ThaiPublica > เกาะกระแส > Oil Shock กระแทกเศรษฐกิจ ทำเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชั่วคราว แต่การฟื้นตัวไม่สะดุด

Oil Shock กระแทกเศรษฐกิจ ทำเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชั่วคราว แต่การฟื้นตัวไม่สะดุด

18 มีนาคม 2022


ดร.ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อไปทั่วโลก ด้วยเกรงว่าราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะยิ่งมีผลให้เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องนั้นจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก จนมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยเอง กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index — CPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 104.10 สูงขึ้น 5.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงสุดในรอบ 13 ปี สาเหตุหลักยังคงมาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน รวมถึงสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกฮอล์ ที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบ นอกจากนี้ ฐานของดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังต่ำสุดในรอบปี 2564

สถาบันวิจัยหลายแห่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ว่าจะกดดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลง ในขณะที่ทั่วโลกกระแส “stagflation” เริ่มก่อตัวด้วยเหตุว่าโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนเหล่านี้

จากการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อระหว่าง ดร.ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ได้รับคำตอบที่สรุปได้ว่า “เศรษฐกิจไทยเจอแรงกระแทกใหญ่ที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นชั่วคราว แต่การฟื้นตัวไม่สะดุด”

สำหรับประเด็นที่สื่อมวลชนซักถามและแลกเปลี่ยนความเห็นมีดังนี้

คำถาม: เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นโบายการเงินจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน และมาตรการภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อควรเป็นอย่างไร

ดร.ปิติ กล่าวว่า ขอเล่าแนวคิดเงินเฟ้อของแบงก์ชาติที่เรามองก่อน ในภาพใหญ่เงินเฟ้อ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

ประเภทแรก เงินเฟ้อมาจากสินค้าบางประเภท เฉพาะจุดที่ปรับขึ้นตามปัจจัยพื้นฐาน เช่น หมูขาดแคลน ราคาหมูก็เพิ่มขึ้น ตามกลไก ดัชนีราคาผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นในสินค้าบางประเภท เงินเฟ้ออีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่เงินเฟ้อตามนิยาม ในทางเศรษฐศาสตร์เป็นปัจจัยเฉพาะ ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ประเภทที่สอง เงินเฟ้อที่มาจากเศรษฐกิจร้อนแรง เมื่อเศรษฐกิจร้อนแรง คนก็อยากจะจับจ่ายใช้สอย จึงกดดันให้ราคาสูงขึ้น เงินเฟ้อประเภทสองนี้เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ

ประเภทที่สาม อาจจะค่อยเกิดขึ้นในช่วงหลัง เป็นเงินเฟ้อในลักษณะที่มาจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ไม่ได้ถูกยึดเหนี่ยวแล้ว ตัวอย่างเช่น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ก็ไปขอให้ปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น

ในแง่ภาพรวมสิ่งที่ธนาคารกลางจะดูแลได้ เป็นเงินเฟ้อประเภทที่สองและประเภทที่สาม อย่างเงินเฟ้อประเภทที่สอง เมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้นก็ปรับนโยบายให้อยู่ในกรอบ ส่วนเงินเฟ้อประเภทที่สาม การคาดการณ์เงินเฟ้อ เป็นเรื่องของกรอบนโยบายที่พยายามสร้างความน่าเชื่อถือในระยะปานกลาง ใช้เวลาในการสร้างขึ้น เมื่อได้แล้วจะช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์ไว้

ส่วนเงินเฟ้อประเภทที่หนึ่ง ไม่อยากจะเรียกว่า เงินเฟ้อแต่ก็เป็นการขึ้นลงของ CPI ที่มาจาก “shock” ในบางหมวดหมู่ของสินค้า ไม่ว่าจะมาจากทั้งโลก หรือจากภายใน มันเป็น “supply shock” เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางควบคุมได้ยาก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นครั้งเดียว คือ one time เมื่อราคาขึ้นเงินเฟ้อก็ขึ้นในปีนั้นหรือเดือนนั้น แล้วก็จะค่อยๆ หายไปเอง

“ผมก็มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเงินเฟ้อประเภทแรก จาก supply shock จาก ปัจจัยเฉพาะ สินค้าบางประเภท ที่มากไปกว่านั้นคือตัว shock ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ซึ่งคือราคาน้ำมัน มีบางส่วนที่มาจากในประเทศ เช่น เนื้อหมู เป็นปัจจัยในประเทศ แต่ในภาพรวมมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่”

“ถ้าเป็นเงินเฟ้อประเภทแรก ปกติจะชั่วคราว เป็นเหตุผลที่ทาง กนง. เราเองให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า”

