ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการ BOT Data Viz Art สื่อสารแบบใหม่: “Corporate Convergence” เปิดภาพโครงสร้างธุรกิจไทย “กระจุก-กระจาย” รายภูมิภาค

โครงการ BOT Data Viz Art สื่อสารแบบใหม่: “Corporate Convergence” เปิดภาพโครงสร้างธุรกิจไทย “กระจุก-กระจาย” รายภูมิภาค

19 ตุลาคม 2020


“จิรวัฒน์ ภู่งาม” ผู้จัดทำผลงาน “Corporate Convergence” ในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟแดชบอร์ด (interactive dashboard) ได้รับรางวัลรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

  • โครงการ BOT Data Viz Art สื่อสารแบบใหม่ : “The Journey of Thai Payment” คว้าที่ 1 เจาะลึกระบบการชำระเงินไทย
  • โครงการ BOT Data Viz Art สื่อสารแบบใหม่: ถอดรหัสสินเชื่อผ่าน “Soft Loan Dashboard”
  • ปี2020ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หรือแบงก์ชาติได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด ‘Data Driven Organization’

    ด้วยแนวคิดการใช้พลังของข้อมูล (power of data) ทำให้แบงก์ชาติ ต้องปรับเปลี่ยน ‘วิธีการสื่อสาร’ จากเดิมที่เป็นการนำเสนอข้อมูลดิบ (raw data) หรือแบบข้อมูลในรูปแบบตาราง (data table)ซึ่งทำให้ข้อมูลมักจะถูกเข้าถึงในวงแคบดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนวิธีการเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงสาธารณะวงกว้าง

    ในยุคของ “ดร.วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการฯ ได้จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเรื่อง Data Analytic ที่จัดให้พนักงานนำข้อมูลภายในมาวิเคราะห์เชิงลึกและนำเสนอให้กับผู้บริหารระดับสูงในทุก 2 เดือน และนำผลลัพธ์ที่ได้มาช่วยในการออกแบบนโยบายและมาตรการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการ

    ต่อมาจึงพัฒนาเป็น “โครงการส่งเสริมทักษะการทำ visualization และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกด้วย micro data” ชื่อว่า โครงการ Data Viz Art ซึ่งจัดขึ้นในปี 2020 โดยให้คนที่เข้าใจข้อมูลดีที่สุดนั่นก็คือ ‘พนักงานแบงก์ชาติ’ เป็นผู้คนทำข้อมูลแข่งขันในองค์กรภายใต้โจทย์ data visualization โดยมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เทคนิคการนำเสนอ และการออกแบบที่สวยงาม สื่อความหมายได้

    “จิรวัฒน์ ภู่งาม” ผู้จัดทำผลงาน “Corporate Convergence” ในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟแดชบอร์ด (interactive dashboard) ซึ่งได้รับรางวัลรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการนำเสนอโครงสร้างธุรกิจรายภูมิภาค ตั้งแต่ข้อมูลการจดทะเบียน ประเภทธุรกิจ งบการเงิน การลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงสถิติต่างๆ

    จิรวัฒน์ อธิบาย “ถ้าเข้าไปดูฐานข้อมูลในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราจะเห็นเป็นรายธุรกิจแต่จะไม่เห็นตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจในภาพรวมแต่งานชิ้นนี้จะดึงฐานข้อมูลทั้งหมดให้เห็นภาพรวมของการทำธุรกิจในพื้นที่ แต่ช่วงแรกเราสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้ภายใน”

    แม้ประชาชนจะสามารถเข้าไปดูข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจได้จากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ฐานข้อมูลดังกล่าวเน้นแสดงเพียงข้อมูลบริษัทเท่านั้น ไม่ได้แสดงถึงภาพรวมตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจทั้งประเทศ ดังนั้นจุดเด่นของผลงานนี้คือเป็นการรวบรวมภาพของโครงสร้างธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทยมาไว้ในที่เดียวกันทั้งหมด

