ThaiPublica > เกาะกระแส > KKP Economic Forum: ไทยต้องเลิกทำซ้ำพัฒนาแบบเดิม ใช้สูตรใหม่สร้างเศรษฐกิจ สู่ประเทศรายได้สูง

KKP Economic Forum: ไทยต้องเลิกทำซ้ำพัฒนาแบบเดิม ใช้สูตรใหม่สร้างเศรษฐกิจ สู่ประเทศรายได้สูง

3 เมษายน 2022


นายธีระพงษ์ วชิรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

วันที่ 2 เมษายน 2565 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(KKP) ร่วมกับสำนักข่าวเดอะ สแตนดาร์ด จัดงานสัมมนาใหญ่ในวาระครบรอบ 50 ปีของกลุ่มธุรกิจฯ “THIS IS THE END OF THE LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี” โดยงานเสวนาเป็นการหยิบยกประเด็นสำคัญจากหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy ที่กลุ่มธุรกิจฯ จัดทำขึ้น ในวาระครบรอบ 50 ปี มานำเสนอและอภิปรายต่อยอด โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งหาคำตอบสำหรับก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีเสวนา ของผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนะแนวทางออกแบบสถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย ในรูปแบบ Virtual Conference

  • “บรรยง พงษ์พานิช” ชี้เมื่อประเทศไทยตกยุค สอบตกโจทย์ ‘มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน’ … แล้วจะไปต่ออย่างไร?
  • สูตรสำเร็จการพัฒนาที่ต้องเลิกทำซ้ำ

    นายธีระพงษ์ วชิรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอภาพพัฒนาการของเศรษฐกิจในหัวข้อ Thailand Final Call โดยกล่าวว่า การวิเคราะห์ประเทศไทยวันนี้ในฐานะที่ไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และในฐานะที่ไม่ได้เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ แต่ในฐานะของนักวิเคราะห์การเงิน โดยเริ่มทำงานช่วงต้นทศวรรษ 1980-1990 ได้เห็นกระบวนการการพัฒนาการเงิน Financial Liberalization และอยู่ในช่วงมรสุมเศรษฐกิจ เห็นต้มยำกุ้งปี 1997 จึงเล่าในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในช่วงนั้น

    ในแง่ของภาพรวมจะนำเสนอประเด็นเด่น หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่บอกถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ได้เฉพาะในส่วนภาคธุรกิจเท่านั้น เพราะเชื่อว่ามีการพัฒนาการคู่ขนานซึ่งมีอิทธิพลเยอะมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองโลกหรือนโยบายหรือการเมืองในประเทศไทย ในการเล่าจากผู้รู้มากมายซึ่งจะได้เป็นองค์ประกอบที่จะสร้างประโยชน์

    ผมคิดว่า…

    “บทเรียนนี้จะเป็นมุมมองที่จะช่วยให้เห็นภาพที่จะได้ไม่ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก และเพื่อปรับปรุงตัวเอง เปลี่ยนนโยบายหรือกลยุทธ์ในการจะทำอะไรให้ดีขึ้นในอนาคต”

    สูตรสำเร็จในการพัฒนาซึ่งเป็นบทแรก จะเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตตามลำดับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 รายได้ที่เราเร่ิมต้นถ้าย้อนกลับไปดู ประชากรไทยมีรายได้ต่อตัวต่อปีแค่ 100 เหรียญเท่านั้น นึกสภาพว่าอยู่ยังไง ก็ถือว่าเป็นรายได้ขั้นต่ำ เราต้องผ่านการพัฒนาค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันเรามีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อหัวประมาณ 7,100 เหรียญ เท่ากับการขยายตัวในช่วง 60 ปี ร้อยละ 7 ซึ่งเป็นอัตราที่ดีมาก ผมคิดว่าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่น้อยหน้า

    ถ้าดูรูปบันไดการพัฒนาในแต่ละทศวรรษ ประเทศไทยจะต้องพัฒนาหลายขั้นตอน เรามาดูบทบาทการพัฒนาแต่ละช่วงทศวรรษว่าเป็นบทเรียนที่เราจะเรียนรู้ได้อย่างไร

