ThaiPublica > เกาะกระแส > ปิดคดี Anne Frank ใครคือคนทรยศแจ้งข่าวที่หลบซ่อนแก่ตำรวจลับเกสตาโป

ปิดคดี Anne Frank ใครคือคนทรยศแจ้งข่าวที่หลบซ่อนแก่ตำรวจลับเกสตาโป

5 กุมภาพันธ์ 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

วันที่ 4 สิงหาคม 1944 นายทหารเยอรมันชื่อ Karl Josef Silberbauer สังกัดหน่วยงานตำรวจลับเกสตาโปชื่อ “หน่วยล่าพวกยิว” ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ได้รับแจ้งข่าวทางโทรศัพท์จากผู้บังคับบัญชาว่า มีพวกยิวหลบซ่อนอยู่ที่โกดังเก็บของแห่งหนึ่ง บนถนน Prinsengracht 263 ตั้งอยู่ใจกลางกรุงอัมสเตอร์ดัม เจ้านายเขาไม่ได้บอกว่า ใครเป็นคนแจ้งข่าว แต่ก็แน่ชัดว่า เป็นแหล่งข่าวน่าเชื่อถือของพวกเกสตาโป

เมื่อ Silberbauer พร้อมกับตำรวจและนักสืบชาวดัตช์จากหน่วยกิจการชาวยิว เดินทางไปที่โกดังดังกล่าว พบชาวยิว 8 คน หลบซ่อนอยู่ คือ Otto Frank หัวหน้าครอบครัว Edith ภรรยา และบุตรสาว 2 คน คือ Anne และ Margot กับครอบครัวของเพื่อนร่วมงานอีก 4 คน คน 8 คนนี้ หลบซ่อนอยู่นานถึง 2 ปีกับ 30 วัน

25 เดือนที่ซ่อนตัวในห้อง Annex

หนังสือขายดีที่เพิ่งพิมพ์ออกวางตลาดชื่อ The Betrayal of Anne Frank เขียนอธิบายอย่างดี ถึงชีวิตที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการนาซีว่า ชีวิตคนที่ถูกคุมขังในเรือนจำ หากแม้จะไม่ยุติธรรม ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ชีวิตที่ต้องหลบซ่อน ก็เป็นอีกเรื่องที่แตกต่างออกไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งคน 8 คนดำเนินชีวิตอย่างไรเป็นเวลา 25 เดือน ในสภาพที่ต้องกักตัวเองอย่างสิ้นเชิง อยู่ในห้องที่เป็นปลีกของอาคารเรียกว่า Annex ประตูห้องนี้ถูกปิดบังอำพรางด้วยชั้นหนังสือของห้องใหญ่

The Betrayal of Anne Frank บอกว่า ทั้ง 8 คนนี้ไม่อาจจะมองออกมาจากหน้าต่าง เพราะกลัวว่าจะถูกมองเห็น ไม่กล้าที่จะออกมาเดินข้างนอก เพื่อสูดอากาศบริสุทธ์ วันๆหนึ่งต้องอยู่อย่างเงียบๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง เพื่อไม่ให้คนงานในโกดังเก็บของได้ยิน ความหวาดกลัวคงจะมีมากที่สุด จนทำให้ชีวิตต้องมีระเบียบวินัยดังกล่าว หลายคนที่ตกอยู่ในสภาพแบบนี้ คงจะกลายเป็นคนบ้าไปแล้ว

แล้วคน 8 คนที่ซ่อนตัวอยู่ ทำอะไรในแต่ละวันที่ยาวนาน ในช่วงที่คนงานทำงานที่ชั้นล่างของตึกโกดัง พวกเขาใช้เวลาหมดไปกับการศึกษาและเขียนบันทึก Otto Frank อ่านหนังสือประวัติศาสตร์และนิยายของ Charles Dickens ลูก 2 คนเรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และคณิตศาสตร์ ทั้ง Anne และ Margot เขียนบันทึกประจำวัน เตรียมตัวสำหรับชีวิตหลังสงคราม ในขณะที่พวกนาซี พวกสมุน และสายข่าว กำลังตามล่าพวกเขา

