ThaiPublica > คอลัมน์ > ทดลองการันตีรายได้

ทดลองการันตีรายได้

14 ตุลาคม 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://ssir.org/articles/entry/is_universal_basic_income_the_key_to_happiness_in_asia

แนวคิดของการให้เงินสดโดยภาครัฐแก่ผู้ใหญ่ทุกคนในสังคมเพื่อช่วยการดำรงชีพพื้นฐานด้วยเงินจำนวนเท่ากันรายเดือนมีมานมนาน แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงในประเทศใด อย่างไรก็ดีแนวคิดที่เรียกว่า Universal Basic Income (UBI)นี้ ในปัจจุบันได้รับการถกเถียงกันอย่างคึกคักและกว้างขวางในระดับประเทศ คิดกันว่าถึงแม้จะเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีประเทศใดมีเงินเพียงพอหรือเห็นพ้องกันทั้งประเทศ แต่ก็สามารถให้เงินแก่บางกลุ่มของประชากรที่ยากไร้จริง ๆ ได้

ในปัจจุบันมีองค์กรภาคเอกชนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาที่ได้ทดลองทำนองนี้โดยต้องการคำตอบว่าเงินลักษณะนี้ช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใด เมื่อได้รับเงินไปแล้วเกิดอะไรขึ้นและเอาไปใช้จ่ายที่เกิดประโยชน์จริง ๆ หรือไม่

มีหลักฐานว่า Trajan จักรพรรดิองค์หนึ่งของอาณาจักรโรมัน ระหว่าง ค.ศ. 98-117 ให้เงินจำนวนเท่ากันแก่พลเมืองทุกคนที่ต้องการและในหนังสือ Utopia (ค.ศ. 1516) ของ Sir Thomas More เอกบุรุษของอังกฤษ ผู้ดำรงตำแหน่ง Lord High Chancellor of England บรรยายถึงสังคมที่สมาชิกทุกคนได้รับการันตีรายได้พื้นฐาน เพื่อเป็นคำตอบของข้อความ “ไม่มีบทลงโทษใดที่สามารถยับยั้งผู้คนจากการขโมยได้ ถ้ามันเป็นหนทางเดียวของการได้อาหารมา”

UBI ได้รับการพูดถึงในทุกศตวรรษจวบถึงปัจจุบันโดยผู้สนับสนุนเห็นว่า UBI จะช่วยตัดรายจ่ายสวัสดิการสังคมที่มีอยู่มากมายแล้วในหลาย ๆ โครงการลงได้จนเหลือโครงการเดียว ทำให้เห็นชัด ๆ จากการันตีรายได้อย่างไม่ผูกพันกับเงื่อนไขต่าง ๆ โดยไม่มีคนที่หายหกตกหล่นเพราะได้รับทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน

ระบบสวัสดิการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นอยู่ในทุกประเทศ ล้วนมีหลายโครงการซึ่งมีความสลับซับซ้อนโดยมีเงื่อนไขที่หลากหลาย บ่อยครั้งที่บางคนได้รับซ้ำซ้อน บางคนหลุดรอดไปโดยไม่ได้รับเลย ดังนั้นภาครัฐจึงสูญเสียเงินจำนวนมากจากการขาดประสิทธิของการบริหาร หากเป็นโครงการที่ง่ายไม่ซ้ำซ้อน เช่น ให้การันตีรายได้แก่ทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไขที่หยุมหยิมในจำนวนเท่ากันรายเดือน โอกาสของความผิดพลาดจะมีน้อยลง และการจัดการจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถประเมินได้ง่ายว่าเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลหรือไม่ ซึ่งทำให้สะดวกต่อการปรับเปลี่ยนนโยบาย

โครงการการันตีรายได้แก่ประชาชนบางกลุ่มโดยองค์กรภาคเอกชนในสหรัฐอเมริกนั้นน่าสนใจ ใน 6 ปีที่ผ่านมา มีโครงการนำร่องจำนวนมากใน 24 เมืองของรัฐต่าง ๆ โครงการทดลองหนึ่งที่มีชื่อว่า Compton Pledge ให้เงินคนละ 300 ถึง 600 เหรียญต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกที่ต้องเลี้ยงดู) แก่คน 800 คน ในช่วงเวลาท้ายปี 2020 ถึงปลายปี 2022 ผู้เข้าร่วมเป็นคนยากไร้ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายด้วยในรัฐแคลิฟอร์เนีย

