ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิชาการเสนอรัฐ ยกระดับการศึกษาไทย-เมียนมา
สานสัมพันธ์หนุนความมั่นคงประเทศ

นักวิชาการเสนอรัฐ ยกระดับการศึกษาไทย-เมียนมา
สานสัมพันธ์หนุนความมั่นคงประเทศ

29 ธันวาคม 2021


ที่มาภาพ:https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmars-educators-resist-pressure-from-junta-to-reopen-universities-schools.html

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณาจารย์จากหลายสถาบัน ได้ร่วมกันยื่นหนังสือกระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนนโยบายการสกัดกั้นนักศึกษานักวิชาการจากเมียนมาเข้าประเทศไทย และเสนอให้ผ่อนผันวีซ่า รวมถึงอนุโลมให้นักวิชาการเมียนมาที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ

เป็นที่รู้กันว่า หลังจากที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ก็มีการจับกุมคุมขังผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลจากการรัฐประหาร รวมถึงนักวิชาการ คณาจารย์ และนักศึกษาชาวเมียนมา ทั้งนี้ นักวิชาการ 2 ท่านที่ร่วมลงชื่อในหนังสือที่ยื่นต่อกระทรวงการต่างประเทศ คือ อาจารย์ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฉายภาพปัญหาของการศึกษาในเมียนมา และความสำคัญในการที่ไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนต้องร่วมมือกันหาทางแก้ปัญหา ที่ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อประเทศเมียนมา แต่หมายถึงผลประโยชน์ที่จะมีร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะในโลกยุคไร้พรมแดนในปัจจุบัน

อาจารย์ศรีประภาระบุว่า การศึกษาในเมียนมานั้นมีปัญหามานานหลายปี โรงเรียนต่างๆ รวมถึงการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ มหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดเต็มที่ แม้ในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้ง

“อาจารย์เคยไปมหาวิทยาลัยบางแห่ง อย่างในมัณฑะเลย์ หรือในย่างกุ้ง เราจะไม่เห็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จะเห็นแต่อาจารย์ สำหรับอาจารย์การไม่มีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยคือมหาวิทยาลัยตายแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสภาพในมหาวิทยาลัยที่อาคารเรียนมีการติดเหล็กดัด มีรั้วลวดหนาม ห้องสมุดมีการใส่กุญแจตู้หนังสือ เป็นสภาพที่ไม่ควรเกิดขึ้น นี่เป็นภาพที่เห็นเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาที่เคยไปเมียนมา

พอมีรัฐประหารนักศึกษายิ่งแย่ นักศึกษาไม่ได้เรียนเต็มที่ อาจารย์จำนวนมากประมาณ 80% ถ้าไม่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ก็อยู่ระหว่างหลบหนีออกนอกประเทศบ้าง ในเมียนมาบ้าง ที่เหลือก็ต้องสอนตามที่รัฐบาลเมียนมามีคำสั่งมา”

ในฐานะนักวิชาการ อาจารย์ศรีประภาเห็นว่า สภาพที่เห็นสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในการศึกษา รวมถึงปัญหาคุณการศึกษา และข้อจำกัดต่างๆ ของเมียนมาในฐานะสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อเทียบกับการศึกษาของไทย สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย

ทั้งนี้ ก่อนการรัฐประหาร สถาบันการศึกษาในไทยไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีความร่วมมือในการสนับสนุนทางวิชาการกับนักวิชาการ และนักศึกษาชาวเมียนมา รวมทั้งการเข้าไปทำงานกับนักวิชาการชาวเมียนมา การรับนักศึกษาชาวเมียนมามาเรียนในไทย หรือการส่งคณาจารย์เข้าไปฝึกอบรมในสถาบันการศึกษาของเมียนมา ซึ่งมีแหล่งทุนจากหลายประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ที่ให้ทุนแก่นักศึกษาเมียนมาในการเข้ามาศึกษาในไทยในสาขาวิชาที่หลากหลาย รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ นักศักษาเมียนมาที่เคยเรียนออนไลน์ในสาขาวิชาต่างๆ หายไป เพราะถูกจับกุมบ้าง หลบหนีบ้าง

