อไปแผนการพัฒนาแต่ละพื้นที่สามารถสร้างให้เป็นเขตการพัฒนา หรือสร้างอาหารสำหรับโลกได้”

ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษจะเน้นจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจากการพัฒนาในพื้นที่ EEC ที่เน้นการลงทุนจากภายนอก แต่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคจะให้ควาสำคัญกับภาคเอกชนรายเล็กในประเทศ ที่จะพิจารณาทั้งเรื่องของสิทธิประยชน์ และการสนับสนุนในเรื่องของแหล่งเงินทุน

  • เขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ
  • สำหรับทิศทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแบ่งออกเป็น พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ซึ่งการขยายตัวของจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน มีการขยายตัวค่อนข้างดี เป็นผลจากการลงทุนและการเชื่อมโยงภายในและภายนอกระหว่างระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้านนา จึงควรมีการลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อสนองต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ และ digital token
    นอกจากนี้ ควรพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือให้เป็นเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้าน STEMS และด้าน IT กับ coding

  • เขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • การพัฒนาเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่ผ่านมามีอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไม่มากนัก กลุ่มจังหวัดที่ต้องพัฒนาคือ หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา เห็นว่าควรจะพิจารณาขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพด้วยตัวแบบ BCG ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B หมายถึง bio economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C คือ circular economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G หรือ green economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ดูแลสภาพแวดล้อม

    แนวทางดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเพิ่มผลผลิตอ้อยหรือมันสำปะหลังให้เพิ่มจาก 3.5 ตันต่อไร่ให้เป็น 5-6 ตันต่อไร่ ซึ่งจะทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะมีโรงงงานแปรรูปต่อเนื่องขึ้นมาในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้เกิดการจ้างงาน การใช้แนวทาง BCG ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี ในขณะที่จังหวัดหนองคาย จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการส่งออกและการนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ ไทย-จีน ผ่านทางรถไฟฟ้าจีน-ลาว ทำให้เกิดการปรับตัวของโคงสร้างทางเศรษฐกิจโดยรอบ

  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก
  • แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง-ตะวันตก มีการผลักดันการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันออกและตะวันตก และภาคตะวันตกกับภาคใต้ตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน

    โดยกลุ่มการพัฒนาของระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่นี้คือ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาการเกษตร การท่องเที่ยว และการพัฒนาอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยสามารถพัฒนาศักยภาพในการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
  • แนวทางการพัฒนาในกลุ่มจังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช มีบทบาทสำคัญในการเป็นจุดศูนย์กลางของการเชื่อมโยงการค้า ระบบโลจิสติกส์กับพื้ที่เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศในฝั่งอันดามัน เป็นประตูการค้า และการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งการยกระดับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวนานาชาติ

    ทั้งนี้ แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค จะเป็นกรอบการพัฒนาที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