คำถาม: สถานการณ์จากน้ำมันขณะนี้เรียกได้แล้วใช่ไหมว่า เป็น oil shock เหมือนอย่าง oil shock ที่เคยเกิดขึ้นในหลายสิบปีก่อนหน้า

ดร.ปิติ กล่าวว่า แน่นอน ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วก่อนเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครน ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 5-6 เท่า ราคาน้ำมันก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์รัสเซียยูเครน ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เรียกได้ว่า เป็น global oil shock ถ้ามองในบริบทระยะยาว ยุค 1970

แต่ราคาดอลลาร์ก็ยังไม่สูงเป็นประวัติการณ์ ช่วงวิกฤติ 2008-2009 ราคาสูงกว่าช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 140-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในแง่สกุลเงินดอลลาร์จึงยังไม่สูงเท่าตอนนั้น และราคาจริงที่หักเงินเฟ้อแล้วก็ยังไม่ใหญ่สุด ถือว่าเทียบเท่ากับ 1973 ก็เป็น oil price shock ที่มีขนาดใหญ่เหมือนกัน

คำถาม: แสดงว่าแบงก์ชาติมองว่าเป็นปัญหาชั่วคราว ถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องจาก 5-6% จาก supply shock แล้วมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไม่ลดลงอาจจะกดดันให้ค่าครองชีพสูงขึ้น จะนำไปสู่การขึ้นค่าแรงได้หรือไม่

ดร.ปิติ กล่าวว่า ความเสี่ยงที่พูดถึง คือ เงินเฟ้อประเภทหนึ่งอาจจะกลายเป็นเงินเฟ้ออีกประเภทหนึ่ง จากประเภทแรกมาเป็นประเภทสอง ประเภทสองมาเป็นประเภทสาม เป็นสิ่งที่ทางเราพึงระวังและเป็นห่วงอย่างยิ่ง เป็นการดูแลไม่ให้มันเกิดขึ้นแบบนั้น ไม่ให้การเปลี่ยนแปลงของราคาชั่วครู่เข้าไปในระบบ และสร้างกลไกให้มันเป็นเงินเฟ้อ ที่จะฝังรากอยู่ในระบบ

แต่ที่เราดู 3-4 อย่างก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น ข้อแรก ตอนนี้เป็น shock ใหญ่ ราคาพลังงานที่มาจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่ และมีเรื่องราคาอาหารด้วย เมื่อมองในแง่ประเภทสินค้าและบริการ 400 กว่ารายการ จำนวนสินค้าที่ปรับตัวอยู่ในหมวดอาหารและพลังงาน และจาก 400 กว่ารายการ มีประมาณ 180 รายการที่ราคาไม่เปลี่ยนและลดลงด้วยซ้ำ จากข้อมูลล่าสุด ถ้ามองในแง่เดือนต่อเดือนเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของราคาเดือนต่อเดือนว่ามีราคาปรับขึ้นติดต่อกันสองเดือนหรือไม่ ก็พบว่าประมาณ 20% กว่าของสินค้ามีลักษณะที่ขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน ซึ่งก็อยู่ในหมวดอาหารและพลังงาน ดังนั้น ในแง่แรกก็ยังไม่กระจาย ยังอยู่ในเซกเตอร์

ข้อสอง ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นในลักษณะ one time เช่น เนื้อหมู ที่เห็นว่าขึ้นไปก่อนหน้า แต่ตอนนี้ลงมาแล้ว ด้านราคาพลังงาน ภาพใหญ่มีการปรับขึ้น แต่ถามว่าจะมีการปรับขึ้นไปอีกหรือไม่จาก 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็น 180 ดอลลาร์ ซึ่งคิดว่าจะยากขึ้น

“ในแง่ของ shock เราคิดว่ายังเป็น one time อยู่ ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชั่วคราว”

ส่วนอันที่สาม เป็นเรื่องปัจจัยภายนอก (external) เสียส่วนใหญ่ เราควบคุมไม่ค่อยได้ ทุกประเทศก็เจอเหมือนกันหมด สิ่งที่ช่วยเราได้บ้าง คือ กลไกในประเทศ กองทุนน้ำมัน มีประโยชน์และมีบทบาทในการช่วยบรรเทาการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานลักษณะชั่วคราว กลไกการออกแบบของมันทำให้รองรับแรงกระแทกชั่วคราวได้ ทำให้ไม่ส่งกระจายไปในระบบมากเกินไป

