ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทย จะต้องทำอย่างไร ?
“ก้าวสู่เส้นทางหยุดเลือดในจังหวัดชายแดนใต้”

สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทย จะต้องทำอย่างไร ?
“ก้าวสู่เส้นทางหยุดเลือดในจังหวัดชายแดนใต้”

29 มกราคม 2022


หากเด็กที่เกิดปี 2547 ในปีนี้ 2565 พวกเขาก็จะมีอายุ 18 ปี ปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา) ก็เช่นกัน ปฐมบทแห่งความรุนแรงระลอกใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันปล้นปืน 4 มกราคม 2547 ที่อำเภอเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เคยหยุดลงเลย

เด็กรุ่นปี 2547 ที่เกิดในพื้นที่ มีโอกาสเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหมายความว่าชีวิตของพวกเขาตั้งแต่เกิดมาพบเจอกับความรุนแรงตลอดเวลา ความสงบและสันติภาพจึงเป็นได้เพียงเรื่องเล่าขานในอดีตที่พวกเขาไม่เคยได้สัมผัส เพราะเด็กที่นี่เกือบทุกคนได้เจอประสบการณ์ความรุนแรงจากรัฐและกลุ่มผู้ก่อการติดอาวุธเกือบแทบทุกคน ไม่ว่าจะจากครอบครัวตัวเอง ญาติ เพื่อนบ้าน อุสตาส (ครูในโรงเรียนสอนศาสนา) เพื่อน ฯลฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

คำถามจึงมีอยู่ว่า สิ่งที่พวกเขาเห็นและรับรู้มาตลอดชีวิต จะช่วยให้พวกเขาจินตนาการถึงสันติภาพได้อย่างไร

เฉพาะในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ก็ไม่ปกติ เช่น การใช้เส้นทางถนนเดินทางตั้งแต่ถนนในหมู่บ้านจนถึงถนนเส้นหลักของจังหวัด ไม่ใช่เพราะมีหรือไม่มีทางข้ามม้าลาย แต่เพราะที่นี่มีด่านตรวจแทบทุกเส้นทาง เป็นด่านตรวจความมั่นคงที่ทุกคนต้องเคยเจอ จนเป็นเรื่องปกติ มีนักศึกษาเล่าให้ฟังว่า หากวันไหนไม่เจอการตั้งด่านตรวจรู้สึกแปลกๆ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชินตั้งแต่เกิดมา

มิพักจะเอ่ยถึงความไม่เท่าเทียมของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกผู้สมัครได้อย่างหลากหลาย มีคุณภาพ แข่งกันเสนอนโยบายต่างๆ อย่างคึกคักออกหน้าออกตา โดยไม่รู้ตัวว่าคนต่างจังหวัด ตั้งคำถามว่าทำไมจังหวัดตัวเองเลือกไม่ได้ ได้แต่ดูกรุงเทพฯ ดูบรรยากาศของการเสนอตัวเป็นผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ ผ่านทางสื่อทีวีและสื่อออนไลน์อย่างเป็นเรื่องระดับใหญ่โตเหมือนเปลี่ยนประเทศได้นั้น สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ เผยให้เห็นคนที่มิใช่บางกอก อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

ต่อให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระเบิดและมีคนตายมากขนาดไหน ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวจากคนทั้งประเทศ ตราบเท่าที่ความรุนแรงจำกัดแค่ในพื้นที่ ก็เหมือนอยู่แผ่นดินเดียวกันแต่คนละโลก

การประท้วงในช่วง 2-3 ปีหลังที่กลุ่มผู้ประท้วงได้มีการคุยเรื่องความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แก่คนทั้งประเทศ ผ่านม็อบและโซเซียลมีเดีย ตั้งแต่การเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่คนที่เสียชีวิตเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ และพูดถึงการปฎิบัติการไอโอ (IO) ของกองทัพที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ และการเกิดขึ้นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมจะนะ ที่ทำให้คนทั้งประเทศเห็นถึงความเอารัดเอาเปรียบของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนและกลุ่มนายทุน ที่ได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากร ที่เป็นของชุมชนและผู้คนในท้องถิ่น โดยอาศัยว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่พิเศษ

นี่คือตัวอย่างบางส่วนของสิ่งที่เห็นมา แล้วแบบนี้จะให้เกิดความสงบได้อย่างไร

แต่หากว่าจะเริ่มก็ต้องคิดเรื่องของโครงสร้างอำนาจรัฐที่เป็นธรรม ต่อให้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแบบนายทุนอย่างไร ก็มิอาจจะยุติความรุนแรงได้

เพราะที่นี่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้อดยาก ขาดแคลนอาหารและทรัพยากร แต่เพราะการที่รัฐไทยไม่ได้เคารพอัตลักษณ์ทางด้าน ภาษา ประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ และศักดิ์ศรีของความมนุษย์ของคนที่นี่ต่างหาก

