ThaiPublica > คอลัมน์ > มหันตภัย PM 2.5 ที่เกิดจากปฏิกริยาทางเคมี

มหันตภัย PM 2.5 ที่เกิดจากปฏิกริยาทางเคมี

27 ตุลาคม 2021


อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

ชีวิตคนกรุงเทพหลังผ่านฤดูน้ำรอระบายก็เข้าสู่ฤดูฝุ่นมหาภัย (PM 2.5) วัฎจักรเช่นนี้จะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เป็นช่วงเวลาที่ความกดอากาศครอบคลุมกรุงเทพมหานคร เป็นดั่ง “ฝาชีครอบเมือง” เอาไว้ ทำให้ฝุ่นละอองปกคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สาเหตุการเกิดฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ในที่โล่งของการเกษตร การคมนาคมขนส่ง ไอเสียจากรถยนต์ ฝุ่น ควันดำ รวมถึงภัยธรรมชาติอย่างไฟป่า

ในสาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดยังคงขาดสาเหตุที่เป็นภัยต่อสุขภาพอย่างมาก คือสาเหตุการเกิด PM2.5 จากปฎิกิริยาทางเคมี ที่เป็นต้นตอของการเกิดโรคมะเร็ง การเกิด PM 2.5 ทางปฎิกิริยาเคมี เกิดจากก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน โดยมีแสงแดดเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำให้เกิด ก๊าซโอโซน(O3) ขบวนการทางปฎิกิริยาทั้งหมดในทางเคมีเรียกว่า “Photochemical Reaction”

คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการออกไปสูดรับ โอโซน แล้วจะสดชื่น

มาทำความรู้จัก โอโซน กัน

โอโซน คืออะไร?

โอโซนมีอยู่ 2 ความหมาย

  • โอโซนที่ดี เป็นโอโซนตามธรรมชาติที่อยู่ในชั้นบรรยากาศสูงๆ สูงจากพื้นดินมากกว่า 40 กิโลเมตรขึ้นไป ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต
  • โอโซนที่ไม่ดี เป็นก๊าซที่มีพิษในอากาศชั้นล่าง สูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร มีหลายสิ่งที่ก่อให้เกิดโอโซนที่ไม่ดีในอากาศ เช่น เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยมีแสงสว่างเป็นตัวเร่ง ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องกำเนิดความร้อน จากกระบวนการผลิตในแหล่งอุตสาหกรรม เป็นต้น

โอโซน VS อากาศบริสุทธิ์

หลายคนเข้าใจผิดว่า “โอโซน” หมายถึงอากาศที่บริสุทธิ์ ที่ไหนมีโอโซนมาก หมายถึงว่ามีอากาศที่ดี และสะอาดมากๆ หายใจเอาโอโซนเข้าไปแล้วจะรู้สึกสดชื่น อันที่จริงแล้วโอโซนไม่ใช่อากาศที่เราควรจะหายใจเอาเข้าไปในปอดเลย เพราะโอโซนเป็นก๊าซ ไม่มีสี แต่มีกลิ่นเหม็นคาว ซึ่งเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิต และยังมีความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยากับสารอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โอโซน = สารพิษในอากาศ

โอโซน ถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งในสารพิษในอากาศ เพราะเป็นก๊าซที่อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิต ซึ่งนอกจากโอโซน ยังมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ ฝุ่นละอองต่างๆ

กล่าวถึงตรงนี้เราจะทราบถึงพิษของ PM2.5 ที่เกิดจากปฎิกิริยาเคมีกันแล้ว คำถามที่เกิดขึ้นคงไม่พ้นที่จะถามไปยังผู้บริหารบ้านเมือง ว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร

ที่ไม่ใช่ถึงฤดูกาล PM 2.5 ก็ออกมาทำงานแบบอีเว้นท์ไปที ให้อยู่รอดปีต่อปี โดยไม่สนใจในสุขภาพของประชาชน

อ่านเพิ่มเติม