ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” การวิเคราะห์ ESG ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่สุดท้ายนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” การวิเคราะห์ ESG ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่สุดท้ายนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน

30 เมษายน 2022


    ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” ในส่วน “ESG Investing” พูดคุยกับผู้ลงทุนในประเทศ (สถาบัน/บุคคล) ต่อการลงทุนที่ยึดกรอบ ESG นำเสนอแนวคิด วิธีการ กระบวนการของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล ที่นำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งการใช้บทบาทในฐานะผู้ลงทุนร่วมขับเคลื่อนให้กิจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในกรอบ ESG ซีรีส์นี้จะบอกเล่าแต่ละกรณีตัวอย่าง เพื่อร่วมกันสร้างการลงทุนยั่งยืนด้วย…ESG”

บทบาทหลักของนักวิเคราะห์การลงทุนในตราสารทุน คือ ทำการวิเคราะห์หุ้นพร้อมการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ทางการเงินและธุรกิจอย่างละเอียด ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับตลาดผสมผสานกับทักษะการตีความข้อมูล และการใช้เครื่องมือต่างๆ ของนักวิเคราะห์ ช่วยให้ผู้ลงทุนทั้งผู้ลงทุนสถาบันและบุคคลทั่วไปตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น ไม่ว่าในการตัดสินใจขาย ตัดสินใจซื้อ หรือการถือครองการลงทุนบางประเภท

โดยทั่วไปนักวิเคราะห์มักแบ่งออกเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ครอบคลุมบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกันในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นได้ และภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง ดังนั้น นักวิเคราะห์ที่รับผิดชอบกลุ่มอุตสาหกรรมใดกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่ง ก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมนั้น

เมื่อการลงทุน ESG เริ่มกลายเป็นกระแสการลงทุนหลักและทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น การวิเคราะห์หุ้นเพื่อการลงทุนของนักวิเคราะห์จะเปลี่ยนไปอย่างไร และนักวิเคราะห์การลงทุนจะนำเครื่อง ESG มาใช้ประกอบการวิเคราะห์หุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนอย่างไร จึงจะตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่มองว่า ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG จะมีศักยภาพในระยะยาว

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ฉายภาพรวมว่า ESG เป็นกระแสทั่วโลก ปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว เทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เป็นเรื่องใหม่ไม่มีใครพูดถึงมากนัก โดยเฉพาะในไทยเชื่อว่ามีน้อยคนที่เข้าใจว่า ESG คืออะไร นักวิเคราะห์เองก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่จะรู้ผิวเผินว่าย่อมาจากอะไร แต่จะต้องทำอย่างไร วิเคราะห์อย่างไร คิดว่ายังไปไม่ถึง แต่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป รับรู้มาเป็น 10 ปีขึ้นไป

โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีการผลักดันการลงทุนที่ไม่ได้เน้นปริมาณ แต่มีการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล โดยมีหลักว่า หากบริษัทใดเน้นทำกำไรอย่างเดียว โดยไม่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมหรืออื่นๆ เลย กองทุนบางกองทุนไม่สามารถลงทุนได้เลย มีนโยบายชัดเจน

“ผมเคยมีตัวอย่างที่กระทบโดยตรง จากการนำบริษัทไทยเดินทางไปโรดโชว์ที่สวีเดน ก่อนประชุม คำถามแรกของเขาคือ บริษัทนี้มี ESG หรือไม่ คือ ถ้าไม่มี ESG rating ที่สูงพอก็ไม่ต้องคุยกันเลย เพราะเขาลงทุนด้วยไม่ได้ โชคดีบริษัทที่ผมพาไปเป็นบริษัทที่มีความเป็นสากลพอสมควร สามารถโชว์ ESG rating ให้เขาดู การประชุมก็เลยดำเนินต่อไป”

มอง ESG ในเชิงความเสี่ยง

ส่วนการวิเคราะห์ของไทยเอง เริ่มขึ้นประมาณปี 2561-2562 โดยสมาคมในตลาดทุนมีการพูดคุยกันว่ากระแส ESG มีขึ้นทั่วโลก ไทยควรผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นกลุ่มแรกๆ ด้วยการออกกองทุน ESG โดยเน้นเรื่องธรรมาภิบาล ส่วนในด้านนักวิเคราะห์ ก็พยายามให้ความรู้กับนักวิเคราะห์ เพราะเป็นเรื่องใหม่