    ในปี 1945 ปีการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจมาแล้วหนึ่งรอบ เศรษฐกิจที่เรียกว่ายังชีพเป็นเศรษฐกิจที่เสรีขึ้น เริ่มมีการค้าขายมากขึ้น ก่อนปี 1920 เป็นเศรษฐกิจผูกขาด ในทศวรรษถัดมา 1960 ทศวรรษที่เราเจริญเติบโตขึ้น รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 192 เหรียญ ถือว่าดีขึ้น เป็น 7% ต่อปี ในปี 1960 เราพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างเยอะ เรียกว่าจัดเต็ม เป็นสูตรสำเร็จส่วนหนึ่งในการปรับรายได้ของประชาชน

    ประเด็นที่สอง ในปี 1970 เรามีการพัฒนานโยบายใหม่ เป็นนโยบายที่เรียกว่าทดแทนการนำเข้า เพราะปี 1972-1979 มีการห้ามส่งออกน้ำมันของประเทศอาหรับ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเยอะมาก ขณะเดียวกันทำให้ราคาสินค้านำเข้าของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นจนกระทั่งเราขาดดุล นโยบายที่เรานำมาใช้คือนโยบายทดแทนการนำเข้า ทำให้เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวเร่งขึ้นในอัตรา 14% และรายได้ประชากรก็เพิ่มขึ้นที่ 682 เหรียญต่อคนต่อหัวต่อปี

    ในทศวรรษถัดมาปี 1980 เราเริ่มเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง จะเห็นว่าในทศวรรษ 1980 เป็นทศวรรษที่เจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย ถ้าใครจำได้ อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ใช้นโยบายยุคนี้ที่เราเรียกว่ายุคโชติช่วงชัชวาลในการพบแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย ถัดมาในปี 1985 เกิด Plaza Accord

    Plaza Accord คือการเปลี่ยนแปลงค่าเงินของญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทย ทั้งสองส่วนประกอบกันจนทำให้เราเจริญเติบโตในแง่อุตสาหกรรมมากขึ้น การขยายตัวก็เพิ่มเป็น 1,500 เหรียญต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นในอัตรา 8%

    ช่วงถัดมาปี 1990 เป็น step by step เริ่มเปิดเสรีทางการเงิน เป็นยุคที่ผมเรียกว่า ‘ฟองสบู่ตลาดหุ้น’ ช่วงแรกเป็นช่วงที่ดีมาก มีการเจริญเติบโตค่อนข้างเยอะ มีการปล่อยสินเชื่อต่อจีดีพีจาก 50% เป็น 140% ในช่วงถัดมา แต่อันนั้นก็อาจจะเกินตัวไปจนทำให้เกิดความไม่สมดุล และเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 การเจริญเติบโตลดลงเหลือแค่ 3% ต่อปี

    เป็นบทเรียนแรกที่เราควรจำไว้ว่าในแง่การขยายตัวจะรักษาสมดุลยภาพอย่างไรบ้าง

    ถัดมาในทศวรรษ 2000 เราโตดีขึ้นเพราะมีการลดค่าเงินจนทำให้ประเทศไทยมีความสามารถแข่งขันมากขึ้น รวมทั้งมีการเจรจาเขตการค้าเสรี Free Trade Agreement ทำให้การเจริญเติบโตหรือการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงมาก เพิ่มขึ้นถึง 10% รายได้เพิ่มไปอยู่ที่ 5,000 เหรียญ เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ

    ในทศวรรษสุดท้ายทศวรรษปี 2010 ถ้าจำได้เรียกว่า Amazing Thailand มีการย้ายฐานแรงงานจากอุตสาหกรรมเข้าสู่แรงงานบริการเพื่อต้อนรับการท่องเที่ยวที่เจริญเติบโตค่อนข้างมาก จากเดิมที่เราโตที่ 6-7% ต่อปี เรื่องการท่องเที่ยวมีการเติบโตเท่าตัวเป็นปีละ 14% ทำให้แรงงานย้ายกลับไป ช่วงนั้นเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวบูมมากก่อนมีโควิดแพร่ระบาด