ฤดูร้อยในปี 1944 คนที่อยู่ในปลีกอาคาร Annex เต็มไปด้วยความหวัง Otto Frank ตามข่าวจากวิทยุ BBC ทราบว่าเดือนมิถุนายน 1944 พันธมิตรบุกยึดกรุงโรม ตามมาด้วยการยกพลขึ้นบกในวัน D-Day การต่อต้านของเยอรมันทางเหนือของฝรั่งเศสพังทลายลง ส่วนแนวรบตะวันออก กองทัพรัสเซียบุกประชิดโปแลนด์ วันที่ 20 มิถุนายน 1994 สมาชิกกองบัญชาการสูงสุดของเยอรมัน พยายามสังหารฮิตเลอร์ สงครามมีแนวโน้มจะยุติลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

แต่แล้ว สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น Otto Frank สมาชิกห้อง Annex 8 คน ที่มีชีวิตรอดมาได้คนเดียว ให้สัมภาษณ์ในเวลาเกือบ 20 ปีต่อมาว่า “เมื่อพวกเกสตาโปมาพร้อมกับอาวุธครบมือ สิ่งนี้คือจุดจบของทุกสิ่งทุกอย่าง”

ที่หลบซ่อนของ Anne Krank ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Anne_Frank_House#/media/

Otto Frank เป็นเพียงคนเดียวที่สามารถให้รายละเอียดวันที่ถูกจับกุมโดยเกสตาโป ประมาณ 10.30 น. เขากำลังสอนหนังสือภาษาอังกฤษแก่สมาชิก Annex คนหนึ่ง จากนั้นประตูห้องเปิดออกมา มีผู้ชายคนหนึ่งไม่ได้สวนเครื่องแบบตำรวจ เล็งปืนมาที่พวกเขา และจี้ตัวคนทั้งหมดให้ลงมาข้างล่าง

ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม Otto Frank พยายามควบคุมตัวเอง เพราะในยามวิกฤติ สมาชิกคนอื่นต้องพึ่งพาตัวเขา เขาพยายามคิดว่า กำลังพันธมิตรกำลังรุกคืบหน้า โชค โอกาส และชะตากรรม อาจช่วยพวกเขาทั้งหมดได้ แต่เขาคิดผิด เขาและครอบครัวถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุกเพื่อขึ้นรถไฟเที่ยวสุดท้ายไปสู่ค่ายกักกัน Auschwitz สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องอยู่เหนือการคาดคิด แต่ Otto frank รู้ว่า สิ่งที่เหนือการคาดคิด เกิดขึ้นได้เสมอ

บันทึกของ Anne Frank

The Betrayal of Anne Frank เขียนถึงการหลุดรอดมาได้ของบันทึก Anne Frank ว่า เมื่อพวกนาซีบอกให้สมาชิกห้อง Annex เก็บของ เพื่อเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่เกสตาโป ที่อัมสเตอร์ดัม Anne Frank เป็นคนหยิบกระเป๋าของบิดา Otto Frank เพราะมีบันทึกของเธออยู่ในนั้น แต่ Silberbauer คว้ากระเป๋าไปจากมือของ Anne Frank แล้วโยนบันทึกของเธอทิ้งไว้ที่พื้นห้อง และบอกให้พวกเขา เอาของมีค่าใส่ในกระเป๋าแทน

ความละโมบของ Silberbauer ช่วยเก็บรักษา “บันทึกของ Anne Frank” หาก Anne Frank ได้รับอนุญาตให้เก็บบันทึกของเธอไว้ บันทึกของเธอคงจะถูกยึดเอาไปโดยพวกเกสตาโป แล้วถูกทำลาย และหายสาบสูญไปตลอดกาล หลังสงครามโลก Otto Frank กลับมาที่อัมสเตอร์ดัม และพบว่า Miep Gies เลขาของเขาเป็นคนเก็บบันทึกนี้ไว้