เดิมนักวิเคราะห์จะวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ หลักๆ คือวิเคราะห์เฉพาะธุรกิจ การทำกำไร ไม่ค่อยได้คำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม หรือธรรมาภิบาล และไม่รู้จะเริ่มอย่างไรด้วย เช่น การวิเคราะห์บริษัทด้านการเงิน หากจะให้วิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะไม่รู้ว่าจะวิเคราะห์อย่างไร ก็ได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความรู้

“จนถึงเวลานี้ผมเชื่อว่า นักวิเคราะห์ทุกคนน่าจะเข้าใจแล้วว่าการมองเรื่อง ESG มองได้ 2 มุม มุมแรกมองในเชิงความเสี่ยง บริษัทมีนโยบายในการบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของเขาในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง มุมที่สองคือโอกาสทางธุรกิจ”

ตัวอย่าง บริษัทน้ำมัน โดยตัวธุรกิจที่ดำเนินก็กระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เช่น เกิดน้ำมันรั่วจากการขนส่งในทะเล ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัว E environment ถ้าบริษัทไม่มีนโยบายการควบคุม แล้วเกิดการรั่วไหลทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ความเสียหายต่อบริษัทก็มาก ผลประกอบการก็แย่ลง สิ่งแวดล้อมก็แย่ไปด้วย สิ่งเหล่านี้เมื่อย้อนกลับมาก็คือ บริษัทมีนโยบายในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร

บริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ก็จะมีมาตรการที่รัดกุม ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก มีวิธีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

จึงชัดเจนว่า การมอง ESG คือ การมองเรื่องความเสี่ยง

ความเสี่ยงเรื่องสังคม โรงงานให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของพนักงานมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่สนใจ ใช้แรงงานเหมือนทาส ก็จะไปเกิดปัญหาสิทธิมนุษยชนขึ้น ถูกฟ้องร้องได้ หรือถูกต่างประเทศต่อต้าน บริษัทระดับโลกอย่างไนกี้ชัดเจนว่าห้ามใช้แรงงานที่ไม่สมัครใจ ดังนั้น บริษัทที่เดิมเคยดูเพียงเรื่องผลประกอบการ แต่ถ้าใช้แรงงานไม่ถูกต้องก็จะได้รับผลกระทบ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง บริษัทถ่านหิน ถ้าเป็นการวิเคราะห์บริษัทถ่านหินเมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว ก็จะวิเคราะห์ในแง่ว่าเป็นเหมืองใหม่หรือไม่ จะผลิตถ่านหินออกมาขายได้เมื่อไหร่ แต่ไม่ได้มองประเด็นเรื่องระยะยาว เรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับเรื่องระยะสั้น เรื่องผลประกอบการ มากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม

ในต่างประเทศมองว่า บริษัทที่มีนโยบาย ESG ที่ดี มี ESG Rating ที่สูง ส่วนใหญ่จะมีผลประกอบการที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่มีนโยบายด้าน ESG ตัวอย่างในช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด มีความชัดเจนว่า บริษัทที่มีแนวนโยบาย ESG ที่ดี สามารถอยู่รอดได้ในช่วงโควิดได้ดีกว่าบริษัทที่ไม่ได้เน้นเรื่องนี้ บริษัทเหล่านี้มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี เมื่อมีโควิดเกิดขึ้นก็สามารถดูแลและปรับตัวได้ รวมทั้งช่วงนั้น บริษัทที่ดูแลพนักงานดูแลเรื่องสังคม กลับมาเฟื่องฟูดีกว่าเดิมเมื่อเทียบกับบริษัทที่เน้นระยะสั้น ไม่ดูแลพนักงาน

การวิเคราะห์ ESG ไม่มีสูตรสำเร็จ

นายไพบูลย์กล่าวว่า การวิเคราะห์บริษัทในแต่ละความเสี่ยงที่เริ่มมาใน 4-5 ปีที่แล้ว ไม่มีมาตรฐานหรือสูตรสำเร็จ 1-2-3 แต่เป็นแนวการวิเคราะห์ ทำการวิเคราะห์เหมือนทั่วไป ที่การวิเคราะห์บริษัท A ก็ไม่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์บริษัท B แต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน

“ESG ก็เช่นเดียวกัน บริษัทหนึ่งอาจมีแนวทางจัดการที่ไม่เหมือนอีกบริษัท แต่สุดท้ายจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน โดยที่แนวทางจะใกล้เคียงกัน คือ ดูเรื่องการบริหารความเสี่ยง”

