ThaiPublica > Sustainability > Headline > Climate Action: จีนแปลงหลังคาโรงจอดรถใต้ดินเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

Climate Action: จีนแปลงหลังคาโรงจอดรถใต้ดินเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

27 พฤศจิกายน 2021


ที่มาภาพ: http://www.news.cn/english/2021-11/26/c_1310335409.htm

วันที่ 23 พฤศจิกายน มีการเชื่อมต่อแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งบนหลังคาโรงจอดรถไฟใต้ดินที่เหอเฝย สายที่ 1 บนถนนจูเจียง มณฑลอันฮุย เข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าได้สำเร็จพร้อมทดลองใช้ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาศูนย์ซ่อมบำรุงและโรงจอดขบวนรถไฟใต้ดิน

ภายใต้โครงการนี้ จะมีการติดตั้งแผงโซลาร์ บนหลังคาที่ว่างของสถานีต้นทางรถใต้ดิน โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 2.4 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนรถไฟร้อยละ 40 และอีกร้อยละ 60 เพือรองรับการใช้พลังงานของอุปกรณ์การผลิต

แผงโซลาร์บนหลังคาโรงจอด ที่มาภาพ: http://www.news.cn/english/2021-11/26/c_1310335409.htm

โครงการในลักษณะนี้ยังมีขึ้นในอีกหลายเมืองของจีน เช่น ในนครเซี่ยงไฮ้ ที่ผู้ให้บริการรถใต้ดินตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ต่อเนื่อง

สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ถนนหลงหยางในเซี่ยงไฮ้กลายเป็นสถานีพลังงานอีกเช่นกัน ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงจอดรถ หลังเริ่มการติดตั้งในเดือนมิถุนายนปี 2019 และเริ่มผลิตกระแสไฟในปลายปีเดียวกัน

เซี่ยงไฮ้ เซินตง เมโทร กรุ๊ป(Shanghai Shentong Metro Group) จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงจอดเพิ่มขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อจัดหาพลังงานสะอาดสำหรับการดำเนินงานของบริษัท จากการเปิดเผยของผู้จัดการของบริษัทพลังงานแห่งใหม่ของกลุ่มบริษัท

“กลุ่มเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่ปี 2013 และกระบวนการนี้ก็เร่งขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มยังได้ก่อตั้งบริษัทเซี่ยงไฮ้ เมโทร นิว เอ็นเนอร์จี้( Shanghai Metro New Energy Co) เมื่อปีที่แล้ว” เกา จวิน ผู้จัดการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่สถานีรถไฟใต้ดินถนนหลงหยางกล่าว

ในปี 2020 มีการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบนหลังคาโรงจอดสถานีถนนหลงหยางมากกว่า 4 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งรองรับขบวนรถแบบ 8 ตู้ต่อขบวนได้เป็นระยะทางยาวถึง 200,000 กิโลเมตร

แผลงโซลาร์ที่ติดตั้งบนหลังคาโรงจอดรถ สถานีถนนหลงหยาง นครเซี่ยงไฮ้ ที่มาภาพ:http://stcsm.sh.gov.cn/news/20210224/6c09994aeddf4aaa80f55d50a6cb085a.html

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงจอดมีพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร นับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่ใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มรถไฟใต้ดินที่มีอยู่ 10 แห่ง

เหยียน เจี้ยนเฟิง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะของหัวเว่ย กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนถนนหลงหยางได้รับการติดตั้งเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าอัจฉริยะจากหัวเว่ย ซึ่งสามารถตรวจจับความเสียหายและปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ

ที่เสิ่นเจิ้น ได้มี การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และรูปแบบขนส่งใหม่ในการเดินรถสาย 6

ผู้ให้บริการรถไฟใต้เสิ่นเจิ้น หรือเสิ่นเจิ้น เมโทร ยึดแนวคิดการพัฒนาใหม่ และมุ่งสร้างรถไฟใต้ดินที่ทันสมัยใช้​เทคโนโลยี และเป็นทางรถไฟขั้นสูงเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสีเขียว คาร์บอนต่ำ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้ริเริ่มโครงการระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายในการก่อสร้างสถานีสาย 6

รถไฟสาย 6 ของเสิ่นเจิ้นเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2020 โดยมี บริษัท Kehua รับผิดชอบการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเชื่อมต่อกับระบบจำหน่าย(distributed PV )ที่มีกำลังการผลิต 2.304 เมกะวัตต์

โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่แห่งแรกของแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบเชื่อมต่อระบบจำหน่ายของสถานียกระดับ ในสถานีรถไฟฟ้าในเขตเมืองในประเทศจีน ซึ่งระยะทางรวมของโครงการรถไฟสาย 6 ประมาณ 49.4 กิโลเมตร เป็นรถไฟใต้ดินสายที่ 2 ที่มีความเร็วเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเสิ่นเจิ้น

รถไฟสายที่ 6 ในเสิ่นเจิ้น ที่มาภาพ: https://www.kehua.com/newslist/2.html

เส้นทางเดินรถสายที่ 6 เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อพื้นที่ส่วนกลางและเขตไฮเทคตะวันตกของเสิ่นเจิ้น รถไฟใต้ดินสาย 6 วิ่งผ่านเขตเป่าอัน กวงหมิง หลงหัว ฝูเถียน และหลัวหู ซึ่งถูกคาดหวังและได้รับความสนใจอย่างมากตั้งแต่เริ่มดำเนินการ รถไฟใต้ดินสาย 6 วิ่งจากถนนกวางหมิงถึงศูนย์กีฬาฝูเถียนใช้เวลาเพียง 30 นาที และการใช้รถไฟใต้ดินสาย 6 ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากเขตกวงหมิงไปยังพื้นที่ภาคกลาง พร้อมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ตามแนวสาย 6

รถไฟใต้เสิ่นเจิ้นสาย 6 มีสถานียกระดับ 15 แห่ง มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์แบบ distributed PV เพื่อส่งจ่ายไฟแบบเหนือศรีษะในสถานียกระดับ ยกเว้นสถานีเสิ่นเจิ้น เป่ย สถานีฉางเจิ้น และสถานีเฟิ่งหวงเฉิง เป็นการประยุกต์ใช้ระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์แบบ distributed PV ขนาดใหญ่ครั้งแรกในระบบรถไฟในเขตเมือง

กำลังการผลิตเฉลี่ยต่อปีของรถไฟใต้ดินเสิ่นเจิ้นสาย 6 อยู่ที่ 2,340,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าของแต่ละสถานียกระดับได้ 30% และตลอดอายุการใช้งาน 25 ปี ระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้ทั้งหมด 54,650,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดนั้นเท่ากับไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินมาตรฐาน 17,925 ตัน ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 50,470,000 หยวน

ระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งในสถานียกระดับนี้ทำให้เกิดการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพและการผสมผสานที่เหมาะสมของการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ การขนส่ง การประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยมลพิษ การเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สำคัญสำหรับโครงการไฟฟ้าโซลาร์เซลล์อื่นๆ