    จิรวัฒน์บอกว่าหากรวบรวมฐานข้อมูลทั้งหมดมาไว้ในที่เดียวกันจะยิ่งตอบโจทย์การวิเคราะห์นโยบายมาตรการต่างๆ รวมถึงวิเคราะห์ แนวโน้มของธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย

    “นอกจากจะ Cross Check กับเศรษฐกิจจริงแล้ว ถ้าเราไม่มีข้อมูลรองรับว่าโครงสร้างธุรกิจในพื้นที่เป็นอย่างไร ก็จะไม่รู้ว่าเราต้องลงไปหาใคร โฟกัสธุรกิจไหน เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างทางด้านโครงสร้าง”

    ดังนั้น เมื่อนำข้อมูลแต่ละภูมิภาคมารวมเข้าด้วยกันจนเห็นถึงแผนที่ประเทศไทย ทำให้เห็นโครงสร้างธุรกิจว่าแต่ละภูมิภาคมีทิศทางธุรกิจเป็นอย่างไร รวมถึงมีการจดทะเบียนธุรกิจมากน้อยขนาดไหน

    เริ่มที่ ‘กรุงเทพ’ และปริมณฑล นับเป็นพื้นที่สีแดง แสดงถึงการกระจุกตัวของธุรกิจที่จดทะเบียนในพื้นที่อย่างหนาแน่น และเป็นไปตามสมมติฐานที่คนเข้าใจปกติ

    ‘ภาคเหนือ’ มีจังหวัดเชียงใหม่ที่มีธุรกิจกระจุกตัวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ถัดมาที่จังหวัดลำพูนก็แสดงถึงจังหวัดที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก

    ‘ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ (อีสาน) มีโครงสร้างใหญ่เป็นนิคมอุตสาหรรมบริเวณพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และมีภาคการค้าและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปกระจายตามจังหวัดต่างๆ

    ‘ภาคตะวันออก’ มีจุดที่เด่นที่สุดคือบริเวณเขต EEC (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) สะท้อนการกระจุกตัวของภาคอุตสาหกรรม

    ส่วน ‘ภาคใต้’ มีจุดเด่นที่เรื่องธุรกิจยางพาราและปาล์มน้ำมันกระจายในพื้นที่ และมีจังหวัดภูเก็ตที่เป็นแนวหน้าของธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ

    จากแผนภาพบอกได้ว่าหัวเมืองใหญ่มีความสัมพันธ์กับการกระจุกตัวของการจดทะเบียนทางธุรกิจอย่างชัดเจน

    นอกจากนี้ยังมีโจทย์เรื่องทุนจีนเข้ามาในประเทศ โดยฐานข้อมูลของ Corporate Convergence ยังระบุให้เห็นว่าธุรกิจที่เข้ามามีประเภทใด และเปรียบเทียบกับทุนจดทะเบียนต่างชาติอื่นๆ

    อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ถูกจัดเก็บแบบเดิม ‘ใช้งานยาก’ และ ‘ซับซ้อน’ จากข้อจำกัดนี้จึงทำให้จิรวัฒน์ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ DataVizArt เพื่อย่อยข้อมูลและเปลี่ยนวิธีนำเสนอให้เข้าใจแบบเห็นภาพชัดที่สุด

    “ตอนเห็นประกาศผมก็สนใจเลยรีบติดต่อโครงการเลยจะได้เอาข้อมูลที่เรามีมาปรับส่งประกวด เพราะก่อนหน้านี้ข้อมูลชุดนี้ที่มาทำในรูปแบบแดชบอร์ดเห็นแค่ในส่วนงานเองเท่านั้น ไม่ได้ถูกดึงออกมาให้เห็นในวงกว้าง”

    ส่วนในอนาคต จิรวัฒน์บอกว่ามีแผนจะร่วมมือกับทีมงานใน 3 สำนักงานภาคต่อยอดผลงานให้สามารถสื่อสารได้ในวงกว้าง และจะพัฒนาเวอร์ชั่นถัดๆ ไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานมากขึ้น