ในต่างประเทศ ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ ที่อาจจะไม่ใช่แบรนด์ที่ดีที่สุด แต่เป็นแบรนด์ที่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องสิ่งแวดล้อม จุดยืนชัดเจนเรื่องสังคม ตัวอย่างเช่น น้ำดื่มบางยี่ห้อเขียนชัดเจนว่า ขวดที่ใช้ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 100% กลุ่มผู้บริโภคที่สนใจเรื่องเหล่านี้ก็จะซื้อน้ำดื่มบริษัทนี้ แม้ราคาจะแพงกว่าน้ำดื่มอีกแบรนด์หนึ่ง

ในการวิเคราะห์จึงมีการคำนึงด้วยว่า บริษัทมีการปรับปรุงในเรื่องเหล่านี้อย่างไร

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง บริษัทผลิตน้ำดื่มที่มีวัตถุดิบคือน้ำ แต่น้ำในโลกนี้กำลังจะหมดไป ควรจะลงทุนในบริษัทนี้ไหม และหากว่าบริษัทมีนโยบายในการคืนน้ำให้กับสังคม อย่างบริษัทผลิตน้ำดำขนาดใหญ่ของโลกมีนโยบายจะคืนน้ำให้กับโลก ใช้น้ำ 1 ส่วน ก็จะคืนให้ 1 ส่วน ไปสร้างเขื่อน สร้างบ่อ สร้างบ่อบำบัดน้ำ ก็เป็นการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาส ทำให้สินค้าขายได้

วิธีการมอง ESG อาจจะเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ทำอยู่แล้วทุกวันนี้เพียงแต่ E กับ S เป็นเรื่องใหม่ แต่ G ไม่ใช่เรื่องใหม่

G ถ้ามองย้อนกลับไปปี 2540 ที่ไทยเพิ่งคิดคำว่า ธรรมาภิบาล ก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้จัก เพราะไม่มีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ขึ้นจึงรู้ว่าบริษัทมีการแต่งบัญชี มีการยักยอกเงิน ไม่ใช่เฉพาะในไทย ในสหรัฐฯ ในกรณีบริษัทเอนรอน และมีความเข้าใจแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

นักลงทุนต้องการบริษัทที่ให้ความสำคัญกับทั้งสามด้าน ทั้งในรูปแบบโอกาสในการทำธุรกิจ รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และในรูปแบบการบริหารความเสี่ยง

อุปสรรคการวิเคราะห์ ESG ของนักวิเคราะห์อยู่ที่การหาหรือรวบรวมข้อมูล ESG เนื่องจากว่างานของนักวิเคราะห์ทำเองไม่ได้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทที่ทำการวิเคราะห์ ซึ่งก็คือบริษัทจดทะเบียน

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่รวมอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ หรือ ESG ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1 One Report) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลให้นักวิเคราะห์นำมาใช้ได้ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ข้อมูลปัจจุบัน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากบริษัทจดทะเบียน

“งานของนักวิเคราะห์ไม่ใช่วิเคราะห์โดยดูสิ่งที่มีอยู่ในรายงานข่าวทั่วไปหรือจากสื่อต่างๆ แล้ว ยังต้องมีการติดต่อด้วยโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลจากบริษัท หรือไปพบบริษัทเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งก็อยู่ที่ความมร่วมมือของบริษัทนั้นด้วยว่า ถ้ามีคำถาม เรื่อง E, S, G บริษัทยินดีที่จะตอบข้อสงสัยของนักวิเคราะห์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะทำให้งานของนักวิเคราะห์ทำได้ดียิ่งขึ้น”

นายไพบูลย์กล่าวว่า บริษัทใหญ่ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็ยินดีที่จะตอบและยินดีที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่สำหรับบางบริษัทที่ ESG อาจจะเป็นเรื่องใหม่ ข้อมูลที่มีอาจจะไม่เป็นปัจจุบันมากนัก และการทำให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันต้องใช้เวลา

โดยรวมบริษัทจดทะเบียนพร้อมที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นและให้ข้อมูลกับนักวิเคราะห์มากขึ้น เพราะ ESG เป็นกระแสที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก

“ผมเคยแนะนำบริษัทเป็นบริษัทเกี่ยวกับไฟฟ้าให้กับกองทุนหลายกอง ก็ได้รับคำถามจากกองทุนว่า บริษัทไฟฟ้ามีโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินหรือไม่ ถ้ามีเพียง 1% จาก 100% กองทุนก็ลงทุนไม่ได้เลย นี่เป็นตัวอย่างว่าบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับ ESG ก็จะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องของการระดมทุน ในเรื่องของการที่จะทำให้คนมาลงทุนในบริษัทของตัวเอง ในตลาดหุ้น หรือทำให้นักวิเคราะห์มาวิเคราะห์หุ้นของตัวเอง เพราะวิเคราะห์ไปก็ไม่มีใครอ่าน เพราะไม่มีข้อมูล ESG ไม่มีนโยบายเรื่องนี้”

ไม่อยากเป็นตรายาง ESG

สำหรับประเทศไทยยังไม่ถึงจุดที่ว่า บริษัทไหนไม่มีนโยบาย ESG หรือไม่ทำเรื่อง ESG แล้วลงทุนไม่ได้

โดยทั่วไปการลงทุนสามารถทำได้ 2 แนวทาง ได้แก่ positive list คือ คัดบริษัทจดทะเบียนที่มีการประกอบธุรกิจหรือการบริหารกิจการด้วยปัจจัยด้าน ESG ทั้งหมดที่เข้าข่ายลงทุน เช่น บริษัทที่มี ESG rating ระดับ A ขึ้นไป สมมติมี 250 บริษัท ก็ลงทุนเฉพาะ 250 บริษัทนี้เท่านั้น ไม่ต้องไปลงทุนบริษัทที่เหลือ แต่วิธีนี้ทำยากเพราะตัดบริษัทออกไปจำนวนมาก เพราะไทยยังไม่เป็นกระแส ESG ที่มาครบ ดังนั้นอาจจะเริ่มด้วย negative list ก่อน

negative list คือ บริษัทจดทะเบียนที่มีการประกอบธุรกิจหรือการบริหารกิจการโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG หรือบริษัทที่มี ESG rating ต่ำกว่าเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งลงไปหรือไม่มีเรตติงเลย จัดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายลงทุน ที่เหลือก็เลือกพิจารณาลงทุนได้

“แต่เราก็ยังไม่ไปถึงจุดนั้น เรายังให้เวลาบริษัทจดทะเบียนเรียนรู้เรื่องนี้อย่างจริงจังและสำคัญที่สุด และเป็นห่วงที่สุดคือบริษัทมีนโยบาย ESG ที่สวยหรู มีรายงาน ESG ที่สวยหรู แต่ทำจริงหรือไม่ยังต้องติดตามกันต่อไป”

“นักวิเคราะห์ยังไม่อยากเป็นตรายาง จากการอ่านรายงาน ESG ที่ครบถ้วนมีหมดทุกอย่าง ทำหมด ESG หรูเลิศ เรตติงดี แต่ความจริงแล้วเป็น ESG บนกระดาษ เช่น เมื่อไปดูโรงงานของเจอการใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาสเต็มไปหมด รายงาน ESG บอกโรงงานสะอาดไม่ปล่อยมลพิษ แต่ความจริงปล่อยมลพิษเต็มไปหมดแล้ว”

“นอกจากนี้ยังเห็น green washing ฟอกเขียว เป็นบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่เขียนรายงานว่ามีนโยบาย กลายเป็นบริษัทที่ดี สามารถออกกรีนบอนด์ ทำอะไรกรีนได้หมดทุกอย่าง เงินที่ระดมทุนได้ก็ไม่ได้เอาไปลงทุนที่เกี่ยวกับสีเขียวทั้งหมด อันนั้นจะต้องดูกันต่อไปว่าจะเกิดเหตุการณ์ฟอกเขียว ฟอก ESG กันหรือไม่ในตลาดทุนไทย”

นายไพบูลย์บอกว่า บทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์การลงทุนไม่ได้เขียนเรื่อง ESG แบบชัดเจนลงไปว่าเป็นเรื่อง ESG ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของนักวิเคราะห์อยู่แล้ว เพราะในการวิเคราะห์ทั่วไป ที่วิเคราะห์แนวโน้มของบริษัท อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ก็ไม่ได้เขียนเจาะจงอัตราส่วนทางการเงินแต่ละตัวลงไป แต่นักวิเคราะห์ใช้ ESG เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ และสมาคมฯ ให้นักวิเคราะห์ใช้ ESG ประกอบการตัดสินใจในการแนะนำการลงทุน และใช้ในการประเมินอนาคตบริษัทด้วย