ด้านเงินเฟ้อประเภทที่สามในแง่การคาดการณ์เงินเฟ้อ ตัวเลขล่าสุด โดยเฉพาะในระยะยาว ยังอยู่ในกรอบ ยังไม่ได้มีปัญหา

“เราต้องดูแลไม่ให้การเปลี่ยนแปลงราคาเฉพาะจุด กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงราคาในวงกว้างและฝังไปในภาพใหญ่ แต่เป็นความท้าทายเพราะตัวเลขออกมาสูง เดือนมีนาคมและอีก 2-3 เดือนต่อไปก็ยังคงสูง แต่เราต้องมองไปมากกว่านั้น มองไปถึงทั้งปี ต้นปีหน้าก็จะลดลงมา”

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างมีคณะกรรมการไตรภาคีดูแลอยู่แล้ว เป็นเวทีที่เหมาะสม เพราะคำนึงถึงสถานการณ์ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง คณะกรรมการคงจะพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ

คำถาม: การตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาลจะชะลอเงินเฟ้อไปได้แค่ไหน

ดร.ปิติ กล่าวว่า “กลไกนี้เกิดขึ้นอยู่ก่อนหน้า และพยายามที่จะชวยลดต้นทุนที่เกิดขึ้น ผมว่าเป็นกลไกที่ดีมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ขึ้นหวือหวามาก ก็จะช่วยเรา ธนาคารกลางในการรองรับกับสิ่งที่ขึ้นๆ ลงๆ แต่เป็นภาระทางการคลังถ้าราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงยาว รัฐบาลก็ติดตามอย่างใกล้ชิด พยายามชั่งน้ำหนักระหว่างการช่วยให้ค่อยปรับตัวกับภาระทางการคลัง ซึ่งต้องดูให้ดี เพราะมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน รัฐบาลก็ทบทวนว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร แต่มีการชั่งน้ำหนักหลายอย่าง คือ หนึ่ง ความสามารถของการคลังก็มีประมาณหนึ่งก็ต้องเลือกใช้เงินที่มีและหาวิธีที่ดีที่สุด แนวทางที่ภาครัฐดำเนินการอยู่และถูกต้องคือ หนึ่ง ทำอะไรที่ค่อนข้าง targeted และหาอะไรที่พยายามจะแก้ ช่วยคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดให้ตรงจุด เป็นเรื่องแรก สอง อย่าไปบิดเบือนตลาดมากนัก พยายามช่วยบรรเทา ไม่ใช่ปิดกลไกตลาด และสาม ควรเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ใช่ยั่งยืน เช่น การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันชั่วคราว ทำให้ดีที่สุดกับสิ่งที่มีในแง่ทรัพยากรที่มีจำกัด”

คำถาม: เงินเฟ้อที่เป็นประเภทแรก มีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปเป็นประเภทอื่นได้หรือไม่ อย่างสหรัฐฯ ที่เงินเฟ้อประเภทแรกก็กลายไปเป็นประเภทอื่นแล้ว

ดร.ปิติ อธิบายว่า สหรัฐฯ กับเราต่างกัน เงินเฟ้อสหรัฐฯ กับเรา จุดที่ขึ้นมาต่างกัน ในแง่ศักยภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อกลางปีที่แล้วขึ้นมาเร็วมาก GDP ขึ้นมาเกินระดับก่อนโควิดแล้ว ตลาดแรงงานร้อนแรงมาสักพัก และมีการขึ้นค่าจ้างในภาคบริการ ในแง่นโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างมาก ไม่เพียงแค่ดอกเบี้ยเป็นศูนย์ แต่ยังมาตรการอื่นอีกด้วย ช่วงวิกฤติได้ใช้มาตรการแรงมาก ทั้งภาคการคลังและภาคการเงิน และไม่ได้ถอนคันเร่ง เศรษฐกิจจึงฟื้นและฟื้นเร็วมาก ความพิเศษของตลาดสหรัฐฯ คือ ตลาดแรงงานยืดหยุ่นมาก เศรษฐกิจฟุบก็ให้คนออก เศรษฐกิจฟื้นก็จ้างคนใหม่ ก็ต้องมีการแข่งกัน องค์ประกอบการบริโภคเองก็เปลี่ยนไป เงินเฟ้อที่ขึ้นในช่วงนี้ขึ้นมาจากภาคสินค้า ไม่ใช่ภาคบริการ เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปัญหา supply shock เศรษฐกิจร้อนแรงอยู่แล้ว มาตรการการเงินที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว ก็เป็นความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจจะต้องรีบปรับนโยบายเร็วขึ้น