The Betrayal of Anne Frank บอกว่า “บันทักของ Anne Frank” (The Diary of Anne Frank) เป็นบันทึกความทรงจำ ที่คนอ่านๆแล้วจะรู้สึกจิตใจหดเหี่ยวมากที่สุด เพราะเนื้อหาสะท้อนสิ่งที่เป็นสภาพที่เป็นจริงที่เกิดขึ้น เป็นบันทึกของเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปี ที่เขียนเรื่องราวชีวิตในแต่ละวันที่หลบซ่อนตัว ในช่วงที่พวกนาซียึดครองเมืองที่เธออาศัยอยู่

เธอเขียนถึงชีวิตที่อึดอัดนานกว่า 2 ปี ในสถานที่แคบๆ เธอรู้ดีว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร เธอมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว ความอดอยาก ฝันร้ายที่กลัวว่าจะถูกลักพาตัวไป และท่ามกลางความหวาดกลัว ที่จะถูกค้นพบ และในที่สุดก็ต้องตายไป

Anne Frank ไม่ใช่คนแรกที่มีประสบการณ์แบบนี้ แต่เธอน่าจะเป็นคนแรกที่เขียนถึงเรื่องราวเหล่านี้ ที่กำลังเกิดขึ้นจริง คนที่เขียนถึงเรื่องการรอดชีวิตจากค่ายกักกัน แทบทั้งหมดเขียนแบบย้อนหลังในสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว แต่ Anne Frank ไม่ได้มีชีวิตรอดจากค่ายกักกัน จุดนี้ทำให้การอ่านบันทึกของเธอ เกิดแรงบีบคั้นทางจิตใจ นับจากจุดเริ่มต้น คนอ่านรู้ว่าอะไรคือจุดจบของเรื่องนี้ แต่ตัว Anne Frank ในยามที่เขียนบันทึก ไม่รู้ว่าชีวิตจะจบลงอย่างไร

Anne Frank ได้รับสมุดบันทึกเป็นของขวัญวันเกิดอายุครบ 13 ปี ในวันที่ 12 มิถุนายน 1942 ไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อมา ครอบครัวของเธอต้องหลบซ่อนตัว หลังจาก Margot พี่สาวของเธอที่อายุ 16 ปี ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวเพื่อทำ “หน้าที่การงาน” ในเยอรมัน ครอบครัวของเธอรู้ดีว่า “หน้าที่การงาน” คือการใช้แรงงานในค่ายกักกัน

ในการเขียนบันทึก Anne Frank ได้สร้างตัวละครที่เป็นเพื่อนสนิทขึ้นมาชื่อว่า Kitty ที่เธอสามารถเขียนเล่าเรื่องราวต่างๆอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันของเธอ แม้จะเกิดที่นครแฟรงค์เฟิร์ต เยอรมนี แต่เธอมาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์เมื่ออายุ 4 ขวบครึ่ง ภาษาที่เขียนบันทึกจึงเป็นภาษาดัตช์ เธอใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียนอาชีพ และมีชื่อเสียง แต่คนอ่านบันทึกของเธอรู้ว่า ความฝันนี้แตกสลาย เพราะเธอไปไม่ถึงอนาคตตามที่ใฝ่ฝันไว้

ใครทรยศแจ้งเกสตาโป

หนังสือ The Betrayal of Anne Frank เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับปริศนาที่ยังเป็นความลี้ลับว่า ใครคือคนทรยศที่แจ้งข่าวให้ตำรวจลับพวกนาซีว่า มีพวกยิวหลบซ่อนอยู่ที่อาคาร Prinsengracht 263 คำถามที่ว่านี้ คือสิ่งที่ Rosemary Sullivan นักเขียนชาวแคนาดา พยายามหาคำตอบไว้ในหนังสือ The Betrayal of Anne Frank