“โดยปกตินักวิเคราะห์เขียนบทวิเคราะห์ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แนวทางที่สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนแนะนำ คือ ควรให้มีการคำนึงถึง factor ESG ในการวิเคราะห์การลงทุน แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าจะต้องมี หรือพูดถึงในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เพราะผมเชื่อว่าแม้วิเคราะห์ ESG ได้เรตติงดีมากๆ เช่น A+ ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทนั้นจะมีผลประกอบการที่ดีหรือมีราคาหุ้นที่ดีขึ้น แต่เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ เพราะแม้ ESG ดีแต่ทำธุรกิจไม่เป็นก็เจ๊ง หน้าที่ของนักวิเคราะห์คือต้องมองทุกด้าน”

ดังนั้น วิธีการที่นักลงทุนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงทุน ESG ได้คือ นำรายงานการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์มาประกอบกับรายงาน ESG ของบริษัท ก็ได้ เช่น อ่านรายงานนักวิเคราะห์แล้วเห็นว่าบริษัท A น่าซื้อ ก็ไปดูรายงาน ESG ของบริษัท A ที่อาจจะมี ESG rating ก็ถือว่าดี ESG ดี บริษัทน่าซื้อด้วย ก็เป็นแนวทางแบบนี้”

นอกจากนี้ นักลงทุนอาจจะต้องติดตามข้อมูล ESG rating ที่ให้ภาพชัดเจน สำหรับประเทศไทยเองยังไม่มีบริษัทในประเทศพัฒนาขึ้น ดังนั้น อาจจะต้องใช้ของต่างประเทศที่มีการวิเคราะห์ ESG มากมาย อีกทั้งบริษัทไทยหลายแห่งติดอยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลก DJSI เพราะให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก ยกตัวอย่าง กลุ่ม ปตท. อาจจะเป็นเพราะทำธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำได้ดี สะท้อนว่าแม้บริษัททำธุรกิจที่มีความสุ่มเสี่ยง แต่มีนโยบายที่ดีที่ปิดความเสี่ยงได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้

นายไพบูลย์กล่าวว่า นักลงทุนไทยเริ่มให้ความสำคัญกับ ESG เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กองทุนไทยที่ลงทุนด้าน ESG ก็มีมากขึ้น เพราะมีข้อมูลที่เห็นมากขึ้นจากต่างประเทศว่า บริษัทที่มี ESG rating ที่ดีนำไปสู่ company performance (ผลการดำเนินงาน) ที่ดี นำไปสู่ share price performance (ราคาหุ้นที่ให้ผลตอบแทน) ที่ดี ซึ่งเป็นสองสิ่งหลักที่นักลงทุนต้องการอยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ต้องการอยู่แล้ว คือวิเคราะห์ performance บริษัทในอนาคต แนวโน้มธุรกิจในอนาคตและแนวโน้มราคาหุ้นในอนาคต

“หาก ESG ตอบโจทย์ ก็จะเริ่มหันมาทางนี้มากขึ้น วันนี้คนเริ่มเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เช่น บริษัทที่น้ำมันรั่ว คนก็เริ่มสงสัยแล้วว่า บริษัทให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้แค่ไหน ปล่อยให้รั่วได้อย่างไร ก็เริ่มมีคำถามมากขึ้นซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงได้ เพราะถ้าเกิดขึ้นกระทบ company performance และ share price performance”

ESG โอกาสทางธุรกิจ

บริษัทที่ดำเนินธุรกิจบน ESG มีโอกาสทางธุรกิจที่มากกว่าและมีโอกาสที่ทำผลการดำเนินงานสูงกว่า ซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่มากกว่า ก็เป็นมุมมอง ESG ด้านที่สองของนักวิเคราะห์

“โอกาสที่ธุรกิจจะถูกลูกค้าแบนก็น้อยลง เช่น ธนาคารพาณิชย์ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเลย แต่เกี่ยวข้องหากมีนโยบายที่จะไมปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือไม่ปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่เกิดเพราะบริษัทจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ความเสี่ยงที่บริษัทเหล่านั้นจะเป็น NPL ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะบริษัทที่ทำผิดกฎหมายหรือล่อแหลม โอกาสที่จะธุรกิจไปไม่รอดก็มีมีมาก ผลจะกลับมาที่ธนาคารเป็น NPL หากปล่อยสินเชื่อประเภทนั้นออกไป มองเห็นคุณค่าของกำไรระยะสั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว ESG บอกอย่างนี้ ทำให้ผู้บริหารของบริษัทมีนโยบายที่จะมองระยะยาว ไม่ได้ maximize กำไรในอนาคตอันใกล้ มองไป ผลตอบแทนต่อผู้ลงทุนระยะยาว