อาจารย์ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมาในอีกหลายระดับ อาจารย์ศรีประภาในฐานะหนึ่งในผู้ประสาานงานมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน หรือ ASEAN University Network (AUN) พบว่า หลังจากเกิดการรัฐประหาร ทำให้อาจารย์ไม่สามารถประสานกับมหาวิทยาลัยในเมียนมาได้ เพราะคณาจารย์ที่เคยประสานร่วมมือกันอยู่ระหว่างการหลบหนี บางรายถูกถอดออกจากตำแหน่ง ส่วนคณาจารย์ที่เหลือเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และได้รับตำแหน่งสูงขึ้น เช่น เป็นอธิการบดี แม้ว่าหลายคนจะเคยมีการประสานงานกัน แต่ก็มีคำถามว่าจะประสานงานกับคณาจารย์กลุ่มนี้หรือไม่

“ความสัมพันธ์ด้านการศึกษาในระยะยาว อยู่ที่ว่าเราจะจัดการความอิหลักอิเหลื่อที่กำลังประสบอยู่ได้อย่างไร ขณะนี้อาจารย์เอง หรืออาจารย์สุริชัยกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก แน่นอน การที่จะให้ประสานกับเพื่อนอาจารย์ที่เวลานี้กลายเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลจากการรัฐประหาร อาจารย์ยอมรับว่ามันขัดกับหลักการ ฉะนั้น อาจารย์ทำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายถึงอาจารย์คนอื่นจะไม่ทำ เพราะมีวิธีคิด 2 แบบ แบบของอาจารย์คือ ตัดความสัมพันธ์ไปเลย เพราะขัดกับหลักการทางการเมืองของเรา อาจารย์และอาจารย์ในกลุ่มตัดเลยแปลว่าคณาจารย์ในเมียนมาก็ถูกโดดเดี่ยว มันเหมือนการแซงก์ชันทางการศึกษา

ฉะนั้น เราก็ต้องคิดถึงผลกระทบระยะยาวของการแซงก์ชันทางการศึกษาด้วยว่า สิ่งที่เราทำอยู่มันจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการศึกษาทั้งระบบในเมียนมาอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูทั้งสองส่วน ส่วนหนึ่งคือผู้ที่อยู่ในเมียนมา อีกส่วนคือที่อยู่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว สิ่งที่เราทำอยู่เฉพาะในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย แต่ถ้าในระยะยาวพวกเราก็ต้องคุยกันเองว่าเราจะเอาอย่างไรกับนักวิชาการและนักศึกษาที่อยู่ในเมียนมา จะปล่อยไปอย่างนี้ คือตัดความสัมพันธ์ไปเลยใช่มั้ย เรากำลังเผชิญกับทางเลือกที่มันยากมาก”

นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศอาเซียนเวลาพูดเรื่องการศึกษาจะมีหลายระดับ คือตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี อาเซียนจะมีท่าทีอย่างไร จะยอมรับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาของรัฐบาลทหาร หรือของรัฐบาลพลัดถิ่น รองลงมา คืออาเซียนจะมีการประชุมระดับ senior official หรือข้าราชการระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง โดย AUN จะเข้าไปนำเสนอผลงานในช่วงที่ผ่านมา ในที่ประชุมระดับ senior official ก็จะมีคำถามเหมือนกันว่า จะรับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรืออธิบดีกรมอุดมศึกษาอของรัฐบาลเมียนมา เข้าประชุมหรือไม่

รวมทั้งใน AUN ที่เป็นการประชุมระดับอธิการบดีมหาวิทยาลัย ก็น่าสนใจว่าความชอบธรรมของอธิการบดีเมียนมาที่อยู่ใน AUN ทาง AUN จะเอาอย่างไร จะให้อธิการบดีปัจจุบันที่ไม่ต่อต้านรัฐประหารเข้าร่วมประชุมหรือไม่ นี่คือความอิหลักอิเหลื่อที่เกิดขึ้น จะประสานกับนักวิชาการคนเดิมที่กลายเป็นฝ่ายรัฐประหารไปแล้ว เราก็ไม่สบายใจ ไม่อยากประสาน เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่มาก”

