ThaiPublica > คอลัมน์ > “การปิดอ่าวไทย” กับ “การอนุรักษ์ปลาทู” แล้วปลาทูหายไปไหน…!!!

“การปิดอ่าวไทย” กับ “การอนุรักษ์ปลาทู” แล้วปลาทูหายไปไหน…!!!

25 กุมภาพันธ์ 2020


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

“การปิดอ่าวไทย” กับ “การอนุรักษ์ปลาทู” คำสองคำนี้ฟังแล้วดูเหมือนจะมีความหมายที่สอดรับกัน เพราะเรามักได้ยินมานานนับสิบปี (ถ้าจำไม่ผิด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508) ที่มีการปิดอ่าวไทยตอนกลางในบริเวณหมู่เกาะอ่างทอง กลางอ่าวไทย เป็นเวลา 2 เดือน และต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 3 เดือน

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก นัยว่าเป็นการคุ้มครองลูกปลาทูวัยอ่อนที่เคลื่อนย้ายขึ้นมาตอนบนของจังหวัดชุมพร

“การปิดอ่าว” ในข้อเท็จจริงที่คนทั่วไปสัมผัสได้คือ การปิดพื้นที่ในช่วงเวลาที่กำหนด ที่เชื่อว่า “ปลาทู” จะโตเต็มวัยและผสมพันธุ์ รวมทั้งออกไข่ในพื้นที่ที่ปิดและช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีการห้ามเครื่องมือประมงพาณิชย์เข้าไปทำการประมงในบริเวณนั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่กรมประมงอ้างว่าเป็น “เรือประมงพื้นบ้าน” ที่ทำมาหากิน “เพื่อการยังชีพ” ให้สามารถทำการประมงต่อไปได้

ในฐานะของคนไทยที่เฝ้าดูการทำงานของกรมประมงในเรื่องนี้มานานตั้งแต่วัยเด็กจนเลยวัยเกษียณมาหลายปีแล้ว ผมเห็นว่าในปีก่อนๆ ก่อนที่จะมีปัญหา IUU Fishing เข้ามา และรัฐบาลได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558” มาใช้บังคับ และห้ามเรือประมงพาณิชย์กว่า 3,000 ลำ ออกทำการประมง สถานการณ์ “ปลาทู” ของไทย ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราเห็นในช่วงหลังปี 2558 ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติที่กรมประมงเคยเก็บไว้ (ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง)

ในระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2557 ไทยเคยจับปลาทูได้ปีละระหว่าง 112,557-147,852 ตัน ในขณะที่หลังปี พ.ศ. 2558 ถึงปี พ.ศ. 2561 ตัวเลขข้อมูลการจับได้ลดลงอย่างมาก เหลือเพียงปีละระหว่าง 20,461-70,303 ตัน เท่านั้น ซึ่งเป็นผลการจับที่ต่ำมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งๆ ที่เรือประมงพาณิชย์ยังคงถูกห้ามทำการประมงในช่วงเวลาที่ปิดอ่าวเป็นปกติ แถมหนำซ้ำเรือประมงพาณิชย์อีกกว่า 3,000 ลำถูกห้ามออกทำการประมงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558

คำถามที่เกิดขึ้น คือ “ปลาทู หายไปไหน”

ปิดอ่าว…ใครถูกห้ามบ้าง-ใครทำได้บ้าง

ตามประกาศของกรมประมง เครื่องมือประมงพาณิชย์ทุกชนิด ที่ใช้โดยเรือขนาดใหญ่เกินกว่า 10 ตันกรอส หรือมีความยาวเกินกว่า 16 เมตร ไม่สามารถทำการประมงในเขตที่มีการปิดอ่าวได้ โดยเฉพาะเครื่องมือ อวนลาก อวนล้อม อวนลอย ฯลฯ

และตามประกาศของกรมประมง เครื่องมือประมงบางชนิด ซึ่งไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ประกอบด้วย

    (1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งด้วย
    (2) เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และต้องใช้ช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป กรณีที่ชาวประมงต้องการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ จะต้องใช้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น
    (3) เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง
    (4) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
    (5) ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
    (6) ลอบหมึกทุกชนิด
    (7) ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน สามารถทำการประมงได้ในเขตทะเลชายฝั่ง
    (8) คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
    (9) อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ
    (10) จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
    (11) เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้นอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560

ปิดอ่าว-ใครทำลายปลาทูกันแน่

ในช่วงที่ผ่านมา กรมประมง กลุ่ม NGOs และชาวประมงพื้นบ้านที่มีปลอกคอ พยายามใช้สื่อในสังกัดและพันธมิตร โพนทะนาว่าคนทำลายทรัพยากร “ปลาทู” และปลาเศรษฐกิจ คือ “เรือประมงพาณิชย์” โดยเฉพาะเครื่องมือ “อวนลาก” ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้เรือพื้นบ้าน มีการขยายขนาดเรือจากที่ควรจะเป็น (ไม่เกิน 5 ตันกรอส) เป็น 10 ตันกรอส มีการขยายจำนวนจากที่เคยมีประมาณ 20,000 ลำเศษ จนวันนี้จดทะเบียนแล้วกว่า 50,000 ลำ และที่สำคัญมีการขยายความยาวและจำนวนเครื่องมือ จนพ้นสภาพ “การประมงพื้นบ้าน” เป็น “เครื่องมือประมงพาณิชย์ขนาดเล็ก” ไปแล้วอย่างถูกต้อง

