ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > GCNT จับมือ UN ติดอาวุธภาคธุรกิจไทย พลิกความเสี่ยงโลกร้อน เป็นโอกาสธุรกิจสู่ระดับโลก

GCNT จับมือ UN ติดอาวุธภาคธุรกิจไทย พลิกความเสี่ยงโลกร้อน เป็นโอกาสธุรกิจสู่ระดับโลก

6 กันยายน 2021


นักผจญเพลิงกำลังพยายามดับไฟที่รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย มกราคม 2020 ที่มาภาพ : https://www.un.org/en/climatechange/a-call-for-action-australia

สิงหาคม 2564 : สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ร่วมกับสหประชาชาติ และศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติในกรุงเทพมหานคร (UNFCCC RCC Bangkok) ร่วมกับ คณะผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (High-Level Climate Action Champion) กอนซาโล มูนโญส (Gonzalo Muñoz) และ ไนเจล ทอปปิง (Nigel Topping) เป็นเจ้าภาพจัด การประชุมออนไลน์ Race to Zero: Meet the World’s Race to Zero Heroes for Climate Action ครั้งแรกของประเทศไทยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) พร้อมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อยกระดับขีดความ สามารถในการแข่งขัน พลิกความเสี่ยงอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน เป็นโอกาสต่อยอดธุรกิจสู่ระดับโลก โดยมีสมาชิก GCNT และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 400 คน

การประชุมออนไลน์ Race to Zero: Meet the World’s Race to Zero Heroes for Climate Action เป็นการรวมพลผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากทั่วโลก ที่มาฉายภาพสถานการณ์ล่าสุด พร้อมแนวปฏิบัติที่ดีในการรับมือกับเรื่องนี้ให้กับภาคธุรกิจไทย หวังสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์บนพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงและพลิกความเสี่ยงให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ก่อนที่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 (COP 26) จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

นายนพปฎล เดชอุดม เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

นายนพปฎล เดชอุดม เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการจัดประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการอุ่นเครื่องก่อนงาน GCNT FORUM 2021 ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืนของไทยที่ GCNT จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้หัวข้อการประชุม คือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพราะเป็นประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญที่สุดของโลกในขณะนี้ ในระดับที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกรายงานล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC (Inter-governmental Panel on Climate Change) ที่รายงานผลการประเมินล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤติโลกร้อนว่า “Code Red” แสดงถึงความร้ายแรงขั้นสุดของสถานการณ์ เป็นที่ชัดเจนว่าโลกต้องร่วมมือกันและทำงานหนักขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์

ที่ผ่านมา GCNT ได้ทำงานร่วมกับองค์กรสมาชิกเพื่อส่งเสริมบทบาทเป็นผู้นำความยั่งยืนของภาคธุรกิจในการจัดการกับความท้าทายในเรื่องนี้ ผ่านการติดอาวุธสำคัญ คือการสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ การเตรียมความพร้อมในการรับมือ ทั้งมุมมองของการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และการแสวงหาโอกาสในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไปสู่การต่อยอดธุรกิจในระดับโลก การที่จะทำเช่นนั้นได้ ภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องเหล่านี้ก่อน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของงานวันนี้ เพื่อให้แต่ละองค์กรมีความรู้เพียงพอสำหรับการตั้งเป้าหมายในเรื่องนี้ที่อ้างอิงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ (science-based) พร้อมทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายระดับโลกที่กำลังเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โดย GCNT จะจัดให้มีเวทีระดมสรรพกำลังของภาคธุรกิจไทย เพื่อต่อสู้กับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้นในการประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืน GCNT Forum 2021 ในเดือนตุลาคมนี้

“เราได้เห็นความพยายามของภาคธุรกิจไทยและทุกภาคส่วนของสังคมในการรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า ในจัดการกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง เราจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้น ความมุ่งมั่นมากขึ้น และการลงมือทำอย่างจริงจังมากขึ้นอีก” นายนพปฎลกล่าว

กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

ด้าน กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจของ Deloitte กว่า 80% ของผู้นำธุรกิจทั่วโลกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นหมายถึง ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่าโลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน ซึ่งต้องการความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และตามปกติการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมจะถูกมองว่าเป็นภาระต้นทุนต่อเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม รายงานของ IMF ชี้ให้เห็นว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม สามารถก่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจสีเขียว 2 ถึง 7 เท่า นี่คือเหตุผลว่าทำไมการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืนของธุรกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็น และระบุว่าภาคเอกชนมีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชนมีส่วนช่วยทำให้เกิด GDP มากกว่า 80 % จึงมีบทบาทในการเป็นผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ

“น่ายินดีที่ภาคเอกชนไทยเร่งมือร่วมกัน เพื่อภารกิจลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในทศวรรษนี้อย่างเป็นรูปธรรม บทบาทในการกำหนดเป้าหมายสภาพภูมิอากาศโดยภาคเอกชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาลในหลายประเทศ นี่คือวาระสำคัญของโลกที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน” กีต้ากล่าว

เยนส์ หราดชินสกี้ (Jens Radschinski) หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติในกรุงเทพมหานคร

ส่วนเยนส์ หราดชินสกี้ (Jens Radschinski) หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติในกรุงเทพมหานคร (UNFCCC RCC Bangkok) ระบุว่า ปีนี้ เราอยู่ในจุดเริ่มต้นของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้สรุปแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศหลังปี 2020 โดยปรับให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ (NDCs : Nationally Determined Contributions) พร้อมย้ำว่างานข้างหน้านั้นยิ่งใหญ่มาก และภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเร่งให้เกิดการแข่งขันเพื่อลดการปล่อย GHG ให้เป็นศูนย์ (Race to Zero) อย่างช้าสุด ภายในปี 2050

“เราต้องการเห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่สอดคล้องกับเป้าหมายอุณหภูมิ 1.5 องศาตามข้อตกลงปารีส ซึ่งหมายถึงการลดการปล่อย GHG ทั่วโลกประมาณ 45% ภายในปี 2030 ต่อจากนี้ไปจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของเศรษฐกิจ และภาคเอกชนจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ผ่านการกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

การประชุม Race to Zero: Meet the World’s Race to Zero Heroes for Climate Action ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคธุรกิจไทยที่ได้รับทราบถึงแนวปฏิบัติที่ดีของโลก ในการพลิกความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่โอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับพันธมิตรเพื่อปณิธานด้านสภาพอากาศ (Climate Ambition Alliance) ในโครงการรณรงค์ Race to Zero และการรณรงค์อื่น ๆ เช่น การเร่งรัดฟื้นฟูอย่างยั่งยืน(Race to Resilience) และพันธมิตรทางการเงินกลาสโกว์ เพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Glasgow Financial Alliance for Net Zero) ที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ การแบ่งปันประสบการณ์จากสมาชิกโครงการ Race to Zero โดยบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF, แฮปปี้ โกรเซอร์ (Happy Grocers), โครงการริเริ่มที่มีเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative) และโครงการรณรงค์ Business Ambition for 1.5°C การสนับสนุนในด้านต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจเพื่อการดำเนินการด้านสภาพอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นการติดอาวุธสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจไทย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจเอง และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมร่วมสร้างมิติใหม่ของการลงมือทำอย่างจริงจัง (A New Era of Action) ในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญที่สุดของโลกในขณะนี้

……

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand): เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 70 องค์กร โดยโกลบอลคอมแพ็ก ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)

สหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations Resident Coordinator Office in Thailand): สหประชาชาติทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยมากว่า 50 ปี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยยึดตามวาระสำคัญและแผนงานระดับชาติ ทีมสหประชาชาติประจำประเทศประกอบด้วยหน่วยงานของสหประชาชาติ 21 หน่วยงาน ซึ่งต่างดำเนินโครงการและกิจกรรมเฉพาะด้านในประเทศไทย งานของเราได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือที่ล้ำค่าระหว่างเรากับรัฐบาลไทย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับชาติ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ผู้บริจาค และสื่อมวลชน นอกจากนี้ เรายังทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมกาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก (เอสแคป) อีกด้วย