ส่วนของไทยเอง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวไปถึงระดับก่อนโควิด และจะฟื้นตัวได้ในต้นปีหน้า การฟื้นตัวยังไม่กระจายและทั่วถึง และราคายังไม่เพิ่มขึ้นมาก เพราะผู้ประกอบเป็นห่วงว่าจะกระทบอุปสงค์ จึงยังไม่ส่งผ่านต้นทุน วัฏจักรเศรษฐกิจไทยและสหรัฐฯ ต่างกันมาก ปัญหาไม่เหมือนกัน

คำถาม: เงินเฟ้อสหรัฐฯ มาพร้อมกับเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ของไทยเงินเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะเกิด stagflation หรือไม่ เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะกดดันให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น และมีผลให้เงินบาทอ่อนค่ามากขึ้นและสุดท้ายก็ส่งผลต่อเงินเฟ้อ

ดร.ปิติ ชี้แจงว่า คำว่า stagflation มีนิยามหลายแบบ แต่ในภาพรวม คือ เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากหรือถดถอยก็ได้ ซึ่งถ้ามองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ปีนี้เกิน 3% ปีหน้าเกิน 4% เป็นช่วงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่ใช่ภาวะถดถอย และเงินเฟ้อที่ขึ้นเป็นเงินเฟ้อประเภทแรก เป็นเงินเฟ้อที่เป็นภาวะชั่วคราว ส่วนตัวมองว่าไม่เข้าข่าย stagflation

ที่แตกต่างกับสหรัฐฯ คือ สหรัฐฯ ไม่ใช่เงินเฟ้อประเภทแรก แต่เป็นประเภทสองอยู่แล้ว สหรัฐฯ เองก็ไม่ใช่ stagflation แต่เศรษฐกิจร้อนแรงมาก

supply shock โดยปกติจะสร้างแรงกดดันเสมือนเป็น stagflation shock ได้ เพราะทำให้ราคาเพิ่มขึ้น อำนาจกำลังซื้อลดลง แต่ทั้งไทยและสหรัฐฯ ไม่ใช่ภาวะ stagflation

ราคาน้ำมันเป็นความเสี่ยงของทุกประเทศ ในกรณีฐานที่เรามอง จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีและลดลงในช่วงครึ่งหลัง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบจะลงมาที่ที 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล การขึ้นของราคาน้ำมันจะสร้างภาวะชั่วคราว แนวโน้มเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง อาจจะชะลอลงบ้างจากเหตุการณ์รัสเซียยูเครน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เราโชคดีกว่ายุโรปมาก ยุโรปเจอเต็มๆ จากผลกระทบโดยตรงจากพลังงาน

กรณีฐาน เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวต่อไป อาจจะช้าลงเล็กน้อย ตัวเลขที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคมคงต้องมีการทบทวน จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพียงการยกระดับขึ้นไป ขณะที่แนวโน้มยังไม่เปลี่ยน นัยต่อเศรษฐกิจในภาพใหญ่ไม่ใช่ game changer แม้ในระยะสั้นเป็น game changer ที่มีผลต่อตัวเลข แต่ระยะยาวไม่ใช่ game changer

คำถาม: เงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของแบงก์ชาติหรือไม่ และหากว่าเงินเฟ้อออกนอกกรอบ จะมีแรงกดดันต่อนโยบายดอกเบี้ยหรือนโยบายการเงินหรือไม่ และการที่จะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย จะมีผลต่อไทยหรือไม่

ดร.ปิติ กล่าวว่า “เราได้สื่อไปก่อนหน้านี้แล้วว่า คงมีโอกาสจะออกนอกกรอบในครึ่งปีแรก แน่นอนข้อมูลใหม่ ทำให้โอกาสที่จะออกนอกกรอบในปีนี้ก็เพิ่มขึ้นเยอะ ปีนี้อาจจะเกินกรอบในแง่ภาพรวม แต่ที่สำคัญผมคิดว่าต้องมองในระยะยาว 1-1.5 ปี เพราะเป็นเรื่องฐาน เมื่อขึ้นเดือนเดียว ไตรมาสเดียว ก็จะสูงเทียบกับปีก่อน และสูงไปจนกว่าหนึ่งปีผ่านไป และที่ต้องจับตาคือเทียบรายเดือน ว่าเมื่อขึ้นแล้วขึ้นต่ออีกหรือไม่ แต่คิดว่าตรงนั้นไม่น่าจะเกิดได้ อย่างไรก็ตาม กรอบ 3% ก็อาจจะเกินได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น supply shock ส่วนใหญ่จะไม่ยั่งยืน”

