ThaiPublica > เกาะกระแส > ปณท.สู้ศึก Delivery ใช้ ‘บุรุษไปรษณีย์’ บริการส่งทุกอย่าง

ปณท.สู้ศึก Delivery ใช้ ‘บุรุษไปรษณีย์’ บริการส่งทุกอย่าง

3 มีนาคม 2022


ปณท.ปรับกลยุทธ์สู้ศึก Delivery -ใช้บุรุษไปรษณีย์เจาะ ‘นิชมาร์เก็ต’ บริการส่งของทุกอย่าง-จัดพื้นที่ในสาขาไปรษณีย์ช่วยชาวบ้านไลฟ์สดขายสินค้าออนไลน์ พร้อมจัดซื้อรถบรรทุก-กระบะไฟฟ้า 250 คัน ลดต้นทุนน้ำมันแพง 30-40% คาดเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าชี้ธุรกิจบริการรับส่งเอกสาร-สิ่งของอนาคตสดใส ปี’64 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่เพิ่มกว่า 204% ปี’63 รายได้รวมกว่า 44,800 ล้านบาท

จากภาพรวมของตลาดขนส่งแบบด่วน (Express Delivery) ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน เมื่อเทรนด์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 บรรดาขาช้อปทั้งหลาย ปรับตัวหันไปสั่งซื้อสินค้าออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก จนนำมาสู่การขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ หรือ ‘ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ’ นั้น

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ “ปณท.” กล่าวว่า “การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดขนส่งที่เกิดขึ้นเกิดในยุคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว ผนวกกับต้นทุนราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 30% ทำให้ไปรษณีย์ไทยต้องบริหารต้นทุน ปรับแผนดำเนินงานอย่างหนัก เนื่องจากธุรกิจขนส่งหาความแตกต่างกันยาก ขณะที่ไปรษณีย์ไทยมองข้ามการแข่งขันด้านราคา หันสร้างความเข้าใจกับลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่าง และให้ความสำคัญกับสิ่งของที่ลูกค้าจัดส่ง รวมถึงการปรับระบบขนส่งให้เหมาะสมกับแพคเกจจิ้งปลายทางด้วย

เจาะ ‘‘นิชมาร์เก็ต’ บริการส่งทุกอย่าง

สำหรับกลุยุทธ์ของบริษัทไปรษณีย์ไทยในปีนี้ ดร.ดนันท์ กล่าวต่อว่าเราใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สร้างนำมาสร้างมูลค่าให้มากขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งของ ‘บุรุษไปรษณีย์’ ที่ประเมินค่าไม่ได้ และไม่มีใครเหมือน นั่นคือ การเข้าถึงชุมชน และรู้จักสังคมทุกพื้นที่จากการเดินส่งจดหมาย หรือ พัสดุ ทุกหลังคาเรือน ได้รับทราบปัญหาของชุมชน ซึ่งมักจะมีคนถามเสมอว่า “ทำโน่นได้ไหม ทำนี่ได้ไหม ช่วยนี่หน่อย” จนรู้ว่าคนไทยต้องการอะไร ตรงนี้สามารถนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจได้ โดยจะปรับให้บุรุษไปรษณีย์วิ่งในพื้นที่ หรือ เส้นทางที่แคบลง เพื่อให้มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ต้องไม่ทำให้คุณภาพลดลง ซึ่งบุรุษไปรษณีย์แต่ละคนสามารถให้บริการอื่น ๆ ได้ เช่น จำหน่ายซิมการ์ดเติมเงิน , ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ , เปิดบริการรับฝากส่งสิ่งของถึงบ้าน หรือ pick up service ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการฝากส่งของผู้ใช้บริการผ่านไลน์ , การส่งสินค้าขนาดใหญ่น้ำหนัก 20-200 กิโลกรัม ,บริการขนส่งสินค้าระบบควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน (Cold Chain Express) หรือ บริการส่ง “ฟิ้วซ์ โพสต์” (Fuze Post) ขนส่งสินค้าที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ เช่น อาหารสด , อาหารแช่แข็ง ผ่านจุดให้บริการกว่า 10,000 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ “ปณท.”

