ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > GCNT เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนความยั่งยืน เตรียมพร้อมธุรกิจหลังพ้นวิกฤติโควิด-19

GCNT เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนความยั่งยืน เตรียมพร้อมธุรกิจหลังพ้นวิกฤติโควิด-19

28 เมษายน 2021


นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

เมษายน 2564: สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดประชุมคณะกรรมการบริหาร ผนึกกำลัง 67 องค์กรสมาชิก จับมือทุกภาคส่วน เดินหน้า 5 แผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนความยั่งยืน ชี้ธุรกิจยังเติบโตได้แม้ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี ดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และธุรกิจสุขภาพ พร้อมชวนให้มองไปข้างหน้าเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญที่ยังคงอยู่เมื่อวิกฤติโควิดผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความยากจน และการทุจริต

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ว่า ในวิกฤตินั้นมีโอกาสอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมใหม่ โดยระบุว่าในช่วงโควิด-19 อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เติบโต คือ เทคโนโลยี ดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และธุรกิจสุขภาพ แสดงให้เห็นว่า ยังมีโอกาสให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ แม้เป็นช่วงที่แย่ที่สุด และหลายธุรกิจยังเติบโตได้ดีกว่าเดิม

พร้อมย้ำถึงเรื่องที่ใหญ่กว่าโควิด-19 และยังจะอยู่ต่อไปเมื่อโควิด-19 ผ่านไปแล้ว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความยากจน การทุจริต ซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของสมาคมฯ ที่ต้องผนึกกำลังภาคเอกชน ใช้วิสัยทัศน์มองไปข้างหน้า และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“วิกฤติโควิด-19 ได้สอนบทเรียนให้กับภาคธุรกิจหลายประการ ทำให้ได้เรียนรู้การเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส และมีวิสัยทัศน์ กล้าลงทุน ซึ่งความพยายามที่จะเสาะหาโอกาสและ pain points ต่างๆ จะส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น พวกเราในฐานะผู้ประกอบการก็ควรจะมองเห็นปัญหาได้ก่อน รู้ก่อน และแก้ปัญหาก่อน” นายศุภชัยกล่าว

อย่างไรก็ตามทางสมาคมฯ จะเดินหน้า 5 ยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1: การสร้างความตระหนักรู้และความโปร่งใส (Awareness and Transparency) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ การวัดผลการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และความโปร่งใส เช่น ร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสามารถรายงานข้อมูลตัวชี้วัดสองตัวที่สำคัญ ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสิทธิมนุษยชน ในการจัดทำรายงานแบบ One Report ได้อย่างครบถ้วน และเป็นระบบ รวมถึงความเป็นไปได้ในการขยายผลให้รายงานข้อมูลด้านอื่นด้วย เช่น การกำจัดขยะ

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การนำกลไกตลาดเข้ามาช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืน (Market engagement) ร่วมกับองค์กรสมาชิกและพันธมิตร สร้างเนื้อหาที่สร้างความตระหนักถึงแนวทางการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม ผ่านเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลก โดยยึดตามหลักของ UN Global Compact และส่งเสริมการเรียนรู้แบบ action learning เช่น การแบ่งปันประสบการณ์การทำงานตาม SDGs 17 ข้อให้กับคนทำงานรุ่นใหม่และผู้สนใจ ผ่านทางรายการ SDGs Talk เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการต่างๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 3: สร้างผู้นำยุคใหม่ในทุกระดับ (Leadership) ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง จนถึงผู้นำรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณผลประโยชน์ขององค์กร โดยร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสาธิตกระบวนการออกแบบหมุนเวียน หรือ “Circular Design” ให้ทั้งภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ในอนาคตจะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา เพื่อขยายผลไปยังคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์ที่ 4: การยกย่องบุคคลที่ทำงานด้านความยั่งยืน (Empowerment & Recognition) เพื่อเป็นตัวอย่าง สร้างแรงจูงใจ และเพิ่มพลังให้ผู้ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืน เปิดโอกาสให้ผู้ทำงานด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กร นำเสนอทางออกในการแก้ไขประเด็นสังคมด้านต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรมและนำเสนอผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อยกย่องผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในงาน “SDGs Pioneer” ระดับโลก

ยุทธศาสตร์ที่ 5: การใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม (Technology and Innovation) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ เช่น เรื่องของการใช้พลังงานทดแทน (renewable energy) การจัดการขยะและการนำกลับมาใช้ใหม่ (waste and recycle) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยรวมเป็นศูนย์ (carbon neutral) โดยสมาคมฯ จะร่วมขับเคลื่อนด้านกฎระเบียบและแรงจูงใจร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งสื่อสารให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญในการเปลี่ยนวิถีการผลิตและการบริโภค เพื่อลดการใช้ทรัพยากร

นอกจากนี้ ในปีนี้จะเป็นปีสำคัญสำหรับการหารือเรื่องความยั่งยืนในระดับโลก โดยจะมีการประชุมสำคัญเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เช่น การประชุม Leaders’ Summit ประจำปีแบบออนไลน์ของ UN Global Compact ในเดือนมิถุนายน การประชุมประจำปีด้านผู้นำความยั่งยืนของสมาคมฯ หรือ GCNT Forum 2021 ในเดือนสิงหาคม การประชุม UN World Food Systems Summit ในเดือนกันยายนที่นครนิวยอร์ก และการประชุม COP26 ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนพฤศจิกายน ที่สกอตแลนด์ เป็นต้น ซึ่งสมาคมฯ ในฐานะเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะสื่อสารความเคลื่อนไหวและพัฒนาการเรื่องความยั่งยืนจากการประชุมดังกล่าว มายังองค์กรสมาชิกและผู้สนใจอย่างต่อเนื่องต่อไป

เกี่ยวกับ GCNT

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT: Global Compact Network Thailand) เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิก 67 องค์กร โดยโกลบอลคอมแพ็ก ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (local network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ เช่น เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)