ส่วนการที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยประเทศไทยต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ต้องให้แน่ใจว่าจะไม่สะดุด ความเชื่อมั่นและการใช้สอยในประเทศ ปัจจัยต่างประเทศที่น่ากังวลที่สุดคือเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ในด้านการเงิน ประเทศไทยค่อนข้างมีสามารถในการรับมือ resilience ภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี เพราะเราไม่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศ ทางด้านการเงินระหว่างประเทศ ก็มีทุนสำรองระหว่างประเทศ นักลงทุนที่ลงทุนในพันธบัตรและหุ้นก็ไม่สูงมาก ในแง่ความอ่อนไหวต่อตลาดการเงินโลกที่อาจจะมาจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ของเราก็ไม่ได้สูงมาก เป็นความแข็งแกร่งของประเทศไทย ไม่ได้เป็นประเด็นมาก

คำถาม: หมายความว่าเรายังใช้นโยบายการเงินเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อไป และการรับมือกับเงินทุนต่างประเทศที่เคลื่อนย้ายจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นอย่างไร

ดร.ปิติ กล่าวว่า ปัจจุบันการหาผลตอบแทนเป็นเรื่องรอง แต่ที่ชัดเจนคือภาพ หรือ story ของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ มีความเสี่ยงหรือไม่ เป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนจะมองว่าจะโยกเงินไปทางไหน อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต่างกัน 0.15% ไม่ค่อยมีผลต่อกระแสเงินทุน แต่จะเป็นการมองทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายในระยะปานกลางมากกว่าที่จะกำหนดว่า เงินไปจะทางไหน ซึ่งประเทศไทยมองไปข้างหน้า ทิศทางคือเรากำลังฟื้นตัว มีความมั่นคงค่อนข้างดีในแง่เสถียรภาพภายนอก ประเทศไทยอาจจะมี story ที่ดีในแง่ระยะปานกลาง อย่างน้อยก็มีเสถียรภาพ จึงไม่ได้ห่วงเรื่องเงินที่จะหายไปมากนัก

เฟดดำเนินนโยบายสำหรับสหรัฐฯ และแบงก์ชาติดำเนินนโยบายสำหรับประเทศไทย แน่นอนปกติถ้าธนาคารกลางทำหน้าที่ดี ในระยะปานกลาง และระยะยาว ก็ไม่ควรมาดำเนินนโยบายแบบเยอะๆ เร็ว ๆ จริง ๆ แล้วนโยบายคาดเดาได้ค่อนข้างชัด ว่าจะทำอะไรในปีสองปี ค่อย ๆ ทยอยทำสิ่งที่จะทำให้ต้องมีการปรับเยอะในระยะเวลาสั้น ข้อหนึ่ง คือ การมี shock เข้ามา เช่น โควิด หรือในการมองระยะสั้นเกินไป ช้า behind the curve

“ในมุมมองของผม เฟดคงพยายามไม่ให้หวือหวา ไม่มีใครในโลกอยากให้หวือหวาในแง่นโยบายการเงิน แต่ถ้าจะต้องทำก็ต้องทำ ดีกว่าที่จะกัดฟัน ปล่อยให้ปัญหาสะสมไปเรื่อย เราต้องยอมรับมันถ้าจะทำ แต่ผมว่าเรามีพื้นฐานที่ค่อนข้างจะแข็งแกร่งในด้านต่างประเทศ”

คำถาม: นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่าแบงก์ชาติประเมินเฟ้อต่ำไป แม้ในภาพรวมไม่สูงมากเทียบกับประเทศอื่น

ดร.ปิติ กล่าวว่า “เรามองว่าสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด เป็นข้อมูลปัจจุบัน ผมว่าสิ่งที่เราพยายามทำมากว่า คือ มองในระยะปานกลาง ในระยะสั้นเราเดาอะไรไม่ได้ เช่น ราคาน้ำมันที่ร่วงลงจาก 130 มาที่ 99 ภายในไม่กี่วัน ยากที่จะประมาณการ แต่ที่เราจะประมาณการในปีหน้า สองปี ซึ่งการส่งผ่านนโยบายการเงินกระทบเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป เราให้น้ำหนักตรงนั้นมากกว่า เราคิดว่าสิ่งที่เรามองวันนี้ คิดว่าเป็นกรณีฐานที่ดีที่สุดที่เรามอง ณ ตอนนี้ แต่แน่นอนมีความเห็นที่แตกต่างกันได้”