    แต่ว่าการกู้ยืมเงินของประชาชนคนไทยเพื่อไปใช้การบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งต่างจากปี 1997 ที่การกู้ยืมเงินส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุน สาเหตุนั้นทำให้การเจริญเติบโตเริ่มชะลอลงไปที่ 4% รายได้ต่อหัวประมาณ 7,100 เหรียญต่อคนต่อปี

    ในแง่การพัฒนาที่จะมุ่งสู่รายได้สูง 7,000 เหรียญไม่พอแน่นอน เราอยากได้รายได้ที่เพิ่มขึ้น รายได้ของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้สูงต้องมีอย่างน้อยประมาณ 12,500 เหรียญ ต่อปีต่อคน เป้าหมายก็ไม่ไกลมากนัก

    ปี 1949 เราเพิ่มความมั่นคงหลังจากสงคราม ความมั่นคงเรื่องอาหาร ความมั่นคงเรื่องพลังงาน ปี 1960 เราทำโครงสร้างพื้นฐาน ปี 1970 เราเริ่มมีความมั่นคงทางพลังงาน เพราะมีการพบแก๊สในปี 1980 และมี Accord Plaza เข้ามาทำให้อุตสาหกรรมเจริญขึ้น มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากในช่วงนั้น ถัดมาเรื่องการเปิดเสรีทางการเงิน และเปิดเสรีทางการค้าในปีถัดไป จะเห็นว่า step by step ในการพัฒนามีแน่นอน

    “ประเทศไทยมีรายได้สูงขึ้น แต่ถ้าอยากรายได้มากกว่านี้ ที่เราควรจะเป็นคือเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งการพัฒนาในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาจะต้องเปลี่ยนค่อนข้างเยอะมาก เพราะเราต้องเน้นเรื่องคุณภาพการศึกษาต้องเป็นการศึกษาชั้นสูง การลงทุนในแง่ของการทำวิจัยหรือ R&D ต้องเพิ่มสูงกว่านี้ การแข่งขันไม่ใช่ monopoly แต่ต้องมีมากขึ้น และลดกฎระเบียบ ลดคอร์รัปชั่น ไม่งั้นไม่มีโอกาสขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง”

    มองย้อนหลังจะถามว่าถ้าเราให้คะแนนประเทศไทยที่เราขึ้นไปถึงจุดนี้ สำหรับผมประเทศไทยถ้าเทียบกับนักเรียนจะเป็นนักเรียนชั้นกลาง เราไม่ได้อยู่ชั้นหน้าและไม่ได้อยู่แถวหลัง เราใช้เวลาเปลี่ยนแปลงจากรายได้ขั้นต่ำเป็นรายได้ปานกลางขั้นสูงใช้เวลาเพียง 28 ปี ถือว่าไม่ช้ามาก เพราะบางประเทศที่เริ่มต้นคล้ายๆ เราใช้เวลานานกว่าเราเยอะ บางประเทศใช้เวลาประมาณ 50 ปีถึงจะเพิ่มรายได้แต่ละชั้น เพราะฉะนั้นเราก็ทำได้ดีกว่า

    แต่เราไม่ได้เร็วที่สุดในชั้น แต่เราไม่ใช่นักเรียนที่ดีที่สุด เพราะนักเรียนที่ดีที่สุดทำได้ดีกว่าประเทศไทยเป็นสิบๆ ปี ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลี จีน หรือไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่อยู่ในชั้นเดียวกันเราตอนนี้เขาจบแล้วและ move on ไปที่บทเรียนที่มีรายได้สูงขึ้น

