ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > อีอีซี จับมือมิตซูบิชิฯ-ม.บูรพา ตั้ง “EEC Automation Park” พัฒนาบุคลากรไทย

อีอีซี จับมือมิตซูบิชิฯ-ม.บูรพา ตั้ง “EEC Automation Park” พัฒนาบุคลากรไทย

18 กันยายน 2020


อีอีซี จับมือมิตซูบิชิ อีเล็คทริค-ม.บูรพา ตั้ง “EEC Automation Park” พัฒนาบุคลากรไทย ด้านหุ่นยนต์ – ออโตเมชั่น รองรับอุตสาหกรรม 4.0

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) , ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และ นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวความร่วมมือในการจัดตั้งเครือข่าย “EEC Automation Park” ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ และพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวความร่วมมือการพัฒนากำลังคนและถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านเครือข่าย EEC Automation Park (อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค) ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรีว่า อีอีซี ได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมออโตเมชั่น ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย จึงจัดตั้ง EEC Automation Park ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการศึกษาในพื้นที่อีอีซี เพราะการที่จะพัฒนาประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ สิ่งสำคัญคือ เรื่องของการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากร และสร้างฐานความรู้ใหม่ ไม่ใช่แค่การลงทุนด้านเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในหลายภาคธุรกิจ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างไทยและญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะช่วยต่อยอดและเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมของไทยเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

“ EEC Automation Park จะมาช่วยสนับสนุนการพัฒนากำลังคนในพื้นที่อีอีซีให้ตรงจุด เป็นการเรื่มต้นที่ดีของการสร้างเครือข่าย และที่น่าสนใจคือ ไม่เพียงแต่นักศึกษาที่จะได้เรียนรู้เรื่องระบบ Automation เท่านั้น ผู้ประกอบการทั่วไปก็สามารถมาเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะเรื่องระบบ Automation ได้ เพราะในอนาคตต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรม 4.0 ต้องอาศัยคนที่มีความสามารถ มีทักษะเฉพาะทาง ” ดร.คณิศ กล่าว

ส่วนผลการดำเนินงานของ EEC ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดร.คณิศ กล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยืนยันว่าจะเข้ามาลงทุนในเขตพื้นที่ EEC แล้วประมาณ 900,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 55% ของวงเงินลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท (ปี 2561 -2565) ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาท และอีกส่วนเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในปี 2561 และปี 2562 รวมกว่า 300,000 ล้านบาท

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการว่าจะเข้ามาลงทุนใน EEC อย่างแน่นอนแล้วประมาณ 55% ส่วนที่เหลืออีก 45% ก็มีท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 , โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งโครงการนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว และยังมีการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 300,000 ล้านบาท อย่าลืมว่าว่าในจำนวนนี้เป็นโครงการเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว 160,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นโครงการลงทุนใหม่ ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะดึงดูดเม็ดเงินใหม่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ให้ได้ปีละ 100,000 ล้านบาท ถามว่าการแพร่ระบาดของโควิดฯมีผลกระทบต่อเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทของเราหรือไม่ ยืนยันว่าไม่มี เป้าหมายยังคงเดิม แต่ระยะเวลาในการดำเนินงาน อาจต้องเลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์โควิดฯจะคลี่คลาย”ดร.คณิศ กล่าว

นายวิเชียร งานสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

ด้านนายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “นับจากจุดเริ่มต้นในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยความเห็นชอบจากบริษัท Mitsubishi Electric Corporation ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยบูรพา ในการเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่นผ่านเครือข่าย “EEC Automation Park” เพื่อให้พร้อมรองรับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย เพราะเรามีความเห็นตรงกันว่า พื้นที่อาเซียน คือฐานการผลิตและเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ พื้นที่ในอาเซียนมีการปฏิรูปอุตสาหกรรม ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมไทย อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 และเนื่องจากมิตซูบิชิ อีเล็คทริค เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Factory Automation มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ ความรู้ และยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรอีกด้วย โครงการนี้จึงริเริ่มขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้าน upskills และ reskills โดยดำเนินการจัดการสัมมนา (Training Network) เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์

“ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริคจึงมอบชุดสาธิตระบบอัตโนมัติการผลิต (Model Line of Smart Factory) เพื่อนำมาติดตั้งเป็นโมเดลไลน์ โรงงานอัจฉริยะภายใต้คอนเซ็ปต์ e-Factory ที่มีเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงในระดับการจัดการตามแนวทางปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นชุดจำลองแต่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้ผู้มาอบรมได้เห็นกระบวนการทำงานของระบบอัตโนมัติ หรือออโตเมชั่นในภาพรวมทั้งกระบวนการ มีห้องปฏิบัติการ และชุดฝึก เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองปฏิบัติจริงด้วย เสมือนเป็นการจำลองโรงงานมาไว้ในห้องเรียน และโครงการนี้คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 50 ล้านบาท”นายวิเชียร กล่าว

ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา

ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการบุคลากรมากถึง 37,526 อัตรา หลายกิจกรรมใน Automation Park ล้วนตอบโจทย์การพัฒนากำลังคน นวัตกรรม การเรียนรู้ ในเขตพื้นที่ EEC แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก คือ1.ศูนย์จัดการเรียนรู้ (Learning Center ) จะมีชุดสาธิตระบบอัตโนมัติเป็นการจำลองระบบสายการผลิตที่ผสมผสานการนำเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติโรงงานและระบบเทคโนโลยีด้านสารสนเทศเข้าไว้ด้วยกัน 2. ศูนย์ฝึกอบรม (Training Center ) จะมีกิจกรรมการอบรมที่เป็นหลักสูตรระยะสั้น มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและ 3. ศูนย์พื้นที่ความร่วมมือ (Co-working Space) จะเปิดให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและอื่น ๆ เข้ามาใช้เพื่อประกอบกิจกรรม เช่น การเจรจาทางธุรกิจ เป็นต้น