คำถาม: ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน เดิมมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาที่ระดับก่อนโควิดในต้นปี 2565 ด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันการกลับไปที่ระดับก่อนโควิดจะลากยาวออกไปหรือไม่

ดร.ปิติ กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นโดยปกติจะทอน GDP ซึ่งสูตรที่เราใช้กันคือ ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์ จะมีผลทอนเศรษฐกิจ 0.1% แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ จากรอบที่แล้วจนถึงรอบนี้ แน่นอนจะทำให้ GDP ลดลงบ้าง แต่ระหว่างนั้น ก็มีข้อมูลใหม่ที่ทำให้เราต้องอัปเดตหลายอย่าง

สิ่งสำคัญคือ GDP ไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ดีกว่าที่คาด ดังนั้น จุดตั้งต้นของ GDP ก็เริ่มสูงขึ้น

“ราคาน้ำมันที่สูงก็จะลดทอนลง จากจุดนั้น เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวก็จะลดทอนลงอีกนิดหน่อย คือระหว่างธันวาคมกับมกราคมมีข้อมูลดีออกมาทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แต่มีนาคมเกิด shock รัสเซีย ลดทอน GDP ลง แต่โดยรวมภาพเศรษฐกิจคงไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เพราะมีข่าวดีและข่าวไม่ดี และการกลับไปที่ระดับก่อนโควิดคงเลื่อนออกไปบ้างแต่ไม่ลากยาว ไม่น่าจะเยอะมาก ถ้าเลื่อนก็อาจจะไปถึงเพียงไตรมาสหนึ่ง”

ภาพเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนมาก จึงเป็นที่มาว่าภาพรวมที่เรามองไม่ได้เปลี่ยน ประเทศไทยไม่ได้เข้าสู่วิกฤติ แต่เป็น shock ใหญ่จากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็น shock น้ำมัน supplyside ประเทศไทยมีภูมิคุ้มทางการเงินค่อนข้างดี มีเสถียรภาพทางการเงินเยอะ เศรษฐกิจจริงผ่านประเทศยุโรป ประเทศเพื่อนบ้านประทบต่อเราน้อยมาก ด้านเศรษฐกิจจึงไม่ใช่วิกฤติแต่เป็น shock ใหญ่เข้ามา มีผลต่อเงินเฟ้อในระยะสั้น แต่ narrative story หรือภาพรวมของเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนจากเดิม

คำถาม: ในแง่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไทยอยู่ในกลุ่มไม่กี่ประเทศที่ยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเต็มศักยภาพ และความเสี่ยง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ยังมีผลแค่ไหน

ดร.ปิติ กล่าวว่า ในภาพรวมเราฟื้นช้า ฟื้นแบบไม่ทั่วถึง เป็นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ลักษณะของ shock ที่เกิดขึ้นกระทบเราค่อนข้างแรง จึงไม่น่าแปลกใจที่เราฟื้นช้ากว่า ตราบใดที่โควิดไม่หายไป การเดินทางยังไม่กลับมาเต็มที่ มองในระยะสั้นทำไมเราไม่ฟื้นเต็มที่เพราะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักยังไม่ฟื้น โควิดทำให้เราปรับตัวในแง่การทำงานมากขึ้น ในแง่โครงสร้างเศรษฐกิจ มีมิติการเปลี่ยนการเติบโตไปด้วย ซึ่งต้องใช้เวลา แต่อนาคตอาจจะดีว่าโควิด การปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ต้องใช้เวลา ตลาดแรงงานปรับยากเพราะบางอาชีพไม่กลับมาเลย คนต้องฝึกทักษะใหม่ๆ จึงเป็นเหตุที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก

โลกมีความไม่แน่นอนสูง เช่น รัสเซียจ่ายคืนหนี้สาธารณะได้หรือไม่ หากผิดนัดชำระก็อาจจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสถาบันการเงินที่ให้กู้ มีปัญหาสภาพคล่อง กระทบเจ้าหนี้ได้ แต่แนวโน้มนี้ไม่น่าจะเกิด แต่ที่น่ากังวลคือ การเมืองระหว่างประเทศ สถานการณ์คงไม่จบเร็ว แม้การสู้รบยุติ ผลกระทบเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรยังอยู่อีกระยะหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย ยากที่จะเห็นว่าการคว่ำบาตรจะยุติเร็ว ความไม่แน่นอนจะอยู่กับเราไปอีกสักพัก

คำถาม: ดูเหมือนว่าแบงก์ชาติมองเศรษฐกิจดีกว่าหลายสถาบัน แล้วจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้แบงก์ชาติปรับมุมมองให้ภาพเศรษฐกิจเปลี่ยน