หนังสือเป็นเรื่องราวการสอบสวนคดีที่ยังปิดไม่ลง (Cold Case) โดยทีมงานเรียกว่า Cold Case Team ที่นำโดย Vince Pankoke อดีตนักสืบ FBI และคณะทำงานอีก 30 คนที่ประกอบด้วยนักอาชญากรรมวิทยา นักจิตวิทยา และนักนิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งอาศัยปัญญาประดิษฐ์มาประมวลข้อมูลประวัติบุคคลและการเชื่อมโยงระหว่างคนต่างๆ Cold Case Team มอบหมายให้ Rosemary Sullivan เขียนกระบวนการสอบสวนของ Cold Case Team ออกมาเป็นหนังสือ The Betrayal of Anne Frank

ในอดีต การสืบสวนของตำรวจเรื่องการทรยศต่อ Anne frank เคยดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงปี 1947-1948 และในปี 1963-1964 ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็มีการเสนอแนวคิดต่างๆในเรื่องคนที่ทรยศต่อ Anne Frank คนไปเยือนพิพิธภัณฑ์ Anne Frank คำถามที่ถามมากที่สุดก็คือ ใครคือคนที่ทรยศ Anne frank

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการสอบสวนทุกคนที่อาจเกี่ยวข้องกับให้ข่าวแก่เกสตาโป แต่ก็ไม่มีการระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้ทรยศ ส่วนการสืบสวนของ Cold Case Team มาได้ข้อสรุปว่า ผู้ต้องสงสัยที่ให้ข่าวแก่เกสตาโป คือ Arnold van den Bergh ที่มีอาชีพเป็นนักรับรองเอกสาร (notary) ชาวยิวในอัมสเตอร์ดัม เขาเป็นสมาชิกของสภาชาวยิวในอัมสเตอร์ดัม ทำให้อาจรู้ว่าพวกยิวหลบซ่อนตัวที่ไหน การแจ้งที่หลบซ่อนของครอบครัว Anne Frank ก็เพื่อรักษาชีวิตคนในครอบครัวของเขาเอง

คณะสืบสวนคดี Cold Case ใช้เวลา 6 ปี ในการหาทางคลี่คลายคดีที่ยังปิดไม่ลงนี้ โดยใช้วิธีการสืบสวนสมัยใหม่ ใช้อัลกอริทึม (Algorithm) ค้นหาความเชื่อมโยงของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ New York Times ก็รายงานข่าวว่า นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์หลายคนเห็นว่า หลักฐานยังอ่อนเกินไป ในการกล่าวหาว่า Arnold Van den Bergh ในปี 1963 นักสืบดัตช์เคยสอบสวนในเรื่องนี้มาแล้ว และไม่ดำเนินการต่อ ส่วนสำนักพิมพ์ Ambo Anthos ที่พิมพ์หนังสือ The betrayal of Anne Frank ฉบับภาษาดัตช์ ก็ประกาศว่า จะไม่พิมพ์ซ้ำใหม่อีก

หนังสือ The Betrayal of Anne Frank ตั้งคำถามว่า ได้ประโยชน์อะไรจากการตั้งสงสัยว่า ใครคือผู้ทรยศต่อ Anne Frank ในเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมานานแล้ว คำตอบก็คือ แม้จะผ่านมาเกือบ 80 ปีแล้ว เราเริ่มประมาทว่า สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก สังคมทุกวันนี้ ง่ายที่จะตกเป็นเหยื่อต่อการแตกแยกทางความคิดอุดมการณ์ ความคิดเผด็จการที่เริ่มจะเกิดขึ้น สามารถแพร่ระบาดได้ง่าย หากปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่มีการยับยั้งใดๆ

เอกสารประกอบ
The Betrayal of Anne Frank Gives New Scrutiny to a Cold Case, Jan 17, 2022, nytimes.com
The Betrayal of Anne Frank, Rosemary Sullivan, Harper, 2022.