องค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ The Fund for Guaranteed Income ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ Compton Pledgeในหลายเมืองร่วมมือกับกลุ่มวิจัยเพื่อศึกษาว่าเงินจำนวนนี้มีผลกระทบอย่างไรต่อผู้รับเงิน ทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต โอกาสมีงานทำและผลกระทบต่อชุมชน

โครงการทดลองของภาคเอกชนอื่นๆในหลายเมืองให้เงินแก่คนผิวสีที่ท้อง เด็กขาดอุปการะ คนไร้บ้าน ฯลฯ โดยมุ่งไปที่คำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ยากไร้เหล่านี้เมื่อได้รับเงินสดและใช้จ่ายได้ตามใจชอบ

การสำรวจความเห็นของคนอเมริกันปัจจุบันพบว่า 45 % สนับสนุนไอเดียที่ภาครัฐให้เงินผู้ใหญ่ทุกคนเท่ากันทุกเดือนไม่ว่ามีรายได้เท่าใด (เช่น 1,000 เหรียญ) ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงในความคิดเห็นซึ่งแตกต่างกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน

ผลสรุปจากโครงการของ Compton Pledge ในเรื่องการใช้จ่ายเงินยังไม่ออกมา แต่ผลขั้นต้นระบุว่าเงินจำนวนนี้ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นบ้างโดยเฉพาะในด้านการป่วยทางจิตผ่านไป 1 ปี 37% ของเงินที่ได้รับหมดไปกับรายจ่ายด้านอาหาร 22% กับค่าซื้อสินค้าทั่วไป 11% ค่าน้ำค่าไฟฟ้า และน้อยกว่า 1% เป็นค่าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ และ 3% จ่ายเรื่องหยูกยา

ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ไอเดียเรื่องการันตีรายได้แก่ประชาชนยากไร้ที่สุดได้รับความสนใจอย่างมากจากมหาเศรษฐีที่รวยจากธุรกิจไฮเทคของสหรัฐ ไม่ต่ำกว่า 40 โครงการใหม่ในเรื่องการันตีรายได้เกิดขึ้นทั้งในเมืองใหญ่และเมืองเล็กในหลายรัฐเพื่อช่วยกลุ่มคนที่มีลักษณะพิเศษ เช่นครอบครัวที่ถูกกระทบจากโควิด-19 พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ฯลฯ

ข้อสรุปหนึ่งที่ชัดเจนก็คือเงินจากการันตีรายได้ไม่ได้ทำให้หลุดพ้นจากความยากจนเพราะไม่ได้แก้ที่ราก เพียงแต่ช่วยให้คนเหล่านี้ได้หายใจสะดวกขึ้นบ้าง พอที่จะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้สมาร์ทขึ้นสำหรับครอบครัว

สำหรับประเทศไทย มีงานวิจัยอยู่บ้างในเรื่องผู้รับเงินช่วยเหลือสวัสดิการนำไปใช้จ่ายอะไรบ้างแต่เราต้องการคำตอบที่ลึกกว่าแบบที่องค์กรอเมริกันต้องการ อย่างไรก็ดีเราพอจะเดาได้ว่าสำหรับหลายครอบครัวในยามนี้ เงินเหล่านี้เป็นเรื่องของความเป็นความตายโดยแท้ คนยากไร้จำนวนมากประสบความยากลำบากจากวิกฤติครั้งนี้มาก ถึงแม้จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไปไม่น้อยก็ตาม เพราะไม่เพียงแต่กังวลใจเรื่องหนี้สินและปากท้องของครอบครัวเท่านั้น หากยังหวาดหวั่นว่าจะติดโรคและเจ็บป่วยซึ่งเป็นอีกเรื่องหนักใจที่แอบซ่อนอยู่ทุกลมหายใจจนมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตโดยรวม

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 12 ต.ค. 2564