    เกาหลีกับไต้หวันใช้เวลาน้อยกว่าเรา 10 ปีในการเพิ่มจากรายได้ต่ำเป็นรายได้ปานกลาง แต่สำคัญคือเขาใช้เวลาแค่ 7 ปีเท่านั้นที่เพิ่มจากรายได้ชั้นกลางชั้นสูงเป็นรายได้ขั้นสูง หรือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

    แต่ถ้าเมืองไทย ยกตัวอย่างยุคหลังเราโต 4% ต่อปี สมมติเราสามารถรักษาการเติบโตที่ 4% ต่อปีได้ทุกปีไปเรื่อยๆ ในอีก 5 ปีเราจะมีรายได้ประชากรต่อหัวที่ประมาณ 12,500 เหรียญต่อคนต่อปี เป็นรายได้ขั้นสูง แต่ต้องยืน 4% ทุกปีไปอีกห้าปี หมายความว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2035 เราจะทำได้ไหม และเราต้องทำอย่างไรเป็นประเด็นที่สำคัญ

    นี่คือบทเรียนบทแรกที่เราต้องเปลี่ยนจากรายได้ปานกลางเป็นรายได้ขั้นสูง

    ปรับตัวเปลี่ยนนโยบายรับกระแสโลกภายนอก

    บทเรียนที่สองเรียกว่า ‘นาวาน้อยกลางคลื่นสมุทร’ หมายความว่าบทเรียนที่สองจะเป็นบทเรียนที่ขัดแย้งจากบทเรียนแรกอย่างสิ้นเชิง บทเรียนที่หนึ่งคือการพัฒนามา เรามีนโยบายที่ชัดเจนที่เราทำมาเรื่อยๆ แต่บทเรียนที่สองไม่ใช่

    การพัฒนาเศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดจากนโยบายจากประเทศไทยอย่างเดียว มันมีอิทธิพล มีการพัฒนามีปมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่กระทบเศรษฐกิจโดยที่เราไม่ได้มองแต่ภายใน คือการเปลี่ยนแปลงเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองโลก และการเปลี่ยนแปลงแง่ปัจจัยการผลิตของโลกหลักๆ 2 เรื่องคือการเปลี่ยนแปลงเรื่องพลังงาน รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งมีผลกระทบต่อไทยแน่นอน

    ปัจจัยเหล่านี้เราต้องทำความเข้าใจเพื่อจะปรับตัว ถ้าเข้าใจแล้วปรับตัว เราก็จะสามารถเปลี่ยนนโยบายให้เป็นประเทศที่มีรายได้ขั้นสูงได้

    ตัวอย่างที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับบทที่ 1 ข้อที่หนึ่ง ในปี 1960 มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความจริงแล้วโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ไม่ได้กำเนิดโดยประเทศไทย หลายโครงการที่เราทำได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน สร้างเขื่อนยันฮี หรือเขื่อนภูมิพลในปัจจุบัน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อเพิ่มผลผลิตในภาคกลาง จนกระทั่งเราสามารถผลิตข้าวได้มากกว่า 10 ล้านตันต่อปี และส่งออกได้

    เขื่อนยันฮีสร้างได้โดยการกู้ยืมเงินจากธนาคารโลก เราทราบดีว่าธนาคารโลกอยู่ภายใต้สหรัฐอเมริกา เราได้สินเชื่อรายแรกใน South East Asia ถามว่าทำไมถึงให้เรา เหตุผลหลักเพราะสงครามเย็น และเราเป็นโดมิโนตัวสุดท้าย เขาต้องมาสนับสนุนเรา เราไปเซ็นสัญญา SEATO(การจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)และแถลงการณ์ร่วม ถนัด –รัสก์ ( Thanat – Rusk Joint Communique) ที่จะต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในปี 1962 ทำให้ไทยเป็นฐานทัพแห่งหนึ่งของอเมริกาในการต่อสู้กับสงครามเวียดนาม ประเทศไทยยังต้องส่งทหารมากกว่า 11,000 รายเข้าร่วมรบในเวียดนาม และอีกกว่า 22,000 รายในประเทศลาว