อาจารย์สุริชัยกล่าวเสริมว่า ประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาและมีความสัมพันธ์กับเมียนมาในบริบทภูมิภาคอาเซียน ทำให้ไทยมีนักศึกษาจากพม่า และมีการแลกเปลี่ยนกันหลายระดับ การเปิดโอกาสดังกล่าวทำได้ไม่กี่ปี เมียนมาก็เกิดการรัฐประหาร ทำให้ความทุลักทุเลมากๆ มันสะเทือนถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัย สะเทือนชีวิตนักวิชาการ ผมคิดว่าองค์กรทางการ อย่าง AUN ที่เมียนมาเป็นสมาชิก ก็ทุลักทะเลกัน หลายมหาวิทยาลัยในไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย

เมื่อการเลือกตั้งเป็นกระบวนการปกติของประชาธิปไตยในอาเซียน พอล้มการเลือกตั้งด้วยอำนาจรัฐประหารก็สะเทือนระบบทางการ อาเซียนจะเน้นระบบทางการ ก็เกิดความอิหลักอิเหลื่อทั้งในระดับอาจารย์ผู้ประสาน ระดับผู้บริหาร อย่างอธิการบดี กระทบกระเทือนมาก และโยงไปถึงระดับหน่วยงานกำกับดูแลรัฐบาลต่างรวนไปหมด

สภาพที่ผู้บริหารประเทศเมียนมามีความไม่ชอบธรรม ฝ่ายที่ชอบธรรมกลับอยู่ในคุก สถานการณ์ที่มีความอิหลักอิเหลื่อเช่นนี้ทำให้ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า มีความสำคัญกับประเทศไทยรวมทั้งประเทศอาเซียนหรือไม่ ที่จะต้องเอาใจใส่ ถ้าคิดว่าเมียนมาเป็นเพื่อนบ้านและสำคัญมากที่จะต้องช่วยกัน เดินไปด้วยกัน ไม่ว่าจะรุ่นแก่ รุ่นหนุ่มสาว การศึกษาเกื้อกูลให้เราอยู่ร่วมกันได้

“ถ้าคิดถึงการอยู่ร่วมกันเป็นเพื่อนบ้านที่ดีมีความร่มเย็น สำคัญที่สุดคือการหาวิธีทำความเข้าใจ และหาวิธีเดินไปข้างหน้าในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เราเข้าใจดีว่ามีความสัมพันธ์อีกหลายระดับ อาจไม่เป็นทางการ แต่มีความสำคัญต่อชีวิตและความหมายของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะยุ่งยากขึ้น”

สำหรับการส่งจดหมายที่ส่งไปกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อาจารย์ศรีประภาระบุว่า เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้นักวิชาการที่อยู่ตามชายแดนพม่า หรือเข้ามาในไทยแล้ว ทำอย่างไรให้สามารถทำงานวิชาการได้ต่อเนื่องอย่างปลอดภัย อีกส่วนคือนักศึกษาที่เดินทางเข้ามาในไทยแล้วสามารถเข้าเรียนได้ โดยเฉพาะนักศึกษาที่ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทยแล้ว ให้ได้มีเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง ไม่ใช่นักศึกษาที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทางการสามารถจับกุมได้ตลอดเวลา จึงต้องการให้ทางการไทยพิจารณาเรื่องนี้

“อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่จะส่งผลในระยะยาว คืออนาคตการศึกษาระหว่างไทยกับเมียนมา ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร อาจารย์เชื่อว่า การศึกษาเป็นอนาคตของแต่ละประเทศ ขณะนี้เมียนมาแทบไม่มีอนาคต หรือคนในวงการการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ที่ไม่สามารถทำงานวิชาการจต่อไปได้ หรือนักศึกษาที่ไม่สามารถเรียนต่อได้ ส่วนในระยะยาว สิ่งที่อยากเห็น คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเมียนมาที่แคบลง ซึ่งเป็นภาระของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด”