ลองคิดดูครับ เรือประมงที่อ้างว่าเป็น “เรือประมงพื้นบ้าน” ที่มีอยู่กว่า 50,000 ลำ โดยกว่า 30,000 ลำ ใช้เครื่องมือประเภทอวน ทั้งอวนลอย และอวนติดตา ฯลฯ ที่มีความยาวเป็นพันเมตร ถ้าผมเอามาคิดแค่ 1,000 เมตรต่อลำ (บางลำใช้ความยาวอวนกว่า 5,000 เมตร) คูณด้วย 30,000 ลำ เราจะมีอวนที่มีความยาวถึง 30,000,000 เมตร หรือ 30,000 กิโลเมตร ในขณะที่ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทั่วประเทศประมาณ 2,800 กิโลเมตร

นั่นย่อมหมายความว่า ถ้าเอาความยาวของอวนมาต่อกันแล้วไปวางตลอดแนวชายฝั่ง จะเท่ากับมีอวนขวางกั้นตลอดแนวชายฝั่งถึง 10.7 ชั้น แล้วลองนึกดูครับ อวนเหล่านี้วางอยู่ในเขตชายฝั่งที่สัตว์น้ำน้อยใหญ่จะเข้ามาอาศัย เพาะพันธุ์ และวางไข่ ทั้งสิ้น

เข้ามาเพาะพันธุ์ และวางไข่ ก็เจอแนวอวนนี้ 10.7 ชั้น ถามว่าจะเหลือสัตว์น้ำที่หลุดรอดเข้ามาวางไข่ได้เท่าไร

เมื่อวางไข่แล้วจะออกไปสู่ทะเลลึกก็เจอแนวอวนนี้อีก 10.7 ชั้น ถามว่าจะเหลือสัตว์น้ำที่หลุดรอดออกไปเติบโตในทะเลลึกได้เท่าไร

และถ้า “สัตว์น้ำ” ที่ว่านั้น คือ “ปลาทู” คำถาม คือ “ปลาทู” จะเหลือเข้ามาวางไข่ได้กี่ตัว และเมื่อวางไข่แล้ว จะเหลือกี่ตัวที่หลุดรอดไปให้ “เรือประมงพาณิชย์” จับ หรือทำลายอย่างที่ได้โพนทะนากัน

ลองกลับไปดูสถิติของกรมประมง จะพบว่า หลังจากปี 2558 ที่มีการห้ามเรือประมงพาณิชย์ออกทำการประมงกว่า 3,000 ลำ แต่ไม่ควบคุมเรือประมงพื้นบ้าน สถิติการจับปลาทูกลับลดลงอย่างน่าใจหาย

แล้วเราจะยังปล่อยให้ “เรือประมงพาณิชย์ขนาดเล็ก” ในคราบ “เรือประมงพื้นบ้าน” “ทำการประมงอย่างเสรี ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเสรี” กันต่อไปอีกหรือ

ทางออก-ทางแก้ เพื่อการอนุรักษ์ปลาทูไทยให้ลูกหลาน

วันนี้ การปิดอ่าวเพิ่งจะย่างเข้าเพียงสัปดาห์ที่สองของช่วงเวลา 3 เดือนที่ประกาศปิดอ่าว จึงยังมีเวลาที่จะแก้ไขและติดตามข้อมูลเพื่อการบริหารและจัดการกับ “แม่และลูกปลาทู” ที่เราคาดหวังที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน

ซึ่งถ้าปล่อยให้ทำกันอยู่เช่นเดิม เมื่อถึงเวลาเปิดอ่าวในวันที่ 16 พฤษภาคม เราก็คงจะไม่เหลือปลาทูให้เราจับเช่นเดิม โดยไม่รู้ว่า “ปลาทูหายไปไหน” กันอีก

ผมแนะนำให้กรมประมงทำอย่างนี้ครับ

    1. ให้เรือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในพื้นที่ปิดอ่าวมาแจ้งลงทะเบียน
    2. ให้เรือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในพื้นที่ปิดอ่าวต้องทำ log book รายวัน (ไว้เพื่อตรวจ) และต้องส่งให้กรมประมงทุกสัปดาห์
    3. ให้เรือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในพื้นที่ปิดอ่าวนำสัตว์น้ำกลับเข้าฝั่งและขึ้นท่าเฉพาะท่าเรือที่กรมประมงกำหนดเท่านั้น
    4. ให้มีการสุ่มตรวจสัตว์น้ำที่จับได้จากเรือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในพื้นที่ปิดอ่าว เพื่อทำการวิเคราะห์และวิจัย โดยเฉพาะปลาทู และสัตว์น้ำวัยอ่อนอื่นๆ
    5. ฯลฯ

ถ้าทำเช่นนี้ได้ เราจะมีข้อมูลเพื่อการบริหารและจัดการ “การปิดอ่าว” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริงในปีหน้าและปีต่อๆ ไป

อยู่ที่กรมประมงจะกล้าหักดิบกับพวกกลุ่มผลประโยชน์ หรือชาวประมงพื้นบ้าน และ NGOs ที่อยู่ในคราบของชาวประมงพื้นบ้าน ที่อ้างการ “อนุรักษ์” บังหน้า หรือไม่ เท่านั้น

ถ้าไม่ทำก็ยุบไปเลยครับกรมประมง เพราะคุณมีส่วนทำให้ “ปลาทูไทยหายไป” หรือไม่ก็ควรจะเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมปลาหมด” ไปได้เลยครับ