    การใช้จ่ายของทหารอเมริกันกว่า 46,000 ราย ประเมินคร่าวๆ อาจจะสูงถึงประมาณ 10% ของจีดีพี หรืออาจจะเท่ากับนักท่องเที่ยวปัจจุบันที่มาเที่ยวไทยด้วยซ้ำ

    ตัวอย่างที่สอง ถ้าดูในรูปจะเห็นว่านโยบายทดแทนการนำเข้าไม่ได้เกิดจากภายในประเทศไทย แต่มันเกิดจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ราคานำเข้าแพงค่อนข้างมาก เราใช้ BOI เป็นกันชนอุตสาหกรรมบางประเทศโดยการขึ้นภาษีประมาณ 30-100% เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมในเมืองไทย อันนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่ว่าจะเห็นได้ว่านโยบายนี้ก็มาจากแรงสะท้อนเรื่องราคาน้ำมันที่เกิดขึ้น

    ถัดมาโชติช่วงชัชวาล ปี 1970 ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเยอะมาก ประเทศไทยแย่ ขาดดุล ลดค่าเงินบาท สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ประเทศไทยไปสำรวจน้ำมัน แต่ทั้งโลกพลิกแผ่นดิน ใช้คำว่าทั้งโลก บริษัทน้ำมันทั้งโลกพลิกแผ่นดินหาแหล่งน้ำมันใหม่เพื่อทดแทนแหล่งน้ำมันอาหรับ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น

    การเจอน้ำมันในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยเจอค่อนข้างน้อยด้วยซ้ำ มีการพบ WideCat Wells คือ wells ที่ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ว่าเจอน้ำมันมาเลย ยังต้องยอมมาสำรวจ ปรากฏว่าในแถบนี้เจอมากสุดในอินโดนีเซีย ถ้าดูแผนที่จะเห็นว่าจุดสีเหลืองคือจุดที่เจอ ฉะนั้นความเชื่อว่าโชติช่วงชัชวาลเป็นของคนไทย ความเชื่อนั้นก็อาจจะต้องเปลี่ยน

    ในแง่การเปิดอุตสาหกรรมใหม่ในปี 1985 คำถามง่ายๆ คือถ้าไม่มี Accord plaza กองทัพญี่ปุ่นทำให้ค่าเงินแข็งมากจาก 300 กว่าเยนต่อหนึ่งเหรียญอยู่ที่ 200 กว่าเยน จนทำให้ส่งออกไม่ได้เลย และต้องย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่ประเทศไทย ถ้าไม่มี Accord Plaza เราจะมี Detroit of Asia ไหม ฉะนั้นเป็นอีกอันที่มีผลกระทบสะท้อนจากภายนอก โชคดีมากเขาเลือกไทยเป็นฐาน จะเห็นว่าแรงงานจากเดิมที่เป็นเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น และเราก็เริ่มสร้าง Detroit of Asia จากแรงผลักดันของค่าเงินเยน หลังจากนั้นมีการลงทุนตรงของฝรั่งเข้ามาช่วยให้เราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้เร็วขึ้น

    ถัดไปในทศวรรษปี 1990 เราเปิดเสรีการเงิน ผมถามว่าการเปิดเสรีการเงินเกิดจากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเดียวหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่

    ในปี 1990 มีสิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่า Washington Consensus หรือ ฉันทามติวอชิงตัน เขากำหนดขึ้นมาเพื่อไว้ตอบโจทย์ของประเทศเกิดใหม่ในลาตินอเมริกาหรืออเมริกาใต้ เพราะอเมริกาใต้มีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน อเมริกาเลยออกมติวอชิงตัน

    การเปิดเสรีของเมืองไทย แบงก์ชาติเปิดเสรีนโยบายดอกเบี้ยในปี 1991 เท่ากับข้อสี่ของการเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ยของมติวอชิงตัน ปี 1993 ประเทศไทยเปิดเสรีเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน ตามมติผลในข้อ 7 และเราทำอีกหลายข้อ แต่เฉพาะการเงินจริงๆ แล้วมีการแนะนำมา และคนที่นำมติเหล่านี้มาใช้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เป็นทั้ง Emerging Market