อาจารย์สุริชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์มีผลต่อประเทศ ต่ออาเซียน ต่อความเป็นไปในโลกไม่ใช่น้อย การที่นักการเมืองบางส่วน รวมทั้งระดับรัฐมนตรี หรือคนไทยบางส่วน ออกมาพูดว่ากฎหมายไทยต้องเพื่อคนไทย คนต่างด้าวทำให้สิ้นเปลือง ขณะที่ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ ความเป็นจริงของการอยู่ของประเทศไทย อย่างการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่จะเห็นว่า ถ้าประเทศเพื่อนบ้านไม่ปลอดภัย ไทยก็ไม่ปลอดภัยด้วย โควิด-19 จึงแฝงความเป็นปัจจุบันและในอนาคตไปด้วย เช่นเดียวกัน คนไทยมองว่าคนเหล่านี้มาแย่งงาน ซึ่งก็จริงบางส่วน แต่เขาก็ทำงานในส่วนที่คนไทยไม่ทำ

“เราต้องปรับการรับรู้ของคนหลายส่วนในระดับที่ต้องตัดสินใจ ว่า การรับรู้มันไม่ทันกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปมากแล้ว โดยเฉพาะความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ และความเป็นจริงของการอยู่ร่วมกันที่ต้องพึ่งพากันหลายระดับมาก การพึ่งพาหลายระดับเป็นเรื่องที่ขาดการทำความเข้าใจอย่างจริงจัง แรงสะเทือนจากเรื่องโควิด-19 ทำให้ต้องมาคิดกันมากขึ้น แต่ปัญหาคือ เรายังสะสางในหลายระดับไม่ค่อยเป็น”

อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์สุริชัยกล่าวต่อว่า “ชีวิตที่เป็นอยู่เวลานี้ เรามีความเกี่ยวข้องเกื้อกูล พึ่งพากันมากมายหลายระดับ ขณะที่ความรับรู้ของคนไทยบางส่วนเวลานี้ตามหลังความเป็นจริงห่างไกลมาก โจทย์นี้จึงเรียกร้องให้เราต้องตอบคำถามว่า ช่วยเขา (เมียนมา) แล้วไทยได้อะไร ทั้งที่ความวุ่นวายในเมียนมากระทบมาถึงไทย ถ้าเรามองระยะสั้นๆ ไม่มองระยะยาว มองผิวเผินไม่มองลึก เราก็จะสร้างปัญหาให้ตัวเอง เพราะเราหวังแต่เบี้ยใกล้มือ แต่ไม่ยอมมองไกล ไม่ยอมมองลึก ถึงความเกี่ยวข้องที่มีอยู่มากมาย”

พร้อมระบุว่าแรงงานพม่าในไทย ถ้ามองให้ดี จะเห็นโอกาสของการสร้างอนาคตของไทยมากมาย ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน นี่ชัดเจน เพราะโครงสร้างประชากรในอนาคตก็ไม่เอื้อต่อการสร้างแรงงานในหลายภาคส่วน หลายเรื่องทำให้เราควรปรับโจทย์เรื่องประเทศ ที่มองแยกกัน ไม่เกี่ยวกัน หรือเราจะได้อะไร หรือไม่ เพราะถ้าคิดตื้นๆ ปัญหาชายแดนจะทำอย่างไร จะสร้างกำแพงหรือ หรือจะคิดอย่างอาจารย์ศรีประภา ในเรื่องการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมีที่เรียนมากมาย เราจะอาศัยประโยชน์ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นมิตรอนาคตได้มั้ย ใน 10 ปี 20 ปี ข้างหน้าของประเทศไทย ถ้าคิดแบบนี้จะเป็นโอกาสทองของประเทศไทย

“เรื่องการคิดแต่ความมั่นคงเกินไปหรือไม่ ผมไม่โทษใคร เพราะแต่ละคนมีหน้างานของตนเอง ทุกคนก็ยุ่ง อย่างเรื่องความมั่นคงอาจะมีความร้อนใจเฉพาะหน้า เขาจะดูแลชายแดนอย่างไร เป็นต้น แต่ก็มีโจทย์ระยะกลาง ระยะยาว ที่ในฐานะรัฐบาลต้องคิดมากขึ้น ส่วนนี้ก็ต้องอาศัยฝายที่เดือดร้อนมาเสนอรัฐบาลบ้าง”