ข้อเสนอเพื่อสู่เส้นทางหยุดเลือด 7 ข้อ

1. หยุด “สภาวะยกเว้น” การเกิดสภาวะยกเว้น (The state of exception) โดยเหตุผลความมั่นคงของชาติ “สถานการณ์ความรุนแรงไม่ปกติ” จังหวัดชายแดนใต้ ยืดเยื้อเรื้อรังยาวนานกว่า 18 ปี จนเป็น “สภาวะไม่ปกติถาวร” และ “อำนาจพิเศษ” ยิ่งอ้างสถานการณ์ไม่ปกติไปยาวนานเท่าไหร่ ก็เท่ากับการให้ความชอบธรรมกับความมั่นคงของชาติแบบกองทัพจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ด้วยการอ้างว่าเป็นพื้นที่ความมั่นคง การหยุดสภาวะยกเว้นคือการทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกับที่อื่น ๆ

2. จัดตั้ง “ผู้ตรวจการกองทัพ” (Commissioner for the Armed Forces) การตรวจสอบการทำงานของกองทัพ เช่น การจัดสรรงบประมาณแผ่นดินด้านความมั่นคงที่มีจำนวนมหาศาลในแต่ละปี มากกว่างบประมาณด้านการพัฒนา โดยไม่มีองค์กรใดตรวจสอบการใช้งบประมาณด้านความมั่นคง ว่าใช้ไปในส่วนไหนบ้าง ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยคณะผู้ตรวจการกองทัพต้องมาจากภาคพลเรือน ไม่ใช่บุคลากรของกองทัพหรือหน่วยงานความมั่นคง

3. เปิดพื้นที่ “การเมืองที่ปลอดภัย” ทั้งในสภาและนอกสภา ให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสแสดงความคิด ความฝัน และความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกันด้วยสันติไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธชนกลุ่มน้อยและคนมลายูมุสลิมชนกลุ่มใหญ่ และต้องไม่มีใครต้องถูกติดตาม ข่มขู่ คุกคาม และถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเพียงเพราะแสดงความคิดที่เห็นต่างจากรัฐ ไม่ว่าความคิด ความฝันนั้นจะเป็นเช่นไรก็ตาม ก็ต้องถูกรับรองด้วยความปลอดภัย ตราบเท่าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง และนี้จะเป็นหนทางให้ผู้คนได้ระบายความอึดอัดใจ

4. ยกเลิก “กฎหมายพิเศษ” ในพื้นที่ทั้งหมด ปัจจุบันมีกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับที่ประกาศใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้แก่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และหากว่าต้องมีกฎหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานในพื้นที่ ต้องเริ่มจากการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดร่างกฎหมายใหม่ เพื่อให้เกิดการยอมรับและเข้าใจถึงสาเหตุของการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

5. เร่งฟื้นฟู “หลักนิติธรรม” ให้เป็นที่พึ่งและไว้วางใจแก่ประชาชนในพื้นที่ ต้องไม่ลืมว่าสาเหตุแห่งการอัตวินิบาตกรรมของท่านผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ครั้งแรกที่ศาลจังหวัดยะลา หลังอ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยคดีความมั่นคง ทั้งหมด 5 คน ซึ่งเป็นคนมลายูมุสลิม และได้เขียนจดหมายอธิบายถึงเรื่องที่มีกระบวนการแทรกแซงเปลี่ยนคำพิพากษาจากผู้บังคับบัญชา เรื่องนี้เป็นประจักษ์พยานที่เป็นรูปธรรมอย่างที่สุด ว่ากระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลวิกฤติและกำลังถูกตั้งคำถามทั้งระบบ ที่ทำให้ผู้พิพากษาใช้ชีวิตแลกเพราะต้องการพิทักษ์ความจริง ความยุติธรรมให้แก่สังคม มิพักต้องเอยถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อประชาชนเกิดขึ้นในพื้นที่มาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

6. จินตนาการใหม่สู่ “การกระจายอำนาจแบบเข้มข้น” ต้องเปิดโอกาสให้รูปแบบการกระจายอำนาจท้องถิ่นมากกว่าการเลือกตั้ง อบจ., เทศบาล และ อบต. ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เพราะรูปแบบการกระจายอำนาจในปัจจุบันกลับไปยึดโยงกับระบบราชการรวมศูนย์ที่ไม่ตอบโจทย์ต่อสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลาที่มีความรุนแรง 18 ปีที่ผ่านมา (2547-2565) ข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษถูกอภิปรายมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่ในชุมชน ระดับนโยบาย ฯลฯ ฉะนั้นเอง เรื่องกระจายอำนาจเป็นปัญหาเดียวกันกับคนอีก 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ ที่สามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยไม่พูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องตอบสนองต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

7. สนับสนุน “เจรจาเพื่อสันติภาพ” อย่างมีคุณภาพ ต้องไม่ปล่อยให้การเจรจาพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพียงเพื่อลดปริมาณความรุนแรง จากกลุ่มคนที่ถือปืนทั้งฝ่ายจับอาวุธต่อต้านรัฐ (BRN) และกองทัพไทย แต่เพียงเท่านั้น ต้องให้กระบวนเจรจาสันติภาพเป็นที่รับรู้ของสังคมไทย และผลักดันให้รัฐบาลพลเรือน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีโอกาสส่งเสียงและมีส่วนรวมในโต๊ะเจรจาทั้งแบบทางการและไม่ทางการ เพื่อทำให้เกิดความไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อการกระบวนการพูดคุยกัน

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…