ดร.ปิติ กล่าวว่า ข่าวรัสเซียเป็นข่าวที่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจโลกและทุกอย่าง เป็น shock ใหญ่มาก แต่ผลกระทบต่อไทยหลักๆ มาจากราคา คือราคาน้ำมัน ด้านเงินได้มีผลกระทบสูงมาก ด้านเศรษฐกิจจริงมีพอสมควร มาจากเศรษฐกิจยุโรปที่จะชะลอตัวลง ส่วนราคาน้ำมันดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าที่คาด เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงมาก และเราก็เป็นห่วงมาก และถ้าดูแต่ละช่องทางที่ส่งผ่านมา ข่าวร้ายที่ว่าจำกัดอยู่ที่ ราคาน้ำมัน พลังงาน ถ้ามองแนวโน้มโลก เราคาดว่าจะซาลง ราคาพลังงานจะซาลงในครึ่งหลังของปี

เมื่อมองในระยะปานกลางซึ่งเป็น horizon ที่นโยบายการเงินมอง ก็ยังเป็นภาพที่ยังพอใจ ช่วงนี้เป็นช่วงที่แบงก์ชาติมีความเสี่ยงเยอะ มีความไม่แน่นอน แต่ภายในประเทศเรามีแรงขับเคลื่อนของเราที่เป็นวัฏจักร จุดตั้งต้นของเราต่างออกไป ถ้ามองจากจุดตั้งต้น การฟื้นตัวเรากำลังเริ่ม

เรื่องของเงินเฟ้อก็เริ่มจากฐานที่ต่ำ เรื่องของการเงินเราก็ค่อนข้างแข็งแกร่ง ด้านต่างประเทศเราก็มีเสถียรภาพค่อนข้างเข้มแข็ง เรามี direct exposure กับรัสเซีย ยูเครน ค่อนข้างน้อย จุดตั้งต้นของเราไม่เหมือนประเทศอื่น

แต่ข้อเท็จจริงคือเป็น shock โลกที่ใหญ่มาก เป็นแรงกระแทกเยอะเหมือนกัน แต่ผมเน้นคือภาพปานกลาง น่าจะอยู่ในแนวโน้มคล้ายเดิม

ส่วนจุดเปลี่ยนของการปรับมุมมอง ดร.ปิติ กล่าวว่า คือ เศรษฐกิจโลก หากสถานการณ์ลุกลาม ตอนนี้มีแค่รัสเซียยูเครน NATO ยังไม่เข้ามาโดยตรง ถ้ามี NATO เข้ามาเกี่ยว ก็ค่อนข้างจะมีความเสี่ยง และหากคว่ำบาตรรัสเซียไปถูกจีน โลกจะเปลี่ยนทั้งโลก ทั้งหมดนี้มีความเป็นไปได้ในหลายมิติ ในต่างประเทศราคาน้ำมันจะแย่ขึ้นอีก ภาพรวมจะเปลี่ยนพอสมควร ภายในประเทศเองการระบาดของโอมิครอนยังไม่จบ มีผู้ติดเชื้อมากกว่าที่คาด และระดับสูงสุดก็ทอดยาว จากเดิมที่ประเมินว่าจะระบาดเร็วในช่วงสั้น

แต่ shock ที่จะปลี่ยนไป ในเรื่องต่างประเทศ แย่ขึ้นแบบมีนัย พลังงานมีความสำคัญกับประเทศไทย เราใช้พลังงานต่อ GDP เยอะ สูงกว่าจีน สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พอสมควร ความสามารถที่เราจะเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นแทนค่อนข้างจำกัด ในระยะสั้นความเสี่ยงต่อน้ำมันมีมากพอสมควร เราขึ้นอยู่กับน้ำมันพอสมคร อย่างไรก็ตาม น้ำมันที่สูงในครึ่งแรกจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในครึ่งปีหลัง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าภาพเศรษฐกิจยังไม่รุนแรง

คำถาม: ปัจจัยอะไรที่จะมีผลต่อการปรับประมาณการเศรษฐกิจ
ดร.ปิติ กล่าวว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนทำให้แย่คือเศรษฐกิจโลก ตัวเลขที่แบงก์ชาติใช้ ณ ธันวาคม แต่มีการอัปเดตข้อมูลเข้ามาตลอด มีการเทียบมกราคมกับธันวาคม กุมภาพันธ์กับมกราคม ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่แย่ลงจะเป็นตัวทอนการเติบโต ราคาน้ำมัน เป็นตัวทอนการเติบโต ตัวที่จะมีผลทางบวก คือฐานปีที่แล้ว GDP ไตรมาส 4 มิติการใช้จ่ายภาครัฐมีการใช้จ่ายเร็วขึ้น แม้ปีนี้อาจจะลดลงบ้างเพราะได้เร่งใช้ไปก่อนหน้า เมื่อเทียบกับธันวาคมการฟื้นตัวอาจจะยืดเยื้อไปจากที่ประมาณการไว้ สุทธิแล้วลดลงระดับหนึ่ง