    สิ่งที่เราเห็นคือในภาพรวมของการเปิดเสรีการเงินและมีเงินทุนไหลเข้าไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เงินทุนไหลเข้ามีทั้งจีน เกาหลี และไทย

    วิกฤติต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติตลาดเกิดใหม่ เพราะวิกฤตนี้เกิดในตลาดเกิดใหม่ เงินไหลออกในเอเชีย เงินไหลออกฉับพลัน ไม่มีประเทศไหนใน Emerging Market สามารถทนแรงกดดันนี้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการลดค่าเงิน จะเห็นว่าประเทศที่โดนก่อนคือตุรกี

    ถัดไป Amazing Thailand จริงๆแล้วเป็น Amazing Thailand หรือ Amazing China กันแน่ เพราะอัตราการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวไทยจะไม่สูงขึ้นเลยถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวจีน นักท่องเที่ยวที่ออกจากเมืองจีนจะเห็นว่ามีการออกต่างประเทศของประชาชนจีนค่อนข้างเยอะมาก แต่มาเมืองไทยไม่ถึง 10% ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด แต่ 10%ของจีนก็ใหญ่พอจะทำให้เราโตมากแล้ว

    เป็นบทเรียนที่จะชี้ว่ามันไม่มีทางลัด และเป็นบทเรียนที่บังคับว่าเราจะทำอย่างไรให้เราสามารถพัฒนาได้ ต้องปรับตัว เพราะมีหลายประเทศมากที่ไม่สามารถปรับตัวและติดกับดักรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำประมาณครึ่งศตวรรษ

    ใช้สูตรใหม่สร้างเศรษฐกิจสู่ประเทศรายได้สูง

    จุดพลิกผันในอนาคต อันแรกมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ทศวรรษของการวิวัฒนาการมีการเปลี่ยนแปลงทางพลังงานและเทคโนโลยี วิวัฒนาการเทคโนโลยีและการปฏิวัติพลังงานรอบใหม่ ซึ่งเราก็ต้องจับตาดูเพราะมีผลกระทบต่อประเทศไทย

    กระแสย้อนกลับของโลกาภิวัตน์และการปะทุของภูมิศาสตร์การเมืองรอบใหม่ ไม่ว่าในประเทศจีน รัสเซีย ไม่เพียงท้าทาย แต่อาจกระทบรายได้ของเราด้วย เพราะรายได้เรากับประชากรสูงวัย การด้อยลงของคุณภาพการศึกษา การขาดการลงทุนการวิจัย ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น

    เรื่องแรก บทเรียนที่เราอยากจะโต เราต้องตื่นตัว เศรษฐกิจโลกเติบโต แต่ประเทศไทยยังไม่ไปไหน

    ปี 1997 เศรษฐกิจหักหัวลง และในทศวรรษล่าสุดก็เริ่มหักหัวลง มีการคาดการณ์ของ IMF ด้วยว่าประเมินไทยจะไม่ไปไหน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะทำ อันแรกสุด ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงการลงทุนอันแรก เราไม่สามารถพึ่งพา FDI ประเทศก็จะบอกว่าไปเอานักลงทุนมาลงทุน ผมว่าทำไม่ได้แล้ว สัดส่วนที่คิดว่าสำคัญคือแม้กระทั่ง FDI หรือการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศก็มีแนวโน้มลดลง เทคโนโลยีใหม่ๆต้องสร้างขึ้นมาเอง

    สิ่งสำคัญถ้าไปดูประเทศรายได้สูง เปอร์เซ็นต์ของ FDI ต่ำลง เพราะเขาผลิตเทคโนโลยีเอง ไม่ต้องพึ่งหรือนำเข้าจากต่างประเทศ

    ฉะนั้นถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องปรับ ถ้าเราโต 4% ได้ในปี 2035 เราจะเป็น High Income Country เราจะต้องทำนวัตกรรมวิจัย การศึกษา การแข่งขัน และลดคอร์รัปชั่น