อาจารย์สุริชัยกล่าวว่า “เพราะเราไม่ได้พูดเรื่องความมั่นคงที่อาศัยกองกำลังเป็นหลักเพียงด้านเดียว แต่เป็นความมั่นคงที่อยู่กันฉันประเทศเพื่อนบ้าน และเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพากันในหลายระดับ และต้องอาศัยพลัง ศักยภาพซึ่งกันและกัน ในการเดินไปสู่อนาคตที่แข็งแรงมากขึ้น ถ้าคิดอย่างนี้ เราจะเห็นอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพร่วมกันในอีก 10-20 ปีข้างหน้า โดยฝ่ายที่มีอำนาจก็ควรใจกว้างฟังคนอื่นที่ไม่อำนาจ มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจอะไร นักวิชาการอย่างเราไม่มีน้ำยา แต่นักศึกษาที่เราสอน เราเห็นเลยว่าหลายคนมีศักยภาพที่จะสอนในสองประเทศได้ ก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองประเทศ เหมือนเราส่งคนไทยไปเรียนในต่างประเทศ กลับมาคนไทยคนนั้นได้ทำงานในประเทศอาเซียน หรือองค์กรระหว่างประเทศ มีประสบการณ์ มีความภาคภูมิใจ พูดได้ 2-3 ภาษาประเทศแถบนี้ได้ที่ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส สิ่งเรานี้ทำให้เรามีความเชื่อมั่น มีการสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ถ้าไม่คิดอย่างนี้ เราจะลำบาก”

“ผมถึงไม่โทษใคร แต่ช่วยใจกว้างฟังคนอื่นมากขึ้น มีสภาพแวดล้อมในการคุยเรื่องความมั่นคง ที่ไม่ใช่ความมั่นคงในวงแคบๆ ที่ทำลายโอกาส และศักยภาพของประเทศเรา พูดง่ายๆ เราต้องการระบบ นโยบายที่สร้างความเชื่อมั่นกันมากขึ้น และต้องการระบบที่ตรงไปตรงมา นโยบายด้านการศึกษามันสร้างความผูกพัน การแลกเปลี่ยนกันไปมา”

อาจารย์ศรีประภากล่าวปิดท้ายว่า หากมองในภาพรวมแล้ว การหาจุดยืนของประเทศไทย หรือ repositioning ประเทศไทย เป็นเรื่องใหญ่ ในเรื่องความมั่นคงต้องมองให้มากกว่าการรักษาชายแดน หรือการป้องกันประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย

อาจารย์ศรีประภามองว่า การศึกษาในแต่ละประเทศ หากมีคุณภาพ ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว ผลที่ได้มีทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่หากบุคคลากรของเมียนมามีการศึกษาที่ดี ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างชัดเจน ขณะที่ไทยเองก็อาศัยบุคลากรจากเมียนมา ซึ่งรวมถึงแรงงานด้วย

“หากคนในเมียนมามีในสิ่งที่ควรมีในประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะไม่มีการอพยพหลบหนีเข้ามาในไทย อย่างสมัยก่อน มีนักศึกษาหลบหนีเข้ามาในไทยเพื่อมาเรียน พอเมียนมาเปิดประเทศ เขาก็กลับไปทำประโยชน์ในประเทศของเขา บางคนอยู่ในพรรคเอ็นแอลดี ได้ทำประโยชน์กับประเทศเขา”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความสัมพัมธ์ เป็นความสัมพันธ์ที่ร่วมกันสร้าง และความสัมพันธ์ทางการศึกษามันจะแน่นแฟ้น นักศึกษาเมียนมาที่จบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ด้วยกันกับนักศึกษาไทย 2-3 ปี หรือมากกว่านั้น จะมีความผูกพันกับสถาบันที่เขาเรียน ความผูกพันนี้ ทำให้ไม่ว่านักศึกษาเมียนมาที่จบไปจะทำงานที่ไหน จะสามารถสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างประเทศได้ การร่วมมือในระยะต่อไปก็จะราบรื่นขึ้น