ภาพใหญ่มีความท้าทายพอสมควร เหตุการณ์โลก แต่ภายในเริ่มขึ้นจากจุดที่สูงขึ้น เมื่อมีแรงกระแทกจากภายนอก เราก็จะพยายามรองรับมัน เข้าใจว่าภาครัฐมีมาตรการจะช่วย เครื่องยนต์ของเรามาอยู่แล้ว และกำลังจะเคลื่อนไป เป็นการช่วยพยุง

story ของการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไปได้ แรงกระแทกเปลี่ยนเยอะมาก คือแรง เยอะ ใหญ่ กระทบเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ตัวเลขเทียบกับธันวาคมในแง่เศรษฐกิจมีพัฒนาการที่ดีขึ้นระหว่างนั้น ถ้ารัสเซียยูเครนไม่เกิดขึ้นตัวเลขจะดีขึ้นจากธันวาคมระดับหนึ่ง แต่พอมี shock ใหญ่ค่อนข้างเยอะ ก็น่าจะเปลี่ยนเล็กน้อย ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กระทบไทย แต่การฟื้นตัวยังอยู่ ตัวเลขอาจจะไม่สวยมาก จากราคาน้ำมันที่สูงกว่าคาด เศรษฐกิจไทยการฟื้นตัวไม่สะดุด แต่ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เพราะมี shock

“shock นี้ใหญ่จริงแต่ไม่ถึงที่จะทำให้เศรษฐกิจสะดุด shock ใหม่แต่ไม่ถึงกระทบรุนแรง story ของเศรษฐกิจในการฟื้นตัว”

กรอบนโยบายการเงินช่วยรองรับได้ระดับหนึ่ง ช่วงนี้ใช้ประโยชน์จากกรอบความน่าเชื่อถือที่สร้างมากว่า 20 ปี แต่ต้องระวัง

คำถาม: สำหรับกลุ่มมีรายได้น้อย ตะกร้าการบริโภคมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานสูงกว่ากลุ่มอื่น แบงก์ชาติมีมาตการอย่างไรสำหรับกลุ่มนี้
ดร.ปิติ อธิบายว่า แบงก์ชาติมีเครื่องมือเดียวคือดอกเบี้ย ก็ต้องดูภาพรวม แต่สัดส่วนตระกร้าการบริโภคของกลุ่มรายได้น้อยเป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงินดูอย่างมาก ไม่ใช่ในแง่มิติราคาแต่ในมิติรายได้ที่แตกต่างกัน และมิติหนี้สินที่แตกต่างกันด้วย เป็นสิ่งที่เราดูค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมา สัดส่วนการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะมีอาหาร เครื่องดื่ม ประมาณ 45% คนรวยมีประมาณ 25% ต่างกันเกือบเท่าตัว ค่อนข้างสูง หมายความว่า ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อคนที่มีรายได้น้อยกว่าอยู่แล้ว ประกอบกับกลุ่มรายได้น้อยยังเป็นผู้ทำงานในอาชีพรับจ้าง อาชีพอิสระ รวมทั้งกลุ่มอาชีพโรงแรมที่รายได้ยังไม่ฟื้น เพราะธุรกิจยังไม่ฟื้นเร็ว เป็นครัวเรือนที่มีหนี้สูง สถานการณ์ระดับกลุ่มย่อยเปราะบางและลำบากจริง

นโยบายการเงินไม่สามารถตอบโจทย์คนในหลายรูปแบบ ต้องชั่งน้ำหนัก สิ่งที่แบงก์ชาติทำก็เป็นเรื่องมาตรการที่ออกมาค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยดูแลกลุ่มย่อยได้มากกว่านโยบายการเงิน และป็นมาตรการในทางลดภาระหนี้เป็นส่วนใหญ่ ในแง่มิติที่จะบรรเทาค่าใช้จ่ายที่สงขึ้น

แบงก์ชาติดูระดับย่อย เพราะจะมองถึงการฟื้นตัวในอนาคตว่าเป็นอย่างไร และนโยบายการเงินจะช่วยดูแลระดับย่อยเท่าที่ดูแลได้