ดร.ดนันท์ กล่าวว่าสิ่งที่บริษัทไปรษณีย์ไทยต้องทำต่อไป คือ เรื่องการเข้าถึงความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม หรือที่เรียกว่า ‘นิชมาร์เก็ต’ ต้องเรียนรู้กลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซต้องการอะไรที่มากกว่าแค่การส่งของ เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าและบริการให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ ตัวอย่าง แพลตฟอร์มในการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ 70% แพลตฟอร์มจากจีน ซึ่งเป็นโวลุ่มที่ใหญ่มากกับ อีกส่วนเป็นของคนไทยที่ส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศ ที่ผ่านมา บริษัทไปรษณีย์ไทยพยายามเข้าไปช่วยเหลือสินค้าโอท็อป โดยร่วมมือกับ “อเมซอน” เข้าสอนพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ให้รู้จักการนำสินค้าขึ้นไปโพสต์ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ “อเมซอน” เพื่อส่งสินค้าไปขายทีประเทLสหรัฐอเมริกา ผ่านระบบโลจิสติกส์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย และอีกส่วนหนึ่งก็กำลังจัดพื้นที่ที่สาขาไปรษณีย์ให้กลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซรายเล็ก ๆ มาไลฟ์ขายสินค้าผ่านมือถือ ซึ่งมีหลักการคล้าย ๆกับ Co-Working Space รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่เป็นห้องเก็บของ หากมีออร์เดอร์จากลูกค้าเข้ามา ก็สามารถส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์เรียกเก็บเงินปลายทางได้ทันที ซึ่งบริการส่วนนี้จะพยายามขยายออกไปใน 7 พื้นที่ทั่วประเทศ

“ที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยได้เข้าไปช่วยเหลือสังคม เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดฯไปด้วยกัน โดยหันไปส่งพัสดุอื่น อาทิ ยาและเวชภัณฑ์, สนับสนุนเตียงสนาม โดยนำกล่อง หรือ ซองจดหมายที่ไม่ใช้แล้ว มารีไซเคิลทำเป็นเปลสนามให้แก่สถานพยาบาลต่าง ๆใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งได้เข้าไปช่วยระบายสินค้าให้เกษตรกรในช่วงที่ระบบขนส่งมีปัญหา ทำให้ราคาสินค้าไม่ตกค้างนานเกินไป โดยเฉพาะสินค้าของเกษตรกร เป็นภาระกิจที่นอกเหนือจากจดหมาย ธนาณัติ และพัสดุที่เคยส่ง โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมขับเคลื่อนไปได้” ดร.ดนันท์ กล่าว

จัดซื้อรถบรรทุก-กระบะไฟฟ้า 250 คัน รับมือน้ำมันแพง

ดร.ดนันท์ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาที่ภาคธุรกิจโลจิสติกส์กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาราคาน้ำมันแพง ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น 30-40% โดยล่าสุด บริษัทไปรษณีย์อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือ ‘รถอีวี’ ทั้งประเภทรถขนส่งขนาดใหญ่และรถยนต์กระบะจำนวน 250 คัน คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในการขนส่งสินค้าได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังถือเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายรัฐด้วย ส่วนผลประกอบการของบริษัท ไปรษณีย์ไทย ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมามีรายได้ 20,000 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ตั้งเป้าหมายในการหารายได้ 25,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากรับส่งสินค้าภายในประเทศ 75% และรายได้จากรับส่งสินค้าต่างประเทศ 25%

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

พิษโควิดฯดันธุรกิจ ‘Delivery’ โตกว่า 204%

สำหรับภาพรวมของธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากข้อมูลของ “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ในปี 2564 พบว่าธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของมาขอจัดตั้งธุรกิจใหม่ถึง 560 ราย เปรียบเทียบกับปี 2563 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ 184 ราย เพิ่มขึ้น 376 ราย หรือ เพิ่มขึ้น 204.35% ถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด และเมื่อพิจารณาจากมูลค่าทางบัญชี (สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม) ใน ปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 10,903 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2562 มีมูลค่าทางบัญชี 5,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.28% ส่วนปี 2564 อยู่ระหว่างธุรกิจนำส่งข้อมูลตามกฎหมาย
ปี’63 รายได้รวม 44,800 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนเกือบ 40%

ขณะที่รายได้รวมของธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของในช่วงปี 2561 – 2563 ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 มีรายได้รวม 20,623.70 ล้านบาท ปี 2562 รายได้รวม 32,202.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 56.14% และ ปี 2563 มีรายได้รวม 44,800.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 39.12%

หากจำแนกของสัญชาติของผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกล่าวนี้ อันดับ 1 เป็นผู้ประกอบการไทยด้วยเงินลงทุน 4,702.58 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 95.47% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด 4,926 ล้านบาท อันดับที่ 2 นักลงทุนชาวจีนเข้ามาลงทุนเป็นมูลค่า 65.70 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.33% อันดับที่ 3 ฮ่องกง 18.41 ล้านบาท สัดส่วน 0.37% อันดับที่ 4 เยอรมัน 13.77 ล้านบาท สัดส่วน 0.28% และสัญชาติอื่นๆ 125.12 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.55%

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของเติบโต แบบก้าวกระโดด มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนิยมสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เป็นผลมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ทำได้ง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ แท็บเล็ต ระบบขนส่งมีความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ ยังคงดึงดูดผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านการทำโปรโมชันต่างๆ เพื่อสร้างและขยายฐานลูกค้า ระบบการจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลายและมีความสะดวก นอกจากนี้ ถึงแม้ว่ามาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของภาครัฐจะผ่อนคลายลง แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงป้องกันตัวเองด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคยังคงพึ่งพาการใช้งานการขนส่งแบบ delivery ทำให้ธุรกิจมีมูลค่าการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา” นายสินิตย์ กล่าว

นายสินิตย์ จากการที่มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้าสู่ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงมีตัวเลือกที่หลากหลายในการเลือกใช้บริการ ทำให้อัตราการแข่งขันของผู้ประกอบการมีสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งการแข่งขันด้านราคา การขยายสาขา เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า การยกระดับคุณภาพการให้บริการทั้งความรวดเร็วในการส่งสินค้า และการรักษาสินค้าไม่ให้เกิดการสูญหาย หรือ เสียหายจากการขนส่ง เพื่อรักษาฐานลูกค้า อีกทั้ง ยังพบปัญหาการแย่งชิงพนักงานขนส่งสินค้า ยิ่งในช่วงนี้ที่พนักงานส่วนหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ด้วย จากปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ประสบภาวะขาดทุนในระยะหนึ่ง แต่จะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความแข็งแกร่งผ่านฐานลูกค้าที่เชื่อมั่นในธุรกิจที่มากขึ้น ส่งผลดีและผลกำไรที่เป็นบวกในระยะยาว

ดังนั้น ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ ยังคงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเข้ามาลงทุน จากปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าที่มีเพิ่มขึ้น และจากรายได้รวมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และใช้บริการขนส่งสินค้ามากขึ้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต

จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 มีธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทยจำนวน 1,324 ราย คิดเป็น 0.16% ของธุรกิจทั้งหมดที่เปิดดำเนินการอยู่ในประเทศไทย โดยมีมูลค่าทุนรวม 4,925.58 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจที่เปิดดำเนินกิจการในรูปแบบของบริษัทจำกัดจำนวน 837 ราย คิดเป็นสัดส่วน 63.22% ของธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ 1,324 ราย โดยมูลค่าทุน 890.00 ล้านบาท

หากจำแนกตามทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 1,104 ราย , ทุนจดทะเบียน 1.01 – 5.00 ล้านบาท จำนวน 189 ราย , ทุนจดทะเบียน 5.01 – 100 ล้านบาท จำนวน 27 ราย ทุนจดทะเบียนมากกว่า 100 ล้าน จำนวน 4 ราย

และถ้าแยกตามขนาดของธุรกิจ พบว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด 1,280 ราย คิดเป็นสัดส่วน96.68% ของธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ 1,324 ราย ธุรกิจขนาดกลาง (M) 29 ราย คิดเป็นสัดส่วน 2.19% และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) 15 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1.13%

โดยที่ตั้งสถานประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร 449 ราย คิดเป็นสัดส่วน 33.91%ของธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ 1,324 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 3,783.88 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 76.82% ของมูลค่าทุนทั้งหมด 4,925.58 ล้านบาท อันดับ 2 ภาคกลาง 276 ราย คิดเป็นสัดส่วน 20.84% ของธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ 1,324 ราย อันดับ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 228 ราย คิดเป็นสัดส่วน 17.22% อันดับ 4 ภาคใต้ 142 ราย คิดเป็นสัดส่วน 10.73% อันดับ 5 ภาคเหนือ 115 ราย คิดเป็นสัดส่วน 8.69% อันดับ 6 ภาคตะวันออก 104 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7.85% และลำดับ 7 ภาคตะวันตก 10 ราย คิดเป็นสัดส่วน 0.76%