ในต่างประเทศเริ่มเห็นชัดว่าบริษัทที่ ESG มีราคาหุ้นดีกว่าบริษัทที่ไม่มี ESG ส่วนในไทยเริ่มเห็นว่าบริษัทที่มีนโยบาย ESG มักจะมีผลตอบแทนที่ดี ความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันมีน้อย

การลงทุนมีความเสี่ยง ต้องมองระยะยาว

โดยภาพรวมประเทศไทยมี value investor มากขึ้น มีนักลงทุนที่ถือยาวมากขึ้น รวมทั้งมีการอ่านและใช้บทวิเคราะห์มากขึ้น ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น บทวิเคราะห์ที่มีทุกวันนี้จึงมีไม่พอ นักลงทุนเริ่มถามหาบทวิเคราะห์หุ้นตัวเล็กที่ไม่มีใครวิเคราะห์

ปัจจุบันนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ถ้ามองในแง่มูลค่าของตลาด ถือว่ามีการวิเคราะห์ที่ครอบคลุม เพราะนักวิเคราะห์เลือกวิเคราะห์หุ้นมูลค่าสูงก่อน โดยจากมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ไทยราว 20 ล้านล้านบาท มีนักวิเคราะห์ทำการวิเคราะห์ครอบคลุมประมาณ 18 ล้านล้นบาทหรือ 90% ของ 20 ล้านล้านบาท ขาดไปแค่ 2 ล้านล้านบาท หรือ 10% แต่ในแง่จำนวนบริษัทอาจจะมีมากถึง 400 บริษัท เพราะบริษัทขนาดเล็กมีมูลค่าไม่มาก ไม่ใช่บริษัทไม่ดี เพียงแต่นักวิเคราะห์ไม่สามารถ วิเคราะห์ได้ครบทุกตัว นักวิเคราะห์หนึ่งคนวิเคราะห์หุ้นได้สูงสุดประมาณ 15 บริษัท เมื่อประเมินจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แต่ละแห่งที่อาจจะมีนักวิเคราะห์ไม่เกิน 10 คน โดยรวม บล. แต่ละรายวิเคราะห์ได้ประมาณ 100 บริษัทโดยเฉลี่ย และมีการทับซ้อนกัน เพื่อให้บริการลูกค้าของตนเอง โอกาสที่จะวิเคราะห์หุ้นตัวเล็กจึงมีน้อย

นายไพบูลย์ทิ้งท้ายว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น การลงทุนก็ต้องมองระยะยาว

“ระยะสั้นในสายตาผมเป็นการเก็งกำไรมากกว่า ดังนั้น การลงทุนจริงแล้วเป็นการลงทุนระยะยาว โดยมองไปที่ผลการดำเนินงานของบริษัทที่เราลงทุน การลงทุนระยะยาวแนะนำว่าควรให้ความสำคัญกับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทมากกว่าราคาหุ้นในระยะสั้น เพราะสิ่งที่จะได้ตอบแทนในระยะยาวคือผลประกอบการของบริษัท โดยเฉพาะหากบริษัทที่วันนี้ยังเล็กอยู่ จะเติบโตได้ในอนาคต ถือลงทุนไปได้ยาวเป็น generation เลย ยกตัวอย่าง บริษัทสะดวกซื้อเมื่อ 20 ปีก่อนมีไม่กี่ร้อยสาขา ราคาหุ้นถูกมาก วันนี้มีหมื่นกว่าสาขา แต่ละสาขามีกำไร ลองคิดดูว่าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร

“โลกการลงทุนระยะยาว คือ หาบริษัทดีดี ผู้บริหารที่ดี เชื่อมั่นในอนาคต คือ มองไปอนาคตว่ามันน่าจะดี ก็ลงทุนไปอ่านบทวิจัยด้วย อย่าคิดไปเองว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะนักวิเคราะห์ได้เข้าไปสัมผัสโดยตรงกับผู้บริหาร ได้รับรู้วิสัยทัศน์ ฉะนั้น เงินส่วนใหญ่ให้ลงทุนระยะยาว ถ้าลงทุนเองไม่ได้ก็ซื้อกองทุน มีให้เลือกมากมาย เอาเงินส่วนเล็กไปเก็งกำไรระยะสั้น เงินส่วนใหญ่ลงทุนระยะยาว อ่านบทวิจัย มองภาพธุรกิจ ถ้าธุรกิจไปได้ กำไรเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ราคาหุ้นจะไม่ตก