    สิ่งที่เราจะต้องทำ อย่างแรก การศึกษาเป็นสิ่งที่จะกำเนิดนวัตกรรม การศึกษาช่วงหลังเราดูไม่ดี ไม่ว่าคะแนนการอ่าน คะแนนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เราถอยลง การปฏิรูปการศึกษาเราค่อนข้างล้มเหลว เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องช่วยกันดู

    ถัดไปในแง่การวิจัย เราใช้จ่ายในการวิจัยน้อยลง อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ค่อนข้างโหดร้าย ผลจากการรสำรวจพบว่าประเทศไทยติดอันดับ 9 ของการร่ำรวยจากทุนพวกพ้อง ไม่ได้ร่ำรวยจากนวัตกรรม ก็จะบอกว่าถ้าสามารถที่จะไป make connection แล้วรวยได้เร็วกว่า ทำไมต้องไปลงทุนในการที่จะทำการวิจัย

    เพราะฉะนั้นถ้าไปดูการศึกษาในการวิจัยว่าประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยมากน้อยแค่ไหน ตัวเลขที่ดูง่ายๆ คือการจดลิขสิทธิ์ ต่อประชากรหนึ่งล้านคนเรามีการจดลิขสิทธิ์แค่ประมาณ 11,000 ราย ของประเทศจีนประมาณ 780,000 ราย ของเกาหลีประมาณ 800,000 ราย

    ถ้าไปดูบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกา ที่อยู่ในดัชนี S&P 500 มีสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ Intangible asset เป็นลิขสิทธิ์ประมาณ 90% ของสินทรัพย์ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเริ่มนำลิขสิทธิ์มาสร้างนวัตกรรม แล้วมูลค่าของ intangible assets มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเศรษฐกิจหนึ่งประเทศด้วยซ้ำ ถ้าเราต้องการเป็นประเทศเจริญๆ พัฒนาแล้ว งานวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ

    สุดท้าย วิกฤติพลังงาน วิกฤติพลังงานอาจจะกลับมาเยือนอีกรอบ เราเริ่มต้องนำเข้าพลังงาน ขณะที่พลังงานสำรองของประเทศไทยลดลง ตอนนี้เราผลิตไฟฟ้าต่อหัวประมาณ 23 กิโลวัตต์ชั่วโมง(kWh)ต่อหนึ่งร้อยคน ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้ชั้นสูงจะใช้พลังงานสูงกว่าประมาณ 400% บางประเทศ 70 กิโลวัตต์ บางประเทศ 140 kWh สหรัฐอเมริกาใช้ 140 kWh ต่อประชากร 100 คน ฉะนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จึงพิจารณาเรื่องนิวเคลียร์พาวเวอร์ ก็เป็นอีกอันที่ท้าทาย

    ประเด็นการปะทุของความขัดแย้งรอบใหม่ การค้าขายของโลกเริ่มหดลง เพราะพอสหรัฐอเมริกาให้จีนเข้ามาอยู่ในการค้าโลก อิทธิพลของจีนมันกว้างขึ้นจนกระทั่งอเมริการับไม่ได้ และเกิดสงครามการค้าขึ้น ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องดูเพราะกระทบกับไทย

    “ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งคือสิ่งที่มันจะเปลี่ยนแปลงทศวรรษหน้า อาจจะกระทบรายได้ของเราที่เป็นรายได้ปานกลาง แต่อย่าเพิ่งหมดหวังนะครับ อย่างที่ผมบอกถ้าเรารักษาการเติบโตที่ 4% ทุกปี ในปี 2035 เราจะมีรายได้เกิน 12,000 เหรียญ”

    “แล้วเราต้องทำอะไรบ้างอย่าง สรุปว่าอันนี้มันจะต้องเป็น consensus ของประเทศที่จะพร้อมใจลดเลิกสิ่งที่เราเคยเรียนหรือที่เป็นมา เพื่อจะมุ่งสู่ประเทศที่มีรายได้สูง”